ปี 2566 นี้ เรียกได้ว่าเป็นปีที่เราผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และเริ่มต้นวิถีชีวิตได้อีกครั้ง เช่นเดียวกันกับกรีนพีซ ประเทศไทย เรารณรงค์แก้วิกฤตมลพิษพลาสติกมาต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2559 เราทำงานต่อเนื่องแม้จะขลุกขลักบ้างเพราะสถานการณ์โรคระบาด

ในปีนี้ เมื่อสถานการณ์ด้านสุขภาพดีขึ้น จึงเป็นโอกาสที่เราจะได้ทำกิจกรรมเพื่อรณรงค์แก้วิกฤตพลาสติกกับเพื่อน ๆ กลุ่มต่าง ๆ ได้มากขึ้น ทั้งการจัดกิจกรรมกับอาสาสมัครกรีนพีซ และเครือข่ายที่ทำงานด้านพลาสติก ผู้บริจาคของกรีนพีซ หรือจะเป็นการผลักดันการแก้วิกฤตในเชิงนโยบายกับพรรคการเมืองต่าง ๆ ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา

มาดูสรุปกันดีกว่าว่าทั้งเราและคุณ ช่วยกันขับเคลื่อนประเด็นพลาสติก (ไม่ว่าจะเป็นการติดตาม แชร์ข่าวสาร ร่วมกิจกรรมลดขยะ หรือพูดคุยในวงสนทนากับเพื่อน ๆ) อะไรบ้าง


23 มกราคม – กรีนพีซ ประเทศไทย ชวนจับตามอง Roadmap จัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ของกรมควบคุมมลพิษ ว่าที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2565 มีข้อไหนที่ทำสำเร็จแล้วบ้าง?


24 มีนาคม – กิจกรรม ‘เก็บขยะสำรวจแบรนด์ Brand Audit ปีที่6’ กรีนพีซ ประเทศไทย จัดกิจกรรมร่วมกับ Sustainable Maikhao Foundation และ Green Hearts Phuket ภูเก็ต 


27 มีนาคม – กิจกรรมฉายภาพยนตร์ Plastic Doc & Talk 2 ภูเก็ต ประกอบด้วยภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับมายาคติการรีไซเคิล และเปิดวงพูดคุยว่าเราสามารถลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวจากต้นทางได้อย่างไรบ้าง


10 เมษายน – กรีนพีซ ประเทศไทยผลักดันข้อเสนอนโยบายเลือกตั้ง 66 ต่อพรรคการเมืองต่าง ๆ เรื่องการแก้ไขปัญหาวิกฤตมลพิษพลาสติก โดยเฉพาะการนำหลักการ EPR หรือหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต(Extended Producer Responsibility) มาช่วยออกแบบนโยบาย ตอกย้ำว่าวิกฤตนี้แค่เริ่มจากประชาชนยังไม่พอ ต้องมีการแก้ไขเชิงนโยบายร่วมด้วย #VoteForClimate


27 เมษายน – กรีนพีซทั่วโลก เรียกร้อง โคคา-โคล่า ในการประชุมกรรมการผู้ถือหุ้น ให้ร่วมรับผิดชอบปัญหามลพิษพลาสติกจากผลิตภัณฑ์ของตน เพราะ 99% ของพลาสติกผลิตจากน้ำมัน และก๊าซ ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ


3 พฤษภาคม ‘เก็บขยะสำรวจแบรนด์ Brand Audit’ ร่วมกับเครือข่าย TEDxBangKhunThian และ Green Youth Thailand ที่สะพานรักษ์ทะเล บางขุนเทียน

23 พฤษภาคมกรีนพีซและภาคประชาสังคมเข้าร่วมการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก Plastics Treaty ครั้งที่ 2 ที่กรุงปารีสและเน้นย้ำให้สนธิสัญญาพลาสติกโลกเป็นสัญญาที่มุ่งมั่น มีเป้าหมายชัดเจน เพื่อที่จะยุติมลพิษพลาสติกได้อย่างเป็นรูปธรรม

29 พฤษภาคม – นักกิจกรรมกรีนพีซ นักแสดง Shailene Woodley และเครือข่ายที่รณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก รวมตัวแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หน้าอาคารที่ประชุมการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก Plastic Treaty  พร้อมผลงานศิลปะเครื่องขุดเจาะขวดพลาสติก โดย Benjamin Von Wong ที่สื่อสารว่าพลาสติกปริมาณมหาศาลผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล  และถึงเวลาแล้วที่เราต้องลดพลาสติกตั้งแต่ต้นทางอย่างจริงจัง


10 มิถุนายน – กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมทำ Workshop ออกแบบการจัดการขยะร่วมกับชุมชนจะนะในงาน ‘จะนะน่าอยู่นะจ๊ะ’ ลดใช้พลาสติก และเน้นบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ หรือทำจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งสามารถลดขยะภายในงานไปได้ถึง 1,336 ชิ้น 

15 มิถุนายน – กรีนพีซ ประเทศไทย หยิบยกปัญหาการฟอกเขียวในอุตสาหกรรม Fast Fashion โดยรายงานจาก กรีนพีซ เยอรมนี เปิดเผยว่า แม้ว่าจะมีการโปรโมทว่ายั่งยืนและเป็นมิตรต่อส่ิงแวดล้อม แต่แบรนด์เสื้อผ้าส่วนใหญ่ยังไม่เข้าข่ายเป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือในด้านการยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรมให้ดีขึ้น และกำลังอยู่ในขอบข่าย ‘การฟอกเขียว’


นอกจากนี้ เราและคุณ กำลังร่วมกันรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติกที่เกิดขึ้นจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single – Use Plastics) ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ ๆ ด้วยการเรียกร้องให้ผู้ผลิตรายใหญ่ในไทยอย่าง เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ต้องรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์พลาสติกตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง

ร่วมส่งเสียงถึง CP ลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

มาร่วมกันบอก CP ให้ลดใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์

มีส่วนร่วม

หลังจากการรวบรวมขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งจากกิจกรรมเก็บขยะสำรวจแบรนด์กว่า5ปี ใน 13 พื้นที่ 11 จังหวัด โดยเก็บร่วมกันกับอาสาสมัคร สมาชิกและเครือข่าย และ CP ก็ครองแชมป์ผู้ผลิตแบรนด์ในประเทศที่พบขยะพลาสติกมากที่สุดจากBrand Audit  ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

เราหวังว่าครึ่งปีที่เหลือและปีต่อๆไป พวกเรา กรีนพีซ ประเทศไทย อาสาสมัคร ผู้บริจาค และเครือข่ายต่างๆ รวมทั้ง คุณ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเราในขณะนี้ จะได้ร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงและหยุดวิกฤตมลพิษพลาสติกได้ในอนาคตอันใกล้