(LGBTQIA2S+ หมายรวมถึงกลุ่ม เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล กลุ่มคนข้ามเพศ เควียร์ และ/หรือ ผู้ที่ไม่แน่ใจในคำจำกัดความของความเป็นเพศของตนเอง ผู้ที่มีเพศกำกวม (Intersex) ผู้ไม่ฝักใจทางเพศ (Asexual) บุคคลที่แสดงพฤติกรรมตรงข้ามกับเพศสรีระ (Two-Spirit) และ  กลุ่มอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ตามที่ผู้คนเลือกจะนิยามตัวเอง)

กิจกรรมนฤมิตรไพรด์. © Panumas Sanguanwong / Greenpeace
กรีนพีซ ประเทศไทยถือป้ายรณรงค์ความยุติธรรมทางเพศ และความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ ในกิจกรรมนฤมิตรไพรด์ บนถนนสีลมใจกลางกรุงเทพฯ กรีนพีซร่วมยืนหยัดกับทุกความหลากหลาย เนื่องจากการต่อสู้กับการทำลายสิ่งแวดล้อมและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ จะต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการลดการกดขี่และเรียกร้องให้ทุกคนได้เข้าถึงโลกที่ปลอดภัยอย่างเท่าเทียมกัน เราไม่สามารถหยุดการทำลายสิ่งแวดล้อมได้หากไม่สนับสนุนให้ยุติการเหยียดและความรุนแรงทางเพศ
© Panumas Sanguanwong / Greenpeace

เป็นที่แน่นอนแล้วว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศกำลังกระทบต่อชีวิตของผู้คนทั่วโลก แต่สิ่งที่เรามักจะหลงลืมไปนั่นก็คือประชากรทั่วโลกอาจไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเท่ากันโดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQIA2S+ ที่มักได้รับผลกระทบและไม่ได้รับการเยียวยาที่เสมอภาค และจะยิ่งรุนแรงขึ้นหากคนกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชายขอบในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น เป็นประชาชนที่มีรายได้น้อย กลุ่มคนผิวดำ กลุ่มชนพื้นเมือง หรือกลุ่มคนผิวสี เป็นต้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะ กลุ่มคนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำ การเหยียดเพศ และความรุนแรง ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งที่จำกัดการเข้าถึงทรัพยากรในการรับมือกับสิ่งแวดล้อมและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่สูงขึ้ง

และช่วงเวลานี้ก็กลายเป็นสถานการณ์วิกฤตยิ่งกว่าก่อนหน้าที่ผ่านมา เราจะต้องทำความเข้าใจความทับซ้อนกันระหว่างการขับเคลื่อนด้านสภาพภูมิอากาศกับการเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ เพราะเมื่อเราเข้าใจความทับซ้อนที่เกิดขึ้น เราก็จะสามารถเชื่อมโยงการต่อสู้เรียกร้องทั้งสองประเด็นเข้าด้วยกันและร่วมกันขับเคลื่อนอย่างเป็นเอกภาพ

คนในชุมชน LGBTQIA2S+ มักจะอาศัยอยู่เพียงลำพังหรือออกจากครอบครัวมาอาศัยอยู่คนเดียวเพราะปัญหาจากทางครอบครัว หรือความรุนแรงในครอบครัวเช่นการคุกคามโดยการล่วงละเมิดหรือการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับการไร้ที่พักพิง หรือกลายเป็นคนไร้บ้านในอัตราที่สูง นอกจากนี้พวกเขายังมีแนวโน้มย้ายไปอาศัยอยู่ในสถานที่ที่ค่อนข้างโดดเดี่ยวเพื่อลดความเสี่ยงที่จะต้องเจอกับการเหยียดเพศหรือการล่วงละเมิดจากเพื่อนบ้านหรือเจ้าของสถานที่ และสถานที่เหล่านี้ก็มักจะเต็มไปด้วยมลพิษปนเปื้อน ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพในระยะยาว อีกทั้งยังทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติมากขึ้นอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น วิกฤตสภาพภูมิอากาศยังซ้ำเติมความไม่เสมอภาคทางสังคมให้มากขึ้นอีก เช่น ที่อยู่อาศัย ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ กลุ่มชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น กลุ่มคนข้ามเพศและเควียร์มีแนวโน้มที่จะต้องเจอกับผลกระทบของภัยพิบัติจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ 

ชุมชน LGBTQIA2S+ ถูกกันออกจากการช่วยเหลือหลังภัยพิบัติ

ในสหรัฐอเมริกา มีผลวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนในชุมชน LGBTQIA2S+ มีอัตราความเสี่ยงที่จะต้องไร้ที่อยู่อาศัยมากกว่าคนทั่วไปถึง 120% ทั้งนี้ มีเยาวชนในสหรัฐอเมริกาเพียง 9.5% ที่ระบุตัวตนของตัวเองว่าเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ในจำนวนนี้กลับมีเยาวชนถึง 40% ที่เป็นคนไร้บ้าน ขณะที่สถิติที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่าเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมที่สูงอยู่แล้ว แต่สถิตินี้จะสูงขึ้นอีกหากสำรวจในกลุ่มประชากรผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นคนผิวดำ หรือ กลุ่มประชากรที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศและเป็นชนพื้นเมือง (Indigenous People of Colour (BIPOC) )

กลุ่มคนไร้บ้านและกลุ่มคนที่เข้าถึงสาธารณูปโภคหรือโครงสร้างพื้นฐานได้ไม่สมส่วนอย่างกลุ่มคนจากชุมชน LGBTQIA2S+ จะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภับพิบัติธรรมชาติเสมอ ทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้นและมลพิษทางอากาศ นอกจากจะเป็นกลุ่มคนแรก ๆ ที่ต้องเจอกับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศแล้ว พวกเขายังถูกปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือหรือการให้สถานที่พักพิงจากภัยพิบัติอีกด้วย

ยกตัวอย่างในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังเฮอริเคนแคทรนาพัดถล่ม กลุ่มคนข้ามเพศถูกย้ายออกจากสถานพักพิงฉุกเฉิน อีกทั้งยังมีหลายคนที่ต้องเจอกับการล่วงละเมิด หญิงข้ามเพศคนหนึ่งต้องถูกจำคุกเนื่องจากใช้ห้องอาบน้ำผู้หญิง แม้ว่าก่อนหน้านี้จะได้รับอนุญาตจากอาสาสมัครแล้วก็ตาม

Pride Parade in Brussels. © Greenpeace / Marten  van Dijl
ภาพกรีนพีซ เบลเยียมเข้าร่วมงาน Pride Parade 2023 ในกรุงบรัสเซลส์ © Greenpeace / Marten van Dijl

อีกหนึ่งตัวอย่างของความไม่เสมอภาคเกิดขึ้นที่อินเดียในปี 2004 หลังจากสึนามิพัดเข้าชายฝั่งและสร้างความสูญเสียและเสียหาย กลุ่ม อราวานิส (The Aravanis) หรือกลุ่มคนที่ไม่ระบุตนเองว่าเป็นชายหรือหญิง ถูกตัดออกจากความช่วยเหลือด้านสถานที่พักพิงและไม่ถูกนับในจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ การตัดพวกเขาออกจากความช่วยเหลือและบันทึกจำนวนผู้เสียชีวิตนี้ทำให้คนกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงการบรรเทาสาธารณภัย และการฟื้นฟู ยิ่งลดโอกาสที่พวกเขาจะกลับมาใช้ชีวิตได้ดังเดิมภายหลังภัยพิบัติ

ในช่วงภัยพิบัติมักจะเป็นช่วงเวลาที่เกิดการเลือกปฏิบัติมากเป็นพิเศษ และสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นว่ากลุ่มคนในชุมชน LGBTQIA2S+ ถูกเลือกปฏิบัติด้วยความไม่เท่าเทียมอย่างไรบ้างในช่วงที่เกิดภัยพิบัติจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และสิ่งเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศและการเรียกร้องความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ และยังแสดงให้เห็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจำเป็นจะต้องร่วมกันเคลื่อนขบวนการเรียกร้องสิทธิเหล่านี้ นั่นก็เพื่อความถูกต้องและความเป็นธรรมสำหรับทุกคนที่อาศัยบนโลกใบนี้

เราทุกคนต่างเชื่อมโยงกับระบบนิเวศ

แม้ว่า กรีนพีซ จะเป็นองค์กรที่เป็นที่รู้จักจากการปกป้องผืนป่าและการล่าวาฬ แต่ที่จริงแล้วเรากำลังปกป้อง สิทธิของทุกคนที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และธงสีรุ้งของเราก็ดีไซน์ขึ้นด้วยแนวคิดนี้ รวมกับพื้นสีเขียวที่เป็นสัญลักษณ์ของระบบนิเวศ เพราะเราทุกคนเชื่อมโยงกับระบบนิเวศ เราต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและเราต่อสู้เพื่อสิทธิของคนทุกคนไม่ว่าเขาจะเป็นใคร มีอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร


Shanthuru Premkumar เจ้าหน้าที่ทำงานด้านความเท่าเทียมเสมอภาค ความหลากหลาย และความปลอดภัย กรีนพีซ เบลเยียม

Lina Atanasova พนักงานฝึกหัดด้านโซเชียลมีเดีย กรีนพีซ เบลเยียม

บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ