10 ปี หลังจากเกิดเหตุการณ์ตึก Rana Plaza ถล่ม นับเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในบังกลาเทศเพราะตึกดังกล่าวเป็นตึกที่มีพนักงานกำลังทำงานตัดเย็บให้แบรนด์เสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่น เหตุการณ์นี้คือหนึ่งในสัญลักษณ์ที่เปิดโปงว่าแบรนด์แฟชั่นยักษ์ใหญ่มักใช้กลยุทธ์การฟอกเขียวเพื่อปกปิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายสิ่งแวดล้อม นี่คือความเป็นจริงที่ว่าแบรนด์ที่เป็นฟาสต์แฟชั่น ยังไม่ได้ทำธุรกิจแบบยั่งยืนตามที่ให้สัญญาไว้

Rana Plaza - Never Again - Projection in Hamburg. © Lucas Wahl / Greenpeace
กรีนพีซฉายแสงระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 24 เมษายน 2556 มีพนักงานกว่า 1,134 คน เสียชีวิตจากโรงงานเสื้อผ้า Rana Plaza ถล่มในขณะทำงานใน เมืองDhaka บังกลาเทศ © Lucas Wahl / Greenpeace

แม้จะมีการเรียกร้องสิทธิด้านแรงงาน และมีการเคลื่อนไหวในระดับโลก รวมถึงการรณรงค์เรื่องสารพิษของกรีนพีซ (Detox campaign)  และแคมเปญโดย Fashion Revolution แต่อุตสาหกรรมแฟชั่นของทั่วโลกก็ย่ำแย่ยิ่งกว่าเดิม

ตั้งแต่ปี 2543 ถึงปี 2557 การผลิตเสื้อผ้าเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว จนถึงจำนวนการผลิตราว 100 พันล้านตัว ซึ่งเกินจุดที่ไม่ยั่งยืนของการผลิตในแต่ละปี

รายงานฉบับนี้ของกรีนพีซเปิดโปงการใช้ประเด็น ‘เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ โดยแบรนด์แฟชั่นเจ้าใหญ่ของโลกมาเป็นกลยุทธ์ในการฟอกเขียว และต่อไปนี้คือข้อมูลที่เราค้นพบ

วงการ Fast Fashion จะทำให้อุตสาหกรรมของตัวเองยั่งยืนได้จริงอย่างที่กล่าวอ้างไว้หรือไม่? เชื่อใจได้มากแค่ไหน?

การใช้ “ความยั่งยืน” มาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดของแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นกลายเป็นกระแสใหม่ที่แบรนด์นำเสนอต่อผู้บริโภคและดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม แบรนด์เหล่านี้กลับซุกซ่อนการดำเนินธุรกิจที่ยังไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเอาไว้

Fast Fashion Research in Kenya. © Kevin McElvaney / Greenpeace
ภาพจากการลงพื้นที่ของกรีนพีซ เยอรมัน โดยพบว่าคนงานเก็บขยะและกลุ่มผู้ค้าเสื้อผ้ามือสองในแดนโดรา ไนโรบีต้องแบกภาระความเสี่ยงทางสุขภาพเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยหลุมขยะ © Kevin McElvaney / Greenpeace

เพราะไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าแบรนด์เหล่านี้ ‘เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ จริง จึงทำให้พวกเขา (ที่แอบอ้างว่าตนเองเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) กำลังอยู่ในสถานะที่กำลัง ‘ฟอกเขียว’ อธิบายได้ว่า การฟอกเขียวคือเมื่อแบรนด์นั้น ๆ สร้างภาพลักษณ์ว่าตนเองเป็นบริษัทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่เบื้องหลังยังคงดำเนินธุรกิจที่ปล่อยมลพิษส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่  

ขณะที่แบรนด์แฟชั่นขนาดใหญ่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิต ระบบส่งคืนสินค้าที่ใช้แล้ว รวมถึงการนำผลิตภัณฑ์ไปรีไซเคิล แต่เมื่อพิจารณาถึงปริมาณเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ถูกผลิตขึ้นในปริมาณที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์แล้ว ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่บริษัทจะรักษาคำมั่นสัญญาเหล่านี้

จากการสำรวจการกล่าวอ้างถึงความยั่งยืนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า และอุตสาหกรรมรองเท้าแล้วพบว่ามีความเป็นไปได้ถึง 39% ที่อาจเป็นการให้ข้อมูลเท็จ

แบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง H&M และ Decathlon ถูกตรวจสอบจากหน่วยงานที่กำกับดูแลและพบว่าแบรนด์ใช้กลยุทธ์การอ้างว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ทางการของสหราชอาณาจักรยังได้ตรวจสอบลักษณะคำกล่าวอ้างที่คล้ายคลึงกันนี้ของแบรนด์ ASOS, Boohoo และ George ที่ห้างสรรพสินค้า Asda ซึ่งการตรวจสอบครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามพัฒนาโครงการ Green Claims Code

Trash Queen "Buy Nothing Day" Street Performance in Taipei. © JD Huang / Greenpeace
ในปี 2016 กรีนพีซไต้หวัน เริ่มงานรณรงค์ที่ต้องการเพิ่มความตระหนักถึงผลกระทบของการบริโภคที่ล้นเกิน โดยใช้ศิลปินร่วมเปิดตัวงานรณรงค์ในชื่อ Trash Queen “Buy Nothing Day” โดยในขณะนั้นรายงานของกรีนพีซระบุว่า โมเดลธุรกิจของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคอย่างไร้ความรับผิดชอบ © JD Huang / Greenpeace

นอกจากนี้ยังมีการใช้วาทกรรมการรีไซเคิลใยโพลีเอสเตอร์เป็นหลักในการอ้างว่าแบรนด์ของตนเองเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฉลากที่ติดเสื้อผ้าถูกเขียนว่ามาจากการรีไซเคิล อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานว่าเสื้อผ้าเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการรีไซเคิลจริงหรือไม่

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะผู้บริโภคอาจเข้าใจว่าคำว่า รีไซเคิล บนเสื้อผ้านั้นหมายถึงการนำเส้นใยจากเสื้อผ้าเก่ามาทำเสื้อผ้าใหม่ และสามารถรีไซเคิลได้อีกครั้งเป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่เมื่อไม่ได้ใช้แล้ว

สถานการณ์ดังกล่าวไม่เพียงแต่จะทำให้ไม่เกิดการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาให้กับผู้บริโภค แต่ยังเป็นการปิดบังความจริงเกี่ยวกับการรีไซเคิลพลาสติก ที่พบว่าในปี 2558 มีขยะพลาสติกเพียง 9% เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อแบรนด์แฟชั่นต่างโหมกระหน่ำนำการสื่อสารเกี่ยวกับการรีไซเคิลและแฟชั่นหมุนเวียนมาใช้

  • มีเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุที่รีไซเคิลแล้วเพียง 3% เท่านั้น
  • 3% เป็นผ้าที่ผลิตจากขวดน้ำพลาสติกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เหลือจะไม่ได้ถูกรีไซเคิลและมีจุดจบที่การฝังกลบในบ่อขยะหรือเผาทิ้งนั่นเอง
  • มีเสื้อผ้าเก่าน้อยกว่า 1% ที่ทำมาจากผ้าเก่า

รายงานของกรีนพีซ ระบุว่าแบรนด์ใดบ้างที่นำ ‘ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ มาแอบอ้างเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด และนำเสนอวิธีว่าแบรนด์เหล่านั้นใช้วิธีใด

รายงานดังกล่าวตรวจสอบและรวบรวมการนำเอาประเด็นความยั่งยืนจากแบรนด์ 14 แบรนด์ ที่แบรนด์นำเสนอตนเองว่า ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ หรือ ‘มีความรับผิดชอบ’ ในการตรวจสอบดังกล่าวก็สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ว่าแบรนด์ใดบ้างที่ใช้กลยุทธ์ฟอกเขียว

มีคอลเลคชั่นจากแบรนด์ชื่อดังที่ควรเป็นคอลเลคชั่นเพื่อความยั่งยืน แต่กลับกลายเป็นคอลเลคชั่นแห่งการฟอกเขียว ได้แก่

  • Decathlon Ecodesign
  • H&M Conscious
  • Mango Committed
  • Primark Cares
  • Tesco F&F Made Faithfully
  • Zara Join Life
Fast Fashion Research in Tanzania. © Kevin McElvaney / Greenpeace
กรีนพีซลงพื้นที่สำรวจวงจรเสื้อผ้ามือสองที่ถูกส่งจากยุโรปไปที่ทานซาเนียและจีน ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการทิ้งในบ่อขยะ เสื้อผ้าเหล่านี้ที่ยังใช้งานได้จะถูกเก็บรวบรวมเป็นกระสอบ (ท้องถิ่นเรียกว่า ไมทัมบ้า) แต่บ่อยครั้งที่เสื้อผ้าเหล่านี้ไม่สามารถใช้งานได้และถูกส่งไปยังบ่อขยะ © Kevin McElvaney / Greenpeace

โดยพบว่าคำมั่นสัญญาที่แบรนด์ติดไว้บนฉลากสินค้าของตนเอง มีข้อบกพร่องหลายประการ เช่น

  • สร้างความสับสนให้ผู้บริโภคผ่านการติดฉลาก รวมถึง ‘การรับรอง’ ที่เป็นเท็จ ซึ่งเป็นการแอบอ้างแบบง่ายๆ ตามมาตรการความยั่งยืนของแต่ละบริษัท
  • ขาดการตรวจสอบภายในองค์กรหรือจากบุคคลที่สามที่เกี่ยวข้องกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสิทธิมนุษยชน
  • ขาดข้อมูลที่เข้าถึงได้และเป็นสาธารณะจากทั้งห่วงโซ่การผลิต
  • ยังคงผลิตสินค้าในปริมาณมาก และไม่มีความพยายามที่จะชะลอลง
  • การกล่าวอ้างที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ‘แฟชั่นหมุนเวียน’ ที่มีพื้นฐานคือการใช้ใยโพลีเอสเตอร์ที่รีไซเคิลจากขวดพลาสติก
  • การอ้างว่าวัสดุที่นำมาผลิตนั้น ‘ยั่งยืน’ หรือ ‘มีความรับผิดชอบ’ทั้ง ๆ ที่เป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพมากกว่าเล็กน้อย
  • การโปรโมทการใช้ใยผ้าแบบผสมระหว่างใยฝ้ายกับโพลีเอสเตอร์หรือที่เรียกว่า โพลีคอทตอน ซึ่งเป็นผ้าชนิดที่รีไซเคิลไม่ได้
  • ยังคงใช้เครื่องมือในการวัดประสิทธิภาพด้านการตรวจสอบวัตถุดิบและความยั่งยืนที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ดัชนีชี้วัด ฮิกส์ (Higgs Index) เป็นต้น
  • ขาดรายละเอียดของข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุที่นำมาผลิตเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย
  • ไม่เลือกที่จะปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง เช่น การลดปริมาณการผลิตที่ล้นเกิน แต่เลือกที่จะปรับเปลี่ยนในจุดเล็ก ๆ ซึ่งอาจไม่ใช่รากของปัญหาแทน

แล้วอุตสาหกรรมแฟชั่นควรแก้ปัญหาอย่างไร?

ทางเดียวที่จะทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริงนั้นก็คือบริษัทเหล่านี้จะต้องลดปริมาณการผลิตเสื้อผ้าลงจากที่ทำอยู่ แต่ปัญหาในตอนนี้คืออุตสาหกรรมนี้จะไม่ยอมให้เรารู้ว่าปริมาณการผลิตทั้งหมดในแต่ละปีนั้นมีมหาศาลเพียงใด

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมแฟชั่นต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก 5-10% ซึ่งก๊าซเรือนกระจกราว 85% ทั่วโลกถูกปล่อยจากบริษัทผู้รับจ้างผลิตเสื้อผ้าซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้

การลดปริมาณการผลิตเสื้อผ้าจะทำให้ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมลดลง และจะช่วยชะลอการไหลเวียนของขยะเสื้อผ้า ที่จะไหลไปสู่ประเทศที่ไม่สามารถจัดการกับขยะเหล่านี้ได้ ปัจจุบันทุกวินาทีจะมีขยะเสื้อผ้าจำนวนหนึ่งคันรถถูกเผาและฝังกลบ

Fast Fashion Research in Kenya. © Kevin McElvaney / Greenpeace
กรีนพีซลงพื้นที่สำรวจวงจรเสื้อผ้ามือสองที่ถูกส่งจากยุโรปไปที่ทานซาเนียและจีน ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการทิ้งในบ่อขยะ เสื้อผ้าเหล่านี้ที่ยังใช้งานได้จะถูกเก็บรวบรวมเป็นกระสอบ (ท้องถิ่นเรียกว่า ไมทัมบ้า) แต่บ่อยครั้งที่เสื้อผ้าเหล่านี้ไม่สามารถใช้งานได้และถูกส่งไปยังบ่อขยะ ภาพจากสลัม Kibera ในไนโรบี © Kevin McElvaney / Greenpeace

เพราะอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีวันยั่งยืน บริษัทต่าง ๆ เป็นผู้กำหนดมาตรการการเป็นบริษัทที่มีความยั่งยืนด้านแฟชั่นที่ยั่งยืนกันเอง และในขณะเดียวกัน อีกหลายบริษัทก็ปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลปริมาณการผลิตเสื้อผ้าของตัวเอง ซึ่งก็ไม่มีทางที่พวกเขาจะลดปริมาณการผลิตลงอีกด้วย 

อ่านรายงานฉบับเต็มเกี่ยวกับข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัท คำกล่าวอ้างด้านความยั่งยืน และศึกษาศักยภาพในการปรับเปลี่ยนกฏระเบียบด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นในสหภาพยุโรป


บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษ