ทุกคนต่างรู้ว่าปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 รุนแรงแค่ไหน ข้อมูล IQAir ของ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ในปี 2564 ฝุ่น PM2.5 เป็นตัวการที่อาจก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยราว 29,000 ราย อีกทั้งรายงานยังพบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศต่อประชากรในประเทศไทยในปีที่ผ่านมามีจำนวนมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน การใช้ยาเสพติด และการฆาตกรรมรวมกัน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้คือปีนี้มีข่าวดีเบา ๆ คือ ประเทศไทยประกาศใช้ค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 รายวันใหม่อยู่ที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่าเดิม 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา 

แม้ว่าค่า PM2.5 ใหม่นี้จะยังไม่ใช่เกณฑ์ค่าแนะนำคุณภาพอากาศที่เข้มงวดที่สุดตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด แต่อย่างน้อยการยกระดับค่ามาตรฐาน PM2.5 ใหม่ในครั้งนี้จะส่งผลต่อการเตือนภัยฝุ่น PM2.5 ของไทยให้มีความเข้มงวดขึ้น ทำให้ภาครัฐและเอกชนต้องปรับตัว ยกระดับมาตรการลดฝุ่น PM2.5 ของตนกันยกใหญ่เพื่อให้สอดคล้องกับค่ามาตรฐาน PM2.5 ใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้ไป

กว่าจะได้ค่ามาตรฐาน PM2.5 ใหม่มาไม่ใช่เรื่องง่าย ภาคประชาสังคมต่างร่วมกันผลักดันเป็นเวลากว่า 2 ปี วันนี้เราจะไปดูกันว่ากว่าคนไทยจะได้ค่ามาตรฐาน PM2.5 ใหม่ เราผ่านอะไรมาบ้าง

14 ม.ค. 2564 – กรมควบคุมมลพิษเปิดรับฟังความเห็น (ร่าง) การปรับปรุงมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศโดยทั่วไป โดยกำหนดมาตรฐานในบรรยากาศโดยทั่วไปค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและค่าเฉลี่ยในเวลา 1 ปี จะต้องไม่เกิน15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

30 เม.ย. 2564 – คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป เพื่อพิจารณาเรื่องการปรับปรุงมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศ

1 ก.ย. 2564 – คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป ประชุมเพื่อพิจารณา (ร่าง) การปรับปรุงมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศโดยทั่วไป และมีความเห็นให้กรมควบคุมมลพิษศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป

17 ม.ค. 2565 – มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และกรีนพีซ ประเทศไทย เดินทางไปกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทวงสิทธิอากาศสะอาดของประชาชน และผลักดันหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 โดยเร่งด่วน

22 มี.ค. 2565 – ตัวแทนจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงใหม่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ นักกิจกรรมทางสังคม และ นันทิชา โอเจริญชัย เยาวชนนักสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อมเดินทางไปที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะโดยเป็นผู้ฟ้องคดีปกครองต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักที่ละเลยการปฎิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดในการคืนอากาศสะอาดซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน

4 เม.ย. 2565 – คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป มีการประชุมครั้งที่ 1/2565

21 เม.ย. 2565 – คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป มีการประชุมครั้งที่ 2/2565 โดยมีมติเห็นชอบต่อ (ร่าง) การปรับปรุงมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศโดยทั่วไป ฉบับใหม่

6 พ.ค. 2565 – กรมควบคุมมลพิษเปิดรับฟังความเห็น (ร่าง) การปรับปรุงมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศโดยทั่วไป ฉบับใหม่ โดยกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไปค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป ส่วนค่าเฉลี่ยในเวลา 1 ปี จะต้องไม่เกิน15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีผลทันทีตามประกาศของราชกิจจานุเบกขา

11 พ.ค. 2565 – คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบต่อ (ร่าง) การปรับปรุงมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศโดยทั่วไป ฉบับใหม่นี้

8 ก.ค. 2565 – ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง “กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป” ส่งผลให้ค่ามาตรฐาน PM2.5 เฉลี่ยรายปี ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีผลบังคับใช้ในทันที

1 มิ.ย. 2566 – มาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไปค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เริ่มบังคับใช้ โดยกรมควบคุมมลพิษได้เสนอให้มีการปรับค่าดัชนีคุณภาพอากาศให้มีความสอดคล้องกับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ใหม่นี้

10 สิงหาคม 2566 – วันนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก

29 สิงหาคม 2566 – วันพิพากษาคดี

จะเห็นว่าแม้เส้นทางการได้มาซึ่งค่ามาตรฐาน PM2.5 ใหม่จะใช้เวลากว่า 2 ปี แต่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้เกิดขึ้นแล้ว และจะเกิดอีกนับไม่ถ้วนด้วยพลังของประชาชนทุกคน

ค่ามาตรฐาน PM2.5 ใหม่นับเป็นก้าวแรกที่ดี แต่หลังจากนี้ประชาชนจะต้องช่วยกันจับตาภาครัฐกันอย่างจริงจังว่าจะมีมาตรการอะไรเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ให้สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่บ้าง

✊? ร่วมลงชื่อผลักดันกฎหมาย #ThaiPRTR ที่จะช่วยควบคุมฝุ่นจากภาคอุตสาหกรรม ได้ที่ >> https://thaiprtr.com