ถ้าพูดถึงทะเลภาคใต้ เกาะภูเก็ตคงเป็นหนึ่งในตัวเลือกแรกของใครหลายคนที่อยากไปลองเที่ยวดูสักครั้ง ภูเก็ตนับเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและมีหาดมากมายให้ท่องเที่ยวราว 33 หาด ด้วยความที่เป็นเมืองท่องเที่ยว มีการจัดการเพื่อความสวยงาม สบายหูสบายตา นับเป็นหนึ่งในหัวใจหลักที่ทำให้เมืองท่องเที่ยวไม่หลับไหลและทำให้เศรษฐกิจของคนภูเก็ตสะพัดได้อย่างไม่ต้องคาดเดา

แต่ในอีกมุมหนึ่งของการท่องเที่ยวทางทะเลนั้นเนื่องจากนักท่องเที่ยวจำนวนเยอะมากๆ จำเป็นต้องมีมาตรการจัดการขยะและดูแลรักษาความสะอาดอย่างเข้มงวดเพื่อให้นักท่องเที่ยวยังคงอยากกลับมาพักกายและใจที่ภูเก็ตอีกครั้ง

กรีนฮาร์ท ภูเก็ต: เป็นกลุ่มเล็กๆ ของคนผู้ขับเคลื่อนอยากเห็นภูเก็ตมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

เบ้นท์ ซันโฟลว  (Benz Sunflo) คือหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มกรีนฮาร์ท ภูเก็ต ที่อยากให้ระบบนิเวศทางทะเลของภูเก็ตยังคงสวยงาม เบ้นท์ได้แรงบันดาลใจจากมาจากกรีนพีซ เพราะรู้จักกรีนพีซมาตั้งแต่เด็กผ่านรายการ America Funniest video  

“ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเรื่องที่กรีนพีซกำลังรณรงค์อยู่ค่อนข้างสุดโต่ง แต่สุดท้ายก็เป็นเพราะกรีนพีซที่ทำให้เราเริ่มทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เบ้นท์อยากทำแบบที่กรีนพีซทำ นั่นคือเป็นคนที่ต้องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงและยั่งยืน

“กลุ่ม กรีนฮาร์ท ภูเก็ต ทำหลายกิจกรรมอย่างมาก ส่วนหนึ่งที่เราทำคือการเก็บขยะริมชายหาด (Beach Clean Up) เราต้องการจะไปให้ครบทุกหาดเพื่อทำให้ดูว่าหาดที่สะอาดเป็นอย่างไร แล้วก็จะนั่งกินบาร์บิคิวกันหลังจากนั้น ส่วนใหญ่ ก็ได้รับผลตอบรับดีจากแต่ละที่ บางที่เขาทำความสะอาดเรียบร้อยก่อนเราไป การที่นำบุคคลที่ยังมีทัศคติกลางๆ ไปเก็บขยะชายหาดจะทำให้เขาเลิกทิ้งขยะโดยทันทีเพราะมันเหนื่อย ฮ่าๆ ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวเยอะมากๆ พวกเราทำความสะอาดกันไม่ทันเพราะชายหาดถูกใช้งานตลอดเวลา เมืองไทยและภูเก็ตดังเพราะทรัพยากรธรรมชาติเพราะฉะนั้นเราต้องดูแลมันอย่างดี และผมเชื่อว่าดีขึ้นได้

“พวกเราไปเก็บขยะมาแล้วประมาณ 12 หาด ตอนนี้เรายังไม่ได้ถูกมอบหมายให้ดูแลหาดไหน

ผมอยากไปทุกหาดเพราะจะได้เซอร์เวย์ไปในตัวว่าพวกเราพลาดสถานที่เพชรเม็ดงามที่ยังไม่เคยไปหรือเปล่า ผมชอบไปที่แปลกๆ ที่คนยังไม่เคยไปเพราะมันสวยดี และภูเก็ตยังมีหาดอีกหลายที่ที่คนไทยยังไม่รู้ บางเกาะที่เราไปต้องนั่งเรือไปหลายชั่วโมงเลย เราแค่หวังว่าคนใต้จะเห็นในสิ่งที่เราทำ แล้วมีแรงบันดาลใจเหมือนที่พวกเราเห็น “โบ๊ท ขยะมรสุม”  “บังไหว” “แทนทะเล” และ “มิชเชล” แล้วเกิดแรงบันดาลใจ

บางที่มันรกจริงๆ ปกติถ้าไม่มีการวางแผน จะทำความสะอาดไม่ได้เลย พอนักท่องเที่ยวมา เขาเห็นว่าสกปรก เขาก็ทิ้ง แต่เราไปทำให้เขาดูว่ามันสะอาดได้นะ หลังจากนั้น คนก็ระวังมากขึ้น ค่อยๆ เป็นสโนว์บอลเอฟเฟค ไม่ใช่แค่เก็บขยะแล้วจะหมดไปนะ ยังไงก็ยังมีขยะมาอยู่เรื่อยๆ แต่เราต้องพยายามปรับวิธีรับมือ เราไม่สามารถเก็บขยะไปทั้งชีวิตได้ แต่เราเลือกที่จะไม่สร้างขยะได้ ถ้าติดต่อมาเราก็ไปเก็บให้คุณครับ”

Plastic Brand Audit ณ หาดไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต. © Songwut Jullanan / Greenpeace
เบนซ์ (ซ้ายสุด) กรีนฮาร์ทภูเก็ต อาสาสมัครจากมูลนิธิไม้ขาวยั่งยืน และกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมเก็บขยะและบันทึกข้อมูลชนิดและแบรนด์ขยะพลาสติกที่เจอบนชายหาดไม้ขาว ที่จังหวัดภูเก็ต ข้อมูลจากการเก็บและสำรวจข้อมูลสินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) จะถูกรวบรวมเพื่อนำเสนอว่าในแต่ละปีอาสาสมัครเจอขยะจากแบรนด์ใดมากที่สุด และเรียกร้องให้เจ้าของสินค้ารับผิดชอบต่อขยะที่แบรนด์ของตนเองก่อขึ้น © Songwut Jullanan / Greenpeace

คิดง่ายๆ กรีนฮาร์ท เปลี่ยนโลกไม่ได้แต่พวกเราเปลี่ยนตัวเองได้ ผมคิดว่ามีกฎง่าย ๆ 5 ข้อที่เชื่อว่าทุกคนก็ทำได้และอยากให้ทุกคนทำตาม พร้อมเชื่อว่าจะสร้างแรงบันดาลใจหรือรู้ซึ้งถึงโทษของขยะพลาสติก

  • ใช้กระบอกน้ำหรือแก้วเก็บความเย็นพร้อมหลอดใช้ซ้ำหากต้องการ
  • ใช้ถุงผ้าที่มีอยู่แล้วโดยไม่ต้องซื้อใหม่ หรือใช้ถุงพลาสติกซ้ำให้คุ้มค่าที่สุด  เพื่อลดการบริโภคเกินจำเป็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
  • ไปเก็บขยะชายหาดกับเราสักครั้ง หากคุณได้มาเก็บขยะด้วยกันแล้ว จะเข้าใจเลยว่างานนี้เหนื่อยและน่าเบื่อแค่ไหนที่จะต้องมาคอยตามเก็บพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ไม่จำเป็น และเลิกทิ้งขยะที่ชายหาดแน่นอนเพราะมันสกปรกและขยะแขยง
  • ลอง free diving เพื่อเห็นความงามใต้ท้องทะเลของประเทศไทยที่ไม่ได้แพ้ชาติอื่นเลย 
  • ข้อนี้ยากสุด บอกเพื่อนรอบตัวอย่างน้อย 5 คนให้เข้าแกงค์รักโลกเหมือนกัน และมาร่วมลดพลาสติกด้วยกัน

ลองคิดดู ชีวิตคนใช้พลาสติกเยอะเท่าไหร่ แค่คุณเปลี่ยน มันก็ลดลงครึ่งหนึ่งแล้วนะ ซึ่งมันเปลี่ยนโลกแน่นอน

โควิด-19 เหมือนนั่งไทม์แมชชีนกลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว

ในช่วงโควิดที่ผ่านมา เมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตได้รับผลกระทบมาก ทุกอย่างหยุดชะงัก แต่ในช่วงนั้น ท้องทะเลได้หยุดพักฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างจริงจัง เล่ากันว่าเมื่อ 40  ปีก่อน หาดกะตะมีเต่าทะเลเข้ามาแวะเวียนให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม แต่พอการท่องเที่ยวเริ่มเข้ามามีบทบาทให้เศรษฐกิจของภูเก็ตดีขึ้น เรากลับต้องแลกด้วยระบบนิเวศทางทะเลบางส่วนที่เสื่อมโทรมลงอย่างมาก โควิดทำให้ผมเคยเห็นเพชรเม็ดงามที่ภูเก็ตเคยเป็น กรีนฮาร์ท ภูเก็ต หวังว่าเราสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนกลับมารักโลกได้และมาช่วยกันคนละนิดคนละหน่อยเพื่อสร้างภูเก็ตแบบที่เราอยากให้เป็น

เราทำงานร่วมกันกับหลายฝ่ายทั้งเพจขยะมรสุม มิชเชล มูลนิธิไม้ขาว กลุ่มต่างชาติมากมาย รวมถึงเทศบาลภูเก็ต ที่เข้ามาช่วยเหลือเวลาเราจัดกิจกรรมเก็บขยะ บางครั้งก็ช่วยเหลือทางด้านอุปกรณ์ เรามีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าถ้าชาวภูเก็ตหันมาสนใจประเด็นขยะพลาสติกอย่างจริงจัง ทำไมภาครัฐจะไม่หันมาสนใจปัญหานี้

Plastic Brand Audit ณ หาดไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต. © Songwut Jullanan / Greenpeace
อาสาสมัครจากมูลนิธิไม้ขาวยั่งยืน กรีนฮาร์ทภูเก็ต และกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมเก็บขยะและบันทึกข้อมูลชนิดและแบรนด์ขยะพลาสติกที่เจอบนชายหาดไม้ขาว ที่จังหวัดภูเก็ต ข้อมูลจากการเก็บและสำรวจข้อมูลสินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) จะถูกรวบรวมเพื่อนำเสนอว่าในแต่ละปีอาสาสมัครเจอขยะจากแบรนด์ใดมากที่สุด และเรียกร้องให้เจ้าของสินค้ารับผิดชอบต่อขยะที่แบรนด์ของตนเองก่อขึ้น
© Songwut Jullanan / Greenpeace

เริ่มที่ตัวเองที่ไม่ใช่เพื่อตัวเรา เซล์ฟเลิฟคือการที่เรารักสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่

ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา มนุษย์เราผลิตขยะมากถึง 9.2 ตันเท่ากับปลาวาฬเพชฌฆาต  88 ล้านตัว ไม่นับช่วงสงครามหรือโรคระบาด เบ้นท์อยากนำข้อมูลเหล่านี้มาเผยแพร่ให้คนรู้ว่าหากขยะเหล่านี้ไม่ถูกจัดการหรือกำจัดเพียงบางส่วน ต่อให้เราตายไปแล้ว ขยะพลาสติกที่เราใช้ก็ยังคงอยู่เสมอ นี่คือสาเหตุที่เบ้นท์พยายามบอกคนอื่นว่าลดที่ต้นทาง ต้นทางที่อาจจะมาจากภาคธุรกิจ หรือต้นทางที่มาจากผู้บริโภคอย่างเรา เราไปกรีนกว่านี้เพราะเกาะภูเก็ตให้ทุกอย่างกับเรา

“ผมพยายามย่อยข้อมูลที่จะบอกต่อให้ได้ง่ายที่สุดเพื่อให้คนเข้าใจอย่างรวดเร็ว ทุกคนต้องบริโภคอย่างมีสติ และเมื่อผู้คนตระหนักในเรื่องนี้ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ แล้ว” ตอนนี้ทุกคนในภูเก็ตตระหนักมากขึ้นได้ถึงปัญหาขยะพลาสติกแล้ว เห็นได้จากสื่อท้องถิ่นที่ประโคมข่าวเรื่องนี้มากขึ้นเพื่อกระจายให้ทุกคนต้องหันมาลดอย่างจริงจัง

ได้มามากเท่าไหร่ต้องให้กลับคืนยิ่งกว่า

กิจกรรมเก็บขยะชายหาดที่ภูเก็ตของกลุ่มกรีนฮาร์ทภูเก็ต ภาพโดย Green Heart Phuket © Green Hearts ภูเก็ต

ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว เท่ากับว่ามีกิจการที่พัก ร้านอาหาร สิ่งอำนวยความสะดวกมากมายเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว เบ้นท์ย้ำเสมอตลอดการพูดคุยว่ายิ่งเราได้กำไรจากทรัพยากรธรรมชาติมากเท่าไหร่ยิ่งต้องให้ความเป็นธรรมกลับไปมากยิ่งกว่า เพราะสิ่งแวดล้อมไม่ได้จะฟื้นฟูขึ้นได้แค่ในวันเดียว ชาวต่างชาติล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าบ้านเรานั้นโชคดีมากขนาดไหนที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่อุดมสมบูรณ์และมีกิจกรรมมากมายให้ทำ นั่นกลายเป็นแรงบันดาลใจที่เบ้นท์อยากทำให้ได้

หากเจ้าของกิจการท่องเที่ยวทุกคนหันมาใส่ใจขยะทั่วภูเก็ตและเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะกลับมาดีขึ้นแน่นอน ถ้าถามว่าแล้วภาคธุรกิจจะช่วยลดพลาสติกได้ด้วยหรือไม่?แน่นอนว่าได้ เพราะในธุรกิจโรงแรมของครอบครัวของเบ้นท์ได้ลองลดขยะพลาสติกบางอย่างที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น การเปลี่ยนขวดน้ำดื่มเป็นขวดแก้วแทนขวดพลาสติก แน่นอนว่าต้องเจอปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายอยู่แล้วแต่ตอนนี้เทรนด์ของโลกกำลังเปลี่ยนไป ถ้าภาคธุรกิจอย่างเราไม่เปลี่ยนตามก็ไม่อาจทำกำไรอยู่ได้

“การเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ มันอาจจะต้องใช้เวลา แต่ถ้าทุกโรงแรมเห็นเป็นภาพเดียวกันว่าเราทำเพื่อสิ่งแวดล้อม โรงแรมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยต้องทำตามอย่างแน่นอน เพราะคงไม่มีใครอยากเข้าพักโรงแรมชายหาดที่ทำลายสิ่งแวดล้อม นั่นคือวิชั่นในอนาคต” – เบ้นท์ ซันโฟลว  (Benz Sunflo) กลุ่มกรีนฮาร์ท ภูเก็ต