ป่าแอมะซอนในบราซิล คือป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก เป็นบ้านของสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ รวมทั้งบางสายพันธุ์อาจยังไม่เคยถูกค้นพบมาก่อน อย่างไรก็ตาม ชีวนิเวศก็ยังถูกทำลายอย่างเป็นระบบ โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำลายล้างป่า และในกรณีนี้คือ “เหมืองทองคำ”

เป็นเวลาเกือบทศวรรษที่การทำเหมืองผิดกฏหมายขยายตัวไปทั่วป่าแอมะซอน สร้างมลพิษต่อชุมชนพื้นเมืองและเขตคุ้มครองอีกมากมาย และยังเป็นภัยต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คนกว่า 30 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชนพื้นเมือง ซึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่กับสารปรอทและการทำลายป่า

การทำเหมืองผิดกฏหมายยังส่งผลกระทบต่อแม่น้ำที่ไหลผ่านป่า   ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งอาหารหลักของชนพื้นเมืองในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ แม่น้ำยังมีความสำคัญต่อสัตว์น้ำในการการขยายพันธุ์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการรักษาระบบนิเวศในป่าแอมะซอนเอาไว้ 

และนี่คือเหตุผลว่าเหมืองทองผิดกฏหมาย ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของป่าแอมะซอนได้อย่างไร

ลานบินผิดกฏหมาย กลางป่าแอมะซอน

ลานบินผิดกฎหมายที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยเผ่ายาโนมามิ (Yanomami) © Valentina Ricardo

จากรายงานขององค์กรติดตามความเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินของบราซิล MapBiomas ระบุว่า มีลานบินกว่า 320 แห่งที่ยังเปิดใช้งานอย่างผิดกฏหมาย โดยบริษัทเหมืองที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของชนพื้นเมือง เพียงแค่ในพื้นที่ของเผ่ายาโนมามิ (Yanomami) ก็มีลานบินมากกว่า 75 แห่ง ซึ่งการจะสร้างลานบินแบบนี้ได้นั้น จะต้องตัดต้นไม้และพันธุ์พืชพื้นถิ่น

ลานบินเหล่านี้ใช้ขนส่งพัสดุหรือเครื่องมือสำหรับคนงานเหมืองในการขุดเจาะ การทำงานของคนงานเหมืองบนพื้นที่ของชนพื้นเมืองนั้นสร้างภัยคุกคามต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่า และกลุ่มคนที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรในการดำรงชีวิตจากป่าผืนนี้ 

การล่าสัตว์ผิดกฎหมายสนับสนุนโดยบริษัทเหมือง 

การทำเหมืองทองไม่ได้เป็นเพียงวิธีการเดียวที่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพภายในพื้นที่ ยังมีภัยคุกคามต่อสัตว์ป่าด้วยเพราะผู้ที่ทำงานในเหมืองก็เข้าป่าและไปล่าสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหารด้วยเช่นกัน

จากการศึกษาของสถาบันแอมะซอนเพื่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม (Imazon) ชี้ให้เห็นว่าการทำเหมืองในปัจจุบันสร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่รอบ ๆ แม่น้ำอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น คนงานเหมืองยังล่าสัตว์อีกหลากหลายชนิดเช่น ลิง อาร์มาร์ดิลโล่ คาปิบาร่า และอีกหลายชนิด โดยสัตว์บางสายพันธุ์นั้นกินผลไม้ และมีบทบาทสำคัญต่อการกระจายเมล็ดพันธุ์พืชและขยายพันธุ์พืช แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบและทำให้ระบบนิเวศเหล่านี้ถูกทำลายลง

การเปลี่ยนสภาพและการปนเปื้อนของระบบนิเวศในน้ำ

เหมืองทองผิดกฎหมาย กิจกรรมที่ทำลายป่าและทำให้แม่น้ำเป็นพิษในป่าแอมะซอน © Christian Braga / Greenpeace

นอกจากสารปรอทที่เป็นตัวการหลักที่ทำให้แม่น้ำแอมะซอนและสุขภาพของกลุ่มชนพื้นเมืองตกอยู่ในความเสี่ยงแล้วนั้น เหมืองเหล่านี้ยังปล่อยตะกอนสารพิษลงสู่แม่น้ำอีกด้วย เนื่องจากการติดตั้งระบบขุดเจาะแรงสูงสำหรับการขุดเจาะในระดับที่ใหญ่ขึ้น เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดตะกอนตกค้างในพื้นที่และแม่น้ำ การใช้ระบบขุดเจาะไฮดรอลิกแรงสูงนี้ ทำลายระบบนิเวศได้รวดเร็วกว่าการใช้แรงงานมนุษย์มาก จากที่ต้องใช้คนงานเหมืองสามคนในการทำงานเป็นเวลา 40 วัน ก็จะเหลือเพียง 1 วันเท่านั้น และยังส่งผลทำให้มลพิษขยายตัวลงสู่แม่น้ำมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ตะกอนเหล่านี้ทำให้แสงแดดส่องลงไปถึงใต้น้ำลดน้อยลง กระทบต่อปลาที่ต้องใช้แสงอาทิตย์เพื่อมองหาอาหาร ซ้ำยังส่งผลกระทบถึงห่วงโซ่อาหารระหว่างผู้ล่าและเหยื่อ ตะกอนเหล่านี้ยังส่งผลต่อระบบหายใจของปลาด้วยเช่นกัน เพราะมันจะเข้าไปอุดตันเหงือกและทำให้ปลาไม่สามารถหายใจได้

นอกจากนี้ การทำเหมืองยังส่งผลต่อกระบวนการแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำในแอมะซอนโดยเฉพาะการวางไข่ที่ต้องอาศัยต้นน้ำที่สะอาด แน่นอนว่านับตั้งแต่ที่มีการขุดเจาะเหมือง ต้นน้ำสะอาดเหล่านี้ก็ลดน้อยลงด้วย

ทำไมการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ภาพ ตัว Manicoré-marmoset (Mico manicorensis) ในป่าใกล้แม่น้ำ Manicoré แอมะซอน ประเทศบราซิล © Valdemir Cunha / Greenpeace

ในปี 2565 กรีนพีซ บราซิล ได้ระดมทีมสำรวจทางวิทยาศาสตร์เพื่อสำรวจตามแม่น้ำ Manicoré และลึกเข้าไปในแอมะซอน โดยศึกษาสายพันธุ์พืชและสัตว์ที่ไม่เคยถูกค้นพบและศึกษามาก่อนในเขตป่าสงวน จากการรายงานของศาสตราจารย์ Marta Regina นักพฤกษศาสตร์จาก State University of Amazonas (UEA) กล่าวว่า “การตัดไม้ทำลายป่าและการทำเหมืองในแอมะซอนกำลังทำลายสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่เราอาจไม่มีโอกาสเคยพบมันเลยสักครั้งเดียว”

ระหว่างการสำรวจ ศาสตราจารย์ Marta มักจะเตือนเราว่า เราแทบไม่รู้หรือได้ศึกษาป่าแอมะซอนถึงครึ่งนึงของพื้นที่ทั้งหมด 5 ล้านกิโลเมตรเลย ฉะนั้น เราจึงบอกไม่ได้ว่าป่าแอมะซอนมีความหลากหลายทางชีวภาพมากขนาดไหน

เรจิน่า นักพฤษศาสตร์กล่าวว่า “สิ่งที่เรารู้แน่นอนก็คือ มีสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้ดินมากกว่าบนดินเสียอีก” คำกล่าวนี้ย้ำเตือนเราว่า ดินเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์นับพัน ๆ ตัว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการผลิตยารักษาโรค การทำเกษตรกรรม และเป็นตัวกำหนดปริมาณและคุณภาพของอาหารที่เราบริโภคเข้าไปด้วย “มันยังมีโลกอีกใบที่ซ่อนอยู่ข้างใต้โลกของเรา” 

แล้วป่าแอมะซอนมีความหลากหลายทางชีวภาพมากแค่ไหน? คำตอบก็คือเราก็ยังไม่ทราบ แต่สิ่งที่เราทราบและกำลังเกิดขึ้น คือยังมีการทำลายป่าอยู่ ดังนั้น ตอนนี้อย่างน้อยที่สุดเราควรมีโอกาสสำรวจว่ายังมีสิ่งมีชีวิตใดที่ยังไม่ได้ถูกค้นพบในป่าแอมะซอน 

จะต้องไม่มีการทำเหมืองและการทำลายป่ามากไปกว่านี้ และจะต้องมีแผนพัฒนาฟื้นฟูป่าแอมะซอนต้องอย่างเร่งด่วนที่สุด ที่จะไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานโครงสร้างเศรษฐกิจที่ทำลายผืนป่าเพื่อเอาทรัพยากรอีกต่อไป


ผู้เขียน Diego Gonzaga บรรณาธิการของกรีนพีซสากล

แปลโดย รวิชญ์ บุญทน นักศึกษาฝึกงาน