“เราเห็นรูปปลาอยู่ในกระป๋องอะลูมิเนียมแล้วยังรู้สึกว่าอึดอัดเลย คิดว่าถ้าเป็นตัวเองต้องอยู่ในที่แคบแบบนั้นเราคงอยู่ไม่ได้และกระป๋องนั้นก็ไม่ใช่บ้านที่แท้จริง แต่เป็นขยะจากใครไม่รู้ที่สุดท้ายมาลงเอยตรงที่เราอาศัยอยู่”

Ocean Plastic Pollution in Phuket Province. © Sirachai Arunrugstichai / Greenpeace
ปลาสลิดหินสีฟ้าหางเหลือง(Pomacentrus similis)ซ่อนตัวอยู่ในกระป๋องเบียร์ ใต้ทะเลของจังหวัดภูเก็ต สะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมบนชายฝั่งของมนุษย์สามารถส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะล © Sirachai Arunrugstichai / Greenpeace

หมิว พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย พูดถึงความรู้สึกนี้เป็นคำตอบที่ว่าทำไมตอนนี้ทุกคนควรยกระดับการลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่รวมไปถึงภาครัฐและภาคธุรกิจ ไม่ใช่แค่ประชาชนเพียงอย่างเดียวที่ต้องกำลังแบกรับภาระอันหนักอึ้งนี้

หมิวทำงานกับกรีนพีซ ประเทศไทย ในการรณรงค์เพื่อยุติมลพิษพลาสติกมากว่า 6 ปีแล้ว แม้ว่าในช่วงแรกหมิวไม่ได้มีความสนใจด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ แต่เมื่อรายล้อมไปด้วยคนที่อยากสร้างเปลี่ยนแปลงเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดปัญหาพลาสติก ทำให้หมิวตัดสินใจมาทำงานรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง และอยากทำให้การจัดการปัญหาขยะพลาสติกดีขึ้น 

Brand Audit in Sai Kaew Beach, Thailand. © Songwut Jullanan / Greenpeace
หมิว พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กำลังเก็บขยะที่เจอบนหาดทรายแก้ว จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนของกิจกรรม Brand Audit โดยหลังจากการรวบรวมขยะที่พบ อาสาสมัครจะร่วมกันบันทึกข้อมูลแบรนด์ของขยะที่พบในสิ่งแวดล้อม เพื่อหาว่าพบขยะของแบรนด์ใดมากที่สุด © Songwut Jullanan / Greenpeace

“นอกจากภาพถ่ายปลาในกระป๋องอะลูมิเนียมในวันนั้นแล้ว เราได้มีโอกาสไปฟังวงพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องมลพิษพลาสติก ซึ่งจัดโดยมาดีคลับ (Ma.D Club for Better Society) เมื่อหลายปีก่อนโควิด ตอนนั้นคนกำลังตื่นตัวมากๆ เราได้เห็นและตื่นเต้นกับการได้รับรู้ข้อมูลเชิงลึกและเกิดแรงบันดาลใจให้หันมาทำงานในบทบาทนี้อย่างจริงจัง เราอยากเป็นเหมือนตุ่นที่ขุดจนกว่าจะรู้ประเด็นเรื่องนี้ให้มาก และสามารถออกไปบอกคนอื่นได้อย่างเต็มปากว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องหันมาสนใจปัญหาพลาสติกที่เกิดขึ้นอยู่”

การทำงานรณรงค์เพื่อหยุดมลพิษพลาสติกกับ กรีนพีซ ประเทศไทย

ก่อนหน้าที่จะมาเป็นนักรณรงค์เรื่องพลาสติก หมิวเล่าว่าตอนแรกเธอมีpassion ต่อเรื่องนี้สูงมาก แต่เมื่อเราเข้ามาทำงานรณรงค์อย่างจริงจังแล้ว ก็จะต้องแปลง Passion นั้นออกมาให้เป็นรูปร่าง จับต้องได้ และให้คนที่สนใจหรือไม่เคยสนใจเข้าใจว่าปัญหาพลาสติกไม่ได้มีแค่สถานการณ์ขยะล้นเมือง การจัดการที่ไม่ดี และผู้บริโภคต้องรับผิดชอบเพียงอย่างเดียว 

“หมิวเคยคิดเหมือนกันว่า “เริ่มต้นที่ตัวเรา” ก็ได้ และมักได้รับคำถามจากหลายคนว่า ซีเรียสเกินไปไหมกับการที่ต้องลดใช้พลาสติกทุกวัน แต่หมิวรู้สึกว่า เรากำลังรณรงค์เรื่องนี้อยู่ ถ้าเรายังทำไม่ได้ แล้วเราจะไปบอกคนอื่นให้เชื่อได้อย่างไร “คนตัวเล็ก ๆ ก็ทำได้”

Pichmol Rugrod at Landfill in Aranyaprathet Sa Kaeo. © Songwut Jullanan / Greenpeace
หมิว พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย ที่หลุมฝังกลบขยะ ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นที่รองรับขยะครัวเรือนจากชุมชน © Songwut Jullanan / Greenpeace

“แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะเมื่อเราอยากซื้อสินค้า เช่น ขนมหนึ่งถุง เป็นต้น ซึ่งขนมจะมาอยู่ในมือเราได้ก็ต้องมีผู้ผลิตภาคธุรกิจที่ผลิตสินค้าเหล่านี้มาตอบสอบสนองความต้องการของเรา ดังนั้นการจัดการปัญหาขยะพลาสติกจำเป็นจะต้องมีทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง โดยการจัดการปัญหานี้ถือเป็นวาระแห่งชาติของรัฐ ส่วนภาคธุรกิจก็ต้องร่วมกันลดการผลิตพลาสติก นี่จึงเป็นเหตุผลที่หมิวเห็นว่าปัญหานี้ไม่ควรเป็นความรับผิดชอบของประชาชนที่เป็นผู้บริโภคเพียงฝ่ายเดียว”

“ในส่วนงานรณรงค์ของเรานั้น เราเริ่มทำกิจกรรม“Brand Audit เก็บ สังเกต บันทึก รู้จักที่มาของขยะผ่านแบรนด์” มา 5 ปีแล้ว เราบันทึกแบรนด์ที่พบขยะและมีการเปิดเผยผลทุกปี และแม้ว่าจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งสนใจว่าขยะของตัวเองตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด แต่หมิวยังเชื่อว่าข้อมูลที่ได้มาในที่สุดจะสร้างให้แบรนด์เหล่านี้รับผิดชอบต่อปัญหาที่พวกเขามีส่วนในการสร้างขึ้น ในวันนั้นเมื่อแบรนด์ตระหนักได้สักนิดว่าพวกเขาทำร้ายโลกไปมากแค่ไหน เขาก็จะต้องหาทางแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนและด้วยความจริงใจแน่นอน”

เราทุกคน ทุกภาคส่วนลดพลาสติกได้!

หมิวเล่าต่อว่านโยบายของภาครัฐรวมถึงการรณรงค์บางอย่างแม้จะถูกพูดถึงมาอย่างยาวนาน 20-30 ปีแล้วแต่ก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น ทั้งที่ภาครัฐมีอำนาจมากที่สุดในการยุติปัญหามลพิษพลาสติกนี้  อย่างไรก็ตามหมิวเชื่อว่ารัฐสามารถออกกฎหมายบังคับให้กระบวนการผลิตในภาคธุรกิจเข้มงวดขึ้นได้ รวมทั้งแนวนโยบายที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กัน หมิวเชื่อว่าเราจะทำได้เพราะหลาย ๆ ประเทศก็มีกฎหมายที่เข้มงวดพอที่จะจัดการมลพิษพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเราในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ไม่ว่ารัฐจะออกโร้ดแมป (Roadmap) อีกกี่ฉบับแต่ก็เป็นเพียงข้อบังคับกึ่งการขอความร่วมมือแต่ไร้ความเด็ดขาดและบทลงโทษทางกฎหมายก็อาจทำให้ภาคธุรกิจไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามก็ได้ และหากภาคธุรกิจยังคงมุ่งหาแต่กำไรแต่ขาดความรับผิดชอบต่อมลพิษที่เกิดจากการผลิตบรรจุภัณฑ์ของตัวเอง 

Reuse Revolution event in Bangkok, Thailand.
กรีนพีซ ประเทศไทย จัดงาน Reuse Revolution ลด(พลาสติก)ให้กระหน่ำ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อ มอบรางวัล Top 5 Corporate Plastic Polluters หรือผู้ก่อมลพิษพลาสติกสูงสุด 5 อันดับแรก จากการเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) ตั้งแต่ปี 2561-2565 ให้แก่แบรนด์ในประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group), ดัชมิลล์, โอสถสภา, เสริมสุข และสิงห์ คอร์เปอเรชั่น กรีนพีซ ประเทศไทยเรียกร้องให้ผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์สินค้าในไทยตั้งเป้าลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ลงทุนในระบบเก็บพลาสติกหลังการใช้งานกลับคืน การใช้ซ้ำ และรีฟิลโดยใช้ภาชนะใช้ซ้ำ ตลอดจนสนับสนุนกรอบกฎหมายที่ใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต(Extended Producer Responsibility หรือ EPR) ในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย

อีกทั้งยังคงพยายามฟอกเขียวด้วยการสื่อสารกับผู้บริโภคว่าการแยกขยะและการรีไซเคิลสามารถช่วยลดปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งความจริงแล้วการผลักภาระให้ผู้บริโภคแยกขยะและรีไซเคิลเพียงฝ่ายเดียวเป็นเรื่องที่ยากมาก ขยะเหล่านั้นอาจหลุดรอดออกจากระบบและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ในทางกลับกันผู้ผลิตก็ผลิตพลาสติกออกมาเรื่อย ๆ ในปริมาณมหาศาล แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรหากต้นทางยังเพิกเฉยแบบนี้

“ยกตัวอย่างช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด การรณรงค์ให้คนลดใช้พลาสติกหรือเข้าใจปัญหาเป็นไปในทิศทางที่ดี จนสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมประชาชนได้ ซึ่งขั้นต่อไปก็คือประชาชนจะเข้าใจมากขึ้นและร่วมกันส่งเสียงแก้ไขปัญหานี้ แต่เมื่อโควิดระบาด การรณรงค์เรื่องเหล่านี้จึงหยุดชะงักไปเพราะโรคระบาดที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้น 

แต่ถ้าถามว่าพลาสติกมีส่วนทำให้เราผ่านวิกฤตนี้โรคระบาดนี้มาได้ไหม ก็ต้องตอบได้ว่าเป็นความจริง เพราะพอสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ก็ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เคยลดพลาสติกก็ถูกกลืนหายไป แต่นี่แหละคืออีกหนึ่งความท้าทายที่เราต้องทำงานรณรงค์ต่อไปเพื่อให้คนกลับมาตระหนักอีกครั้งให้ได้ แม้ว่าเหมือนจะเริ่มตั้งไข่การรณรงค์ก็ตาม”

อย่างไรก็ตามแม้ว่าเราอาจจะต้องกลับมาตั้งไข่เริ่มรณรงค์กันอีกครั้ง แต่ในระดับโลกตอนนี้ยังมีอีกหนึ่งความหวังที่อาจเป็นโอกาสในการร่วมสร้างข้อตกลงเพื่อหยุดปัญหามลพิษในระดับประเทศและในระดับโลก นั่นคือสนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty) 

Greenpeace unveils giant art installation ahead of Global Plastic Treaty negotiations in Paris. © Noemie Coissac / Greenpeace
กรีนพีซ สากล ร่วมกับศิลปินและนักกิจกรรม Benjamin Von Wong จัดผลงานศิลปะแท่นขุดเจาะน้ำมันที่เป็นขวดพลาสติกสูงถึง 5 เมตร ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า #PerpetualPlastic Machine โดยจัดแสดงที่แม่น้ำ Seine River เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2023 เพื่อแสดงให้เห็นว่า สนธิสัญญาพลาสติกโลกที่มีประสิทธิภาพจะต้องหยุดการผลิตพลาสติกที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล © Noemie Coissac / Greenpeace

สนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty)

สนธิสัญญาพลาสติกโลกจะเป็นการยกระดับการแก้ปัญหามลพิษพลาสติก อีกทั้งจะเป็นก้าวสำคัญที่ผู้นำทั่วโลกจะแสดงเจตนารมณ์ถึงความต้องการลดพลาสติกอย่างจริงจังพร้อมกับแก้ปัญหาร่วมกัน เราเชื่อว่าสนธิสัญญาดังกล่าวจะเป็นความตกลงระหว่างประเทศทั่วโลกที่จะร่วมมือกันยุติปัญหามลพิษพลาสติกที่เกิดขึ้นตั้งแต่การผลิตพลาสติกต้นทางจนไปถึงการจัดการขยะที่ปลายทาง

การเจราจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกถูกจัดขึ้นทั้งหมด 5 ครั้ง โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 และเสนอรับรองมาตรการที่เสร็จสมบูรณ์ในการประชุม ผู้แทนรัฐบาลรัฐสมาชิก (Diplomatic Conference) ภายในปี 2568 โดยมีการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (United Nations Intergovernmental Negotiating Committee: INC) ไปแล้ว 2 ครั้ง 

ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2565 ที่อุรุกวัย และครั้งที่ 2 วันที่ 28 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2566 ที่ฝรั่งเศส

Plastics Message Projected in Washington. © Tim Aubry / Greenpeace
กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา และนักฉายโปรเจคเตอร์จากกรุงวอชิงตัน ดีซี โรบิ้น เบล ฉายแสงเป็นข้อความ Strong Global Plastics Treaty Now! เพื่อสื่อสารถึงประธานาธิบดี โจ ไบเดน บริเวณหน้าอาคารรัฐสภาสหรัฐ ช่วงระหว่างการประชุมเจราสนธิสัญญาพลาสติกโลก กรีนพีซสหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสนับสนุนสนธิสัญญาที่มีประสิทธิภาพและให้ความสำคัญกับการลดพลาสติกที่การผลิตจากต้นทาง © Tim Aubry / Greenpeace

สรุปแล้วคำว่า ‘พวกเรา’ ของหมิวนั้นหมายถึง ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนในประเทศไทย ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นความร่วมมือระดับประเทศและยกระดับสู่ความร่วมมือระดับโลก แม้ว่าตอนนี้เสียงของการประชุมยังคงแตกเป็นสองฝ่ายระหว่างการสร้างกฎหมายเพื่อบังคับใช้ทั่วโลก กับกรอบความร่วมมือที่ประเทศต่าง ๆ เลือกจะทำตามความสมัครใจ