กระแสความนิยมพลังงานหมุนเวียนเริ่มเข้ามาแทนที่การผลิตพลังงานแบบเดิมๆอย่างถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากผู้คนเริ่มตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น เป็นผลให้ประเทศต่างๆเริ่มหันมาพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆที่อาศัยพลังงานหมุนเวียนแทนที่ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปเช่นในอดีต

หนึ่งในนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนที่เป็นที่นิยมและได้รับการพัฒนาจนประสบความสำเร็จแล้วในหลากหลายประเทศคือพาหนะและการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการสัญจรด้วยรถยนต์ รถราง เรือ หรือแม้กระทั่งอากาศยาน โดยปกติพาหนะต่างๆมักขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงอันได้แก่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก

การหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนขับเคลื่อนพาหนะนี้จึงไม่เพียงแต่ช่วยแก้ไขปัญหาทรัพยากรที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วและปัญหามลพิษจากกระบวนการขนส่งและเผาไหม้ แต่ยังนับเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเพราะทำให้ประเทศต่างๆสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องอาศัยการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ หรือพึ่งพาพลังงานฟอสซิลอย่างน้ำมันและถ่านหินที่ก่อผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชนและสิ่งแวดล้อม

มีนวัตกรรมพาหนะมากมายจากประเทศต่างๆที่ประสบความสำเร็จในการใช้พลังงานหมุนเวียนในการขับเคลื่อน เช่นที่ประเทศฝรั่งเศส ในเดือนกรกฎาคม 2560 สำนักข่าวเอพีรายงานว่าที่กรุงปารีสมีการสร้างเรือยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียนสำเร็จพร้อมออกเดินทาง โดยอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และสลับไปใช้ไฮโดรเจนจากน้ำทะเลผ่านระบบแยกสลายธาตุด้วยไฟฟ้าในเวลากลางคืน เรือลำนี้จะออกเดินทางไปรอบโลกจากน่านน้ำในกรุงปารีสเป็นระยะเวลา 6 ปี โดยผู้ออกแบบคิดค้นหวังว่าเรือลำนี้จะเป็นต้นแบบให้กับการสร้างยานยนต์พลังงานหมุนเวียนอื่นๆในอนาคตได้

เรือยนต์พลังงานหมุนเวียนของฝรั่งเศส  (ภาพจาก apnews.com)

และในเดือนเดียวกัน ที่ประเทศอินเดียยังมีการเปิดตัวรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนหลังคารถไฟ ซึ่งช่วยในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆภายในรถไฟ ทั้งไฟ พัดลม และหน้าจอแสดงข้อมูลการเดินทางต่างๆ โดยรถไฟที่ติดตั้งแผงโซลาร์เพียงหนึ่งขบวนจะช่วยประหยัดเชื้อเพลิงดีเซลได้กว่าปีละ 21,000 ลิตร การพัฒนาระบบรถไฟพลังงานแสงอาทิตย์นี้จึงสามารถช่วยกู้วิกฤตการใช้เชื้อเพลิงดีเซลมากเกินไปของอินเดียที่ใช้ไปถึง 2.6 พันล้านลิตรในปี 2557

รถไฟพลังงานแสงอาทิตย์ ประเทศอินเดีย (ภาพจาก: qz.com)

ไม่ใช่เพียงแค่เรือหรือรถไฟเท่านั้นที่มีการผลิตให้สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยพลังงานหมุนเวียน แต่ยานยนต์ทางอากาศขนาดยักษ์อย่างเครื่องบินเองก็มีการพัฒนาจนสามารถบินรอบโลกได้สำเร็จเมื่อกลางปี 2559 ที่ผ่านมา โดยเครื่องบินโซลาร์ อิมพัลส์ 2 (Solar Impulse 2) สามารถขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์รอบโลกถึงกว่า 40,000 กิโลเมตรโดยไม่ใช้เชื้อเพลิงอื่นๆและไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การสร้างเครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถนำบินได้ในระยะทางไกลจึงนับเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ทั้งด้านการบินและด้านสิ่งแวดล้อมที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

เครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์ โซลาร์ อิมพัลส์ (ภาพจาก: solarimpulse.com)

นอกจากตัวยานพาหนะพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ยังมีการพัฒนาพื้นที่ที่ใช้กับยานพาหนะให้เป็นบริเวณที่ใช้พลังงานหมุนเวียนได้ในหลายประเทศ เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการสร้างท่าอากาศยานที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในหลายรัฐ ทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าผ่านพลังงานแสงอาทิตย์ใช้ภายในสนามบินได้ ทั้งท่าอากาศยานอินเดียนอโปลิส (Indianapolis International Airport) ซึ่งนับเป็นท่าอากาศยานที่ติดตั้งโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ที่สุดและสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 20 เมกะวัตต์ ท่าอากาศยานเดนเวอร์ (Denver International Airport) ที่มีโซลาร์ฟาร์มราว 10 เมกะวัตต์ ท่าอากาศยานทัสคอน (Tucson International Airport) ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ราว 1.25 เมกะวัตต์ และยังมีท่าอากาศยานอื่นๆอีกหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาที่มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

ท่าอากาศยานอินเดียนอโปลิส สหรัฐอเมริกา (Indianapolis International Airport) (ภาพจาก: solarpowerworldonline.com)

ทางฝั่งเอเชีย ในทางใต้ของประเทศอินเดียเองก็ได้มีการก่อสร้างท่าอากาศยานโคชิน (Cochin International Airport) ซึ่งใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมด โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตและกักเก็บกระแสไฟฟ้าได้ถึง 15.5 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในสนามบิน ทำให้สามารถนำกระแสไฟฟ้าส่วนเกินออกจำหน่ายได้ โดยทางท่าอากาศยานโคชินยังมีแผนจะเพิ่มการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 21.5 เมกะวัตต์อีกด้วย

นอกจากนี้ ทางประเทศแอฟริกาใต้ยังมีการสร้างท่าอากาศยานพลังงานแสงอาทิตย์เช่นเดียวกัน โดยท่าอากาศยานจอร์จ (George Airport) เป็นท่าอากาศยานแห่งแรกในแอฟริกาใต้ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งสามารถผลิตได้ถึง 750 กิโลวัตต์ต่อวัน ในขณะที่ทางสนามบินต้องการใช้กระแสไฟฟ้าเพียง 400 กิโลวัตต์ต่อวัน ทำให้สามารถนำกระแสไฟฟ้าส่วนเกินไปใช้กับบ้านเรือนในพื้นที่ได้ถึง 250 หลัง นับเป็นท่าอากาศยานแห่งที่สองที่ประสบความสำเร็จในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดหลังจากความสำเร็จของท่าอากาศยานโคชินในประเทศอินเดีย

ไม่เพียงแต่ท่าอากาศยานที่ถูกดัดแปลงให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ทว่าถนนเองก็เช่นกัน ที่ประเทศฝรั่งเศส แคว้นนอร์มองดี (Normandy) ได้มีการเปิดตัวถนนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นแห่งแรกของโลกเมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา โดยติดตั้งแผงโซลาร์ขนาด 2,800 ตารางเมตร บนถนนในหมู่บ้าน Tourouvre-au-Perche เป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร

ถนนพลังงานแสงอาทิตย์ กรุงนอร์มองดี ฝรั่งเศส (ภาพจาก: theguardian.com)

จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันประเทศต่างๆได้พยายามพัฒนาดัดแปลงนวัตกรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะทางบก น้ำ อากาศ หรือแม้กระทั่งถนนให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าผ่านพลังงานหมุนเวียนได้ด้วยตนเอง โดยพึ่งพาทรัพยากรเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วหมดไปอย่างฟอสซิล ถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติต่างๆให้น้อยที่สุด ซึ่งนวัตกรรมต่างๆข้างต้นก็สามารถลดและทดแทนการใช้เชื้อเพลิงแบบเดิมๆได้ในระดับหนึ่งไปจนถึงสามารถใช้พลังงานหมุนเวียนหล่อเลี้ยงได้ทั้งหมด นับเป็นความสำเร็จแห่งนวัตกรรมยุคใหม่และการเปิดประตูสู่เทคโนโลยีสีเขียว

หากทุกประเทศสามารถดำเนินรอยตามความสำเร็จเหล่านี้และใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานหลักได้ ในอนาคตข้างหน้าเราคงได้เห็นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่ไปกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้านั้นก็คงจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม