ปัจจุบันวิกฤตมลพิษพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ที่เราไม่สามารถมองข้ามได้ เราเห็นขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งถูกทิ้งอยู่เต็มไปหมดหลัง ดังนั้นในวันที่ 16 กันยายน ซึ่งเป็นวันทำความสะอาดชายฝั่งสากล (International Coastal Clean-Up Day) เราจึงอยากย้ำเตือนถึงปัญหาจากขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เป็นปัญหาระดับร้ายแรง และปัญหานี้จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและทั่วโลกต้องร่วมมือกันด้วย

ปัญหาที่เกิดจากพลาสติก

เพราะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และกลายเป็นมลพิษที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตั้งแต่ถูกผลิตขึ้นไปจนถึงปลายทางที่กลายเป็นขยะ พลาสติกเหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศและชีวิตมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางสังคม รวมทั้งยังเป็นตัวเร่งให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้นอีกด้วย

กรีนพีซ ประเทศไทย รณรงค์ให้เกิดการแก้ไขวิกฤตนี้ที่ต้นเหตุมาแล้วกว่า 5 ปี เราไม่เพียงแค่จัดกิจกรรมทำความสะอาดชายหาด แต่เรามีกิจกรรมสำรวจขยะจากแบรนด์ (Brand Audit) ในหลาย ๆ แห่งของประเทศ เรารณรงค์เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามของพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมทั้งเรายังตรวจสอบว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นปัญหาเหล่านี้ ใครจะต้องรับผิดชอบ กิจกรรมสำรวจขยะจากแบรนด์ยังช่วยสร้างความแข็งแกร่งและสร้างพลังให้กับชุมชนหรือกลุ่มคนในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกอีกด้วย

ประเทศไทยมีชื่อเสียงในด้านชายหาดที่สวยงาม อย่างไรก็ตามชายหาดในไทยนั้นมักจะมีปัญหาขยะพลาสติกที่ล้นเกลื่อนอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าคุณจะทำความสะอาดในวันนี้ แต่พรุ่งนี้ก็จะมีขยะพลาสติกกลับมาเหมือนเดิม สถานการณ์แบบนี้ตอกย้ำว่าปัญหาขยะพลาสติกต้องการการแก้ไขมากกว่าเพียงแค่การจัดการเก็บขยะ ทุกครั้งที่มีกิจกรรมเก็บขยะหรือทำความสะอาดชายหาด เราต่างพูดถึงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สัตว์ทะเล แต่ไม่มีใครที่พูดถึงผลกระทบของมลพิษพลาสติกที่เกิดขึ้นกับชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ต้องรับมือกับปัญหาขยะที่ไม่รู้จบเหล่านี้ และสาเหตุหลักหนึ่งนั่นคือแบรนด์ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหล่านี้ผลักภาระให้ผู้บริโภคเป็นผู้รับผิดชอบขยะทั้งหมด

พลังมวลชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับมลพิษพลาสติก

เราทำงานร่วมกับเครือข่ายชุมชน อาสาสมัคร และเยาวชน ในการทำกิจกรรมเก็บขยะและสำรวจแบรนด์จากขยะพลาสติก (Brand audit) ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็น ชายหาดวอนนภา จ.ชลบุรี, ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่, แหลมสนอ่อน จังหวัดสงขลา, บางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ และหาดเจ้าหลาว จ.จันทบุรี ยังมีเครือข่าย Trash Hero Thailand ที่มีอาสาสมัครกว่า 139 คนเข้ามาช่วยเก็บและรวบรวมข้อมูลจากกิจกรรมสำรวจขยะจากแบรนด์จากพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มเติม ได้แก่ เชียงราย ชุมพร หัวหิน เกาะเสม็ด เกาะสมุย ระยองและกรุงเทพมหานคร

จนถึงตอนนี้ เราเก็บรวบรวมขยะได้ประมาณ 46,929 ชิ้น ประกอบไปด้วยขยะพลาสติกแบรนด์ต่างประเทศ 8,209 ชิ้น ขยะพลาสติกแบรนด์ไทย 15,247 ชิ้น และขยะที่ไม่ระบุแบรนด์ 759 ชิ้น สิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดคือเราจะเห็นขยะจากแบรนด์ซ้ำ ๆ กันในทุก ๆ ที่ที่เราไปทำกิจกรรม

โดย 5 อันดับแบรนด์ในประเทศที่เป็นผู้ก่อมลพิษขยะพลาสติกมากที่สุดจากการสำรวจขยะระหว่างปี 2561 – 2565 ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group), ดัชมิลล์, โอสถสภา, เสริมสุข และสิงห์ คอร์เปอเรชั่น ขณะเดียวกัน 5 อันดับแบรนด์จากบริษัทข้ามชาติที่เป็นผู้ก่อมลพิษขยะพลาสติกมากที่สุดจากการสำรวจขยะในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ โคคา-โคล่า, เป๊ปซี่โค, เนสท์เล่, ยูนิลีเวอร์ และ เอเจ ไทย ซึ่งเราหวังว่าข้อมูลที่รวบรวมมานี้จะช่วยระบุต้นทางของขยะพลาสติกที่พบในสิ่งแวดล้อม และบริษัท รวมถึงเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ โดยเฉพาะ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ โคคา-โคล่า ที่จะต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของกลุ่มบริษัทที่เริ่มต้นลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งตลอดห่วงโซ่การผลิต

ความรับผิดชอบของผู้ผลิต

ข้อมูลที่เรารวบรวมและวิเคราะห์นั้นเป็นเพียงการฉายให้เห็นจุดเล็ก ๆ ของปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในไทย อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้ก็เพียงพอที่เราจะเรียกร้องให้แบรนด์ผู้ผลิตเหล่านี้ต้องรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งตลอดห่วงโซ่การผลิต รวมทั้งต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

แบรนด์ผู้ผลิตเหล่านี้ได้รับผลกำไรมหาศาลจากประชาชนและจากการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ ตอนนี้ถึงเวลาของพวกเขาแล้วที่จะต้องออกมาทำความสะอาดมลพิษที่พวกเขาก่อไว้และร่วมเป็นหนึ่งในการสร้างทางออกนั่นคือการตั้งเป้าลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ลงทุนในระบบเก็บพลาสติกหลังการใช้งานกลับคืน การใช้ซ้ำ และรีฟิลโดยใช้ภาชนะใช้ซ้ำ ตลอดจนสนับสนุนกรอบกฎหมายที่ใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต(Extended Producer Responsibility หรือ EPR) ในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย

เหตุผลที่เราเรียกร้องให้แบรนด์ผู้ผลิตนำหลักการนี้ไปใช้ก็เพราะการขยายความรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ที่ตนเองสร้างขึ้นตลอดห่วงโซ่การผลิต จะสร้างความเป็นธรรมต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมหลังจากที่พวกเขาได้สร้างผลกระทบทิ้งไว้ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งนั่นก็คือมลพิษพลาสติก โดยจะต้องกำหนดมาตรการป้องกันการเกิดมลพิษที่วัดผลได้มากกว่าการฟื้นฟูที่ปลายทาง เพราะมลพิษที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบมากมายนับไม่ถ้วน

แบรนด์ผู้ผลิตยังต้องปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่อเป็นผู้นำในการหยิบเอาทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง ซึ่งการที่จะปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจนั้นจะต้องใช้ความพยายามมากขึ้นที่จะศึกษาหาทางเลือกในการขายสินค้าผ่านระบบใช้ซ้ำและการเติม แต่จะต้องหยุดใช้วิธีการที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้จริงอย่าง การนำขยะไปเผาเพื่อเป็นพลังงาน การใช้สารเคมีในการรีไซเคิล และวิธีการลดพลาสติกผ่านตลาดจำลองที่เรียกว่า Plastic Offsetting (คล้ายกับวิธีการชดเชยคาร์บอน) ที่ไม่ได้ชะลอวิกฤตมลพิษพลาสติกได้จริง 

และเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทใช้กลยุทธ์การฟอกเขียว  เรายังเรียกร้องให้แบรนด์ผู้ผลิตและผู้ผลิตพลาสติกเปิดเผยข้อมูลรอยเท้าพลาสติก (Plastic Footprint) ต่อสาธารณะ เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองได้ให้คำมั่นสัญญาอย่างแท้จริงว่าจะลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

และในการลดปริมาณพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งให้ได้ทั้งระบบ กรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ ต้องรับรองว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มแรงงาน กลุ่มคนเก็บขยะและชุมชนท้องถิ่นผู้ได้รับผลกระทบจากขั้นตอนใดๆ ก็ตามในกระบวนการผลิตพลาสติก (รวมถึงการสกัดและการกลั่นเชื้อเพลิงฟอสซิล) หรือจากการรีไซเคิล การเผา และการกำจัดมลพิษพลาสติก จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบและได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจที่สามารถฟื้นฟูได้และมีผลิตภาพ และนำหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต(Extended Producer Responsibility หรือ EPR) มาบังคับใช้อย่างจริงจัง หลักการนี้จะทำให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ต้องรับผิดชอบขยะที่จะเกิดจากช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ และเป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ กระจายสินค้า​ การรับคืน การเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์หลังจากใช้งานแล้ว รวมถึงการหาทางออกในการลดพลาสติก เช่น การลงทุนในระบบใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด

โลกของเราต้องการสนธิสัญญาพลาสติกโลก (A Global PlasticTreaty)

กรีนพีซ ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการขับเคลื่อนงานรณรงค์พลาสติก Break Free From Plastic ซึ่งเรียกร้องให้โลกต้องเปลี่ยนแปลงการแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกให้เป็นเชิงระบบมากขึ้นและยุติยุคแห่งการใช้พลาสติก เพราะธุรกิจไม่สามารถใช้วิธีการรีไซเคิลเป็นทางออกของวิกฤตนี้ได้อีกต่อไป

เพราะการดำเนินการโดยรัฐบาลนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในที่สุด รัฐต่าง ๆ ก็รับรู้ถึงวิกฤตมลพิษพลาสติกและต้องเข้ามาแก้ปัญหานี้ การประชุมแนวทางสนธิสัญญาโลกเกิดขึ้นหลังจากที่หลายรัฐลงนามเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ในความตกลง UN Resolution เพื่อทำให้เกิดการเจรจาเพื่อร่างสนธิสัญญาที่จะยุติวิกฤตมลพิษพลาสติก โดยการประชุมเจรจาร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลกจะเป็นการประชุมเพื่อหาข้อกำหนดของการใช้พลาสติกตั้งแต่การผลิตต้นทางไปจนถึงปลายทาง

และไม่กี่วันที่ผ่านมาร่างแรกของสนธิสัญญาพลาสติกโลกก็ได้รับการเผยแพร่ โดยร่างดังกล่าวประกอบไปด้วยข้อบัญญัติที่จำเป็นต่อการลดการผลิตและการใช้พลาสติก แต่รัฐบาลแต่ละประเทศยังต้องสร้างความมุ่งมั่นเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าสนธิสัญญาฉบับนี้จะมีประสิทธิภาพมากพอที่จะยุติมลพิษพลาสติกเหล่านี้ได้

ในส่วนของกรีนพีซ เราต้องการให้สนธิสัญญาที่จะเกิดขึ้นนี้ต้องลดการผลิตพลาสติกให้ได้อย่างน้อย 75% เพื่อให้มั่นใจว่าจะยังคงอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อปกป้องชีวิตผู้คน ชุมชน ปกป้องสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และป้องกันไม่ให้สภาพภูมิอากาศต้องวิกฤตไปมากกว่านี้

สำหรับประเทศไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ทำให้เราต้องการสนธิสัญญาพลาสติกโลกเพื่อผลักดันให้ประชาชนตระหนักในปัญหาพลาสติกเชิงโครงสร้างมากขึ้น และแทนที่เราจะผลักภาระไปที่กลุ่มธุรกิจค้าขายของเก่าหรือกลุ่มซาเล้ง เราต้องการสนธิสัญญาที่มีมาตรการเพื่อให้แน่ใจว่ากลุ่มแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพลาสติกไปจนถึงการจัดการขยะพลาสติกจะต้องได้รับการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม

ในเรื่องร้าย ยังมีข่าวดีให้เรามีความหวัง

แม้ว่าตอนนี้วิกฤตมลพิษพลาสติกดูเหมือนเป็นปัญหาที่แทบจะแก้ไขไม่ได้ แต่เรายังมีทางออก

มีกลุ่มธุรกิจเล็ก ๆ มากมายเกิดขึ้น และผู้ประกอบการเหล่านี้พยายามที่จะลดใช้พลาสติกและสารเคมี นอกจากนี้ยังรณรงค์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมายทุก ๆ วัน

สนธิสัญญาพลาสติกโลกยังเป็นสัญญาณบวกที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง เราจะเห็นได้ว่าผู้คนทั่วโลกออกมาเรียกร้องสนับสนุนให้ยุติยุคพลาสติก

ด้วยสถานการณ์โลกตอนนี้ทำให้แบรนด์ผู้ผลิตรายใหญ่ได้รับแรงกดดันในการทบทวนการผลิตรวมทั้งกลยุทธ์การตลาด เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นและระดับประเทศ ซึ่งเป็นการปกป้องชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมจากมลพิษพลาสติก

เราหวังว่าในวันข้างหน้า ชายหาดที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรจะกลับมาเป็นของทุกคน เป็นสถานที่ที่ผู้คนจะได้มองดวงอาทิตย์ตกยามเย็น และการทำความสะอาดชายฝั่งจะกลายเป็นเพียงอดีต

อ่านเกี่ยวกับมลพิษพลาสติกเพิ่มเติมได้ที่ สืบจากขยะใครกันที่ต้องรับผิดชอบ?