ในวาระที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยมีหลายประเด็นว่าด้วยนโยบายพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย จึงต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ‘นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ เข้าสู่ห้องเรียนวิชาหน้าที่รัฐมนตรี และชวนทบทวนว่าหน้าที่เร่งด่วน 4 อย่างด้วยกัน ของกระทรวงพลังงานที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะมากที่สุดมีอะไรบ้าง ?

1. แก้ปัญหาค่าไฟไม่แฟร์

ช่วงหน้าร้อนของปีนี้ หลายบ้านต้องตกใจกับบิลค่าไฟที่แพงชวนเป็นลมและยังมีความเป็นไปได้ที่อาจปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ค่าไฟเช่นนี้ไม่ใช่เพียงแค่แพง แต่ยัง ‘ไม่แฟร์’ อีกด้วย 

ทำไมเราถึงกล่าวว่ามัน ‘ไม่แฟร์’ 

  1. ไทยมีการสร้างโรงไฟฟ้าและสำรองไฟฟ้ามากเกินจำเป็นมายาวนาน จากปกติต้องสำรองไฟเพียงไม่เกินร้อยละ 15 ของการใช้ไฟฟ้าสูงสุด แต่ตอนนี้ด้วยระเบียบการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าแบบที่กลุ่มทุนพลังงานมีส่วนร่วมแต่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ทำให้ค่าพยากรณ์สูงกว่าความเป็นจริง และตอนนี้ไฟฟ้าสำรองความทะลุขีดเกินร้อยละ 50 ไปแล้ว 
  1. ไฟฟ้าสำรองเกินมากๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดี  เพราะทันทีที่รัฐทำสัญญาการผลิตไฟฟ้าที่ผูกมัดยาวนาน 25 – 35 ปี และรับประกันกำไรให้ผู้สร้างโรงไฟฟ้าแบบ ‘ไม่ใช้ก็ต้องจ่ายเงิน’ (take or pay) ทันใดนั้นจะเป็นการนำประชาชนไปแบกรับภาระในแต่ละสัญญาทันที ดังนั้นที่ผ่านมาแม้มีหลายโรงไฟฟ้าไม่ได้เดินเครื่องเพราะผลิตไปก็ล้นแต่ยังได้เงินจากสัญญาค่าความพร้อมจ่าย และทำให้ประชาชนต้องจ่ายเงินให้โรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง
  1. รัฐบาลที่ผ่านๆ มาวางแผนพัฒนากําลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ให้ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลักและไม่ได้ปรับเปลี่ยนแผนนั้นมาตั้งแต่ปี 2561 (คุณพระ!) โดยเฉพาะการนำเข้าก๊าซฟอสซิลเหลว (LNG) ที่ต้นทุนสูงเพราะอิงราคาตลาดโลกมาเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ส่วนก๊าซจากอ่าวไทยและเมียนมา ซึ่งเป็นบริการสาธารณะและราคาถูกกว่า ถูกนำไปคิดเป็นต้นทุนสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นหลัก บุคคล องค์กร และเครือข่ายต่างๆ (ทำไมนะ?)  
  2. รัฐบาลอนุญาตให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจริง แต่ให้โควตาและกำหนดเพดานต่ำมาก และยังไม่สนับสนุนระบบ Net Metering ที่จะทำให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและขายเข้าระบบได้ด้วยราคาเป็นธรรม

หากเราดูจากข้อแถลงนโยบายของรัฐบาล หนึ่งในนั้นระบุว่าจะ “ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงาน รวมทั้งค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ฯลฯ” และ “จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ ฯลฯ”​ซึ่งเราหวังว่ารัฐบาลจะทำตามสัญญาที่ได้แถลงในวันนี้ โดยแก้ปัญหาที่ต้นตอที่ทำให้ค่าไฟไม่แฟร์ โดยเฉพาะหยุดวางแผนพัฒนากําลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ที่ไม่เหมาะสม  ปรับเปลี่ยนระเบียบวิธีการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า เพื่อลดการพยากรณ์เกินจริง และหยุดทำสัญญารับประกันผลกำไรของนายทุนด้วยค่าไฟฟ้าของประชาชน 

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม

2. รักษาสัญญาเรื่องมอบ Net-Metering ให้ประชาชน

“หลายประเทศรับซื้อ แต่ไทยทำลายพลังงานแสงอาทิตย์ทิ้ง” 

คือคำกล่าวอย่างย่นย่อของสถานการณ์พลังงานหมุนเวียนของไทยในขณะนี้

ในประเทศไทย แสงแดดมีเหลือเฟือและมีเสถียรภาพทั้งในระดับบ้านเรือนไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดย่อม ช่างไฟฟ้าของไทยปรับตัวเก่งและมีศักยภาพเรียนรู้ที่จะเป็นช่างติดตั้งโซลาร์เซลล์ อีกทั้งเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนก็มีราคาถูกลงมาก สิ่งที่ไทยขาดไปคือการปลดล็อคข้อจำกัดในการผลิตพลังงานหมุนเวียน ที่เรียกว่า ‘Net Metering’ 

Net Metering คือระบบคำนวณค่าไฟฟ้าที่เปิดโอกาสให้ประชาชนซึ่งผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน นำจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้เดือนก่อนหน้า มาคำนวณหักลบกับหน่วยไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้าฯ เก็บเป็นเครดิตนำมาใช้หักลบกลบหน่วยได้ในรอบบิลค่าไฟไฟฟ้าถัดไปได้ Net Metering จึงมีอีกชื่อว่า ‘ระบบหักลบกลบหน่วย’  และถ้าหลังหักลบแล้วพบว่าประชาชนยังผลิตไฟฟ้าได้เกินที่ใช้ ยังขายไฟให้การไฟฟ้าได้ในราคาเท่ากับหรือใกล้เคียงกับที่ซื้อมาจากการไฟฟ้าฯ อีกด้วย ระบบนี้เรียบง่ายและเปลี่ยนสถานะประชาชนให้กลายมาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า (Prosumer) และทำให้การผูกขาดการผลิตไฟฟ้าถูกทอนอำนาจลง

ก่อนการเลือกตั้ง หลายพรรคการเมืองหาเสียงไว้ว่าจะมอบ Net Metering ให้ประชาชน รวมถึงพรรคพลังประชารัฐ  พรรคสังกัดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในนโยบายของพรรคพลังประชารัฐระบุว่า “ส่งเสริมนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) บนฐานความพร้อมทางด้านเทคนิค เสถียรภาพ และคุณภาพของระบบไฟฟ้า โดยจะต้องไม่ทำให้ไฟฟ้าดับ ไม่ขายฝัน ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับครัวเรือนที่มีการใช้มาก ต้องปฏิบัติได้จริงอย่างมั่นคงและยั่งยืน” 

เราต้องการให้รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่พิจารณาลงทุนและวางแผนทางเลือกพลังงานทั้งหมดอย่างเท่าเทียม และไม่นำคำว่า “ฐานความพร้อม” มาเป็นข้ออ้างในการยื้ออายุการใช้พลังงานฟอสซิลไปเรื่อยๆ แต่ทำให้ฐานความพร้อม นั้น ‘พร้อมสักที’ ด้วยการลงทุนและปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เพื่อรองรับการผลิตพลังงานหมุนเวียนของประชาชน 

3. ป้องกันการฟ้องปิดปากประชาชนจากอุตสาหกรรมฟอสซิล

ในอดีตผู้ออกมาเปิดเผยข้อมูลหรือวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานต่อสาธารณชน บ้างจะเจอกับการข่มขู่หรือเอาชีวิต แต่ปัจจุบันการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายสูงๆ หรือฟ้องคดีอาญาเพื่อให้เกิดความหวาดกลัว

ที่เรียกว่าการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Strategic Lawsuit Against Public Participation-SLAPP) หรือ   ‘การฟ้องคดีเพื่อปิดปาก’ ได้กลายมาเป็นเครื่องมือต่อต้านการใช้เสรีภาพในการแสดงออกที่มากขึ้นเรื่อยๆ และปรากฏอย่างมากในกรณีผู้เปิดเผยข้อมูลด้านพลังงาน

การ SLAPP โดยผิวเผินคือการใช้สิทธิฟ้องคดีเพื่อปกป้องชื่อเสียงหรือสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องอันมีมูลเหตุจากการถูกละเมิด แต่แท้จริงแล้ว มุ่งใช้กระบวนการทางกฎหมายในทางที่ผิดเพื่อคุกคาม  หลายครั้งคดีฟ้องร้องเพื่อปิดปากมักจบด้วยการยกฟ้อง ทว่าทำให้ผู้ถูกฟ้องร้องเสียเวลา บั่นทอนสุขภาพจิต การเคลื่อนไหวสะดุด สร้างความหวาดกลัวให้ผู้ที่ร่วมต่อสู้ในประเด็นเดียวกัน  และยังปิดกั้นการถกเถียงอภิปรายประเด็นที่สำคัญ ส่งผลให้ขาดคนตรวจสอบการใช้อำนาจของบริษัทและรัฐ อีกทั้งมีต้นทุนการพิจารณาคดีในศาลที่จ่ายจากเงินภาษีของประชาชน

เราต้องการรัฐมนตรีพลังงานที่จะออกมาตรการป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมฟอสซิลฟ้องร้องประชาชนได้ง่ายๆ และออกกฎหมายซึ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน 

การนำความจริงมาถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ควรเกิดขึ้นได้ แทนที่จะปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชะงักงัน สร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนผู้ต้องการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ  โดยเฉพาะการนำข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมพลังงานมาถกเถียง ซึ่งหากสามารถวิจารณ์ ถกเถียง ตรวจสอบได้ ผลประโยชน์นั้นย่อมตกอยู่กับประชาชนโดยรวม

4.ประกาศภาวะฉุกเฉินทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Emergency) และปลดระวางถ่านหินทันที

ไทยติดอันดับประเทศ 1 ใน 10 ของโลกที่มีความเสี่ยงสูงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อการเข้าถึงอาหาร น้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ และการพังทลายของระบบนิเวศที่สนับสนุนค้ำจุนสรรพชีวิต และจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม ความยากจน และโรคระบาดในอนาคตที่จะทวีความรุนแรงขึ้น

แต่สิ่งที่เราพบเห็นคือการเลือก ‘แก้ปัญหาเทียม’ ของผู้ก่อมลพิษอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการยกข้ออ้างในการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage) และการการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) มาเป็นข้ออ้างให้ผู้ก่อมลพิษจากอุตสาหกรรมฟอสซิลยังเดินหน้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไปได้

อีกทั้งไทยยังมีโครงการที่จะสร้างเหมืองถ่านหิน กระทั่งในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้แม้ศาลปกครองจะสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้โครงการเหมืองถ่านหิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ดำเนินการใดๆ แต่หากหลังข้อพิพาทในคดีจบลงและผู้ชนะคืออุตสาหกรรมฟอสซิลจังหวัดที่เป็นที่รักของคนทั่วโลกแห่งนี้จะมีแหล่งกำเนิดมลพิษอันสกปรกตั้งอยู่

จากงานวิจัยของกรีนพีซ ประเทศไทย พบว่าการสร้างท่าเรือขนถ่ายถ่านหินหนึ่งแห่ง สังคมต้องแบกรับต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมไปอีก 40 ปี และเมื่อคำนวณในรูปแบบต้นทุนการรักษาสิ่งแวดล้อม จะมีผู้ป่วยและประชาชนที่ได้รับความเสี่ยงจากมลพิษของถ่านหิน อาจสูงถึง 2.96-8.51 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า ซึ่งเทียบไม่ได้กับข้อดีที่อ้างว่าไฟฟ้าจากถ่านหินมีราคาถูก เพราะไม่ได้รวมต้นทุนที่สังคมไม่จำเป็นต้องแบกรับ

สิ่งเหล่านี้ล้วนสวนทางกับทิศทางของโลก รวมถึงการโฆษณาด้านความยั่งยืนของบริษัทต่างๆ  อีกทั้งยังสวนทางกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมของไทยในเวทีโลก ไทยได้ประกาศพันธกรณีผ่านกลไกสิทธิมนุษยชนหลายครั้ง ว่าการปลดระวางถ่านหินเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ควรเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดภายในปี  2570 หรืออย่างช้าที่สุดภายในปี  2580 และมีเป้าหมายที่จะบรรลุ Net Zero Emission ใน 2608 หรือปี 2613 รวมทั้งมีพันธกรณีต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีส

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้  ล้วนเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและกลยุทธ์ที่โปร่งใส เราจึงต้องการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่พร้อมลงมือทำ โดยประกาศภาวะฉุกเฉินทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Emergency) ให้เป็นวาระหลักของชาติ  เร่งปลดระวางการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน ตลอดจนยุติโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ก่อมลพิษและเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของแหล่งสำรองเชื้อเพลิงฟอสซิลแห่งใหม่โดยทันที