พาราควอต ถูกพัฒนาขึ้นที่ประเทศอังกฤษ
พาราควอต เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทสัญชาติสวิส
พาราควอต มีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ที่ประเทศจีน
พาราควอต ถูกแบนในทุกประเทศที่กล่าวมา

แต่พาราควอตยังคงได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ในประเทศไทย

เรากำลังถูกละเมิดสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีตราบใดรัฐยังปล่อยให้ใช้สารพิษกำจัดศัตรูพืช ถึงเวลาแล้วที่กระทรวงเกษตรจะต้องไม่ต่อทะเบียนพาราควอตเพื่อให้คนได้รับการปฏิบัติที่ทัดเทียมกับสากล

พาราควอต คือ สารเคมีอันตรายร้ายแรงที่ใช้กำจัดวัชพืช 48 ประเทศในโลกได้ประกาศห้ามใช้หรือจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด ในขณะที่ประเทศไทยยังคงมีการอนุญาตให้ใช้แม้ว่าประเทศต้นกำเนิด ประเทศเจ้าของผลิตภัณฑ์ และประเทศผู้ผลิตรายใหญ่1 จะประกาศห้ามใช้ไปหลายสิบปีแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในต้นปีที่ผ่านมาคณะกรรมการการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจาก 5 กระทรวงหลักได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมด้วย โดยวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มีคำแถลงอย่างเป็นทางการเพื่อให้มีการยกเลิกพาราควอต  คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเสต แต่จนถึงวันนี้กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์กลับไม่มีท่าทีที่จะถอนและระงับการนำเข้าสารเคมีดังกล่าว

ที่มาภาพ: Pesticides and our health – Greenpeace report

ทุกคนมีโอกาสเสี่ยงต่อการได้รับสารกำจัดศัตรูพืชโดยไม่มีข้อยกเว้น

อ่านเพิ่มเติมได้จากรายงาน Pesticides and our Health – A GROWING CONCERN

นี่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเกษตรกรผู้ที่จะต้องสัมผัสกับสารเคมีโดยตรงเท่านั้น เพราะสารเคมีเกษตรสามารถตกค้างอยู่ในดิน น้ำ และอากาศได้เป็นเวลานานจึงทำให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีได้รับผลกระทบต่อสุขภาพไปด้วย นอกจากนั้นพาราควอตยังสามารถส่งต่อถึงทารกในครรภ์ผ่านรกและสายสะดือ ส่งผลให้พัฒนาการช้า ไม่มีการสร้างเซลล์สมองขึ้นมาใหม่ได้

หายนะต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืชเช่นนี้ได้เกิดขึ้นทั่วโลก และได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญขององค์กรภาคประสังคมทั่วโลกเดือนตุลาคมปี 2559 ที่เหยื่อจากสารเคมีเกษตรทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์ และแพทย์ มารวมกันเพื่อให้การในการจำลองการไต่สวนสาธารณะที่ชื่อว่า Monsanto Tribunal เพื่อต่อสู้กับการขยายตัวอย่างไม่เป็นธรรมของสิทธิที่บริษัทจำพวกนี้ได้รับ และเพื่อพิจารณาว่าบริษัทเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่กำลังละเมิดสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีหรือไม่

บรรยากาศการไต่สวนมอนซานโต ที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์

ผลการตัดสินในเดือนเมษายน พ.ศ.2560 จากผู้พิพากษาที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติได้ลงความเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชว่าบริษัทเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่ได้ละเมิด

1. สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี (the right to a healthy environment)
2. สิทธิในการเข้าถึงสุขภาวะที่ดีที่สุดอันบุคคลพึงจะเข้าถึงได้ (right to the highest attainable standard of health of everyone can reach)

แม้การไต่สวนนี้จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่คณะตุลาการนั้นก็มาจากตุลาการที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลก และผู้ที่ให้การนั้นก็เป็นบุคคลจริงที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีเกษตรแม้ว่าเขาจะใช้มันหรือไม่ก็ตาม ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องนำประเด็นการละเมิดสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีมาประกอบการพิจารณาการยกแลิกรวมถึงการต่อทะเบียนสารเคมีเกษตร

ทะเบียนสารพิษโดยเฉพาะพาราควอตกำลังจะหมดอายุลงในเดือนตุลาคมที่จะถึง จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่พวกเราทุกคนจะต้องร่วมกันปกป้องสิทธิของตนเอง และเยาวชนของพวกเราจากสารพิษพวกนี้ ช่วยกันแชร์เรื่องนี้ออกไปเพื่อเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรไม่ต่อทะเบียนให้กับพาราควอตเพื่อยกระดับสิทธิของคนไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ และอนาคตที่ปลอดภัยของพวกเราทุกคน

 

วัชรพล แดงสุภา
ผู้ประสานงานด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ
หมายเหตุ:
1.    ประเทศจีนยกเลิกพาราควอตสูตรน้ำทั้งหมด
2.    ขอบคุณข้อมูลจาก เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

Comments

Leave your reply