บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ Greenpeace Korea


คุณรู้จักผึ้งมากแค่ไหน? นี่คือ 10 เรื่องเล็ก ๆ ที่น่ารัก แต่สำคัญและยิ่งใหญ่เกี่ยวกับผึ้งที่เราเคยพบเจอ มาดูกันดีกว่าว่าจะมีอะไรบ้าง

1. ตัวต่อคือบรรพบุรุษของผึ้ง

ผึ้งปรากฏตัวครั้งแรกบนโลกเมื่อไรนะ? เดิมทีผึ้งเป็นแมลงที่กินแมลงอื่น ๆ เป็นอาหาร เช่นเดียวกับตัวต่อในปัจจุบัน แต่รูปลักษณ์ของดอกไม้ในยุคครีเตเชียสเมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน ทำให้พฤติกรรมของผึ้งเริ่มเปลี่ยนไป ดอกไม้ก็เริ่มมีสีสันและรูปร่างที่หลากหลายเพื่อดึงดูดผึ้งให้มากิน ผึ้งบางตัวเริ่มที่จะกินดอกไม้ซึ่งนำไปสู่การผสมเกสรของดอกไม้ เป็นผลให้จำนวนของดอกไม้เพิ่มขึ้นอย่างมากตามมา โดยตัวต่อที่กินพืชและดอกไม้เป็นอาหารเหล่านี้ก็คือบรรพบุรุษของผึ้งนั่นเอง

ผึ้งตอมดอกไม้ © Axel Kirchhof / Greenpeace

2. ผึ้งมีห้าตา

ผึ้งมี 5 ตา ประกอบด้วยดวงตาขนาดใหญ่สองดวงอยู่ที่ด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า และมีดวงตาขนาดธรรมดาอีกสามดวงวางอยู่ระหว่างกลาง ดวงตาคู่หน้าจะตรวจจับรูปร่างและสีของวัตถุ ในขณะที่ดวงตาตรงกลางจะตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของสีในบรรยากาศโดยรอบ สมองของผึ้งสามารถแยกความแตกต่างของสีได้อย่างแม่นยำเมื่อแสงเปลี่ยน โดยการรวมข้อมูลการมองเห็นจากดวงตาสองประเภทเข้าด้วยกัน

3. การเต้นรำเป็นวิธีการสื่อสารระหว่างผึ้ง

คุณรู้หรือไม่ว่าผึ้งก็อยู่ในสังคมประชาธิปไตยเช่นกัน! แม้ว่าตำแหน่งราชินีและผึ้งงานมักทำให้ผู้คนเชื่อว่าสังคมผึ้งมีโครงสร้างแบบกษัตริย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วในขณะที่นางพญาผึ้งมีภารกิจในการวางไข่ การตัดสินใจเกี่ยวกับรังนั้นจะทำผ่านการสนทนาระหว่างผึ้งทุกตัว แล้วผึ้งมีบทสนทนากันแบบไหนล่ะ? คำตอบคือด้วยการเต้นรำ! ผึ้งสามารถเต้นรำได้หลากหลาย ทั้งเต้นรำเป็นวงกลม เต้นรำแบบรูปเคียว และเต้นรำแบบโยกเยก การเต้นรำแบบวงกลมจะทำเมื่อเป้าหมายอยู่ห่างจากผึ้งในระยะ 100 เมตร ในขณะที่การเต้นรำแบบโยกเยกจะทำเมื่อเป้าหมายอยู่ไกลออกไปมาก โดยในการเต้นรำแบบโยกเยก จะสามารถส่งข้อมูลระยะทางและตำแหน่งที่เฉพาะเจาะจงโดยการเอียงและมุมของการเต้นรำ ประกอบกับการเคลื่อนไหวของหาง เมื่อเฝ้าดูการเต้นรำนี้ ผึ้งจะรับรู้ได้ว่าผึ้งตัวอื่นพบแหล่งน้ำหวานที่ไหน และที่ใดที่พวกเขาจะสามารถสร้างรังใหม่ได้

รังผึ้งแบบดั้งเดิมของ Dušan Dedinský ผู้เลี้ยงผึ้ง © Richard Lutzbauer / Greenpeace

4. การมอบหมายงานเป็นไปตามอาวุโส

ผึ้งงานมีหน้าที่แตกต่างกันไปตามอายุ เด็กแรกเกิดมีหน้าที่ดูแลเด็ก ในขณะที่เด็กวัย 1 สัปดาห์มีหน้าที่สร้างรังใหม่และแจกจ่ายอาหาร เมื่ออายุมากขึ้น พวกผึ้งจะต้องเริ่มปกป้องบ้านของพวกเขา ผึ้งจะออกไปหาเกสรดอกไม้เมื่ออายุเกิน 3 สัปดาห์ สาเหตุที่ผึ้งงานมีบทบาทที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ เนื่องจากขนาดของสมองและความสามารถในการจดจำ โดยหลังคลอดลูกผึ้งต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการสร้างความจำให้เพียงพอเพื่อจดจำวิธีหาทางกลับบ้าน

5. อายุขัยของผึ้งงาน

อายุขัยของผึ้งงานขึ้นอยู่กับฤดูกาลที่เกิด ผึ้งงานที่เกิดในช่วงที่น้ำผึ้งไหล ซึ่งเป็นเวลาที่มีน้ำหวานจากดอกไม้เพียงพอให้ผึ้งเปลี่ยนน่ำหวานนั้นเป็นน้ำผึ้ง ผึ้งงานเหล่านั้นจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงหนึ่งถึงสองเดือนเท่านั้น เนื่องจากพวกเขาต้องใช้พลังงานจำนวนมากในการทำงานอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็น การสร้างรังผึ้งจากขี้ผึ้ง การดูแลตัวอ่อนที่กำลังเติบโต และการรวบรวมละอองเรณู ในทางกลับกัน ผึ้งงานที่เกิดในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงซึ่งไม่มีงานมากนักสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานถึงหกเดือน

ภาพระยะใกล้ของแมลงภู่บนดอกฟาซีเลีย พืชที่เป็นมิตรกับผึ้งและใช้เป็นปุ๋ยพืชสด © Axel Kirchhof / Greenpeace

6. ผึ้งเป็นมังสวิรัติ

น้ำหวานและเกสรดอกไม้เป็นอาหารหลักของผึ้ง และพืชที่ผึ้งเก็บมาเรียกว่า “พืชน้ำผึ้ง” ซึ่งมีหลายชนิด เช่น อะคาเซีย เรพซีด และคามีเลีย พืชน้ำผึ้งจะแบ่งออกเป็นแหล่งอาหารหลักและแหล่งอาหารสำรอง ขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำหวานหรือละอองเรณูที่ผลิต ผึ้งจะไม่ค่อยหาอาหารจากแหล่งอื่นเนื่องจากสามารถได้รับอาหารและสารอาหารเพียงพอจากพืชน้ำผึ้งเหล่านี้เพียงอย่างเดียว ยกเว้นเฉพาะ “ผึ้งแร้ง” ซึ่งเป็นผึ้งชนิดที่มีความสามารถในการกินเนื้อสัตว์

7. ผึ้งบิน 40,000 เที่ยว ต่อน้ำผึ้ง 1 กิโลกรัม

ปริมาณน้ำหวานที่ผึ้ง 1 ตัวเก็บได้ต่อการเดินทางหาอาหารมีปริมาณราว 30-50 มก. หมายความว่าด้วยน้ำหนักตัวประมาณ 0.1 กรัม ผึ้งสามารถบรรทุกน้ำหวานได้เกือบครึ่งหนึ่งของน้ำหนักตัว! ผึ้งบินออกไปเก็บน้ำหวาน 7-13 ครั้งต่อวัน บางครั้งมากถึง 24 ครั้งต่อวัน ซึ่งหมายความว่าผึ้งงาน 10,000 ตัวต้องเดินทาง 4 เที่ยวเพื่อผลิตน้ำผึ้ง 1 กิโลกรัม

ผึ้งทำควีนคัพเพื่อเลี้ยงราชินีผึ้ง © Fred Dott / Greenpeace

8. นมผึ้ง คือเอกสิทธิ์แห่งนางพญาผึ้ง

ทั้งนางพญาและผึ้งงานเกิดจากตัวอ่อนตัวเดียวกัน จากนั้นตัวอ่อนบางตัวจะกลายเป็นราชินีผึ้ง และตัวอื่น ๆ จะกลายเป็นผึ้งงาน แล้วอะไรสร้างความแตกต่างนี้ล่ะ? คำตอบคือผึ้งนางพญาเติบโตในพื้นที่พิเศษที่เรียกว่าเซลล์นางพญา และพวกมันยังได้กินนมผึ้งเป็นเวลานานกว่าผึ้งงาน ในขณะที่ตัวอ่อนของผึ้งงานได้กินนมผึ้งเพียงสามวันแรกเท่านั้น ในขณะที่ตัวอ่อนนางพญายังคงกินนมผึ้งต่อไปตลอดการพัฒนาของพวกมัน ผึ้งนางพญาที่กินนมผึ้งจะมีชีวิตยืนยาวกว่าผึ้งงานถึง 10 เท่า มีขนาดใหญ่กว่า 3 เท่า และวางไข่ได้ 2 ล้านฟองตลอดชั่วชีวิต

9. ผึ้งในประวัติศาสตร์เกาหลี

ประวัติของผึ้งในเกาหลีมีมาตั้งแต่สมัยสามก๊ก มีบันทึกไว้ในพงศาวดารสามก๊กว่าผึ้งถูกนำมาใช้ในสมัยของกษัตริย์ทงมยองซองแห่งอาณาจักรโคกูรยอ การเลี้ยงผึ้งซึ่งเริ่มต้นในโคกูรยอและแพร่กระจายไปยังอาณาจักรแพกเจและอาณาจักรชิลลาและเกิดก้าวหน้าไปพอสมควร โดยตามบันทึกอาณาจักรแพกเจได้นำเทคนิคการเลี้ยงผึ้งมาสู่ประเทศญี่ปุ่นในภายหลัง ต่อมาในสมัยราชวงศ์โครยอ น้ำผึ้งถูกนำมาใช้ทำขนมอบน้ำผึ้ง และราชวงศ์โชซอนได้บันทึกเทคนิคการเลี้ยงผึ้ง เช่น การปกป้องผึ้งและการเก็บน้ำผึ้ง ผึ้งกลายเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและความโชคดี และมักถูกใช้เป็นลายปักบนของมีค่าและกระเป๋าเงินเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความขยันหมั่นเพียรของผึ้ง

นักกิจกรรมกรีนพีซนำผึ้ง 20 กิโลกรัมที่ตายเนื่องจากได้รับพิษจากการใช้ยาฆ่าแมลงในสเปนมาประท้วงที่หน้าประตูกระทรวงเกษตร ประมง อาหาร และสิ่งแวดล้อม © Pablo Blazquez / Greenpeace

10. ผึ้งคือผู้พิทักษ์ระบบนิเวศ

จำนวนผึ้งผู้พิทักษ์ระบบนิเวศของเรากำลังลดลง โดยเมื่อต้นปี 2565 ประชากรผึ้งเกาหลีทั้งหมดสูญเสียไป 7.8 พันล้านตัวหรือราว 16%  และคาดว่าจะสูญเสียมากขึ้นในปีนี้ โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ปรสิต การลดลงของพืชน้ำผึ้ง และการใช้ยาฆ่าแมลง ดังนั้น จึงต้องเกิดการมีส่วนร่วมและความพยายามของรัฐบาลอย่างเร่งด่วนในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนนี้ เพื่อจัดการประชากรผึ้งอย่างเป็นระบบ โดยจำเป็นต้องจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพิทักษ์ผึ้งขึ้นมา