ย้อนกลับไปในปี 2013 ซึ่งเป็นปีที่เกิดโศกนาฏกรรมโรงงาน Rana Plaza ถล่ม ทำให้มีพนักงานในโรงงานเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เกิดการรณรงค์ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม Fast Fashion ทั่วโลก

อย่างไรก็ตามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยังคงผลิตเสื้อผ้าปริมาณมหาศาลถึง 1 หมื่นล้านชิ้นต่อปี ซึ่งเส้นใยเสื้อผ้าที่นำมาผลิตเกือบทั้งหมดล้วนผลิตจาก ใยโพลีเอสเตอร์ที่ทำมาจากน้ำมัน และถูกทำขึ้นโดยพนักงานที่ต้องทำงานในสภาพการทำงานที่อันตราย นี่คือผลกระทบสำคัญของอุตสาหกรรม Fast Fashion ที่มีต่อพวกเราและโลกของเรา

Trash Queen "Buy Nothing Day" Street Performance in Taipei. © JD Huang / Greenpeace
ในปี 2016 กรีนพีซไต้หวัน เริ่มงานรณรงค์ที่ต้องการเพิ่มความตระหนักถึงผลกระทบของการบริโภคที่ล้นเกิน โดยใช้ศิลปินร่วมเปิดตัวงานรณรงค์ในชื่อ Trash Queen “Buy Nothing Day” โดยในขณะนั้นรายงานของกรีนพีซระบุว่า โมเดลธุรกิจของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคอย่างไร้ความรับผิดชอบ © JD Huang / Greenpeace

เราต่างรู้ดีว่าตอนนี้ตู้เสื้อผ้าของเราเต็มไปด้วยเสื้อผ้า (แม้ว่าเราจะบ่นทุกครั้งว่าไม่มีเสื้อใส่เลย) มีแอพลิเคชั่นแฟชั่นเพื่อขายเสื้อผ้าออนไลน์ที่มักจะโผล่ขึ้นมาบนหน้าจอมือถือของคุณอยู่เสมอ หรือว่าจะเป็นราคาเสื้อผ้าที่ถูกลงเรื่อย ๆ  ซึ่งนี่เป็นสถานการณ์ปัจจุบันที่เราเจอได้ทุกวัน

หลังจากที่เสื้อผ้าเหล่านี้ไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว ใครหลายคนเลือกที่จะบริจาคเสื้อผ้าซึ่งบางส่วนอาจเดินทางไปอยู่ในร้านขายเสื้อผ้าและเครื่องประดับมือสอง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ร้านเหล่านี้ต้องรับเสื้อผ้ามาในปริมาณมหาศาลจนล้นเกิน

เพราะอุตสาหกรรมแฟชั่นไม่ต้องการให้ผู้คนรู้ถึงตัวเลขปริมาณเสื้อผ้าที่พวกเขาผลิตออกมาในแต่ละปี ซึ่งคาดการณ์ว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีปริมาณสูงถึง 1 หมื่นล้านชิ้นต่อปี อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงก่อนที่จะเกิดอุตสาหกรรม Fast Fashion แบบสุดโต่งที่ผลิตเสื้อผ้าที่ทั้งถูกและตอบสนองพฤติกรรมใช้แล้วทิ้งอย่างเช่นบริษัท Boohoo และ Shein

ตอนนี้พวกเรารู้แล้วว่ามีเสื้อผ้ามหาศาลที่ถูกผลิตออกมาเกินความต้องการ ซึ่งกระบวนการนี้สามารถนำไปสู่วิกฤตสภาพภูมิอากาศและเร่งให้วิกฤตมลพิษพลาสติกเลวร้ายลงกว่าเดิมได้เช่นกัน สาเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบในลักษณะนี้ก็เพราะ เสื้อผ้าเหล่านี้ต้องใช้น้ำมันมาผลิตเป็นใยโพลีเอสเตอร์และจากรายงานขององค์กร Changing Markets Foundation. ระบุว่าการรับซื้อน้ำมันเพื่อมาผลิตใยโพลีเอสเตอร์จากรัสเซียอาจเป็นการสนับสนุนสงครามรัสเซียอีกด้วย

และแม้ว่าโศกนาฏกรรมโรงงาน Rana Plaza ที่เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิต่ออุตสาหกรรม Fast Fashion จะผ่านมาแล้ว 10 ปี แต่อุตสาหกรรมนี้ยังคงสร้างผลกระทบให้กับผู้คนตลอดมา โดยมีผู้คนกว่า 75 ล้านคน (ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง) ที่ได้รับค่าตอบแทนอย่างไม่เป็นธรรม แลกกับการทำงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้า รวมทั้งปัจจุบันยังมีอุบัติเหตุที่ร้ายแรงถึงชีวิตเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ

ปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดจากอุตสาหกรรมแฟชั่น

Fast Fashion Research in Kenya. © Kevin McElvaney / Greenpeace

อุตสาหกรรม Fast Fashion พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล

เพราะพลาสติกถูกผลิตขึ้นโดยใช้น้ำมันและก๊าซ และใยโพลีเอสเตอร์ก็ทำมาจากพลาสติกผสานเส้นใยกลายเป็นเสื้อผ้า

คาดว่าปัจจุบันมีเสื้อผ้ามากกว่าครึ่งจากปริมาณเสื้อผ้าที่ถูกผลิตขึ้นที่ใช้วัสดุสังเคราะห์เช่น ใยโพลีเอสเตอร์ เป็นต้น ซึ่งวัสดุเหล่านี้มักไม่สามารถย่อยสลายหรือไม่สามารถรีไซเคิลได้ และสุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาขยะพลาสติกที่มีปริมาณมหาศาล

อุตสาหกรรมน้ำมันคาดการณ์แล้วว่ากระแสการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศด้วยการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะกระทบกับผลกำไรของบริษัทน้ำมันแน่นอน

และก็เป็นโชคดีสำหรับพวกเขา เพราะอุตสาหกรรม Fast Fashion ก็ดูจะมีความต้องการผลิตใยโพลีเอสเตอร์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นอุตสาหกรรมน้ำมันจึงพยายามมองหากลุ่มลูกค้าใหม่เพื่อยังคงผลกำไรของตัวเองเอาไว้ให้ได้

ก่อนหน้านี้ มีรายงานที่ค้นพบว่าแบรนด์ Fast Fashion หลายแบรนด์ เช่น New Look และ Next กำลังสนับสนุนสงครามรัสเซียบุกยูเครนอย่างไม่ได้ตั้งใจ เพราะใช้ใยโพลีเอสเตอร์จากน้ำมันของรัสเซีย

ทั้งนี้ เพราะต้องใช้พลังงานในการเปลี่ยนพลาสติกเป็นใยโพลีเอสเตอร์ ทำให้อุตสาหกรรม Fast Fashion ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกราว 8-10% (หรือราว 4-5 ร้อยล้านตัน) และจะเพิ่มขึ้นหากความต้องการใช้ใยโพลีเอสเตอร์เพิ่มขึ้นนั่นเอง

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าการใช้วัสดุสังเคราะห์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหนึ่งในผู้ก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ใยผ้าเป็นแหล่งกำเนิดไมโครพลาสติก

เพราะว่าความจริงแล้วใยโพลีเอสเตอร์ก็คือพลาสติก ซึ่งใช้เวลานานหลายปีกว่าที่จะแตกตัวออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย โดยใยเหล่านี้จะถูกนำมาถักสานกันเป็นเสื้อผ้าทำให้ขาดออกจากกันได้ยากขึ้น

Fast Fashion Research in Kenya. © Kevin McElvaney / Greenpeace

แต่เมื่อเสื้อผ้าเหล่านี้ถูกทิ้งยังบ่อขยะ  เส้นใยพลาสติกและสารเคมีอันตรายที่อยู่ในเส้นใยก็จะกลายเป็นมลพิษที่ปนเปื้อนสู่อากาศ ดิน และน้ำ

ในแต่ละปี มีใยพลาสติกไมโครไฟเบอร์ที่หลุดออกจากเสื้อผ้าขณะซักผ้ากว่าครึ่งล้านตัน ใยพลาสติกที่เรารู้จักในชื่อ โพลีเอสเตอร์ ไนลอน หรืออะคลิลิก ที่หลุดออกมาเหล่านี้สุดท้ายจะไหลลงสู่มหาสมุทร ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณขวดพลาสติกราว 5 พันล้านขวดเลยทีเดียว

ไมโครพลาสติกจึงปนเปื้อนอยู่ในสภาพแวดล้อมทุกที่แม้กระทั่งในอากาศที่เราหายใจ และในขณะเดียวกันมันก็แตกตัวเป็นอณูเล็กๆ ในเวลาที่เราใช้เครื่องซักผ้า ไหลไปพร้อมกับน้ำและปนเปื้อนลงสู่มหาสมุทร

ภาพเส้นใยเสื้อผ้าที่มีส่วนผสมของโพลีเอสเตอร์ ซึ่งปัจจุบันเสื้อผ้าส่วนใหญ่ต่างมีส่วนผสมของใยชนิดนี้ เส้นใยที่มีราคาถูกเหล่านี้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Fast Fashion และกลายเป็นหายนะของมหาสมุทรในเวลาเดียวกัน © Greenpeace

เมื่อพิจารณาแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัญหาร้ายแรงมาก เพราะพลาสติกเหล่านี้ไม่เพียงแค่เป็นมลพิษในสิ่งแวดล้อม แต่มันกำลังเป็นภัยคุกคามต่อร่างกายของเราด้วยเนื่องจากมันจะเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านการดื่มน้ำและการกินอาหาร และจนกระทั่งตอนนี้ก็ยังไม่มีการยืนยันว่ามันส่งผลกระทบกับเรามากแค่ไหน

เราต่างต้องการเสื้อผ้าที่มีราคาไม่แพง แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดแล้วหรือไม่?

แฟชั่นกำลังกลายเป็นเทรนด์ ‘ใช้แล้วทิ้ง’

ความจริงแล้ว แฟชั่น ควรจะเป็นเรื่องของความสร้างสรรค์ การปรับแต่งสไตล์ และเสื้อผ้าเครื่องประดับจะต้องต้องทนทาน แต่อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นกลับทำให้ แฟชั่น กลายเป็นการผลิตขึ้นใหม่และการใช้แล้วทิ้ง

บริษัทเหล่านี้เริ่มผลักดันกระแสใหม่ที่ทำให้เสื้อผ้าสามารถออกคอลเลคชั่นออกมาได้ทุกฤดูกาลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้เสื้อผ้าและเครื่องประดับจำนวนมากที่ผลิตขึ้นมากลายเป็นขยะเพราะมีการผลิตเสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่ขึ้นมาอยู่เรื่อย ๆ 

จากการประเมินการผลิตเสื้อผ้าของอุตสาหกรรมแฟชั่น มีการผลิตเสื้อผ้าอยู่ที่ 1 แสนล้านชิ้นต่อปี โดยมีเสื้อผ้ามากกว่า 40% ที่ยังไม่เคยถูกซื้อ ถูกสวมใส่หรือใช้งานเลย อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้มีแนวโน้มว่าจะเป็นข้อมูลเก่าและมีการประเมินตัวเลขที่ต่ำเกินไป

Fast Fashion Research in Kenya. © Kevin McElvaney / Greenpeace
รถบรรทุกกำลังเทขยะลงในพื้นที่บ่อขยะดันโดรา เมืองไนโรบี เคนยา แม้ว่าบ่อขยะแห่งนี้จะถูกใช้งานจนเต็มพิกัดไปแล้วในปี 2544 แต่ในปัจจุบันบ่อขยะดังกล่าวยังคงถูกใช้งานอยู่ © Kevin McElvaney / Greenpeace

บริษัทแฟชั่นเหล่านี้ผลิตเสื้อผ้ามากเกินกว่าความต้องการของผู้บริโภค หรือมากเกินกว่าที่เราจะใช้ระบบกำจัดทิ้งอย่างปลอดภัย และด้วยเหตุผลที่ว่าเสื้อผ้าเหล่านี้มีราคาถูกมาก จึงทำให้มันขายออกได้ง่าย แต่ผู้ซื้ออาจไม่ได้ใช้และท้ายที่สุดก็ทิ้งเสื้อผ้าเหล่านี้ได้ง่ายเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ‘การทิ้งเสื้อผ้า’ เหล่านี้ในอีกทางหนึ่งหมายถึง ‘การบริจาค’ อีกด้วย แม้ว่าจะเป็นหนทางที่ทำให้ผู้บริจาครู้สึกดี แต่การบริจาคเสื้อผ้าไปยังร้านการกุศลเพื่อเอาเสื้อผ้าไปปรับเปลี่ยนเป็นของใช้อื่น ๆ นี้ก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด


ติดตามปัญหาจากอุตสาหกรรม Fast Fahion ตอนที่ 2 ในประเด็น ‘เกิดอะไรขึ้นกับเสื้อผ้าที่เราไม่ต้องการแล้ว

บทความนี้แปลจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ