โครงการเหมืองทะเลลึกคือการทำเหมืองเพื่อขุดโลหะและแร่จากพื้นก้นทะเล ซึ่งเป็นประเภทอุตสาหกรรมทำลายล้างที่สร้างความเสียหายต่อมหาสมุทรมากเกินกว่าที่ระบบนิเวศจะฟื้นฟูตัวเองได้ รวมทั้งยังเป็นภัยคุกคามและอุปสรรคสำคัญต่อคุณสมบัติการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศของมหาสมุทร

Protest against Deep Sea Mining Vessel in Mexico. © Gustavo Graf / Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซจากนิวซีแลนด์และเม็กซิโก กางป้ายผ้าบริเวณหน้าเรือในโครงการเหมืองทะเลลึก ‘Hidden Gem’ นอกอ่าวแมนซานนิลโล เม็กซิโก ขณะกำลังเทียบท่าที่ฝั่งในมหาสมุทรแปซิฟิค โดย Hidden Gem ได้รับการว่าจ้างโดยบริษัทเหมืองสัญชาติแคนาดา ‘The Metals Company’ ซึ่งขณะนั้นเพิ่งกลับเข้าฝั่งหลังจากการทดสอบขุดเหมืองเป็นระยะเวลากว่า 8 สัปดาห์ บริเวณพื้นที่สำหรับสำรวจแหล่งแร่ใต้ทะเล’ หรือ the Clarion-Clipperton Zone (CCZ) ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกซึ่งตั้งอยู่ข้ามเส้นศูนย์สูตร ระหว่างฮาวายและเม็กซิโก เรือลำนี้เป็นหนึ่งในเรือประเภทขุดเจาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก © Gustavo Graf / Greenpeace

โครงการเหมืองทะเลลึก เป็นโครงการเหมืองที่คาดว่าจะขุดเจาะแร่โลหะและแร่อื่น ๆ จากก้นทะเลขึ้นมา แร่เหล่านี้อยู่ลึกลงไปจากพื้นผิวอีกกว่าหลายพันเมตร โดยแร่ที่ถูกสะสมไว้ในชั้นผิวดินมีหลากหลาย เช่น แร่แมงกานีส นิกเกิล และโคบอลท์ ก่อตัวอยู่ใต้พื้นมหาสมุทรเป็นเวลาหลายล้านปี

การจะขุดเจาะแร่ธาตุเหล่านี้ขึ้นมา โครงการจะต้องส่งเครื่องขุดเจาะขนาดมหึมา ที่มีน้ำหนักมากกว่าวาฬสีน้ำเงินเสียอีก ลงไปตักตะกอนออกจากพื้นก้นทะเล หลังจากนั้นก็ปั๊มและขุดเจาะแร่ขึ้นมายังเรือขนส่ง ผ่านท่อส่งแร่ยาวหลายกิโลเมตร ขั้นตอนสุดท้ายคือการนำทราย ตะกอนต่าง ๆ หรือแร่ที่เหลือทิ้งและน้ำทะเลส่งกลับไปในมหาสมุทร

เหมืองทะเลลึกเป็นอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ นอกจากการทดสอบขนาดเล็กแล้ว การทำเหมืองลักษณะเช่นนี้ยังไม่เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตามหลายบริษัทก็เข้าร่วมโครงการและเตรียมที่จะเริ่มการทำเหมืองทะเลลึกอย่างเต็มรูปแบบ เหลือเพียงด่านสุดท้ายคือการได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลให้เริ่มโครงการได้หรือไม่เท่านั้น

เหมืองทะเลลึกอาจก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง?

แน่นอนว่าการทำเหมืองทะเลลึกจะก่อให้เกิดการทำลายพื้นที่ทรัพยากรในบริเวณกว้างเหมือนกับการทำเหมืองบนดิน แต่การจะลงไปทำเหมืองใต้ทะเลลึกยังมีความเสี่ยงเนื่องจากเหตุผลหลายอย่าง รวมทั้งผลกระทบที่คาดเดาได้ยากว่าจะเกิดขึ้น เพราะพื้นที่ใต้มหาสมุทรที่จะถูกขุดเจาะอาจได้รับความเสียหายสูงมากทั้งพื้นที่ใต้ผิวดินและพื้นผิวดิน

มหาสมุทรโลกเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารและเป็นชีวิตให้กับผู้คนอีกสามพันล้านคน แต่ขณะนี้มหาสมุทรกำลังเผชิญกับการถูกคุกคามอย่างหนักมากกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โดยมหาสมุทรถูกคุกคามโดยการแสวงหาทรัพยากรจากการทำประมงแบบทำลายล้าง รวมทั้งต้องเจอกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

สถานที่ที่มีแร่ธาตุเหล่านี้อยู่ใต้ดิน เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล ลึกลงไปใต้ทะเล นอกจากจะเป็นที่ที่มีแร่ธาตุแล้วยังเป็นสถานที่ที่หมึกผี หรือ Ghost Octopus ใช้เป็นแหล่งวางไข่อีกด้วย

ส่วนลึกของมหาสมุทรเป็นพื้นที่สำคัญในการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศเพราะว่ามันกักเก็บความร้อนส่วนเกินกว่า 90% รวมทั้งยังกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผลิตขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ราว 38% อีกด้วย ดังนั้นการทำให้กระบวนการเหล่านี้เสี่ยงต่อความเสียหายโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่โลกของเราเกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจนเราย้อนกลับมาแก้ไขอีกไม่ได้

Protest against Deep Sea Mining in Prague. © Greenpeace / Petr Zewlakk Vrabec
นักกิจกรรมกรีนพีซ นำศิลปะรูปร่าง หมึกผี (ghost octopus) ขนาดยักษ์ มายังบริเวณหน้ากระทรวงอุตสาหกรรมในกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก เพื่อคัดค้านโครงการทเหมืองทะเลลึก โดยเจ้าหมึกยักษ์มีแผ่นป้ายผ้าของตัวเองมามีใจความว่า ‘ก้นทะเลคือบ้านของพวกเรา อย่าทำลายบ้านของเรา!’ © Greenpeace / Petr Zewlakk Vrabec

ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มบริษัทเหมืองทะเลลึกก็ไม่ได้พิสูจน์ว่าโครงการที่จะเกิดขึ้นนั้นปลอดภัย ก่อนหน้านี้เครื่องจักรขนาดใหญ่ของพวกเขาก็ติดอยู่ที่พื้นทะเล และการทดสอบของพวกเขาก็สร้างฝุ่นกระจายฟุ้งเป็นมลพิษในมหาสมุทรแปซิฟิก ฝุ่นปริมาณมากสามารถกระจายออกไปไกลเป็นระยะทางหลายไมล์ และมีแนวโน้มว่าจะสร้างผลกระทบให้กับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเล

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบเรื่องเสียงที่มาจากการขุดเจาะเหมืองใต้ทะเลลึกที่จะส่งเสียงดังออกไปเป็นระยะทางไกล และจะกลายเป็นสิ่งที่รบกวนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอย่างหนัก เพราะโดยปกติแล้วพวกมันจะใช้คลื่นเสียงใต้น้ำในการสื่อสารกัน

หลายประเทศรวมถึง เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน ชิลี นิวซีแลนด์ และอีกหลายรัฐในหมู่เกาะแปซิฟิก ลงความเห็นว่าโครงการเหมืองทะเลลึกเสี่ยงเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยผู้คัดค้านกำลังรวมตัวกันเรียกร้องให้โครงการหยุดการดำเนิการขอใบอนุญาตชั่วคราว และพยายามเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลออกใบอนุญาตการทำเหมือง นอกจากนี้ยังมีเสียงเรียกร้องจากนักรณรงค์อีกหลายประเทศรวมถึงในอังกฤษที่นักรณรงค์กำลังเรียกร้องให้อังกฤษเข้าร่วมกับรัฐบาลจากประเทศอื่น ๆ และสนับสนุนการระงับการดำเนินการชั่วคราวนี้ หากสำเร็จก็จะทำให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบประเด็นดังกล่าวมีเวลาเพิ่มขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลและทำความเข้าใจกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากโลกของเรามีการทำเหมืองใต้ทะเล

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่สถานการณ์มหาสมุทรโลกตึงเครียด แต่รัฐทั่วโลกก็ได้ตกลงลงนามในสนธิสัญญาทะเลหลวง (Global Ocean Treaty) เพื่อที่จะปกป้องมหาสมุทร

ทำไมบริษัทเหล่านี้จึงอยากทำเหมืองในทะเลลึก?

กลุ่มบริษัทเหล่านี้ต้องการแร่จากพื้นก้นทะเลและขายให้กับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แร่ เช่น แร่แมงกานีส โคบอลท์ นิกเกิล และทองแดง เพียงเพื่อเหตุผลเดียวนั่นคือ ทำกำไรให้กับตัวเอง และมหาสมุทรก็เป็นเพียงแหล่งทำเงินแห่งใหม่ของพวกเขา

กลุ่มบริษัททำเหมืองพยายามที่จะสื่อสารว่าพวกเขาต้องการแร่จากใต้ทะเลเพื่อนำไปเป็นส่วนประกอบทำแบตเตอรี่สำหรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่การทำเหมืองเช่นนี้ก็เป็นหนึ่งในระบบที่ไม่ได้เป็นมิตรกับโลกเลย

เรายังมีทางเลือกอื่นอีกมากมายเพื่อยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ดีกว่าโครงการเหมืองทะเลลึก เช่นการพัฒนาระบบรีไซเคิลแบตเตอรี่และลดการพึ่งพารถยนต์จะช่วยให้เราหมุนเวียนแร่ที่มีอยู่กลับมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การทำเหมืองทะเลลึกก็ไม่ได้หมายความว่าการทำเหมืองบนแผ่นดินจะสิ้นสุดลง

โครงการเหมืองทะเลลึกจะเกิดขึ้นที่ไหน?

แม้ว่าขณะนี้โครงการเหมืองทะเลลึกยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบ และกฎหมายสากลก็ยังไม่ได้อนุญาตให้โครงการประเภทนี้เริ่มอย่างเต็มรูปแบบ แต่องค์กรพื้นทะเลระหว่างประเทศ (The International Seabed Authority : ISA) ได้ออกสัมปทาน 31 ฉบับสำหรับเป็นโอกาสการสำรวจพื้นที่เพื่อทำโครงการ ซึ่งกินพื้นที่มากกว่า 1.5 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่กว่าพื้นที่เยอรมนีถึง 4 เท่า

สัมปทานเหล่านี้ส่วนใหญ่ครอบคลุมถึงการสำรวจพื้นที่พื้นที่ใต้ทะเลลึกใน ‘พื้นที่สำหรับสำรวจแหล่งแร่ใต้ทะเล’ หรือ the Clarion-Clipperton Zone (CCZ) ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกซึ่งตั้งอยู่ข้ามเส้นศูนย์สูตร ระหว่างฮาวายและเม็กซิโก โดยพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยสินแร่ ประกอบไปด้วย ทองแดง นิกเกิล แมงกานีส และแร่ชนิดอื่น ๆ

ย้อนกลับไปเมื่อ กรกฎาคม 2564 รัฐบาลเนารูประกาศความต้องการที่จะเริ่มโครงการเหมืองทะเลลึก โดยจะทำงานร่วมกับบริษัทสัญชาติแคนาดา การประกาศครั้งนั้นทำให้เกิดความคลุมเครือของ ‘กฎสองปี’ ซึ่งเป็นกฎหมายที่อาจตีความได้ว่า หลังจากกรกฎาคม 2566 โครงการเหมืองทะเลลึกสามารถเริ่มได้อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะมีเงื่อนไขอื่น ๆ ก็ตาม

ใครที่เข้าร่วมโครงการบ้าง?

อุตสาหกรรมเหมืองใต้ทะเลดำเนินการอย่างลับ ๆ โดยบริษัทขุดเหมืองที่มีสาขาใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือ (Global North) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยกว่ากลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South) [1] บริษัทเหล่านี้ทำงานร่วมกับรัฐบาลหลายประเทศ กลุ่มบริษัทขุดเหมือง เช่น บริษัทแร่ต่าง ๆ พยายามล็อบบี้ให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เปิดพรมแดนให้พวกเขาเข้าไปทำโครงการเหมืองทะเลลึก

ทั้งนี้หลายประเทศสามารถสนับสนุนให้บริษัทเสนอตัวเข้ามาทำการสำรวจและเจรจาการทำสัมปทานโครงการเหมืองทะเลลึกกับองค์กรพื้นทะเลระหว่างประเทศ

องค์กรพื้นทะเลระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.1994 ผ่านอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (the UN Convention on the Law of the Sea) โดยสาขาใหญ่ตั้งอยู่ใน คิงสตัน จาไมกา โดยองค์กรดังกล่าวตั้งกฎเกี่ยวกับการทำเหมืองทะเลลึก เพราะพื้นที่ก้นทะเลอยู่ในพื้นที่ทะเลหลวง

เจ้าหน้าที่ขององค์กรพื้นทะเลระหว่างประเทศดูเหมือนจะพยายามผลักดันให้กลุ่มบริษัทได้รับอนุญาตให้เริ่มทำโครงการเหมืองทะเลลึก เพื่อแสวงหาผลกำไรเพื่อตัวเองมากกว่าส่วนรวม แม้ว่าจะมีคำสั่งขององค์กรให้ปกป้องมหาสมุทรโลกออกมาเองก็ตาม

รัฐบาลสหราชอาณาจักรสนับสนุนการออกใบอนุญาตการสำรวจสองใบ โดยมอบให้บริษัททำเหมือง UK Seabed Resources โดยใบอนุญาตสำรวจพื้นที่นี้ครอบคลุม 133,000 ตารางกิโลเมตร (ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใหญ่กว่าอังกฤษ) อยู่ในพื้นที่สำหรับสำรวจแหล่งแร่ใต้ทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก (Clarion-Clipperton Zone) ถือเป็นการอนุญาตสำรวจพื้นที่มากกว่าประเทศอื่น ๆ ยกเว้นจีน

ใครที่อาจได้รับผลกระทบหากเกิดการทำเหมืองทะเลลึก?

แน่นอนว่าต้องเป็นประชาชนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะชุมชนชายฝั่งซึ่งจะเป็นด่านหน้าที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ก่อนหน้านี้การตรวจสอบโดยนักวิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการทำเหมืองทะเลลึกจะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศใต้ทะเลไปอย่างถาวร ซึ่งหมายความว่าความเสียหายดังกล่าวอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและหลายประเทศที่ต้องพึ่งพามหาสมุทรแปซิฟิก

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของโครงการเหมืองทะเลลึกอาจสร้างความเสียหายต่อประชากรสัตว์น้ำอย่างร้ายแรง เช่น ฝูงปลา ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและเป็นแหล่งประกอบอาชีพให้ชุมชนชายฝั่งในคาบสมุทรแปซิฟิก ซึ่งพวกเขาเหล่านี้เป็นชนพื้นเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนในประเทศที่มีสายสัมพันธ์ทั้งทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณอันลึกซึ้งต่อทะเลและมหาสมุทร

แร่ธาตุเหล่านี้ใช้เวลาหลายล้านปีในการก่อตัวและเป็นส่วนประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิตในทะเลลึก แต่หากแร่เหล่านี้หายไปก็ไม่สามารถหาสิ่งอื่น ๆ มาทดแทนได้ รวมทั้งระบบนิเวศรอบ ๆ แร่ธาตุเหล่านี้ก็ฟื้นฟูกลับมาไม่ได้ และผลที่ตามมาคือความปั่นป่วนในระบบห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งหมด และรวมถึงพวกเราที่ต้องพึ่งพาแหล่งอาหารจากมหาสมุทรแห่งนี้ด้วย

การขุดเจาะแร่เหล่านี้อาจทำลายระบบนิเวศและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล ซึ่งไม่คุ้มค่าที่จะแลกความเสี่ยงของทุกชีวิตบนโลกไปกับแค่การแสวงหาผลกำไรในสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจทั้งหมด เพราะมหาสมุทรคือบ้านหลังใหญ่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ฉลามตัวมหึมาไปจนถึงหอยทากตัวจิ๋ว รวมทั้งสัตว์สายพันธุ์ใหม่ที่สำรวจพบเพิ่มทุกปี

สถานการณ์การคัดค้านโครงการเหมืองทะเลลึก

Global Day of Action For World Oceans Day in New Zealand. © Greenpeace
อาสาสมัครกรีนพีซในโอ๊คแลนด์ ถือป้ายข้อความและแมงกะพรุน DIY คัดค้านการทำเหมืองทะเลลึก โดยสื่อความหมายว่าโครงการเหมืองทะเลลึกอาจสร้างความเสียหายต่อก้นทะเลซึ่งเป็นระบบนิเวศที่เราไม่ควรเข้าไปแตะต้อง นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซทั่วโลกใช้โอกาสของวัน World Ocean Day จัดกิจกรรม Global Day of Action ทั่วโลก รณรงค์คัดค้านและนำเสนอผลกระทบของโครงการเหมืองทะเลลึกที่อาจะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลโหวตคัดค้านการทำเหมืองทะเลลึก ในการประชุมของ ISA ที่จะเกิดขึ้นในคิงสตัน จาไมกา ในเดือนกรกฎาคม © Greenpeace

ขณะนี้องค์กรและหลายประเทศกำลังคัดค้านอุตสาหกรรมเหมืองทะเลลึกที่กำลังขยายตัวมากขึ้น โดย

  • กลุ่มธุรกิจ อย่าง BMW, Volvo, Google และ Samsung ให้คำมั่นสัญญาว่าจะหลีกเลี่ยงการใช้แร่จากโครงการเหมืองทะเลลึก
  • รัฐบาลหลายประเทศ อย่าง ฝรั่งเศส สเปน เยอรมนี และนิวซีแลนด์ กำลังเรียกร้องให้ยุติหรือเลื่อนการขุดเจาะออกไป โดยสหราชอาณาจักรยังเป็นเพียงประเทศเดียวที่ไม่ออกมาเรียกร้องให้ยุติหรือเลื่อนโครงการออกไป
  • นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยังคัดค้านอุตสาหกรรม มีนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 700 คนจาก 44 ประเทศที่ลงนามเรียกร้องให้เปิดการเจรจาเพื่อหยุดโครงการเหมืองทะเลลึก

เราต้องหยุดโครงการเหมืองทะเลลึก

นี่คือช่วงเวลาอีกครั้งหนึ่งที่เรามีโอกาสที่จะหยุดยั้งการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวของกลุ่มบริษัทจากการทำลายมหาสมุทรและปกป้องสภาพภูมิอากาศไม่ให้วิกฤตไปมากกว่านี้

หากก่อนหน้านี้เราสามารถย้อนเวลากลับไปได้เพื่อหยุดการขุดเจาะน้ำมันที่แสนอันตราย หยุดยั้งอุตสาหกรรมก่อนที่พวกเขาจะมีโอกาสทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไม่ให้หายนะทางสิ่งแวดล้อมและวิกฤตสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้น

กรีนพีซเรียกร้องการปกป้องมหาสมุทรจากการทำลายล้างจากโครงการเหมืองทะเลลึกที่จะเป็นตัวเร่งให้มหาสมุทรเสื่อมโทรมเร็วลงกว่าเดิม


[1] หมายถึงภูมิภาคลาตินอเมริกา เอเชีย แอฟริกา และโอเชียเนีย เป็นคำอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกกลุ่มประเทศ ‘โลกที่สาม’ ที่ส่วนมากอยู่นอกทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือ (Global North) การใช้คำว่า ‘global south’ แทนคำอื่น ๆ ที่ใช้เรียกกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แสดงให้เห็นการเปลี่ยนจุดเน้นจากความแตกต่างทางด้านระดับการพัฒนาและวัฒนธรรมไปสู่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สอดคล้องกับภูมิรัฐศาสตร์

บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ โดยกรีนพีซ สกราชอาณาจักร อ่านบทความต้นฉบับ