ถ้าพูดถึงการทำประมง หลายคนมักมองว่าเป็นอาชีพสำหรับผู้ชาย  แต่ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลานั้นไม่ใช่ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับทั้งก๊ะบ๊ะ ก๊ะหนับ และก๊ะส๊ะ แห่งอำเภอจะนะ ผู้แหกขนบภาพจำว่าผู้หญิงต้องเลี้ยงลูกอยู่บ้าน โดยทั้งสามออกเรือทำประมง ต่อยอดอาชีพผ่านทรัพยากรด้วยวิถีประมงยั่งยืน  และยังเป็นแกนนำเคลื่อนไหวปกป้องท้องทะเลบ้านเกิดอีกด้วย  

ลอกีบ๊ะ หมัดเหล็ง, ไซหนับ ยะหมัดยะ, และรอซีส๊ะ เหล็มเหลาะ ชาวประมงหญิงจากอำเภอจะนะ เดินบนหาดทรายหาดสวนกง ©Songwut Jullanan/ Greenpeace

ว่าแต่… จะนะแตกต่างจากที่อื่นอย่างไร ทำไมเหล่าก๊ะๆ สามารถเปลี่ยน “บทบาท” ออกมาทำประมง แถมเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวปกป้องทะเลจากนิคมอุตสาหกรรม เรามาไขคำตอบกับลอกีบ๊ะ หมัดเหล็ง(ก๊ะบ๊ะ), ไซหนับ ยะหมัดยะ(ก๊ะหนับ), และรอซีส๊ะ เหล็มเหลาะ(ก๊ะส๊ะ) ไปด้วยกัน

วิถีประมงพื้นบ้าน การทำประมงยั่งยืน

เรานั่งริมหาดคุยกับก๊ะแบบสบายๆ ใต้ร่มไม้ในหาดสวนกง “ก๊ะบ๊ะ” เริ่มเกริ่นถึงที่มาของ
“กลุ่มเต่าไข่” กลุ่มประมงหญิงในชุมชนที่ทั้งสามเป็นสมาชิก ซึ่งรวมตัวกันนำอาหารทะเลที่ตนและครอบครัวออกเรือได้มา แปรรูปขายเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน โดยวิถีของการทำประมงขึ้นอยู่กับสัตว์น้ำตามแต่ละฤดูกาล

ย้อนไปในวัยเด็ก ทั้งก๊ะบ๊ะ ก๊ะหนับ และก๊ะส๊ะ ต่างเติบโตมากับทะเลจะนะ พวกเขาเล่าว่าเห็นทะเลมาตั้งแต่จำความได้ ขณะที่ครอบครัวของทั้งสามประกอบอาชีพประมงมาตั้งแต่กำเนิด  ทำให้ได้เรียนรู้การทำประมงจากการช่วยที่บ้าน เช่น การปลดสัตว์น้ำที่จับมาได้ออกจากอวน หรือเอาสัตว์ทะเลที่จับมาได้ไปขายตามตลาดและแม่ค้าคนกลาง

ลอกีบ๊ะ หมัดเหล็ง, ไซหนับ ยะหมัดยะ, และรอซีส๊ะ เหล็มเหลาะ ชาวประมงหญิงจากอำเภอจะนะ นั่งสัมภาษณ์ใต้ต้นไม้บนหาดสวนกง ©Songwut Jullanan/ Greenpeace

วันเวลาผ่านไป ทั้งสามต่างเติบโตมีครอบครัว แต่ที่ยังคงเดิม คือวิถีชีวิตที่ยังคงผูกโยงกับท้องทะเล 

ดังนั้น การทำประมงของก๊ะทั้งสามจะใช้เครื่องมือที่ไม่ทำร้ายทะเล โดยใช้อวนหรือแหที่ถักมือขึ้นมาเอง อวนแต่ละชนิดจะมีรูตาข่ายกว้างไม่เท่ากัน เพื่อให้เหมาะสมกับสัตว์น้ำที่จะจับ ไม่ให้ติดสัตว์น้ำพลอยได้

“อวนกุ้งก็จะเล็กหน่อย ใหญ่ขึ้นมาก็จะเป็นอวนหมึก อวนปู รวมไปถึงอวนจับปลาโดยเฉพาะปลาหลังเขียวที่อาศัยอยู่ในทะเลจะนะเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีอวนเฉพาะปลาอินทรีย์ ปลาเก๋า ปลาโคก ปลาสาก ปลากระพง ปลาน้ำดอกไม้ และปลาอื่นๆอีกมากมายที่หาได้จากทะเลจะนะ”

การทำประมงลักษณะนี้จะทำให้สัตว์น้ำวัยอ่อนหรือลูกปลาตัวเล็ก ๆ ไม่ถูกจับขึ้นมาก่อนเวลาที่จะเติบโต สัตว์น้ำเหล่านี้จึงมีโอกาสขยายพันธุ์ได้ต่อไปเรื่อย ๆ

ทั้งสามคนอธิบายต่อว่า ปลาส่วนใหญ่ที่จับมาได้จะถูกแบ่งเป็นสามส่วนคือเก็บไว้กิน ขายเองที่ตลาด และขายผ่านแม่ค้าคนกลาง  ก่อนที่ก๊ะหนับเล่าด้วยเสียงขบขันว่า “ส่วนมากไม่ค่อยได้กินหรอก เบื่อแล้ว กินบ่อยมากมาตั้งแต่เด็ก”

แม้จะเป็นคำพูดติดตลก แต่โดยนัยกลับแสดงออกถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลจะนะได้เป็นอย่างดี

รื้อฟื้นความเสื่อมโทรม

“ถ้าถามว่ามันเปลี่ยนไหม มันเปลี่ยนอยู่แล้วถ้าเทียบกับตอนเด็ก ยิ่งช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับห้ามใช้อวนลากเกือบทำให้ปลาลามะสูญพันธุ์ไปจากทะเลจะนะ” ก๊ะส๊ะเริ่มเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของทะเลที่เธออาศัยอยู่มาชั่วชีวิต

คลองนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา. © Sirachai Arunrugstichai / Greenpeace
ภาพมุมสูงของชายหาดในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็นนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก
ภายใต้โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ © Sirachai Arunrugstichai / Greenpeace

เมื่อทะเลจะนะเริ่มเสื่อมโทรม สัตว์น้ำหายไป คนในชุมชนจึงเริ่มหันมาหาวิธีฟื้นฟู ซึ่งใช้เวลากว่าสองทศวรรษ กว่าปลาจะเริ่มกลับมา

”ปลาส่วนใหญ่เพิ่งเริ่มกลับมาช่วงที่ชาวบ้านหันมาทำซั้งปลา ปะการังเทียม แต่ก็ใช้เวลากว่า 20 ปีเหมือนกันที่จะทำให้ทะเลจะนะกลับมามีพันธุ์ปลาที่หลากหลาย” ก๊ะหนับอธิบาย

“แต่ถ้าถามว่าคุ้มค่าไหม มันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากเพระเราทำให้ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์นานาชนิดอยู่แล้วกลับมามีชีวิตมากกว่าเดิม นี่ยิ่งทำให้เห็นว่าทำไมเราถึงหวงแหนทะเลบ้านเรา”

ความภาคภูมิใจของอาชีพประมงหญิง

โดยทั่วไปแล้ว ชาวประมงที่ออกทะเลมักจะเป็นผู้ชาย แต่ทั้งก๊ะบ๊ะ ก๊ะหนับ ก๊ะส๊ะ และประมงหญิงอีกจำนวนไม่น้อยในจะนะออกทำประมงเพื่อหารายได้ โดยใช้ความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาจากการเติบโตมากับทะเล ลบภาพจำเก่าๆ พร้อมกับสร้างบทบาทใหม่ของผู้หญิงในอุตสาหกรรมประมง

ลอกีบ๊ะ หมัดเหล็ง, ไซหนับ ยะหมัดยะ, และรอซีส๊ะ เหล็มเหลาะ ชาวประมงหญิงจากอำเภอจะนะ
เดินบนชายหาดหน้าหาดสวนกง ซึ่งมีเรือประมงพื้นบ้านจอดเรียงราย

“ผู้หญิงเราแข็งแรงสามารถทำงานนี้ได้ บางคนท้องเจ็ดถึงแปดเดือนยังออกทะเลอยู่เลย อาชีพประมงนี้มันไม่ใช่แค่ออกเรือ หลังได้ปลามายังมีขั้นตอน เอาปลาไปขาย คัดแยกปลา เตรียมอุปกรณ์ออกเรือ ซื้อน้ำมัน เราก็ทำได้หมด” ก๊ะส๊ะอธิบาย

และสำหรับก๊ะทั้งสาม ทะเลไม่ใช่เพียงแหล่งรายได้ แต่เป็นของส่วนรวม เป็นสถานที่ที่ทุกคนในหมู่บ้านสามารถออกเรือหาปลามาขายเพื่อสร้างรายได้ หรือนำมาเป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร รวมถึงเป็นสิ่งที่ค้ำจุนชีวิต ซึ่งสิ่งนี้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านประโยคสั้นๆ

ก๊ะบ๊ะ: “ถ้าพูดง่าย ๆ สำหรับชาวบ้านแบบเราธนาคารอยู่ในเล ค่าเทอม ค่าใช้จ่ายภายในบ้านเรามีกินมีใช้ก็เพราะทะเล ถ้าไม่มีทะเลเราและครอบครัวเราก็อยู่ไม่ได้”

ก๊ะหนับ: “เราโชคดีที่เกิดอยู่ริมเล ไม่ได้มีมากแต่ลูกเราไม่เคยอด เราเลี้ยงลูกได้ส่งลูกเรียนจนจบเพราะเราทำประมง”

ลอกีบ๊ะ หมัดเหล็ง, โชว์ปลาสองตัวข้างเรือประมงของครอบครัว ที่เธอและสามีหาได้หลังออกทำประมงเพียงไม่กี่ชั่วโมง ©Songwut Jullanan/ Greenpeace

ก๊ะส๊ะ: “ริมเลที่เราอยู่นี้ ถ้าเปรียบเทียบกับคนที่อยู่บนควน เวลาฝนตกเขาทำอาชีพกรีดยางก็กรีดไม่ได้ รายได้ของวันนั้นก็จะหายไป แต่เราไม่ใช่ฝนตก เราก็ยังออกเลได้ มีกินมีใช้ไม่ขาดมือทำให้เรามีรายได้ทุกวัน”

แนวหน้าปกป้องทะเล

ชาวจะนะกำลังต่อสู้กับนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลกระทบไม่เพียงแค่ทะเล แต่รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ อากาศ สุขภาพคนในชุมชน และวิถีชีวิต และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวจะนะออกมาต่อสู้

ก่อนหน้านี้ชาวจะนะต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้า โรงส่งท่อก๊าซ และอุตสาหกรรมอื่นๆที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในทุกการต่อสู้ มักมีผู้หญิง “เป็นแนวหน้า”

ผู้หญิงจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เดินนำขบวนประท้วงในกรุงเทพฯ เรียกร้องหยุดนิคมอุตสาหกรรม © Tadchakorn  Kitchaiphon / Greenpeace

ในครั้งนี้ก็ไม่ต่างกัน ก๊ะสามคนชี้ว่า การคัดค้านนิคมฯจะนะ เป็นอีกหนึ่งการต่อสู้ที่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่เพื่อลูกหลาน

“พวกเขาที่จะอยู่ต่อไปอีกเป็นยี่สิบสามสิบปี ตัวเราเดี๋ยวก็ตายแล้ว แต่เราต้องทำ เพราะถ้าเราไม่สู้เราในวันนี้ และลูกหลานเราในวันหน้าก็ไม่มีที่จะอยู่”

สำหรับคนนอกอาจฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว หากมองเผิน ๆ นิคมอุตสาหกรรมจะนะที่จะเกิดขึ้นนี้ดูเหมือนจะสร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่ในมุมของชุมชน การเข้ามาของอุตสาหกรรมนิคมจะนะสร้างความกังวลต่อชุมชนว่าอาจทำให้เกิดความสูญเสียทางอาชีพเช่นกัน สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นฐานอาชีพที่สร้างรายได้มหาศาลก็อาจได้รับผลกระทบ

ความไม่แน่นอนของผลกระทบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทำให้ก๊ะทั้งสามและชุมชนออกมาคัดค้าน และสิ่งที่พวกเธอขอไม่ได้มากเกินกว่าสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับ นั่นคือการได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี อากาศสะอาด และโอกาสได้มีส่วนร่วมในการออกแบบการพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง

หาดสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา. © Songwut Jullanan / Greenpeace
ผู้หญิงจากอำเภอจะนะ และทะเลจะนะในงานอะโบ๊ยหมะ กิจกรรมชุมชนที่จัดขึ้นที่หาดสวนกง อะโบ๊ยหมะ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยชุมชนจะนะทุกปี เพื่อสานความสัมพันธ์ของคนในชุมชน โดยในงานจะมีการแข่งขันเรือเกยตื้น มีตลาดอาหารที่ทำจากวัตถุดิบท้องถิ่น และการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน © Songwut Jullanan / Greenpeace

“วันไหนที่ไม่มีเล ให้เราไปอยู่ควน เหมือนตายทั้งเป็นเลย มืดแปดด้าน เพราะเราไม่มีเล โตมากับทะเลเราก็อยากตายไปกับทะเล ตายในที่นี้อาจไม่ใช่การสูญเสียเลือดเพราะการต่อสู้ แต่เป็นการต่อสู้เพื่อสิ่งที่ลูกหลานเราได้มีอาชีพให้ทำโดยที่ไม่ต้องออกไปลำบากหางานและรับมลพิษจากที่อื่น เราทำทั้งหมดเพื่อลูกหลานเรา และอยากให้คนบนหอคอยหรือนายทุนฟังเสียงของพวกเราอย่างจริงใจ” – ก๊ะบ๊ะ กล่าวปิดท้าย

Chana Community Protest at UN Office in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ฟังเสียงชาวจะนะ

อ่านเรื่องราววิถีชีวิตชาวจะนะและผลกระทบของนิคมอุตสาหกรรม

อ่านต่อ