และแม้ว่าโศกนาฏกรรมโรงงาน Rana Plaza ที่เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิต่ออุตสาหกรรม Fast Fashion จะผ่านมาแล้ว 10 ปี แต่อุตสาหกรรมนี้ยังคงสร้างผลกระทบให้กับผู้คนตลอดมา โดยมีผู้คนกว่า 75 ล้านคน (ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง) ที่ได้รับค่าตอบแทนอย่างไม่เป็นธรรม แลกกับการทำงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้า รวมทั้งปัจจุบันยังมีอุบัติเหตุที่ร้ายแรงถึงชีวิตเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ

แอฟริกาและทะเลทรายอาตากามา กลายเป็นดินแดนแห่งขยะแฟชั่น

มีงานรณรงค์ที่ชื่อว่า Dead White Man’s Clothes ซึ่งติดตามการส่งออกเสื้อผ้าจากทวีปตะวันตกไปยังประเทศกานา แสดงให้เห็นถึงหายนะของปัญหาการส่งออกขยะสิ่งทอ

สหราชอาณาจักรเป็นผู้ส่งออกขยะเหล่านี้ไปยังกานา ในความจริงแล้วสหราชอาณาจักรเองผลิตขยะเสื้อผ้ามากที่สุดในยุโรป และยังเป็นประเทศผู้ส่งออกขยะแฟชั่นเยอะที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา

ผู้ค้าและช่างตัดเย็บเสื้อผ้าในตลาดกานตามันโต ที่อักกรา เมืองหลวงของกานาต่างต้องทำงานหนักเพื่อนำเสื้อผ้าที่ได้รับจากการส่งออกมาซ่อมแซมขาย วัฒนธรรมการอัพไซเคิลและการใช้ซ้ำในเมืองอักกรานั้นถือเป็นกรณีศึกษาที่ยอดเยี่ยมสำหรับระบบแฟชั่นหมุนเวียนและความยั่งยืนตามแบบที่ควรจะเป็น

แต่ด้วยปริมาณเสื้อผ้าที่ล้นเกิน และเสื้อผ้าจากอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นที่ไม่ทนทาน เป็นอุปสรรคที่ทำให้การซ่อมแซมและการใช้ซ้ำเป็นไปไม่ได้

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ท้ายที่สุดเสื้อผ้าเหล่านี้ก็ถูกขนส่งไปยังบ่อขยะ หรือกลายเป็นเชือกให้เรือประมงที่ท่าเรือใกล้เมืองอักกรา หรือกลายเป็นขยะเกลื่อนชายหาด

Overconsumption Issue in Hong Kong. © Patrick Cho / Greenpeace
แม้ว่าการชอปปิงจะทำให้เรารู้สึกสนุกตื่นเต้น แต่ความจริงแล้วมีประชากรมากมายที่ซื้อของมากเกินกว่าที่พวกเขาต้องการ ซึ่งหลักฐานที่ปรากฎได้ชัดเลยก็คือเสื้อผ้าที่นอนอัดแน่นอยู่ในตู้เสื้อผ้า และเราอาจถูกโน้มน้าวด้วยอุปสงค์เทียมเพื่อให้เกิดการซื้อเรื่อย ๆ จากผู้จัดจำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่น © Patrick Cho / Greenpeace

ด้วยปริมาณเสื้อผ้ามหาศาลที่เราต้องรับมือ จากเสื้อผ้าคอลเลคชั่นตามฤดูกาลที่กลายเป็นขยะสิ่งทออย่างรวดเร็ว และขยะเหล่านี้ถูกส่งออกไปยังบ่อขยะประเทศต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังมีตัวเลขชัดเจนที่ระบุได้ว่า มีเสื้อผ้าจากการบริจาคเพียง 10-30% เท่านั้นที่ถูกส่งไปยังร้านการกุศลและขายได้ โดยร้านการกุศลเองก็ต้องรับเสื้อผ้าจากการบริจาคมาจนมีปริมาณล้นเกินจนกลายเป็นขยะเช่นกัน นอกจากนี้เสื้อผ้าที่ใช้แล้วของราชอาณาจักรยังถูกส่งออกไปยังต่างประเทศกว่า 70% อีกด้วย

เสื้อผ้าเหล่านี้เดินทางไปที่ไหน?

จะมีสถานที่ที่ใดบ้างที่สามารถรองรับขยะเสื้อผ้าปริมาณมหาศาลกว่า 92 ล้านตันต่อปีได้? (ตัวเลขดังกล่าวถูกประเมินอย่างคร่าว ๆ โดยเทียบน้ำหนักเสื้อผ้า 1 ตันเท่ากับน้ำหนักของรถยนตร์คันเล็ก 1 คัน)

และประเทศกานาก็ไม่ได้เป็นเพียงประเทศเดียวที่ต้องรับมือกับปัญหาขยะเสื้อผ้ามหาศาลเช่นนี้ เพราะการสืบสวนสอบสวนล่าสุดเผยว่ายุโรปส่งออกเสื้อผ้าใยพลาสติกเหล่านี้ไปเป็นขยะเสื้อผ้าที่เคนยากว่า 37 ล้านชิ้น อีกด้วย

รายงานของกรีนพีซเมื่อปี 2022 ระบุว่าพบขยะเสื้อผ้าแฟชั่นที่ถูกส่งออกมายังประเทศเคนยาและทานซาเนีย เพียงแค่ในปี 2019 ปีเดียวก็มีเสื้อผ้ามือสองถูกส่งมายังเคนยาปริมาณกว่า 185,000 ตัน ในวัฒนธรรมของแอฟริกาตะวันออกนี้เสื้อผ้ามือสองจะถูกมัดรวมเป็นกระสอบโดยเรียกเป็นภาษาถิ่นว่า ‘ไมทัมบา’ กระสอบเสื้อผ้าเหล่านี้จะถูกขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าเสื้อผ้ามือสองในลักษณะของมัดกระสอบ

Fast Fashion Research in Tanzania. © Kevin McElvaney / Greenpeace

อย่างไรก็ตามเสื้อผ้าในมัดกระสอบไมทัมบานี้เป็นเสื้อผ้าที่ไม่มีคุณภาพถึง 30-40% ซึ่งทำให้ผู้ค้าไม่สามารถขายต่อได้ นั่นหมายความว่า ในปี 2019 เคนยาจะต้องรับมือกับขยะเสื้อผ้าแฟชั่นกว่า 150-200 ตันต่อวัน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นในทะเลทรายอะทากามา ซึ่งในปี 2021 มีการบันทึกปริมาณขยะเสื้อผ้าเอาไว้ ดูเรื่องราวนี้เพิ่มตามวิดีโอด้านล่าง

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าอับอายต่ออุตสาหกรรมแฟชั่น ทั้งนี้พวกเขาต่างรู้ดีแก่ใจว่าอุตสาหกรรมของตัวเองกำลังผลิตเสื้อผ้าอย่างล้นเกิน แต่ก็ยังคงผลิตเสื้อผ้าออกมาเรื่อย ๆ 

เมื่อเสื้อผ้าเหล่านี้ไม่ได้ถูกขายต่อให้กับผู้ซื้อ แม้ว่าหลายตัวจะผลิตขึ้นมาใหม่แต่กลับไม่เคยถูกสวมใส่เลย และเสื้อผ้าเหล่านี้มักถูกนำไปทิ้งในประเทศกำลังพัฒนาอย่างกานา

เสื้อผ้าปริมาณมหาศาลถูกส่งไปเผาที่นั่น

อุตสาหกรรมแฟชั่นกำลังเผาขยะเสื้อผ้าของตัวเอง

บริษัทเหล่านี้มีสต็อกเสื้อผ้าที่ขายไม่ออกอยู่มหาศาล เนื่องจากการผลิตในปริมาณมากทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง และวิธีระบายขยะเสื้อผ้าเหล่านี้ก็คือการส่งไปยังเตาเผา แต่บริษัทยังคงเก็บวิธีการกำจัดเสื้อผ้าแบบนี้ไว้เป็นความลับ โดยไม่ระบุว่ามีขยะเสื้อผ้าที่ถูกส่งไปยังเตาเผาในปริมาณเท่าไหร่

ข้อมูลที่ทำให้โลกต้องจับตามองซึ่งหลุดออกมาจากแบรนด์ Burberry ระบุว่า ในปี 2018 แบรนด์ส่งเครื่องประดับหรูมูลค่า 26 ล้านปอนด์ ไปกำจัดทิ้งด้วยการเผา ด้วยมูลค่ามหาศาลแบบนี้จึงไม่แปลกใจเลยที่อุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมพยายามซุกซ่อนการกระทำของตัวเองไว้

แล้วทำไมบริษัทเหล่านี้จึงไม่รีไซเคิลเสื้อผ้าที่ผลิตออกมาล้นเกิน?

การรีไซเคิลสิ่งทอเป็นเรื่องยากและมีค่าใช้จ่ายสูง หากเราดูที่ฉลากติดเสื้อเราจะเห็นได้ว่าใยที่นำมาทอเป็นเสื้อมักจะเป็นคนละชนิดผสมกัน ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถแยกใยเสื้อผ้าเหล่านี้ออกมาเพื่อใช้ซ้ำหรือเอาไปทำประโยชน์อื่นต่อได้ นอกจากนี้ยังมีขยะตั้งแต่การผลิตในโรงงานที่มีปริมาณสูงจากการผลิตในปริมาณมาก และยังเป็นการผลิตเสื้อผ้าจากวัสดุที่มีราคาถูก

ทีมข่าวสืบสวนสอบสวน Unearthed ของกรีนพีซพบว่ามีขยะเสื้อผ้าจากแบรนด์ ไนกี้ (Nike) ราล์ฟ ลอว์เรน (Ralph Lauren), เน็กซ์ (Next) และแบรนด์ชั้นนำอีกมากมายกลายเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาอิฐที่กัมพูชา

เพราะสินค้าแฟชั่นส่วนใหญ่ทำมาจากวัตถุดิบที่เป็นพลาสติก ดังนั้นการกำจัดด้วยการเผาสามารถทำให้เกิดสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง การสืบสวนสอบสวนครั้งนี้ยังพบอีกว่ากลุ่มควันหนาสีดำ ควันพิษที่เกิดจากการเผาส่งผลกระทบต่อพนักงานในโรงงาน เชื่อมโยงไปสู่อาการไอ มีไข้ น้ำมูกไหลและเกิดอาการปอดอักเสบ

ปกติแล้วเตาเผาควรจะใช้ไม้เป็นฟืนก่อไฟ แต่ตอนนี้ฟืนไฟเหล่านั้นกลับกลายเป็นขยะเสื้อผ้าหลายร้อยตันถูกส่งสู่เตาเผาอิฐในกัมพูชาทุกวัน

พนักงานหญิงกำลังเทเศษเสื้อผ้าลงไปในเตาเผาอิฐ กัมพูชา

ติดตามปัญหาจากอุตสาหกรรม Fast Fahion ตอนที่ 3 ในประเด็น ‘อุตสาหกรรม Fast Fashion การถูกละเมิดสิทธิ์และการเอารัดเอาเปรียบพนักงาน’

บทความนี้แปลจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ