“ทำไมคนดอยต้องปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” คำถามนี้ถูกถามขึ้นทุกครั้งในแต่ละปีที่เกิดฝุ่นพิษข้ามพรมแดนบริเวณภาคเหนือตอนบนของไทย และจำเลยสำคัญของฝุ่นพิษคือชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ ข้อเท็จจริงของปัญหาเรื่องฝุ่นพิษและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นไม่ใช่แค่วิถีการทำเกษตรจากประชาชนกลุ่มเล็ก ๆ บนพื้นที่ภูเขา แต่เงื่อนไขที่ผลักดันให้คนบนดอยต้องพึ่งพารายได้จากการปลูกข้าวโพดนั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมที่เรื้อรังมายาวนานและตอกย้ำความไม่เป็นธรรมทางสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ในประเทศไทยที่ถูกซ้ำเติมด้วยนโยบายสนับสนุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและมีราคารับซื้อดีที่สุด 

“การไม่มีสัญชาติเป็นหนึ่งในต้นเหตุของทุกอย่าง ชีวิตของเราเหมือนไม่มีตัวตน บีบบังคับให้ชาวบ้านต้องไปทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์”

ปรัตถกร จองอู ชาวชาติพันธุ์ดาราอาง ผู้ที่เกิดและเติบโตในหมู่บ้านแม่จอน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้พบเห็นความไม่เป็นธรรมต่อชุมชนชาติพันธุ์หลากหลายรูปแบบ และอยากบอกเล่ากับกรีนพีซถึงสิทธิที่ถูกลิดรอนทำให้ชุมชนไม่มีทางเลือกในการใช้ชีวิตและหารายได้เพื่อจุนเจือชีวิตเท่าไรนักนอกจากการทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ชุมชนหมู่บ้านแม่จอนนั้นเคยเป็นพื้นที่หนึ่งที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เกือบเต็มพื้นที่หมู่บ้านมายาวนานร่วม 20 ปี หลังจากนั้นคนรุ่นหลังได้เห็นการเจ็บป่วยจากสารเคมีของคนรุ่นพ่อแม่ในหมู่บ้าน รวมถึงโรคที่คร่าชีวิตอย่างมะเร็ง และเมื่อมีพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่มีรายได้สูงกว่าอย่างลำไย จึงทำให้ในปัจจุบันชุมชนหันไปปลูกพืชชนิดอื่นมากขึ้น

แต่ในปีนี้ หลังจากที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ราคาที่สูงขึ้นอีกครั้ง อีกทั้งยังมีรูปแบบการรับซื้อที่สะดวกขึ้นและรวมการรับซื้อตามน้ำหนักข้าวโพดที่ไม่มีการหักลดน้ำหนักเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีความชื้น ทำให้ชุมชนมุ่งจะกลับไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีกครั้ง

สถานการณ์ของหมู่บ้านแม่จอนนั้นสะท้อนถึงทางออกของปัญหาฝุ่นพิษที่มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสาเหตุสำคัญถึง 1 ใน 3 ของที่มาของจุดความร้อน ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายที่ช่วยเหลือทั้งปากท้องประชาชน และลดจุดความร้อนได้ เพียงแค่สนับสนุนพืชเศรษฐกิจที่เหมาะกับชุมชนแต่ละพื้นที่ โดยที่ไม่ต้องการเป็นพืชที่ต้องการพื้นที่มหาศาลที่เชื่อมโยงกับการเผาและการทำลายผืนป่า

บทสัมภาษณ์นี้เป็นการฉายภาพให้เห็นถึงหนึ่งในตัวอย่างผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมที่เกิดขึ้น รวมถึงโครงสร้างนโยบายในรูปแบบรวมศูนย์ที่ไม่ได้คำนึงถึงความหลากหลายของคนและพื้นที่อย่างแท้จริง อีกทั้งยังมุ่งสนับสนุนการเติบโตของการผลิตเพื่อป้อนให้กับบริษัทอุตสาหกรรมโดยที่ไม่มองถึงผลกระทบรอบด้าน ทั้งสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม

กรณีตัวอย่างจากพื้นที่แม่จอน อำเภอเชียงดาว ที่เราจะได้ฟังผ่านบทสนทนากับ ปรัตถกร จองอู คือหนึ่งในการสะท้อนให้เห็นว่า “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” หรือแผนฝุ่นชาตินั้นจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความต้องการของประชาชน โดยที่เคารพความหลากหลาย ความเป็นธรรม และสิทธิที่เท่าเทียมของคนพื้นเมืองชาติพันธุ์

หมู่บ้านแม่จอน เชียงดาว และชนพื้นเมืองดาราอางและลาหู่

ปรัตถกร เล่าว่า พื้นที่ของหมู่บ้านแม่จอนเดิมนั้นเป็นพื้นที่ปลูกชาและมีโรงคั่วชาของผู้ประกอบการรายหนึ่งตั้งแต่ราวปี 2520 และเดิมทีมีประชากรชาติพันธุ์ดาราอางและลาหู่อยู่รวมกันราว 20 หลังคาเรือน หรือประมาณร้อยคน โดยประกอบอาชีพรับจ้างเป็นหลัก เช่น เก็บชา ถางหญ้า รวมถึงรับจ้างในอำเภอเชียงดาวบ้าง มีการทำเกษตรกรรมคือ ปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงดูปากท้อง จากนั้นราวปี 2526 มีการขยับขยายหมู่บ้านมายังพื้นที่ปัจจุบัน และกระจายไปยังหมู่บ้านห้วยปง ปางแดงใน ปางแดงนอก และฝาง 

การถูกบีบบังคับให้ออกจากพื้นที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2530 โดยนโยบายรัฐที่ต้องการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติศรีลานนาและผลักดันให้ชุมชนออกจากพื้นที่หมู่บ้านเดิม และมีคนในชุมชนโดนจับกุมข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยานเมื่อปี 2531 ด้วยการที่เจ้าหน้าที่รัฐเรียกให้ไปหาโดยแจ้งว่าให้ไปรับผ้าห่ม ท้ายที่สุดปี 2532 พื้นที่ที่เคยเป็นหมู่บ้านแม่จอนของชุมชนจึงถูกประกาศให้กลายเป็นอุทยานแห่งชาติศรีลานนา

การขับไล่ชุมชนออกจากถิ่นฐานของตนเองไม่สิ้นสุดแต่เพียงแค่นั้น การบีบบังคับชุมชนให้ออกจากบ้านของตนในอำเภอเชียงดาวเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงปี 2541-2542 พร้อมกับการจับกุมชาวบ้านปางแดงในและปางแดงนอก ตลอดมาสายสัมพันธ์ของชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความกลัวและความไม่ไว้ใจ และมักจำเป็นต้องหนีเมื่อได้ยินว่ามีเจ้าหน้าที่มา เนื่องจากเคยถูกหลอกเพื่อไปรับผ้าห่มนั้นยังฝังอยู่ในความรู้สึกของชุมชน 

ความไม่เป็นธรรมทางสิทธิ เมื่อไร้สัญชาติตามกฎหมายก็มีทางเลือกน้อยลง

“มีด่านตรวจก่อนออกจากหมู่บ้านคอยตรวจคนที่ออกจากอำเภอโดยไม่มีบัตรประจำตัวโดยอ้างว่าเป็นด่านความมั่นคง จะขอดูเอกสาร  และเรียกเก็บเงินชาวบ้านที่ไม่มีบัตรประจำตัว ชาวบ้านจึงมีวิธีเดียวคือไม่ออกจากหมู่บ้าน” ปรัตถกร กล่าวถึงเหตุผลที่คนในชุมชนไม่สามารถออกไปทำงานนอกพื้นที่ได้เนื่องจากไม่มีบัตรประจำตัว และถูกบีบบังคับในพื้นที่ด้วยความไร้สัญชาติ “เมื่อก่อนเด็กที่ไม่มีสัญชาติไม่สามารถเข้าโรงเรียนได้ ไม่ได้รับสวัสดิการสิทธิขั้นพื้นฐาน และส่งผลกระทบวงกว้าง เช่น การหารายได้ ถูกบีบบังคับว่าลูกจะไม่ได้เรียนหนังสือ”

ปรัตถกร เล่าถึงชีวิตในวัยเด็กว่า “ผมแทบจะไม่มีชุดนักเรียนใหม่เลย เป็นลูกคนเดียวแต่ต้องใช้ชุดมือสอง และจบแค่ประถมสามต้องออกมาบวชเพื่อให้ได้รับการศึกษาจากวัด” ปัญหาต่าง ๆ ที่เขาประสบพบเห็นมาตลอดชีวิตตั้งแต่รุ่นพ่อแม่และเรื่องราวการถูกกดทับในชุมชนนั้น ผลักดันให้ปรัตถกรตัดสินใจว่า “สิ่งที่จะต้องทำคือชุมชนต้องมีพื้นที่ทำกิน และเราจะต้องทำอะไรได้บ้าง”

ปัญหาความยากจนที่ปรากฏในชุมชนนั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการไม่แสวงหาอาชีพ แต่สิทธิพื้นฐานที่ไม่พึงได้รับสำหรับคนชาติพันธุ์ เช่น สิทธิในการเดินทาง การศึกษา และการทำงาน ที่เป็นเรื่องสามัญสำหรับคนทั่วไปในสังคม ทำให้เราอาจพลอยหลงลืมไปว่า เรื่องพื้นฐานอย่างเช่น มีทางเลือกอื่นไม่ใช่หรือที่จะประกอบอาชีพ และหาโอกาสในชีวิต แต่การที่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ ได้ศึกษา ได้เห็น และไม่สามารถขวนขวายในโอกาสได้เพราะถูกปิดกั้น ทำให้คนชาติพันธุ์จำเป็นต้องพึ่งพาการหารายได้จากสิ่งที่รัฐสนับสนุน มีผู้หยิบยื่นให้ถึงบ้าน และมีมูลค่าทุกเมล็ดอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 

การเข้ามาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

“เดิมทีหมู่บ้านปลูกข้าวไร่เพื่อเลี้ยงตัวเอง พอราวปี 2543 มีเฮียคนหนึ่งเข้ามาโฆษณาไปตามแต่ละหลัง  โดยในขณะนั้นเมล็ดพันธุ์ 888 ขายดีมาก พร้อมปล่อยเงินกู้นอกระบบที่เป็นเสมือนการทำพันธสัญญาผ่านเงินกู้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านเงินกู้ราว 20,000-30,000 บาท และเอาผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นประกัน หากไม่ตกลงปลูกข้าวโพดจะไม่ได้รับเงิน” ปรัตถกร กล่าวและเสริมว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นมีค่าใช้จ่ายด้านค่าเมล็ดพันธุ์ (ขายแยก) การขยายพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และแต่ละครอบครัวในหมู่บ้านเริ่มปลูกกันประมาณ 10-15 ไร่ ต่อหลัง “ภายหลังเริ่มมีการปลูกถั่วแดง จึงมีคำกล่าวว่า ข้าวโพดเอาไว้ใช้หนี้ ถั่วแดงเอาไว้ใช้กิน เพราะว่าหากขายเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่มีทางพอกินอย่างแน่นอน” 

เมื่อถามถึงทางเลือกในการประกอบอาชีพหรือเพาะปลูกพืชชนิดอื่น ปรัตถกร อธิบายว่า 

“ทางเลือกเราไม่มีและถูกบีบบังคับให้เราทำอย่างนั้นอย่างเดียว เพราะสิทธิในการเดินทาง ออกจากบ้านก็โดนจับ จากการที่เราไม่ได้ออกไปเจออะไรใหม่ ๆ ประสบการณ์และความรู้ที่เรามีอยู่น้อยทำให้ 

เราเจอแต่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เข้ามาหาเรา ด้วยการถูกบีบบังคับทางกฎต่าง ๆ เราอยากทำอย่างอื่น แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ในขณะนั้นเราไม่ได้เห็นการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นเลย เช่น ลำไย ที่เราปลูกในปัจจุบัน เราต้องการมีรายได้ในด้านต่าง ๆ เหมือนคนที่มีสัญชาติทั่วไป เช่น ส่งลูกเรียน ค่ากิน ค่ารักษา แต่เราไม่ได้สวัสดิการเหล่านั้น” 

วงจรของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และต้นทุนของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีอะไรบ้าง ทำไมยังทำให้คนในชุมชนเป็นหนี้สิน

ต้นทุน: มีค่าใช้จ่ายราว 60-70% ของรายรับที่ได้จากข้าวโพด โดยต้องเสียค่าเมล็ดพันธุ์ ค่ายา ค่าปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า ฮอร์โมน กำจัดแมลงบางชนิด (ราว 20,000 บาท ต่อพื้นที่ราว 10 ไร่ – อัตราเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว) เงินเหลือราว 30% เป็นค่าอาหารในครัวเรือน นอกจากนี้ยังต้องรับภาระค่าขนส่งสินค้าโดยการหักค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้าเป็นรายเที่ยว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รับการเอื้อประโยชน์สาธารณูปโภคจากรัฐอย่างถนน ทำให้ในบางครั้งเกษตรกรในหมู่บ้านจะถูกพ่อค้าคนกลางหักค่าเสื่อมสภาพรถ เช่น 25-30 สตางค์ต่อกิโลกรัม การขนส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มจากค่ารถประมาณ 300 บาท รายได้ราว 40,000 บาท แต่หากคิดถึงค่าแรงแล้วก็ขาดทุน

หนี้สิน: พอข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มา ถึงมีเงินแต่ก็เหนื่อยขึ้น และมีโรคตามมาจากการใช้ยาและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำนวนมาก ในบางกรณีการซื้อยาและสารเคมีก็มีหน้ากากแถมมา ปรัตถกร กล่าวว่า 

 “คนอายุ 50-60 จะมีโรคประจำตัว หลายคนเป็นมะเร็ง และมีเคสเสียชีวิตจากมะเร็งสองคน มีผู้ป่วยวัณโรค โรคหืดหอบ และโรคทางเดินหายใจ ที่คาดว่ามาจากการดมสารเคมีเยอะเกินไป” 

ปรัตถกร เล่าเสริมว่า หลายคนในหมู่บ้านติดหนี้สิน อีกทั้งยังต้องทำงานหนักขึ้น แต่ได้ค่าข้าวโพดไม่มากนัก และต้องกู้ใหม่เรื่อย ๆ ปัญหาหนึ้สินกลายมาเป็นปัญหาสำคัญ แต่รองลงมาจากสัญชาติ และสาธารณูปโภคในหมู่บ้านที่ไม่มีทั้งไฟฟ้า สัญญาณโทรศัพท์ หรือสัญญาณอินเตอร์เนทใช้

“การกล่าวว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แก้จนนั้น ผมมองว่าเป็นการมัดมือชกชาวบ้าน ถ้าบอกเป็นการแก้ปัญหาการจน ทำไมไม่เอาอะไรใช้อะไรที่ใช้พื้นที่น้อย หรือแก้ปัญหาสถานะบุคคลให้ชาวบ้านมีทางเลือกมากกว่าหนึ่งทาง”

อีกหนึ่งความไม่เป็นธรรมที่ชัดเจนคือ รูปแบบการทำสัญญาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของที่นี่เป็นเพียงการทำสัญญาปากเปล่ากับพ่อค้าคนกลางด้วยการกู้ยืมนอกระบบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงช่องโหว่ในห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศที่ยากจะมีการตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างแท้จริงด้วยระบบพ่อค้าคนกลางทำให้ยังขาดข้อมูลว่าบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรใดที่เชื่อมโยงกับพื้นที่เพาะปลูกแหล่งใด รวมถึงช่องโหว่ของระบบเกษตรพันธสัญญาและการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของบริษัทไม่ได้ครอบคลุมเกษตรกรอย่างแท้จริง เนื่องจากการซื้อ-ขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยมากแล้วเป็นไปในรูปแบบระบบเกษตรพันธสัญญาแบบปากเปล่า แต่ไม่ได้หมายความว่าเกษตรกรเป็นอิสระภายใต้ระบบพันธสัญญาปากเปล่าและรอดพ้นจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ ทว่ายิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทอุตสาหกรรมเกษตรลอยตัวพ้นจากความขัดแย้งขณะที่ยังได้ผลประโยชน์ทางการค้าและผลผลิตตามต้องการ

การถูกละเมิดสิทธิผ่านความไม่เป็นธรรมจากนโยบายรัฐซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“เรื่องสัญชาติที่เป็นต้นเหตุของทุกอย่าง” ปรัตถกร สะท้อนถึงสาเหตุหลักของความเหลี่อมล้ำและไม่เป็นธรรมอย่างต่อเนื่องที่เกิดขึ้นกับคนชาติพันธุ์ คือปัญหาสัญชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อการถูกจำกัดอิสรภาพในด้านอื่นๆ ของชีวิตตามสิทธิที่คนหนึ่งพึงมี เช่น การแสวงหาอาชีพตามความฝัน สิทธิการเดินทาง หรือเพียงแค่โอกาสทางการศึกษา หรือมีสาธารณูปโภคอย่างไฟฟ้าและสัญญาณโทรศัพท์ ปรัตถกร อธิบายให้เราฟังถึงปัญหาการของสาธารณูปโภคว่า 

“ขอไฟฟ้าเมื่อสิบปีที่แล้ว มีอบต.รับฝากเรื่องเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และเพิ่งได้รับอนุมัติเมื่อวาน (ตามวันที่ให้สัมภาษณ์คือ 21 กรกฎาคม 2566) หนึ่งในเหตุผลของระบบการตัดสินใจของรัฐคือการดูจำนวนประชากรคนในพื้นที่ เมื่อคนน้อย งบประมาณในผลประโยชน์ของท้องถิ่นจึงมาน้อยตามไปด้วย สาธารณูปโภคที่เข้ามาถึงจึงน้อย ถนนไม่ดี ไม่มีคนอนุมัติมาลงงบ ปัจจุบันเปลี่ยนไปบ้างแต่ยังไม่หมด แต่ยังมีลักษณะวิธีคิดนี้อยู่ ด้วยเขตพื้นที่ป่าที่เราอยู่ และมีการประกาศทับของอุทยานมาทับที่ชุมชน บางรายการก็ไม่อนุญาต” 

แม้จะเกิดและโตในไทย แต่การได้มาซึ่งสัญชาติของปรัตถกรนั้นไม่ง่ายเลย ต่างจากกลุ่มสมาชิกทีมหมูป่า 4 คนที่ได้รับสัญชาติไทย เช่นเดียวกับที่กลุ่มชาติพันธุ์ในไทยจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับสัญชาติแม้เกิดบนแผ่นดินไทย และปัญหาที่ปรัตถกรถ่ายทอดมาคือ กว่าจะได้มาซึ่งสัญชาตินั้นต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายราคาสูง และด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาลปลายหลักหมื่นนี่เองที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ชุมชนชาติพันธุ์ต้องพึ่งพารายได้จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และต้องเพิ่มจำนวนการผลิตมากขึ้นเพื่อให้ได้เงินสำหรับค่าดำเนินการ “เวลาไปหาเจ้าหน้าที่ต้องมีเงิน และการที่จะได้บัตรยืนยันตัวตนต่าง ๆ มา ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ซึ่งล้วนเป็นการจ่ายเงินในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น ค่าดำเนินการ ค่าใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่” ปรัตถกร กล่าว

ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสัญชาติ ยังส่งผลต่อเนื่องถึงการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อคนชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า ซึ่งเป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐใช้กำลังกับชาวบ้านและขับไล่ออกจากถิ่นฐาน ปรัตถกร เล่าถึงเหตุการณ์นั้นให้เราฟังว่า “วันที่ 15 พฤษภาคม 2559 เป็นวันปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า มีเจ้าหน้าที่เรียกชาวบ้านไปหารือ ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 ชาวบ้านถูกเรียกประชุมอีกครั้งโดยนายอำเภอเชียงดาว และบอกว่าวันนี้จะต้องไปยึดหมู่บ้านเลย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ป่าไม้ อุทยาน อาวุธครบมือ เข้ามาเวรคืน” ในวันนั้นปรัตถกรเดินติดตามเจ้าหน้าที่พร้อมกับวัด GPS เพื่อตรวจสอบการเวนคืนและขอเจรจากับเจ้าหน้าที่ ท้ายที่สุดที่ดินและหมู่บ้านของชุมชนแม่จอนถูกเวนคืนไป 167.25 ไร่ จากที่เจ้าหน้าที่จะเอาไป 300 ไร่ หากไม่มีการเจรจา 

“นี่คือการใช้กำลังไม่ใช่การหารือ คำพูดที่รัฐพูดมันไม่มีความจริงใจกับชาวบ้านเลย หลอกชาวบ้านตลอด และโยนความผิดให้ชาวบ้านกลายเป็นแพะไปในตัว เราต้องแบ่งพื้นที่ให้คุณยึดทั้งที่พวกเราไม่มีความผิด” ปรัตถกรได้เพียงแต่ตัดพ้อ 

นี่คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้นโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลคสช.ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ ได้รับผลกระทบจากการถูกประกาศยึดคืนพื้นที่ หรือถูกจับกุมดำเนินคดีเรื่อยมา

ปรัตถกร เล่าว่าหลังจากนั้นยังคงมีการขอพื้นที่โดยภาครัฐเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นการขอพื้นที่ไปทำฝายปูน ปลูกต้นไม้ ซึ่งปรัตถกรเคยแย้งเจ้าหน้าที่ว่ามันมีวิธีฟื้นฟูระบบนิเวศที่ดีกว่านี้ ผลกระทบที่ทางหมู่บ้านพบเห็นคือ “เมื่อก่อนมีปลาให้จับ เดี่ยวนี้ไม่มีในห้วย ไม่มีผักกูดให้กิน ระบบนิเวศเสียทั้งที่ในบริเวณนั้นไม่มีการใช้สารเคมี” 

ชุมชนพื้นเมืองชาติพันธุ์นั้นแม้จะมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาการทำเกษตร แต่พวกเขาคือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับป่าไม้และช่วยดูแลผืนป่า เนื่องจากป่าคือบ้านและชีวิตของพวกเขา ดังที่ปรัตถกร กล่าวว่า “ปัจจุบันนี้หมู่บ้านแม่จอนเป็นพื้นที่อนุญาตให้ทำกิน ยังไม่ได้เอกสารสิทธิ แต่ตอนนี้ชุมชนคือผู้ดูแลรับผิดชอบผืนป่าเกือบ 8,000 ไร่ ช่วยเฝ้าระวังและดับไฟป่า แต่ได้แค่งบประมาณค่าอาหารกลางวัน เพิ่งจะมีปีนี้ที่ได้รับ 50,000 บาท เราเพียงแค่ขอแลกการดูแลป่ากับที่อยู่อาศัยทำกิน”

สาเหตุอะไรที่ทำให้ชุมชนหันมาเปลี่ยนการปลูกข้าวโพดเป็นอย่างอื่น เช่น ลำไย

สิทธิพื้นฐานอย่างสัญชาติ ที่ดิน และที่อยู่อาศัย คือปัจจัยสำคัญที่เป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนมีหนทางทำงานรูปแบบอื่นที่มั่นคงและดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ทำความรู้จักกับหนทางอาชีพที่ดีกว่าการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่พวกเขาขาดโอกาสนั้น “เมื่อปราศจากสัญชาติหรือบัตรประชาชน การมีชีวิตอยู่ก็เหมือนไม่มีตัวตน สิทธิพื้นฐานที่พึงมีก็ขาดหายไป หน่วยงานรัฐประกอบกับนโยบายรัฐต่างๆ บีบบังคับให้ชาวบ้านต้องไปทำข้าวโพด เนื่องจากออกไปข้างนอกไม่ได้ พื้นที่ที่มีก็ทำได้แค่ปลูกข้าวโพด”

ในช่วงปีหลัง ๆ  ที่ชุมชนได้รับบัตรแทนตัวตนบ้าง และได้รับโอกาสเดินทางบ้าง ชุมชนมีโอกาสได้รู้จักกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นและหันมาปลูกมะม่วงช่วงสั้นๆ จากนั้นเลือกที่จะปลูกลำไยตั้งแต่ปี 2549-50 เป็นต้นมา และทำให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้น ปัจจุบันเกือบทั้งหมดของพื้นที่เกษตรเป็นการปลูกลำไย สามารถทำรายได้จำนวน 40,000 บาทต่อปี ต่อการปลูกแค่  2 ไร่ ถ้าเทียบกับข้าวโพด ต้องปลูก 15 ไร่ถึงจะได้ 40,000 บาทต่อปี

ปรัตถกร เผยว่า “ปฏิเสธไม่ได้ว่ารายได้คือเหตุผลสำคัญ ลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ดีกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถึง 3-4 เท่า ยกเว้นปีนี้ที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะกลับมาราคาสูง นอกจากนี้ลำไยยังมีการดูแลไม่ได้ยุ่งยากเท่าข้าวโพด เช่น ต้องดูหญ้า ลม การหักจากพายุ สาเหตุที่สำคัญรองลงมาคือ ปัญหาสุขภาพจากการใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมีในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกอบกับมีตลาดรับซื้อลำไยในพื้นที่ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งนำไปขายเองและมีตัวแทนพ่อค้าคนกลางจากในพื้นที่มารับซื้อถึงที่ ปัจจุบันนี้ 70-80 เปอร์เซ็นต์จึงเป็นลำไยเป็นหลัก พืชพรรณอื่น 5 เปอร์เซ็นต์ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 15 เปอร์เซ็นต์”

อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไรจากทางรัฐ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของคนแม่จอน และคนเหนือ

“อย่างน้อยที่สุดอยากให้ชาวบ้านมีรายได้จากการช่วยรัฐดูแลป่าด้วย เช่น เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการช่วงเฝ้าระวังไฟป่า หรือเป็นรอบทุกการลาดตระเวน เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านจากที่ดูแลป่าอยู่แล้ว อยากดูแลป่าต่อ และสามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของชุมชน” ปรัตถกร ตอบ “สำคัญที่สุดคือสัญชาติ รัฐควรมอบเอกสารอะไรสักอย่างให้ชาวบ้านมีสิทธิในการเป็นอยู่มากกว่าทุกวันนี้ และแก้ไขการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ

ส่วนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น ปรัตถกรเล็งเห็นเช่นกันว่าควรสนับสนุนพืชชนิดที่ไม่ได้ใช้การเผา “เช่นที่บ้านผมก็เป็นตัวอย่างหนึ่งว่าปลูกถั่วแดงและลำไยได้ผล  รัฐไม่ควรมองชาวบ้านว่าเป็นเจ้าปัญหา สุดท้ายเมื่อที่แก้ที่ข้อระเบียบข้อกฎหมายก็จะลดปัญหาเหล่านี้ได้ และเพิ่มความเจริญในประเทศทางเศรษฐกิจได้โดยที่ไม่ลิดรอนสิทธิของประชาชน”

วิกฤตทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ปรากฎชัดขึ้นมาตั้งแต่ราวปี 2547 เป็นต้นมา ทั้งป่าไม้ที่หายไปและหมอกควันพิษข้ามพรมแดนต่างเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้นโยบายการสนับสนุนของรัฐจำนวนมาก (อ่านเพิ่มเติม: เติบโตบนความสูญเสีย : ผลวิเคราะห์ดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอิทธิพลของนโยบายรัฐ) โดยที่มีอุตสาหกรรมเป็นผู้ได้ผลประโยชน์สูงสุดจากสิ่งเหล่านี้

นอกจากนี้การสนับสนุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของรัฐยังเชื่อมโยงกับความไม่เป็นธรรมและผลกระทบทางสังคมทั้งต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ ดังกรณีที่เชื่อมโยงกับทางเลือกที่ถูกบีบบังคับของชุมชนหมู่บ้านแม่จอนแห่งนี้ ความท้าทายของการแก้ปัญหาฝุ่นพิษภาคเหนือจึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดต่อไปที่จะต้องให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ความหลากหลายของประชากรในประเทศไทย โดยที่หนึ่งในข้อกฎหมายที่จะสามารถเอื้อให้เกิดความเป็นธรรมต่อชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ในไทยได้คือ การผ่าน (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิวิถีชีวิตชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ เพื่อรับรองสิทธิกลุ่มชนพื้นเมืองในการดำรงชีวิตและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้อย่างยั่งยืน