“พลาสติกถูกผลิตขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกคน”

“พลาสติกที่มนุษย์คิดขึ้นมาดีอยู่แล้ว ทำไมต้องลดพลาสติกด้วยล่ะ?”

นี่เป็นความคิดแรกที่เกิดขึ้นก่อนทำงานที่กรีนพีซ ประเทศไทย เราสับสนพักใหญ่เลยว่าตอนนี้โลกกำลังเผชิญอยู่กับวิกฤตมลพิษพลาสติกอยู่จริงหรือ แต่พอได้เข้ามาทำงานและมีโอกาสได้คุยกับคนที่ทำงานด้านพลาสติกอย่างจริงจัง ก็ทำให้เราเข้าใจถึงรากของปัญหาว่าเกิดจากทั้งต้นทางการผลิตที่แบรนด์ต่าง ๆ ผลิตพลาสติกเกินความจำเป็น มาจนถึงปลายทางที่ผู้ผลิตพลาสติกก็ไม่ต้องมีภาระรับผิดกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกหลังจากถูกใช้งานแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้นก็ยังไม่มีกฎหมายที่บังคับให้ผู้ผลิตจะต้องรับผิดชอบมลพิษที่ก่อขึ้นด้วย ในทางกลับกันก็ผลักภาระมาให้ผู้บริโภคอย่างเราที่ต้องคิดและหาวิธีจัดการปัญหาขยะอยู่เสมอ เช่น การแยกขยะแต่ละประเภท ซึ่งแม้จะแยกขยะไปอีกนานเท่าไหร่ หรือทำความสะอาดกี่ร้อยครั้ง ถ้าเราไม่จำกัดปริมาณพลาสติกที่ถูกผลิตออกมาก็ไม่สามารถทำให้ปัญหาขยะพลาสติกลดลงได้เลย

Plastic Brand Audit ณ หาดไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต. © Songwut Jullanan / Greenpeace
อาสาสมัครจากมูลนิธิไม้ขาวยั่งยืน กรีนฮาร์ทภูเก็ต และกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมเก็บขยะและบันทึกข้อมูลชนิดและแบรนด์ขยะพลาสติกที่เจอบนชายหาดไม้ขาว ที่จังหวัดภูเก็ต ข้อมูลจากการเก็บและสำรวจข้อมูลสินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) จะถูกรวบรวมเพื่อนำเสนอว่าในแต่ละปีอาสาสมัครเจอขยะจากแบรนด์ใดมากที่สุด และเรียกร้องให้เจ้าของสินค้ารับผิดชอบต่อขยะที่แบรนด์ของตนเองก่อขึ้น
© Songwut Jullanan / Greenpeace

นับตั้งแต่นั้นมา เราเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการลดใช้พลาสติกอย่างจริงจัง นั่นคือ “ลดการสร้างขยะ” เพราะว่าในหนึ่งวันพวกเราสร้างขยะกันกี่ชิ้น แล้วต่อวันปริมาณขยะในเมืองที่เราอยู่นั้นจะมีมากมายเท่าไหร่ อาจเรียกได้ว่ามีปริมาณว่ามหาศาลเลย

พูดคุยกับคนธรรมดา ที่อยากจัดการวิกฤตมลพิษพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง เริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรม

ปีที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้คุยกับหลาย ๆ คนที่สนใจปัญหาขยะพลาสติกมากยิ่งขึ้นซึ่งทำให้รู้ว่าจริง ๆ แล้ว จุดเริ่มต้นของการหันมาสนใจปัญหาขยะพลาสติกอาจไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ แต่อาจเริ่มจากจุดเล็ก ๆ อย่าง ใบเตย ปัทมาสน์ ชนะรัชชรักษ์ ที่ให้ความเห็นไว้ว่า 

“ก่อนหน้านี้เราไม่ได้ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเลยนะ จนกระทั่งวันหนึ่งเล่นเฟซบุ๊กแล้วไปเจอคลิปคนดึงหลอดพลาสติกออกจากจมูกเต่า แล้วน้องเลือดไหล จิตตกและทำให้เราคิดย้อนกลับไปว่าว่าแค่หลอดที่เราโยนทิ้งมันสร้างปัญหาขนาดนี้เลยหรอ แล้วที่ผ่านมาเราโยนทิ้งไปแล้วกี่อัน หลังจากนั้นมาเลยเริ่มปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต อันไหนที่ลดได้ก็ลด อันไหนที่เลิกได้ก็เลิก แต่เราปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง มันจะได้ทำแล้วไม่เหนื่อย” นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่สามารถช่วยขยายผลส่งต่อกันไปได้เรื่อย ๆ 

ใบเตยพูดต่อไปอีกว่าสิ่งหนึ่งที่เธอปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ตัวเอง คือ เธอเป็นคนชอบสะพายกระเป๋าใบเล็ก บางครั้งจะพับถุงหูหิ้วซ่อนไว้ตามจุดต่าง ๆ อย่างในรถ หรือในกระเป๋าใบที่ใช้บ่อย ๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องขอถุงพลาสติกใหม่และไม่สร้างขยะเพิ่มเวลาที่ซื้อของ เธอจะใช้ถุงพลาสติกใบเดิมซ้ำให้ได้มากที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างขยะใหม่ ฟังแล้วก็ดูเป็นวิธีที่น่าสนใจสำหรับมือใหม่ที่หันมาลดใช้พลาสติก

คนธรรมดาที่ชวนตั้งคำถามถึงผู้ผลิต ต่อการรับผิดชอบขยะแบรนด์ของตัวเองที่ปลายทาง

ยังมีบทสนทนาของ ษา ชมพูพิชญา สายบุญยาดิษฐ์ ที่เดิมสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่หลังจากได้ดูภาพยนตร์สารคดีที่กรีนพีซจัดฉายขึ้น เรื่อง The Story of plastic  ทำให้ษาเห็นภาพอย่างชัดเจนว่าหากต้องการหยุดปัญหามลพิษพลาสติกที่เกิดขึ้นอยู่ทุกมุมโลกในตอนนี้นั้น ผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์สินค้าเองก็มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหา และเราไม่ควรพึ่งเพียงการจัดการแก้ปัญหาที่ปลายทางอย่างการแยกขยะเท่านั้น 

“หากเปรียบเทียบผู้ผลิตเป็นก๊อกน้ำที่คอยป้อนพลาสติกให้กับผู้บริโภค จะง่ายกว่าไหม หากเราปิด หรือชะลอก๊อกน้ำตั้งแต่แรก ถึงทุกวันนี้ษาจะพยายามแยกขยะ หรือปรับวิธีการซื้อของให้มีสติมากขึ้น (conscious consumer) แล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ผู้ผลิตไม่หยุดหรือเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากกว่านี้ น้ำที่เอ่อล้นจากก๊อกน้ำก็จะยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าผู้บริโภคอย่างเราจะพยายามเช็ดน้ำที่เอ่อล้นออกมาแล้วก็ตาม”

อาจฟังดูขัดกับข้อความชวนเชื่อต่าง ๆ มากมายที่โน้นมน้าวว่าพวกเราสามารถช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกได้ด้วยตัวเราเอง แต่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น ผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์ที่ผลิตสินค้าออกมาให้เราจับจ่ายใช้สอยควรคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาของผลิตภัณฑ์ของตัวเองด้วย

คนธรรมดาที่อยากส่งเสียงถึงภาครัฐ ว่าการออกแบบนโยบายจะช่วยแก้วิกฤตนี้ได้

แม้ว่าตอนนี้หลายคนรับรู้ถึงวิกฤตมลพิษพลาสติกที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว โดยที่รัฐพยายามแก้ไขปัญหาแต่ดูเหมือนว่าการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ทำให้เรานึกถึงโบ๊ท วรัญญู บุญสิทธิ์ หนึ่งในอาสาสมัครกรีนพีซ ที่ทำเพจ ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ มากว่าห้าปีแล้ว ปัจจุบันเพจของโบ๊ทกลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่ส่งเสียงบอกให้รัฐจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกอย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ มีประโยคของโบ๊ทที่เรายังจำได้จนถึงทุกวันนี้ เขาบอกว่า

“ห้าปีกว่าแล้วตั้งแต่ทำเพจ ขยะมรสุมมา เมื่อก่อนเราพูดเท่าไหร่ก็ไม่มีใครสนใจ แต่พอมีคนให้ความสนใจมากขึ้น แค่เราโพสต์ภาพพื้นที่ที่มีขยะ ปัญหาตรงนั้นก็ถูกจัดการอย่างรวดเร็ว เงินทุกบาทที่เราเสียไปเป็นภาษีภาษีควรถูกนำมาใช้จัดการกับปัญหาขยะอย่างถูกต้องและรัฐควรทำหน้าที่ของตัวเองโดยไม่ต้องมีใครมาบอก เพราะถ้าเราอยากจะแก้ปัญหา เราต้องยอมรับก่อนว่าปัญหานั้นมีอยู่จริง”

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นเรามักได้ยินวลีคุ้นหูว่า “เริ่มที่ตัวเอง” แต่ความจริงแล้วปัญหาหลายเรื่องต้องอาศัยการแก้ไขในเชิงโครงสร้างและการออกนโยบายจากรัฐ อีกทั้งรัฐควรเป็นแขนขาให้กับประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานั้น ๆ  ประโยคนี้เราสะท้อนมาจากบทสนทนาของ สมายล์ เสาวลักษณ์ กระจัดกลาง

“ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาใดมักเกิดมาจากการออกแบบนโยบายและการบริหารจัดการที่ผิดพลาด รัฐคือภาคส่วนที่มีอำนาจในมือและสามารถแก้ปัญหานี้ได้ เพราะรัฐคือตัวแทนของพวกเราทุกคนและพวกเราทุกคนที่ต้องการแก้ไขปัญหานั้น ๆ ต้องการรัฐซึ่งเป็นฟันเฟืองใหญ่ที่สามารถขับเคลื่อนให้ปัญหานี้ถูกแก้ไขโดยเร็ว” 

ที่ผ่านมา แม้ว่าภาครัฐมักจะออก Roadmap มากมายเพื่อลดการใช้พลาสติกแต่สุดท้าย Roadmap เหล่านี้กลับถูกเลื่อนไปเรื่อย ๆ และไม่ได้ทำตามที่วางแผนไว้ หลังจากนี้รัฐและทุกภาคส่วนจะต้องจริงจังกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพราะทางออกของวิกฤตมลพิษพลาสติกนั้นควรร่วมแก้ไปพร้อมกันทั้งตัวเรา ภาคธุรกิจที่ผลิตสินค้า และภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดนโยบายและมาตรการที่มีประสิทธิภาพ

Brand Audit on Wonnapa Beach in Chonburi, Thailand. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
สำรวจที่มาขยะพลาสติก

ร่วมสืบจากขยะว่ามีใครบ้างที่ควรรับผิดชอบได้ที่แพลตฟอร์ม “สืบจากขยะ ใครกันที่ต้องรับผิดชอบ”

สำรวจ