บิตคอยน์ใช้พลังงานไฟฟ้ามากพอ ๆ กับประเทศทั้งประเทศ โดยในปี 2565 ไฟฟ้าที่ใช้ขุดบิตคอยน์ทั่วโลกจำนวนร้อยละ 62 มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนั้นเทคโนโลยีที่กระหายพลังงานของบิตคอยน์ ยังได้ทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปลดประจำการแล้วกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง ซึ่งสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมาก

Bitcoin Projection Exposes BlackRock & Chase in New York. © Demian Neufeld / Greenpeace
© Demian Neufeld / Greenpeace

การทำลายสภาพภูมิอากาศของบิตคอยน์มีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการตรวจสอบ เนื่องจากสถาบันทางการเงินแบบดั้งเดิมยังคงกระตุ้นการขยายตัวของบิตคอยน์ ด้วยการลงทุนในบริษัทขุดบิตคอยน์ และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการการลงทุนใหม่ ๆ ที่เชื่อมโยงกับบิตคอยน์

รายงาน Investing in Bitcoin’s Climate Pollution: Big Finance is Betting on Dirty Bitcoin ของกรีนพีซ สหรัฐฯ ระบุว่าสถาบันทางการเงินอย่าง BlackRock, Fidelity, Vanguard, CitiGroup, JPMorgan Chase, Goldman Sachs, Visa, Mastercard และ American Express มีเงินลงทุนรวมกันกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ในการขุดบิตคอยน์และการให้บริการและการลงทุนมากมายแก่ลูกค้า นอกจากนั้นยังพบว่าการลงทุนในบิตคอยน์ของบริษัทเหล่านี้ขัดแย้งกับคำมั่นสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศ ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และความยุติธรรมทางสังคม

บิตคอยน์ถูกมองว่าเป็น “ระเบิดเวลา” เพราะบิตคอยน์ใช้พลังงานในระดับที่น่าตกใจ หรือเทียบเท่ากับทั้งประเทศชิลีและเดนมาร์ก โดยที่พลังงานส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ถูกกำหนดให้ปลดระวางยังคงเปิดอยู่ หรือได้กลับมาเปิดใหม่อีกครั้งเพื่อนำมาใช้ขุดบิตคอยน์ สถาบันการเงินเหล่านี้กำลังเร่งระเบิดเวลาของวิกฤตสภาพภูมิอากาศด้วยการลงทุนเป็นเงินมหาศาลและนำไปสู่การนำไปใช้ในวงกว้าง ดังนั้นมลพิษทางสภาพภูมิอากาศของที่เกิดจากบิตคอยน์ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขทันทีก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่านี้

Bitcoin Projection Exposes BlackRock & Chase in New York. © Demian Neufeld / Greenpeace
© Demian Neufeld / Greenpeace

ประเด็นค้นพบที่สำคัญ

  • สถาบันการเงินรายใหญ่กำลังเร่งการทำลายสภาพภูมิอากาศของบิตคอยน์
    • บริษัทที่ให้บริการทางการเงิน ได้แก่ American Express, Visa, Mastercard, Vanguard, BlackRock, Fidelity, JPMorgan Chase, Citigroup และ Goldman Sachs กำลังเร่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของบิตคอยน์ โดยได้อำนวยความสะดวกในการนำไปใช้ในวงกว้างและสนับสนุนการเติบโตของมูลค่าแลกเปลี่ยนของบิตคอยน์
    • สถาบันการเงินเหล่านี้ขาดแผนการที่เป็นรูปธรรมต่อคำมั่นสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศและโครงการเพื่อความยั่งยืน
    • สถาบันการเงินกำลังขัดขวางความคืบหน้าของเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ และทำให้ การพัฒนาบิตคอยน์ที่นอกเหนือจากการขุดแบบ Proof-of-Work (PoW) เป็นไปได้ยากขึ้น
  • ผู้จัดการสินทรัพย์ ธนาคาร และผู้ให้บริการชำระเงิน มีบทบาทสำคัญในการลดการก่อมลพิษของบิตคอยน์
    • การเปลี่ยนจากการทำเหมืองแบบ Proof-of-work (PoW) ที่ใช้พลังงานมาก ไปสู่กลไกที่ใช้พลังงานน้อยกว่า สามารถลดการปล่อยคาร์บอนของบิตคอยน์ได้อย่างมาก
    • สถาบันการเงินมีทรัพยากรและอิทธิพลมากพอในการสนับสนุนการพัฒนาระบบและดำเนินการตามข้อตกลงร่วมในระบบ (Consensus Mechanism) แบบใหม่
    • สถาบันการเงินหลักทุกแห่งที่กล่าวถึงในรายงานนี้ยังไม่ยอมรับต่อสาธารณะถึงการก่อมลพิษของบิตคอยน์
  • บริษัท BlackRock ในฐานะผู้จัดการสินทรัพย์ และ JPMorgan Chase ในฐานะธนาคาร จัดการเรื่องสภาพภูมิอากาศได้แย่ที่สุด
    • ในขณะที่บริษัททั้ง 9 แห่งไม่ได้ทำอะไรเลยเกี่ยวกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ แต่ BlackRock และ Chase โดดเด่นในฐานะผู้กระทำความผิดที่ร้ายแรงที่สุด
    • จากการประเมินของกรีนพีซ สหรัฐฯ พบว่า BlackRock เป็นผู้เปิดรับบิตคอยน์สูงที่สุด ทั้งมีการลงทุนขุดกว่า 585 ล้านดอลลาร์ และทั้งมีพอร์ตการลงทุนที่ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่สนับสนุนโดยบิตคอยน์ในวงกว้าง ดังนั้น BlackRock ในฐานะผู้จัดการสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ควรจะต้องสนับสนุนการพัฒนาและการใช้กลไกฉันทามติใหม่ เพื่อแทนที่โปรโตคอล PoW ของบิตคอยน์ แต่จนถึงวันนี้ฝ่ายบริหารของ BlackRock ยังคงนิ่งเฉยต่อผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของบิตคอยน์ แม้ว่าบริษัทจะมีคำมั่นสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศก็ตาม
    • JPMorgan Chase เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลกตามมูลค่าราคาตลาด เป็นนักลงทุนขุดบิตคอยน์ และเป็นธนาคารที่เสนอบริการการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับบิตคอยน์รายใหญ่อันดับสองในบรรดาธนาคารที่รายงานนี้ได้ตรวจสอบ ดังนั้นธนาคารจึงมีโอกาสที่จะเป็นผู้นำในการทำให้บิตคอยน์สะอาดขึ้น แต่ธนาคารกลับอำนวยความสะดวกในการนำบิตคอยน์ไปใช้ในวงกว้างโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศของการทำเหมือง
  • การทำให้บิตคอยน์ลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน ชุมชน บิตคอยน์ และอื่น ๆ
    • การทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงนักขุด นักพัฒนา บริษัทคริปโต สถาบันการเงิน และผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้บิตคอยน์ออกห่างจากการทำลายสภาพภูมิอากาศมากขึ้น
    • บริษัทการเงินสามารถสนับสนุนสตาร์ทอัพ นักพัฒนา และคณะทำงานที่กำลังพัฒนาวิธีการลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของบิตคอยน์ได้
    • เพื่อเร่งให้ความร่วมนี้เกิดขึ้นได้ กรีนพีซ สหรัฐฯ จึงเรียกร้องให้สถาบันการเงินยอมรับต่อสาธารณะถึงมลพิษและผลกระทบด้านลบของบิตคอยน์ นอกจากนั้นยังต้องสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงโค้ด และมีส่วนร่วมในความพยายามนี้ร่วมกัน
Activists Bring "Skull of Satoshi" to Fidelity's Offices in New York City. © Tracie Williams / Greenpeace
© Tracie Williams / Greenpeace

กรีนพีซ สหรัฐฯ เรียกร้องให้บริษัท BlackRock, Fidelity, Vanguard, Citigroup, JPMorgan Chase, Goldman Sachs, Visa, Mastercard และ American Express

  • ยอมรับต่อสาธารณะว่ามลพิษที่เกิดจากบิตคอยน์ สร้างผลกระทบด้านลบต่อชุมชนและสภาพภูมิอากาศ
  • สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงโค้ดที่จะทำให้ Bitcoin เป็นโปรโตคอลที่สะอาดกว่า และไม่ต้องพึ่งพาพลังงานและการขุดที่ก่อมลพิษสูง
  • ให้ทุนแก่สตาร์ทอัพ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร นักวิชาการ และนักพัฒนาอื่น ๆ ที่กำลังทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ยั่งยืนและหาวิธีเปลี่ยนโค้ดของบิตคอยน์
  • หยุดขยายการลงทุนในของบิตคอยน์ชั่วคราวจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโค้ดที่ลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของบิตคอยน์

อ้างอิง

https://www.greenpeace.org/usa/wp-content/uploads/2023/07/2023-Finance-Report-Fact-Sheet.pdf

https://www.greenpeace.org/usa/wp-content/uploads/2023/07/bitcoin-Final.pdf

https://www.greenpeace.org/usa/news/climate-pledges-vs-bitcoin-investments-unveiling-the-1-5-billion-dollar-climate-bomb/

https://www.greenpeace.org/usa/reports/investing-in-bitcoins-climate-pollution/