อารมณ์โกรธหรือวิตกกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือเรื่องปกติ แต่เมื่ออารมณ์เหล่านี้ครอบงำเราจะส่งผลต่อสุขภาพเราได้ นี่คือวิธีรับมือกับความรู้สึกเหล่านี้

การเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสาหัส การเห็นสิ่งแวดล้อมพังทลายลงทำให้เกิดความรู้สึกหลายอย่าง เราอาจจะพยายามคิดว่ามันไม่เกิดขึ้น รู้สึกสิ้นหวังไปเลย หรือวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต นอนไม่หลับ เราอาจจะต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

© Anton Voronkov / Greenpeace

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเราทุกคนสามารถเกิดความวิตกกังวลทางสิ่งแวดล้อม การลงโทษทางสิ่งแวดล้อม ความโกรธทางสิ่งแวดล้อม ความสิ้นหวังทางสิ่งแวดล้อมได้ และเมื่อเกิดความรู้สึกเช่นนี้ขึ้น การทำอะไรบางอย่างให้ตนเองรู้สึกดีขึ้นอาจเป็นอะไรที่ยากเกินไป แต่การเรียนรู้ที่จะอยู่กับความวิตกกังวลทางสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งเมื่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นต่อหน้าเรา

คาโรไลน์ ฮิกแมน นักจิตวิทยาและนักวิจัยด้านสภาพอากาศกล่าวถึง 5 วิธีรับมือกับความวิตกกังวลทางสิ่งแวดล้อมกับอาสาสมัครและพนักงานกรีนพีซ และนี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากคาโรไลน์

อะไรคือ Eco-anxiety?

Eco-anxiety หรือ climate anxiety เป็นคำสั้นๆที่ใช้อธิบายความทุกข์ที่เกิดจากการคิดถึงเรื่องการล่มสลายของสิ่งแวดล้อมจากการเห็นตัวอย่างของมันเกิดขึ้นรอบตัวเรา นี่ยังรวมไปถึงความเครียดที่เรารู้สึกว่าคนรอบข้างไม่ใส่ใจ ไม่ทำอะไรสักอย่าง แต่กลับโจมตี กล่าวโทษหรือไม่รู้สึกใยดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น

1. ความรู้สึกของคุณเป็นเรื่องดีต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

เราจะเริ่มจากความจริงที่รับได้ยากก่อน วิกฤตสภาพภูมิอากาศคือภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดที่มนุษย์เคยเจอ การกระทำของมนุษย์กำลังทำลายบ้านหลังนี้ คนที่อยู่ในอำนาจดูเหมือนจะขยับตัวช้า ทำให้เรารู้สึกไม่วางใจ และสำหรับบางชุมชน ความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทวีคูณขึ้นแล้ว

คาโรไลน์ให้เราพึงระลึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะมีความรู้สึกหลากหลายเกิดขึ้นไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ดี ที่เรามีความรู้สึกตอบสนองทางอารมณ์ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เรารู้สึกวิตกกังวลเพราะเราใส่ใจ นั่นแสดงให้เห็นว่าเรารับรู้ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และมันไม่ควรเป็นเช่นนี้

“เราตื่นมากลางเรื่องแล้วก็จริง แต่มันไม่สายไปที่จะเปลี่ยนแปลงตอนจบของเรื่อง” – คาโรไลน์ ฮิกแมน

2. คุณไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวในความวิตกกังวลนี้

มันอาจจะดูเลี่ยนถ้าจะพูดว่าคุณไม่ได้โดดเดี่ยว แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ! แต่เข้าใจได้นะว่าถ้าหากเราไม่ได้อยู่กับคนที่เข้าใจความรู้สึกของเรา มันอาจจะดูเหมือนว่าเรากำลังเผชิญกับความวิตกกังวลทางสิ่งแวดล้อมนี้คนเดียว

จากสถิติพบว่า คนหนุ่มสาวทั่วโลก 84% กล่าวว่าพวกเขาก็กังวลเช่นกัน และการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2564 รายงานว่าผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักร 75% กังวลถึงผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นดูเหมือนว่าจะมีคนรู้สึกเหมือนคุณอยู่เช่นกัน

ความวิตกกังวลทางสิ่งแวดล้อมช่วยให้เราเรียนรู้ว่าควรจะพูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับเพื่อนและครอบครัวอย่างไร  ถ้าคุณไม่อยากพูดคุยกับใครก็ตามที่คุณรู้จัก ลองหาทางอื่นๆเพื่อเข้าหากลุ่มคนที่คิดเหมือนคุณเช่น คลินิกสภาพภูมิอากาศ (Climate cafe) หรือสมัครเป็นอาสาสมัครกรีนพีซ

3. เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความวิตกกังวลทางสิ่งแวดล้อม

ลืมเรื่องการต่อสู้ไปก่อน อย่างที่คาโรไลน์กล่าวไว้ว่าเราไม่จำเป็นต้องสู้กับความวิตกกังวลทางสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องที่เราควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน

หากเราตกอยู่ในอารมณ์ที่ยากจะรับมือ เราอาจจะหาทางเปลี่ยนอารมณ์นั้นไปเป็นการลงมือทำอะไรสักอย่างได้ยาก อย่างไรก็ตาม มันก็เหมือนกับการเต้นทุกรูปแบบ ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเริ่มเต้นหรือเคลื่อนตัวท่าไหน แบบไหนดี เราจึงต้องฝึกฝนเพื่อสร้างกล้ามเนื้อที่จะใช้เคลื่อนไหวให้เป็นท่าเต้นต่างๆ ที่เราต้องการ

การอยู่กับความความวิตกกังวลทางสิ่งแวดล้อมหมายถึงการที่เราโอเคในเรื่องที่ไม่โอเค เรียนรู้ที่จะยอมรับความรู้สึกของเรา ปล่อยให้อารมณ์ต่างๆทำงานไป รู้ว่าถึงแม้จะเกิดความวิตกกังวลเช่นนี้ขึ้นอีก แต่มันจะผ่านพ้นไป

“สำรวจความรู้สึกของคุณ แต่อย่าจมปลักอยู่กับมัน” – คาโรไลน์ ฮิกเมน ทวิต

4. ให้พื้นที่ว่างสำหรับอารมณ์

บางครั้ง เราก็อยากจะหนีจากความวิตกกังวลด้านสิ่งแวดล้อม เพราะกลัวว่าความรู้สึกกังวลนี้จะทำให้เรารับมือกับมันยาก  คาโรไลน์แนะนำให้มีพื้นที่ว่างสำหรับอารมณ์เหล่านี้

แล้วเราจะทำได้อย่างไร? อาจเป็นการลองจัดสรรเวลาสัก 30 นาทีในแต่ละวันเพื่อคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและประมวลผลความรู้สึกของคุณว่ากำลังรู้สึกอย่างไร คุณสามารถเขียนความรู้สึกคุณออกมา วาดรูป พูดคุย หรือออกไปเดินเล่น หรือหากความวิตกกังวลทางสภาพภูมิอากาศกระทบจิตใจคุณมากๆ ลองปรึกษากับนักจิตวิทยาด้านนี้ดู

การหาพื้นที่ว่างไว้รองรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เราเตรียมตัวให้พร้อมใช้ชีวิตควบคู่ไปกับความวิตกกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมได้

5. การมองโลกอย่างมีหวัง (Radical hope) จะช่วยเปลี่ยนความวิตกกังวลไปเป็นการลงมือทำได้

เราไม่อาจหนีจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนความวิตกกังวลทางสิ่งแวดล้อมไปเป็นการลงมือทำ การแสดงออกถึงสิ่งที่เราใส่ใจหมายถึงการห่วงใยตนเองและผู้อื่น

การมองโลกอย่างมีหวังจะช่วยให้เราใช้ชีวิตหรือลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยความหวัง และทำให้เรายังคงมีพลัง มีความกระฉับกระเฉงในการคิด ความรู้สึก และการกระทำ การเลือกที่จะเรียนรู้และเข้าใจความรู้สึกกังวลด้านสิ่งแวดล้อมจะช่วยลดกลไกป้องกันตัวเองและเชื่อมโยงกับอารมณ์ที่เรากำลังรู้สึกจริงๆ คุณไม่จำเป็นที่จะต้องชอบสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญ แต่เราต้องหาทางอยู่กับมันให้ได้การฝึกฝนให้ตนมีหวังไม่จำเป็นต้องซับซ้อน ลองหาวิธีที่ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ที่จะทำให้เรามีหวังได้ในหน้า Take Action กับกรีนพีซ