ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 สถานการณ์ฝุ่นพิษมีความเข้มข้นสูงปกคลุมเหนืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นวิกฤตระดับสูงสุด และส่งผลให้ประชาชนกว่า 2 ล้านคนโดยเฉพาะในเขตภาคเหนือตอนบนของไทย ต้องประสบกับผลกระทบทางสุขภาพจากการรับสัมผัสฝุ่นพิษในระดับที่เป็นอันตราย โดยมีฝุ่น PM2.5 สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไปต่อเนื่องกันนับสัปดาห์ นี่คือวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ส่งผลอย่างร้ายแรงและถูกเพิกเฉยจากรัฐบาลมายาวนาน

มาดูสรุปกันดีกว่าว่าทั้งเราและคุณ ช่วยกันขับเคลื่อนประเด็นระบบอาหารที่เชื่อมโยงกับฝุ่นพิษข้ามแดน (ไม่ว่าจะเป็นการติดตาม แชร์ข่าวสาร ร่วมกิจกรรม ชมนิทรรศการ หรือพูดคุยในวงสนทนากับเพื่อน ๆ) อะไรบ้าง

กุมภาพันธ์

  • ร่วมประชุมวางแผนการทำงานในประเด็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และฝุ่นข้ามพรมแดนกับสภาลมหายใจเชียงใหม่

มีนาคม

  • กรีนพีซ ประเทศไทย ผลักดันข้อเสนอนโยบายเลือกตั้ง 66 ต่อพรรคการเมืองต่าง ๆ เรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  #VoteForClimate 
  • ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลรักษาการณ์ต้องประกาศให้พื้นที่ประสบฝุ่น PM2.5 ที่มาจากฝุ่นพิษข้ามพรมแดนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นเขตภัยพิบัติทันที เนื่องจากส่งผลให้ประชาชนในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยต้องประสบกับผลกระทบทางสุขภาพ จากการรับสัมผัสฝุ่นพิษในระดับที่เป็นอันตราย
  • ร่วมจัดบูทกิจกรรม “เจียงฮาย วันพูก” เวทีพูดคุยถึงข้อมูลปัญหา และข้อเสนอนโยบายการแก้ปัญหาฝุ่นพิษภาคเหนือ ที่เชียงราย โดยนักรณรงค์กรีนพีซยังได้ร่วมตั้งคำถามและแสดงความเห็นต่อตัวแทนพรรคการเมือง

เมษายน

  • เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ และสภาลมหายใจภาคเหนือ ร่วมกันยื่นฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์-โอชา นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชน นโยบาย และแผนที่มีอยู่ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤตฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • จัดกิจกรรมและพูดคุยในประเด็นฝุ่นพิษในภาคเหนือตอนบนและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใน จ.เชียงราย และหลายจังหวัดในภาคเหนือ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจในงานเสวนา “ฝุ่นพิษแม่สาย” โดยเทศบาลตำบลแม่สาย และร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบรวมทั้งภาคส่วนท้องถิ่น 

พฤษภาคม

  • กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) และกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ส่งจดหมายเปิดผนึก ถึงเครือเจริญโภคภัณฑ์ กรณีห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน
  • จัดนิทรรศการ “Hazibition : นิทรรศการใต้ฝุ่นควัน” นิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวสาเหตุของปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเกือบทุกปี ว่าความจริงแล้วปัญหาฝุ่นมีที่มาอย่างไร ต้นเหตุสำคัญของปัญหาคืออะไร แล้วใครต้องรับผิดชอบ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
  • ร่วมกับ EnLaw จัดงานเสวนา “ฝุ่นเขา ฝุ่นเรา ฝุ่นใคร ฝุ่นควันภาคเหนือมาจากไหน แล้วใครต้องรับผิดชอบ?” เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่สร้างผลกระทบให้กับประชาชนในภาคเหนือมานานร่วม 10 ปี และดูจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี

มิถุนายน

  • ส่งข้อความถึงผู้นำอาเซียน ซึ่งมีการประชุมหารือในวันที่ 7-8 มิถุนายน 2566 เพื่อเรียกร้องให้วางแผนข้อตกลงความร่วมมือระดับภูมิภาค เร่งลงมือแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดน

เราหวังว่าครึ่งปีที่เหลือและปีต่อ ๆ ไป พวกเรา กรีนพีซ ประเทศไทย อาสาสมัคร ผู้บริจาค และเครือข่ายต่าง ๆ รวมทั้ง คุณ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเราในขณะนี้ จะได้ร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงและหยุดฝุ่นพิษข้ามแดนได้ในอนาคตอันใกล้