พูดถึงเรื่องผักหลากสีสันกับเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่อาจจะกลุ้มใจเพราะน้องๆจะชอบเขี่ยผักสีสวยเหล่านี้ออกจากจานอาหาร หรือเด็กๆอาจจะไม่ได้รับสารอาหารครบถ้วนในมื้อกลางวันของโรงเรียน แล้วเราทำอะไรได้บ้าง? เพราะผักและผลไม้อินทรีย์มีประโยชน์ต่อร่างกายของน้องๆ

ในสุดสัปดาห์ปลายฝนต้นหนาวที่ผ่านมา กรีนพีซจึงจัดงาน ‘ผ.ผักกินดี ทำไม ด.เด็กต้องกินผัก’ ที่ร้าน Patom Organic Living โดยมีคุณพ่อ คุณแม่และผู้ที่สนใจร่วมล้อมวงพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ตอบคำถามไขข้อข้องใจ พร้อมคำแนะนำดีๆ กับผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและด้านเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งเรื่องราวโภชนาการอาหารกลางวันของโรงเรียน ภายใต้หัวข้อ “รักลูกให้ถูกจาน เมนูผักสำหรับตัวแสบ” พร้อมเปิดตัวกลุ่ม ‘รักลูกให้ถูกจาน – เมนูผักสำหรับตัวแสบ’ Facebook Group สำหรับครอบครัวที่จะแชร์เรื่องราวและเทคนิคที่จะทำให้น้องๆหนูๆ รักผักและผลไม้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นทั้งเมนูอาหารสารพัดผัก เทคนิคการฝึกเจ้าตัวน้อยกินผัก หรือกิจกรรมที่สามารถร่วมสนุกไปพร้อมกันทั้งบ้านอย่าง การปลูกผักอินทรีย์ หรือเวิร์กช็อปกรีนๆ หากคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองสนใจอยากแชร์เทคนิคดีๆเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าว สามารถเข้าร่วมกลุ่มที่นี่

บรรยากาศในวงเสวนา “รักลูกให้ถูกจาน เมนูผักสำหรับตัวแสบ” มีคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และน้องๆหนูๆเข้าร่วมพูดคุยกับวิทยากร

อาหารกลางวันโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่เราอาจมองข้าม

เพราะอาหารกลางวันโรงเรียนเป็นมื้อสำคัญที่จะเติมพลังการเรียนรู้ให้เด็กๆในระหว่างวัน แต่อาหารที่อุดมไปด้วยผักหลากชนิดยังเป็นสิ่งที่ขาดในอาหารกลางวันของโรงเรียน ซึ่งเด็กๆควรได้กินอาหารจานผักอย่างน้อย 3 มื้อต่อสัปดาห์เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

แล้วจะดีกว่าหรือไม่หากโรงเรียนของน้องๆมีอาหารที่เติมพลังและเติมสารอาหารที่มีประโยชน์ให้กับน้องๆไปพร้อมๆกัน พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล อดีตผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้มาพูดคุยถึงประเด็นคุณภาพอาหารกลางวันโรงเรียนและปัญหาทางโภชนาการของเด็กไทยในปัจจุบัน

พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล อดีตผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

พญ.นภาพรรณ เล่าถึงความสำคัญของกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาว่า กองทุนจะช่วยให้เด็กๆทานอาหารกลางวัน

กองทุนจะประเมินติดตามโรงเรียนเพื่อจัดอาหารกลางวันอย่างมีคุณภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณเพื่อทำโครงการเพิ่มเติม เช่น โครงการส่งเสริมผลผลิตการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โครงการสุขาภิบาลอาหารที่ดี โครงการพัฒนาน้ำดื่มสะอาด เป็นต้น

เพราะนอกจากความช่วยเหลือในด้านงบประมาณ สำนักโภชนาการยังมีหน้าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสารอาหารในเด็กแต่ละวัย โดยมีคู่มือสำหรับโภชนาการในเด็กให้กับสพฐ.เพื่อแจกจ่ายให้กับโรงเรียน คู่มือนี้เราอ้างอิงจากธงโภชนาการ

 
ธงโภชนาการ ขอบคุณภาพจาก สำนักโภชนาการ

 

อย่างไรก็ดี ยังมีอุปสรรคในด้านต่างๆ ทำให้มีโรงเรียนที่มีคุณภาพอาหารกลางวันไม่ดีเท่าที่ควร

ทั้งนี้ พญ.นภาพรรณมองว่า ถ้าเราอยากให้เด็กๆได้ทานอาหารที่มีสารอาหารอย่างครบถ้วน เพื่อสุขภาพที่ดีนั้น คุณครูและผู้ปกครองต้องร่วมมือกันช่วยฝึกให้เด็กๆทานผักมากขึ้น

“สิ่งสำคัญในมื้ออาหารกลางวันของโรงเรียนคือผัก ผักจะต้องมีอยู่ในมื้อกลางวันทุกวัน นอกจากนี้เด็กๆจะต้องได้ทานผลไม้อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์” 

อยากให้ลูกกินผัก เริ่มจากตัวเราเอง

สำหรับใครที่กำลังกลุ้มใจว่าลูกๆจะไม่ยอมกินผักในมื้ออาหารไม่ต้องห่วงเลยค่ะเพราะวิทยากรทั้ง 4 ท่านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ถ้าอยากให้เจ้าตัวเล็กกินผักอย่างมีความสุข คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองต้องกินผักให้ลูกดูก่อน’

“แตนฝึกให้ลูกกินผักตอนที่น้องยังกินไม่ได้ เราก็ให้ลูกเรานั่งดูเรากินผัก ให้เขานั่งเก้าอี้แล้วดูเรากินค่ะ พอเขาอยู่ในวัยที่กินได้ เราก็ให้เขาลองกินเขาก็กินได้เลยค่ะ เขาจะไม่รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งแปลกปลอม” -คุณแตน ดุจฤทัย คงคาเจริญ

คุณแตน ดุจฤทัย คงคาเจริญ คุณแม่มือใหม่ที่ใส่ใจเรื่องอาหารอินทรีย์

นอกจากคุณแตนแล้ว วิทยากรท่านอื่นๆต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พ่อแม่จะต้องเป็นตัวอย่าง เป็นคนกินผักให้ลูกเห็น

คุณหมออร พญ.กัลย์สุดา อริยะวัตรกุล กล่าวเสริมเรื่องการฝึกเด็กๆให้กินผักว่า ธรรมชาติของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนกินง่าย บางคนกินยาก เพราะฉะนั้นตัวช่วยที่ดีคือคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องกินผักให้ลูกเห็น รวมทั้งบรรยากาศในการฝึกลูกๆจะต้องไม่เป็นการบังคับให้ลูกกินอีกด้วย โดยประสบการณ์ของหมอคือ มีผักวางไว้หลากหลาย แล้วให้น้องหยิบกินเอง

การฝึกให้เด็กกินผักยังต้องฝึกควบคู่ไปกับพัฒนาการเด็กด้วย อย่างเช่น ลูกเราอายุ 1-3 ขวบ จะเป็นช่วงที่เด็กไม่ชอบการถูกบังคับ อยากทำอะไรด้วยตัวเอง ถ้าเราปล่อยให้เขาลองกินเอง เขาก็จะรู้สึกสนุก หรือถ้าเป็นเด็กโตขึ้นมาหน่อย ก็จะมีอีกเทคนิคคือให้กินกับเพื่อนๆหรือร่วมโต๊ะกับคนอื่นๆ เวลาที่เขาเห็นคนอื่นกิน เขาอาจจะอยากลองกินบ้าง

“ผักที่เหมาะกับน้องๆในช่วงฝึกกินคือผักที่มีเนื้อนิ่มและไม่ติดรสชาติขม เช่น ฟักทอง แครอท ต้มแล้วบดผสมลงไปในมื้ออาหารเลย” – พญ.กัลย์สุดา อริยะวัตรกุล หรือ หมออร

อ้าว แล้วถ้าเราไม่ได้ทำตามเทคนิคข้างต้นมาตั้งแต่แรก ตัวเล็กของเราจะไม่ชอบกินผักหรือเปล่านะ ? อย่าเพิ่งท้อใจนะคะเพราะพญ.นภาพรรณ แนะนำไว้ว่า ถ้าเด็กรู้จักผักชนิดไหน เด็กจะกินผักนั้น แต่คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งท้อใจว่าลูกไม่กินผักเพราะมีงานวิจัยที่บอกว่า เราทดลองให้ลูกลองกินผักได้อย่างมากถึง 11 ครั้ง ถ้าเกินกว่านั้นก็อาจจะเป็นอาหารที่เด็กไม่ชอบ ไม่สามารถกินได้จริงๆ

ผัก ผลไม้อินทรีย์ คือสิ่งสำคัญสำหรับน้องๆในทุกวัย

“สิ่งที่น่ากลัวคือเราไม่รู้ที่มาที่ไปของอาหาร ดังนั้นเราพยายามจะให้ลูกของเราทานอาหารที่รู้ที่มาที่ไป การทำอาหารทานเองก็ช่วยทำให้เรารู้ที่มาที่ปลอดภัยของวัตถุดิบได้ดีขึ้น” -คุณนคร ลิมปคุปตถาวร (เจ้าชายผัก)

แน่นอนว่าเรื่องของสารเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกอาหารให้กับน้องๆหนูๆ การทานผักที่ไม่รู้ที่มาที่ไปอาจเป็นภัยกับเจ้าตัวเล็กของเราโดยไม่รู้ตัว

Workshop เมนูผักหลากสี แม็กซิกันสลัดแรป อุดมด้วยผักสำหรับน้องๆหนูๆภายในงาน ผ.ผักกินดี ทำไม ด.เด็กต้องกินผัก

สำหรับคุณปริ๊นซ์ นคร ลิมปคุปตถาวร มักจะให้ลูกๆทานผักหลากหลาย เช่นผักพื้นบ้านตามฤดูกาลที่ปลูกเอง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือผัก ผลไม้เหล่านั้นจะต้องรู้ที่มาและยิ่งถ้าเป็นผักผลไม้อินทรีย์ก็จะดีมากเลยเพราะเราจะรู้ว่าลูกของเรากินอะไรเข้าไปบ้าง พืชผัก เนื้อสัตว์เหล่านั้นมีสารเคมีมากน้อยแค่ไหน ลดความเสี่ยงที่เด็กจะได้รับสารปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายและลดความเจ็บป่วยทางร่างกาย

ส่วนคุณแตนก็เป็นคุณแม่มือใหม่ที่ปลูกผักกินเอง เธอเล่าว่าการปลูกผักกินเองนอกจากจะทำให้สุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังสร้างสุขภาพที่ดีให้กับครอบครัวอีกด้วย เพราะทั้งครอบครัวจะเรียนรู้เรื่องระบบอาหาร ผักผลไม้อินทรีย์ เรียนรู้เรื่องสารเคมีไปพร้อมๆกัน

“เวลาเราทำอาหารเองแล้วครอบครัวมากินอาหารด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา มันรู้สึกอิ่มใจ มีความสุขมากกว่าออกไปกินข้าวหรูๆข้างนอก”

กินผักเยอะๆ ร่างกายแข็งแรง โลกก็แข็งแรงด้วยนะ

เชื่อหรือไม่ว่านอกจากการกินอาหารที่อุดมไปด้วยผักอินทรีย์นานาชนิดแล้ว การลดเนื้อสัตว์และเพิ่มการบริโภคผักยังช่วยโลกได้อีกด้วย

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ พูดถึงประเด็นการลดเนื้อสัตว์และเพิ่มผักในมื้ออาหารสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยกรีนพีซกำลังรณรงค์เกี่ยวกับการกินอาหารที่อุดมด้วยพืชผัก สนับสนุนอาหารที่ผลิตเชิงนิเวศและมาจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน มีความหลากหลาย มีตามฤดูกาล ปลูกหรือหาได้ในท้องถิ่น ส่งเสริมสุขภาพของผู้ปลูก ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงอาหารพืชผักเหล่านี้ได้ง่าย พร้อมทั้งชักชวนให้ผู้คนทั่วโลกเข้าร่วมการเคลื่อนไหวในการลดการกินเนื้อสัตว์และหันมากินพืชผักให้มากขึ้น เพื่อสุขภาวะของโลกที่ดีขึ้น

Workshop เมนูผักหลากสี แม็กซิกันสลัดแรป อุดมด้วยผักสำหรับน้องๆหนูๆภายในงาน ผ.ผักกินดี ทำไม ด.เด็กต้องกินผัก

ถ้าใครได้ลองอ่านรายงาน ลดเพื่อเพิ่ม เราจะพบใจความสำคัญของการกินผักเพื่อโลก เราสูญเสียผืนป่าจากการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมประเภทนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าๆกับการปล่อยก๊าซชนิดเดียวกันในการคมนาคมเลยทีเดียว

หากเรายังนิ่งเฉยไม่ลดการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเชิงอุตสาหกรรมดังที่กล่าวมา ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบอาหารอาจเพิ่มเป็นครึ่งหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก (ในปี พ.ศ. 2593) นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของการผลิตและการบริโภคเนื้อสัตว์ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนมเชิงอุตสาหกรรม เป็นสาเหตุสำคัญเบื้องหลังวิกฤติการสุขภาวะทั่วโลก เพราะการบริโภคเนื้อแดงเชื่อมโยงถึงการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคอ้วนและโรคเบาหวาน

เห็นมั้ยคะว่าการกินผักอินทรีย์ ลดเนื้อสัตว์ลงนอกจากจะช่วยให้เราและครอบครัวปลอดภัย ห่างไกลจากโรคภัยต่างๆ ยังช่วยให้โลกของเรายั่งยืนขึ้นได้ด้วยนะคะ

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม