เพิ่งผ่านปีใหม่ไปไม่นาน หันมองดูปฏิทินก็ก้าวเข้าสู่เดือนกรกฎาคมแล้ว เวลาครึ่งปีที่ผ่านไปมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นกับมหาสมุทรทั้งในไทยและทั่วโลก เราเลยอยากมาชวนมองย้อนว่าครึ่งปีที่ผ่านมา เราได้ทำอะไรบ้างในประเด็นทะเลและชุมชนชายฝั่ง 

กุมภาพันธ์ – มีนาคม – สนธิสัญญาทะเลหลวงผ่านแล้ว 

ภาพโปรเจคเตอร์ดวงตาวาฬฉายลงบนตึกกลางมหานครนิวยอร์ก
เพื่อเรียกร้องให้ตัวแทนรัฐบาลที่เข้าประชุมผ่านร่างสนธิสัญญาทะเลหลวง 
© Stephanie Keith / Greenpeace

หนึ่งในข่าวใหญ่ที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องที่เราได้สนธิสัญญาทะเลหลวง หลังรณรงค์ต่อสู้กันต่อเนื่องมากว่ายี่สิบปี โดยณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ นักรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทรชาวไทยได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันโค้งสุดท้ายที่นิวยอร์กด้วย 

หลังจากนั้นร่างสนธิสัญญาถูกนำไปตรวจสอบและแปลเป็นภาษาทางการขององค์การสหประชาชาติ ก่อนในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ร่างสนธิสัญญาก็ได้ผ่านอย่างเป็นทางการแล้ว ต่อจากนี้กรีนพีซจะรณรงค์ให้รัฐบาลให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาเพื่อนำมาใช้สร้างเขตคุ้มครองทางทะเล แน่นอนว่ารวมถึงรัฐบาลไทยด้วย 

เมษายน – ร่วมทำสารคดีจะนะ + ผลักดันข้อเสนอนโยบายเลือกตั้ง ประเด็นการปกป้องทะเลและมหาสมุทร

เราร่วมกับนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อแลกเปลี่ยน  เรียนรู้ และผลิตสารคดีเกี่ยวกับทรัพยากร ชีวิตชุมชน และการต่อสู้กับโครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อปกป้องทะเลและบ้านเกิด

นอกจากนี้ เรายังได้ผลักดันข้อเสนอนโยบายเลือกตั้ง 66 ต่อพรรคการเมืองต่าง ๆ ต่อประเด็นการปกป้องทะเลและมหาสมุทร และการพัฒนาพื้นที่ทะเลและชายฝั่งร่วมกับชุมชน #VoteForClimate

พฤษภาคม –  เรียกร้องระงับโครงการเหมืองทะเลลึก

หลายปีที่ผ่านมา บริษัทอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่งพยายามผลักดันให้เกิดโครงการเหมืองทะเลลึก เพื่อเอาทรัพยากรจากใต้ทะเลลึกมาใช้ โดยแทบไม่รู้เลยว่าจะส่งผลกระทบอะไร และผลกระทบนั้นจะกินวงกว้างขนาดไหน

การประชุมองค์กรพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศครั้งที่ 28 ในกลางเดือนกรกฎาคมจึงจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เราและอาสาสมัครกรีนพีซทั่วโลกจึงร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องให้ระงับโครงการดังกล่าว 

มิถุนายน – จัดงานจะนะอาร์ทสตรีท เปิดตัวแพลตฟอร์ม Voice of Chana  

เราร่วมกับชุมชนจะนะ จังหวัดสงขลาจัดงาน จะนะอาร์ทสตรีท ถนนสายศิลปะกลางเมืองจะนะ เพื่อสื่อสารวิถีชุมชน และความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในอำเภอจะนะผ่านงานงานศิลปะ โดยภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมเวิร์คช็อป งานแสดงศิลปะ ไปจนถึงซุ้มอาหารที่ทำมาจากวัตถุดิบในพื้นที่ 

นอกจากนี้ เรายังเปิดตัวแพลตฟอร์ม Voice of Chana แพลตฟอร์มที่เล่าข้อมูลชุมชนและผลกระทบนิคมอุตสาหกรรมต่อสิ่งแวดล้อม ทะเล รายได้ และชีวิตชาวจะนะ โดยใช้ข้อมูลที่กรีนพีซและชาวจะนะร่วมกับเก็บกว่าสองปี นำมาย่อยและเล่าให้เข้าใจง่าย! 

อีกครึ่งปีต่อจากนี้ เราจะยังคงทำงานร่วมกับอาสาสมัคร ผู้บริจาค เครือข่าย ด้วยความหวังที่จะฟื้นคืนชีวิตให้กับมหาสมุทร เพื่อให้มหาสมุทรยังคงสามารถหล่อเลี้ยงชีวิตชุมชนชายฝั่ง เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนทั่วโลก 

ขอบคุณที่ติดตามงานรณรงค์ของเราอย่างต่อเนื่องนะคะ หากมีกิจกรรมอื่นๆ เราจะส่งข่าวสารชวนคุณมาร่วมกิจกรรมกับเรากันค่ะ