ในปีที่ผ่านมา ฉันได้ไปสำรวจแม่น้ำที่เต็มไปด้วยเศษชิ้นส่วนเสื้อผ้าที่กลายเป็นขยะสิ่งทอ ขุดคุ้ยกองขยะเศษผ้าร่วมกับเพื่อนนักวิจัยในเมืองไนโรบี เคนยา ในระหว่างการสำรวจฉันสังเกตเห็นข้อความติดเสื้อที่ระบุว่า ‘ใช้อย่างมีสติ’ นั่นทำให้ฉันรู้สึกเศร้าเพราะเสื้อผ้าเหล่านี้สามารถเป็นอย่างอื่นได้มากกว่าขยะ สามารถซ่อมแซมและส่งต่อเพื่อใช้ซ้ำได้ เมื่อเราไม่สามารถสวมใส่มันได้แล้วก็ยังเอาไปแยกส่วนและนำไปทำเป็นของชิ้นใหม่ได้

ตอนนี้ ประชาชนในเคนยาและกลุ่มประเทศซีกโลกใต้กำลังเผชิญปัญหาเสื้อผ้าไม่ใช้แล้ว และเสื้อผ้าปริมาณมหาศาลที่ไม่เป็นที่ต้องการในประเทศร่ำรวยทะลักเข้าสู่ประเทศตัวเอง ซึ่งปริมาณของมันมากเกินกว่าความต้องการของตลาดในท้องถิ่น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เสื้อผ้าใช้งานหรือสวมใส่ได้จริงยิ่งน้อยลงเรื่อย ๆ ในขณะที่การนำเข้าเสื้อผ้ามือสองจำเป็นต้องเป็นเสื้อผ้าที่มีคุณภาพพอทำให้ขายต่อได้ แต่ตอนนี้เสื้อผ้าที่ตลาดได้รับนั้นกลับเป็นเสื้อผ้าคุณภาพต่ำและเสียหายเกินกว่าจะขายต่อได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เสื้อผ้าส่วนใหญ่ไร้มูลค่าจนกลายเป็นขยะพลาสติก นำไปสู่หายนะของพื้นที่ เพราะแหล่งน้ำถูกปนเปื้อนด้วยใยไมโครพลาสติก หรือหากเกิดการเผาในบ่อขยะก็จะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ หรือแม้กระทั่งกลายเป็นปัญหาท่อระบายน้ำอุดตันก่อให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก

กรีนพีซสำรวจสถานที่ผลิต ตลาดกระจายสินค้า และบ่อกำจัดขยะ โดยปกติเสื้อผ้าใหม่และเสื้อผ้าผ่านการใช้งานที่ถูกส่งมายังเคนยา มาจากยุโรปและจีน โดยถูกมัดรวมขายเป็นมัดใหญ่ หรือในภาษาถิ่นเรียกว่า ‘ไมทัมบา’ แต่บ่อยครั้งเสื้อผ้าเหล่านี้มักถูกส่งไปที่บ่อขยะและถูกทำลายแทน เนื่องจากมีปริมาณมากเกินไป ภาพนี้เป็นภาพขยะสิ่งทอที่อยู่ใกล้กับตลาดกิคอมบาใน ไนโรบี อาสาสมัครกรีนพีซเคนยา Janet Chemitei อินฟลูเอนเซอร์ด้าน Slow Fashion  และนักรณรงค์ของกรีนพีซเยอรมนี วิโอลา โวลเกมุต กำลังถือป้ายสินค้าเสื้อผ้าบางส่วนที่พบ © Kevin McElvaney / Greenpeace

อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นเชื่อมโยงกับการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่มีวันที่อุตสาหกรรมจะยั่งยืนและเป็นมิตรต่อโลกได้

หายนะของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะย้อนกลับไป 10 ปี ก่อนเกิดเหตุการณ์โรงงานสิ่งทอ Rana Plaza ถล่มในบังคลาเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1,134 คน ถือเป็นเหตุการณ์หายนะของอุตสาหกรรมแฟชั่นยุคใหม่ และพนักงานเหล่านี้ต้องสูญเสียชีวิตเพราะการผลิตเสื้อผ้าส่งให้กับประเทศตะวันตก

โศกนาฎกรรมนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของผลกระทบอันรุนแรงของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น ไม่เพียงแค่ผลกระทบต่อแรงงานในสายการผลิตเท่านั้น แต่หมายถึงทั้งห่วงโซ่ชีวิตของอุตสาหกรรมตั้งแต่การผลิตไปจนถึงจุดสุดท้ายของเสื้อผ้าเหล่านี้ที่เอารัดเอาเปรียบผู้คนที่เกี่ยวข้อง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำไปสู่การปฏิวัติวงการแฟชั่น ซึ่งกลายเป็นเครือข่ายการเคลื่อนไหวด้านแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหลายแห่ง รวมทั้งกรีนพีซด้วย

พนักงานที่ผลิตเสื้อผ้าส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิง (คาดว่าเป็นสัดส่วนถึง 80% ที่ทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ) พวกเธอลุกขึ้นมารวมตัวเรียกร้องและรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายปี โดยเรียกร้องให้มีเงื่อนไขการทำงานที่ดีขึ้น มีสหภาพแรงงานเพื่อสิทธิและสวัสดิการในการใช้ชีวิตอย่างเสมอภาค โดยผู้รอดชีวิตจากโศกนาฎกรรมตึก Rana Plaza ถล่ม ยังตำหนิและเรียกร้องต่อแบรนด์ที่ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมหรือชดเชยหรือปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจเลย

ก่อนหน้านี้เราประสบความสำเร็จจากการรณรงค์ในแคมเปญ  Detox My Fashion ซึ่งเปิดโปงการก่อมลพิษร้ายแรงทางน้ำ และเปิดโปงวิธีการทำงานของพนักงานในอุตสาหกรรมที่ต้องสัมผัสกับสารพิษ ซึ่งเกิดขึ้นในห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั่วโลก กรีนพีซเผชิญหน้ากับแบรนด์สิ่งทอระดับโลกและผู้จัดจำหน่ายเพื่อสื่อสารถึงประเด็นนี้ รวมทั้งแรงสนับสนุนของผู้สนับสนุนกรีนพีซ นักกิจกรรม และเครือข่ายองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากทั่วโลก รวมทั้งการประท้วงที่สุดสร้างสรรค์ของพวกเขา เช่นการล่ารายชื่อและบอกต่องานรณรงค์ ทำให้เสียงของเราที่ต้องการเปิดเผยถึงการใช้สารพิษที่เป็นอันตรายในอุตสาหกรรมสิ่งทอดังขึ้นได้ และเรายังสามารถโน้มน้าวให้แบรนด์เสื้อผ้า 29 แบรนด์ลงนามในเอกสารคำมั่นสัญญา ‘Detox commitment’ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการยุติการปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษลงสู่แหล่งน้ำ รวมทั้งยุติการใช้สารเคมีที่เป็นพิษในบริษัทที่เป็นซัพพลายของแบรนด์ด้วย

ภาพเครื่องย้อมสี 5 เครื่องในโรงงานย้อมผ้าที่ต้องใช้สีย้อมผ้าราว 250 กิโลกรัมพร้อมกับสารอื่น ๆ โดยโรงงานนี้มีการใช้สารเคมีย้อมผ้าทุก ๆ วัน วันละประมาณ 2,500 กิโลกรัม โรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรม Binhai © Lu Guang / Greenpeace

จากการรณรงค์อย่างต่อเนื่องของเราทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นเปลี่ยนแปลงหลังจากแคมเปญ Detox อย่างไรก็ตาม เราก็รับรู้ได้แทบจะทันทีว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ยังไม่พอ เพราะขณะนั้นเรากำลังรณรงค์เรื่องยุติการใช้สารพิษในอุตสาหกรรมแฟชั่น แต่เรายังไปไม่ถึง ‘ฟาสต์แฟชั่น’ ซึ่งกำลังทำให้เกิดการผลิตเสื้อผ้าในปริมาณมหาศาล มีราคาถูกเพื่อให้ผู้บริโภคซื้อได้ในปริมาณที่มากที่สุดและในที่สุดก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมการใช้แล้วทิ้ง ด้วยปัญหานี้เราจึงเริ่มรณรงค์เจาะจงไปที่การเปลี่ยนแปลงโมเดลทางธุรกิจจากการผลิตเสื้อผ้าให้มากที่สุด ไปเป็นโมเดลที่คิดถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นจนจบ และจะต้องชะลอการผลิต การใช้ทรัพยากร จนสามารถชะลอห่วงโซ่ทั้งหมดได้

ขณะนั้น ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ ก็กลายเป็นคำที่คุ้นตาพวกเราแล้ว  เมื่อสหภาพยุโรปเห็นด้วยกับไอเดียในการใช้ทรัพยากรเหลือใช้ นั่นทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นฉกฉวยโอกาสนี้เพื่อเพิ่มความนิยมให้กับแบรนด์ โดยเลือกเอาแนวทางที่มีกระแสการต่อต้านน้อยที่สุด และคิดการตลาดที่สวยหรูขึ้นมา ด้วยการพูดถึงการใช้เทคโนโลยีรีไซเคิล (ที่ทำไม่ได้จริง) สำหรับเสื้อผ้าใยโพลีเอสเตอร์ ใยพลาสติกที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะเดียวกันก็ส่งขยะเสื้อผ้าปริมาณมหาศาลจากกลุ่มประเทศร่ำรวยไปยังกลุ่มประเทศซีกโลกใต้อันเป็นประเทศยากจนกว่า โดยอ้างว่าเป็นการบริจาคเสื้อผ้าให้การกุศล

สิ่งที่เกิดขึ้นกับการชะลอห่วงโซ่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นกลายเป็นการตลาดที่ทำให้ดูเหมือนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนการปลูกฝ้ายในสิ่งแวดล้อมที่ต่างออกไปและมีการพัฒนาสังคมเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ฝ้ายเหล่านี้กลายเป็น ‘ฝ้ายที่ปลูกอย่างยั่งยืน’ การรีไซเคิลขวดพลาสติก (จากอุตสาหกรรมอาหาร) กลายเป็น ‘การแสดงความรับผิดชอบ’ ด้วยการนำขยะมาทำให้มีคุณค่า ซึ่งวิธีการนำขวดพลาสติกมาทำเป็นเส้นใยเสื้อผ้านี้ยิ่งก่อให้เกิดไมโครไฟเบอร์ปนเปื้อนลงสู่มหาสมุทรเร็วกว่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้น ยังสร้างความซับซ้อนด้วยการสร้างการซื้อขายฝ้ายอย่างเป็นธรรม และการรีไซเคิลผ้าไปเป็นสิ่งทอประเภทอื่น ๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมยังเติบโตต่อไปได้

หากถามว่าสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นอยู่กับทรัพยากรด้านการเงินหรือไม่? หรือ อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นยังขาดศักยภาพ ขาดวิศวกรชำนาญการ และขาดทีมงานที่ต้องทำงานด้านความยั่งยืนหรือไม่? คำตอบคือ ไม่เลย  เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้รับผลกำไรมหาศาล ขณะที่เรารณรงค์แคมเปญของเรา เราได้พบกับคนมากมายที่ทำงานให้อุตสาหกรรมแฟชั่นหรือองคก์กรอื่น ๆ ซึ่งพวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงให้โลกดีขึ้นเช่นเดียวกับเรา แต่เม็ดเงินกลับถูกจัดสรรไปกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อม และเงินส่วนที่เหลือจะถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อทำการตลาด ‘ฟอกเขียว’ แบรนด์ของตัวเอง

บ่อขยะสิ่งทอในทะเลทราย Atacama ประเทศชิลี โดยเสื้อผ้าเก่าที่ถูกทิ้งในบ่อขยะนี้ถูกนำเข้าจากยุโรป เอเชีย และ สหรัฐอเมริกา โดยชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับเมือง Alto Hospicio, Iquique จะเก็บรวบรวมเสื้อผ้าเก่าเหล่านี้จากกองภูเขาขยะเพื่อนำไปขายเป็นเสื้อผ้ามือสองในตลาดท้องถิ่น แต่ขยะสิ่งทอที่เหลือจะถูกทิ้งและถูกกำจัดด้วยการเผาทิ้ง © Mauricio Bustamante / Greenpeace

10 ปีให้หลังโศกนาฏกรรม Rana Plaza อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นยังคงแสวงหาผลประโยชน์ ยังฟอกเขียวตัวเองและยังมุ่งหน้าทำลายสิ่งแวดล้อมต่อไป

แล้วตอนนี้เราอยู่ในจุดไหน? หลังจากการโปรโมททางการตลาดอันหนักหน่วงแต่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่เพียงน้อยนิด มีกิจกรรมส่งเสริมเล็ก​ ๆ หรือการออกคอลเลคชั่นเพียงเล็กน้อย หรือไม่ก็การจ้างดีไซน์เนอร์ชื่อดังเข้ามาร่วมงานในบางคอลเลคชั่น สิ่งเหล่านี้เป็นการตลาดที่เซ็กซี่กว่าการพูดถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมีที่เป็นพิษ ขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้และประเด็นมลพิษไมโครพลาสติกปริมาณมหาศาล หรือสวัสดิการในการทำงานของพนักงานในห่วงโซ่อุตสาหกรรมและพนักงานเก็บขยะ แต่ท้ายที่สุดแล้วเป้าหมายการขายสิ่งทอที่อุตสาหกรรมต้องการยังคงอยู่ที่ 206,000 ล้านชิ้น ภายในปี 2030

นอกจากนี้แบรนด์เสื้อผ้ายังฉกฉวยสถานการณ์การรณรงค์เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมไปเป็นโปรโมชั่นเพื่อขายผลิตภัณฑ์รักษ์โลกให้กับผู้บริโภคที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ซ่อนการทำลายสิ่งแวดล้อมในระบบอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น เราจึงตัดสินใจสืบสวนสอบสวนและประเมินการตลาดของแบรนด์เหล่านี้ เพื่อเปิดเผยให้เห็นว่าคำที่ใช้โฆษณาด้านความยั่งยืนในแบรนด์เช่น ‘ยั่งยืน’ (sustainable), ‘รักษ์โลก’(Green) , ‘เป็นธรรม’(Fair) เป็นคำที่พิสูจน์หรือยืนยันว่าห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมแฟชั่นพัฒนาการผลิตของตัวเองแล้วหรือไม่ โดยรายงานของเราที่ได้รับการเผยแพร่ ระบุว่า แบรนด์เสื้อผ้าส่วนใหญ่ยังไม่เข้าข่ายเป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือในด้านการยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรมให้ดีขึ้น แต่กำลังอยู่ในขอบข่าย ‘การฟอกเขียว’

นางแบบชาวอินโดนีเซียสวมใส่ชุด eco fashion ซึ่งดีไซน์โดยดีไซเนอร์ชาวอินโดนีเซีย Felicia Budi, Indita Karina และ Lenny Agustin ในกิจกรรม ‘Detox Catwalk’ ซึ่งจัดขึ้นโดยกรีนพีซ ในนาข้าวที่ถูกสารพิษปนเปื้อนสารพิษใน Rancaekek จังหวัด West Java เพื่อนำเสนอผลกระทบจากการปนเปื้อนของสารพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ รวมทั้งนำเสนอไอเดียที่ว่า ‘แฟชั่นอันงดงามไม่ควรเป็นภาระให้โลก’ © Greenpeace / Hati Kecil Visuals

อย่างไรก็ตาม เรายังพบเพชรเม็ดงามจากการสืบสวนสอบสวนในครั้งนี้ รวมทั้งสัญญาณของทิศทางที่ดีขึ้นเพราะยังมีแบรนด์ที่น่าเชื่อถือจาก Vaude, Coop และผู้จัดจำหน่ายจากเยอรมนีอย่าง Tchibo ที่เข้าใกล้กับการทำให้แฟชั่นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริง ๆ โดยแบรนด์เหล่านี้สามารถยกระดับมาตรฐานห่วงโซ่ของแบรนด์ได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น ๆ ในปัจจุบัน รวมทั้งยังเสนอทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ต้องการจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา นั่นคือ สามารถเลือกเสื้อผ้าที่มีคุณภาพผ้าที่ดีกว่าเดิม หรือการเช่าชุด และการซื้อเสื้อผ้ามือสองและสามารถซ่อมแซมได้ นอกจากนี้เรายังพบจุดที่ช่วยในการขับเคลื่อนเกี่ยวกับการตรวจสอบย้อนกลับผ่านฉลากผลิตภัณฑ์และข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของร้านค้าที่มีให้กับผู้บริโภคซึ่งแสดงให้เห็นว่าเสื้อผ้าแบรนด์ดังกล่าวถูกผลิตขึ้นที่ไหน และใช้ตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าใช้ฝ้ายจากแหล่งปลูกที่ไหน เป็นต้น

สัญญาณเหล่านี้ไม่ได้มีแค่จากแบรนด์ใหญ่อย่าง H&M ซึ่งเป็นแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นระดับโลก ก็เริ่มทำให้แบรนด์สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ Calzedonia จากอิตาลี ที่เพิ่งเข้ามาในรายชื่อแบรนด์ที่กรีนพีซตรวจสอบ ในขณะที่มีหลายสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ระบบการตรวจสอบย้อนกลับน่าเชื่อถือมากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เราคาดหวังว่าข้อมูลเรื่องน้ำปนเปื้อนสารพิษจากซัพพลายเออร์หลายพันแห่งที่เราได้มาจากการรณรงค์ในแคมเปญ Detox รวมทั้งแบรนด์ที่ให้คำมั่นสัญญาไว้จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับการตรวจสอบย้อนกลับในแบรนด์ตัวเองให้โปร่งใสมากขึ้น เช่นเดียวกับยกระดับมาตรฐานตามที่กรีนพีซได้ออกแบบมาตรฐานการจัดซื้อสิ่งทอ

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น เพราะก็ไม่ง่ายเลยที่หลายบริษัทจะเปลี่ยนผ่านจากโมเดลธุรกิจเดิมอย่างทันทีทันใด แต่สิ่งที่แน่นอนในตอนนี้ก็คืออุตสาหกรรมแฟชั่นจะต้องยุติ ‘การฟอกเขียว’ และกลับไปเน้นหนักในด้านการเปิดเผยข้อเท็จจริง ความโปร่งใส และความรับผิดชอบของแบรนด์ ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในการติดตามแก้ปัญหาวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมแฟชั่นได้อย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นส่วนเล็กๆของการชดใช้หนี้ที่อุตสาหกรรมเคยก่อไว้กับผู้เสียชีวิตและผู้รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรม Rana Plaza

ผู้รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรม Rana Plaza รวมทั้งญาติผู้เสียชีวิต รวมถึงผู้ประสบเหตุจนทำให้พิการจากเหตุการณ์ตึกพังถล่ม จัดกิจกรรมไว้อาลัยต่อการสูญเสียและรำลึกถึงเหตุการณ์เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยและการดำเนินการตามกฎหมายระหว่างการประท้วงเรียกร้องในเมือง Dhaka อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาครบรอบ 10 ปีของเหตุการณ์โศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก


วิโอลา  โวลเกมุธ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านเศรษฐกิจยั่งยืนและสารพิษ กรีนพีซ เยอรมนี

บทความนี้แปลจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ