เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้วเราได้คุยกับทอฝัน กันทะมูล (หรือ แตงกวา) นักศึกษาคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านกิจกรรม “Brand Audit เก็บ สังเกต บันทึก รู้จักที่มาของขยะผ่านแบรนด์” วันนี้ก็มีโอกาสได้คุยกับแตงกวาอีกครั้ง การได้พูดคุยกับเธออีกครั้งหลังผ่านไป 4 ปี ทำให้เราเห็นการเติบโตของนักสำรวจขยะพลาสติกคนนี้ ซึ่งกำลังขับเคลื่อนประเด็น Fast Fashion ไปพร้อม ๆ กัน

Plastic Brand Audit Press Conference in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ทอฝัน กันทะมูล อาสาสมัครกรีนพีซ ประเทศไทย ที่ร่วมกิจกรรมสำรวจแบรนด์จากขยะพลาสติก ที่จัดขึ้นที่ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ร่วมแชร์ประสบการณ์และการใช้ชีวิตแบบลดการใช้พลาสติก และเรียกร้องให้แบรนด์ผู้ผลิตรายใหญ่ผลิตพลาสติกให้น้อยลง ในการแถลงข่าวผลสำรวจแบรนด์จากขยะพลาสติก โดยกรีนพีซ ประเทศไทย © Chanklang Kanthong / Greenpeace

ผ่านมา 4 ปีแล้ว แตงกวาเป็นอย่างไรบ้าง

เป็นบัณฑิตจบใหม่ค่ะ ตอนนี้ทำงานในบริษัทโปรดักชั่นเชิงสารคดีในเชียงใหม่ ตำแหน่งที่ทำจะเป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อสนับสนุนงาน แม้ว่ายังไม่เคยออกกองแต่ก็สนุกที่ได้หาข้อมูลเชิงลึกต่าง ๆ มากมาย เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่เราจะถ่ายทอดผ่านสารคดีนั้น ๆ เพราะเชื่อว่าผูรับสารควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ได้ทำงานตรงสายกับคณะที่เรียนมาค่ะ

ชีวิตการทำงานแตกต่างจากวัยเรียนยังไงบ้าง

ทอฝัน หรือแตงกวา หลังจบการศึกษาและเริ่มทำงานในบริษัทโปรดักชั่น

แตกต่างมาก เราต้องใช้ชีวิตเร่งรีบขึ้นกว่าตอนเรียน มีบางอย่างที่ทำไม่ได้เหมือนตอนเรียนแล้วคือการกินอาหารมังสวิรัติเพราะร้านในเชียงใหม่หายากมาก อีกข้อที่แตกต่างและค่อนข้างเปิดโลกเรามากขึ้นคือ ทุกอย่างที่เราเรียนมา รวมถึงกิจกรรมที่ได้ทำในช่วงมหาวิทยาลัยก็ช่วยให้เราทำงานได้จริง

ยังสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนเดิมไหม

แน่นอนค่ะมันอยู่ในสายเลือด (แตงกวาตอบปนขำ) ทุกวันนี้ยังพยายามลดขยะที่ไม่จำเป็นอย่างพวกพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือถ้าใช้ก็จะใช้ซ้ำ ใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพของมัน ยกตัวอย่างเช่น เวลาออกไปข้างนอก ถ้าน้ำในกระบอกน้ำที่เราเตรียมไปหมด ก็จะต้องน้ำขวดซื้อจากร้านสะดวกซื้อ เราเก็บขวดนั้นไว้ใช้กรอกน้ำที่ออฟฟิศต่อ แต่ก็จะใช้ได้แค่ 2-3 ครั้งเพราะเงื่อนไขเรื่องสุขลักษณะ โชคดีที่ที่ทำงานมีที่แยกขยะให้ชัดเจน ห่อปิ่นโตไปกินข้าวได้แบบไม่เคอะเขิน เพื่อน ๆ ในที่ทีมงานทำให้เรารู้สึกไม่แปลกแยก

แล้วเพื่อน ๆ ที่ไปร่วมเก็บขยะที่ดอยสุเทพเป็นไงกันบ้าง

ทุกคนได้แรงบันดาลใจเรื่องสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมครั้งนั้นจริง ยิ่งตอนฝุ่นเยอะมากทำให้ทุกคนตระหนักอย่างแท้จริงเลยว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัว หลังจากกิจกรรมนั้นทำให้เรารู้ได้ว่ามันมีอะไรมากกว่าการสร้างความตระหนักรู้ เราขุดคุ้ยและมองในมุมอื่นมากขึ้นอย่างการออกกฎหมาย การจัดการหรือกิจกรรมอะไรที่เราพอจะเข้าร่วมกับคนอื่น ๆ ได้อีกเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ในตัวเมืองเชียงใหม่ แม้ว่าช่วงนี้เราอาจจะยังไม่ได้ขับเคลื่อนประเด็นพลาสติกในเชิงนโยบายเท่าไหร่ แต่ในชีวิตประจำวันก็ยังคงลดใช้พลาสติกจนกลายเป็นนิสัยส่วนตัว

กรีนพีซจัดกิจกรรม เก็บ สังเกต บันทึก รู้จักที่มาของขยะผ่านแบรนด์. © Baramee  Temboonkiat / Greenpeace
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอาสาสมัครกรีนพีซร่วมกันเก็บขยะบริเวณอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ทางขึ้นดอยสุเทพ ถนนศรีวิชัย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และสำรวจแบรนด์จากขยะพลาสติกที่พบ กรีนพีซจัดกิจกรรม เก็บ สังเกต บันทึก รู้จักที่มาของขยะผ่านแบรนด์ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลขยะพลาสติกที่พบว่ามีชนิดใดและมาจากแบรนด์ใดมากที่สุด และเรียกร้องให้บริษัทต่างๆแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหามลพิษอันเกิดจากขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง การสำรวจขยะพลาสติกที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ของหลายองค์กรทั่วโลก ภายใต้การรณรงค์ลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Break Free From Plastic)
© Baramee Temboonkiat / Greenpeace

ดอยสุเทพยังคงเป็นดอยสุเทพแบบเดิมในความคิดเดิมอยู่ไหม

ดอยสุเทพยังคงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสัญลักษณ์ของเชียงใหม่ ใคร ๆ ก็ต้องมาเที่ยวที่นี่ แต่กลายเป็นว่าสถานที่ที่นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมจำนวนมากขนาดนี้กลับไม่มีการจัดการเรื่องความสะอาดที่ดีพอ เรามองว่า การจัดการที่มีประสิทธิภาพจริง ๆ คือการกำจัดขยะที่เรามองเห็นเช่น ขยะพลาสติกข้างทาง หรือจากร้านค้าด้านบน และขยะที่มองไม่เห็นตามเส้นทางขึ้นลงของดอยสุเทพที่มักจะถูกทิ้งหรือพัดลงไปตามไหล่ทาง

ตรวจสอบตราสินค้าในเชียงใหม่ประเทศไทย. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
อาสาสมัครกรีนพีซถ่ายภาพร่วมกับขยะที่เก็บได้จากบริเวณดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ กรีนพีซจัดกิจกรรมเก็บขยะและสำรวจแบรนด์ บริเวณอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ทางขึ้นดอยสุเทพ ถนนศรีวิชัย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบและเก็บบันทึกข้อมูลว่าพบพลาสติกประเภทใดและจากแบรนด์ใดมากที่สุด และเรียกร้องให้ประเทศไทยใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) โดยให้ผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ มีส่วนรับผิดชอบในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อแก้ปัญหามลพิษพลาสติกที่มีมากขึ้น กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ของหลายองค์กรทั่วโลก ภายใต้การรณรงค์ลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Break Free From Plastic) จัดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก © Wason Wanichakorn / Greenpeace

ย้อนกลับไปครั้งที่เรากิจกรรมสำรวจขยะที่ดอยสุเทพเมื่อ 4 ปีก่อน หน่วยงานภาครัฐก็เห็นว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เพราะเราประสานเทศบาลเชียงใหม่ และตำรวจมาช่วยดูแลความปลอดภัยรวมถึงการใช้สถานที่ สิ่งที่น่าเศร้าสำหรับเราคือหน่วยงานรัฐชื่นชมเรา (ที่เป็นประชาชน) ว่าการทำกิจกรรมแบบนี้เป็นเรื่องที่ดี แต่ความจริงแล้วประชาชนแบบเราไม่ควรจะต้องมาแก้ปัญหาที่เป็นเชิงระบบแบบนี้หรือเปล่า ควรเป็นภาครัฐเองหรือไม่ที่เป็นผู้แก้ปัญหา ซึ่งเรามองว่าหน่วยงานภาครัฐเองควรจะออกมาแก้ปัญหาเหล่านี้แทนที่จะเพิกเฉย ซุกปัญหาไว้ใต้พรมต่อไป

อีกเรื่องหนึ่งที่ตลกมาก คือประเทศไทยชอบการบริจาค แต่ความจริงแล้วการบริจาค คือระบบที่ชี้ให้เราเห็นชัดเจนว่าการบริหารงานของรัฐกำลังบกพร่อง ทั้งที่รัฐได้ภาษีจากประชาชนเพื่อจัดการปัญหาต่าง ๆ แต่ที่ผ่านมารัฐกลับเพิกเฉยจนประชาชนต้องบริจาคและช่วยเหลือกันเองอีก หลังจากนี้รัฐจะต้องทบทวนและพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อให้เงินภาษีของประชาชนถูกนำไปใช้แก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้

(อ)ยากจะให้คนทำตามไหม

อยากให้คนอื่นทำตามแน่นอน แต่ก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน เพราะการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งทำให้เราเสพติดความสะดวกสบาย เมื่อเรามองว่าสิ่งนี้ หรือไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที่ให้ความสะดวกสบายจะทำให้เราไหลตามไปกับมัน

ช่วงที่รัฐออกนโยบายลดแจกถุงพลาสติก จำได้ว่าทุกที่ทำถุงผ้าออกมาแจกแทน แต่ก็กลายเป็นปัญหาในแง่อื่นแทนเพราะเป็นการผลิตที่มากเกินความต้องการ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการผลิตถุงผ้าสปันบอนด์ที่ขายอยู่ตามห้างอีก มีตราฉลากเขียนด้วยว่า Reusable แต่เขาไม่ได้บอกความจริงว่า ถุงผ้านี้มีส่วนผสมของพลาสติกและถ้าหากย่อยสลายจะกลายเป็นไมโครพลาสติก

Microplastic Present in Wild Flathead Grey Mullet in Hong Kong. © Greenpeace
จากการทดลองของมหาวิทยาลัย The Education University of Hong Kong ใน พ.ศ.2560 พบไมโครพลาสติกในปลากระบอกเทาถึง 60% โดยพบปริมาณเฉลี่ย 4.3 ชิ้น ต่อปลา 1 ตัว © Greenpeace

คิดภาพไม่ออกเลยว่าถ้าไมโครพลาสติกเล็ก ๆ ปริมาณมหาศาลตกค้างในสิ่งแวดล้อม ไหลลงสู่แม่น้ำ ทะเล ที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาหรือชุมชนที่ใช้น้ำจากแม่น้ำลำธารประกอบอาหารก็จะได้รับไมโครพลาสติกไปเต็ม ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก ถุงผ้าสปันบอนด์ล้วนก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลโดยตรงให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศโดยที่เราไม่รู้ตัว สำหรับเราแล้วการใช้ของทุกชิ้นให้เต็มประสิทธิภาพคือหลักสำคัญของการใช้ซ้ำและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

หันมาสนใจ Fast Fashion ตั้งแต่เมื่อไหร่

Clothes Swapping Party in Hamburg. © Kevin McElvaney / Greenpeace
ภาพกิจกรรมแลกเสื้อผ้าโดยอาสาสมัครกรีนพีซ ในสนามกีฬา Millerntor Stadium โดยผู้ที่สนใจสามารถนำเสื้อผ้าของตัวเองมาแลกกับคนอื่นๆได้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสกรีนเสื้อเป็นโลโกของกรีนพีซ กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานรณรงค์เพื่อเรียกร้องให้อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นมีภาระรับผิดและลดปริมาณการผลิตที่ล้นเกิน รวมทั้งเสนอทางเลือกของแฟชั่นที่มากกว่าการซื้อเพิ่ม © Kevin McElvaney / Greenpeace
เสื้อเก่าของแตงกวาที่เธอตัดสินใจดัดแปลงใหม่ให้เข้ากับสไตล์ที่ตัวเองชอบ เพื่อลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่จากอุตสาหกรรม Fast Fashion

เพราะแนวคิดที่อยากใช้ของทุกชิ้นให้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุดเลยทำให้เรารู้สึกว่าเสื้อผ้าก็เหมือนกัน ช่วงที่ผ่านมาติดตามข่าวอุตสาหกรรม Fast Fashion ทำให้เรากลับมามองพฤติกรรมของเรานั่นคือ เรามีร้าน Fast Fashion ที่ชอบเพราะเป็นเสื้อผ้าสไตล์โปรด แต่พอรู้ข้อมูลเพิ่มขึ้นก็ทำให้เรานึกถึงความเจ็บปวดของพนักงานอีกหลายคนที่ถูกละเมิดสิทธิ์จากการผลิตเสื้อผ้าเหล่านี้ออกมาให้เราใส่ นี่เป็นเหตุผลที่เราเลิกสนับสนุนเสื้อผ้าจากอุตสาหกรรม Fast Fashion

เราเริ่มเข้าวงการตลาดเสื้อผ้ามือสอง แม้ว่าเสื้อผ้ามือสองจริง ๆ แล้วบางส่วนก็มาจาก Fast Fashion นี่แหละแต่เพราะเทรนด์แฟชั่นทั่วโลกไหลเร็วจนเกินไป ทำให้มีเสื้อผ้ามือสองล้นตลาด เราเลยเลือกที่จะไปหยิบเสื้อผ้าเหล่านั้นมาใช้ต่อให้มันดูเก๋ในแบบของเรา หากไม่มีตลาดเสื้อผ้ามือสองเราก็ยังสามารถหยิบเสื้อผ้าในบ้านตัวเก่าของเรามาดีไซน์ใหม่ได้ เช่น เรามีเสื้อตัวหนึ่งที่ซื้อมาตั้งแต่ตอนม.4 เราไม่ชอบมันเลยเพราะไม่ใช่สไตล์ของตัวเอง แต่พอเราตัดสินใจตัดให้เป็นทรง Crop Top พร้อมปักลูกปัดหรือเพ้นท์สีลงไปตามแบบที่เราต้องการทำให้เราชอบเสื้อตัวนี้ขึ้นมาทันที

หลังจากที่เราได้พูดคุยกับแตงกวาอีกครั้งหลังผ่านไป 4 ปี เราชื่นชมเธอในฐานะของคนรุ่นใหม่ที่สนใจประเด็นมลพิษพลาสติกในเชิงลึก และยังใช้มุมมองของตัวเองช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในอุตสาหกรรม Fast Fashion อีกด้วย แตงกวาบอกเสมอว่าการใช้ของให้คุ้มค่าเป็นสิ่งสำคัญ (จากเสื้อยืดคอกลมใส่ออกไปข้างนอก กลายเป็นเสื้อนอน ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดเท้า) เพราะการซื้อของเกินความจำเป็นหรือไม่ไม่ได้ใช้งานอย่างคุ้มค่า สุดท้ายแล้วก็จะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมโยงกันเป็นลูกโซ่ที่เราไม่สามารถแก้ไขได้

ดังนั้น ภาครัฐจะต้องหยุดเพิกเฉย หรือผลักภาระให้ประชาชน แต่จะต้องมองปัญหาเหล่านี้ในเชิงโครงสร้าง และต้องออกแบบนโยบายเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอย่างจริงจังสักที