กลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งมีกำลังจ่ายมหาศาล มากพอที่จะซื้อปัจจัยพื้นฐานให้กลุ่มคนเปราะบางอีกกว่า 230 ล้านคนทั่วโลก อีกทั้งยังมีเงินเหลือในกระเป๋าตัวเองในปริมาณที่สูงเทียบเท่ากับ GDP ของประเทศแกมเบียอีกด้วย

ความเข้าใจที่ว่าในศตวรรษที่ 21 นี้ตกอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนใหญ่และกลุ่มเศรษฐีที่ร่ำรวยเพียงไม่กี่คนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และกลุ่มทุนใหญ่เหล่านี้แอบแสวงหาผลประโยชน์และผลกำไรในช่วงวิกฤตการณ์ของโลกตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 และสถานการณ์สงครามรัสเซีย – ยูเครน รายงานฉบับใหม่โดยกรีนพีซ สากล อาจทำให้ใครหลายคนต้องหงุดหงิด เพราะได้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจด้านเกษตรกรรมกว่า 20 แห่ง (กลุ่มบริษัทชั้นนำที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับธัญพืช ปุ๋ย เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม) แสวงหาผลประโยชน์และส่งผ่านผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นมหาศาล ในขณะที่ประชาชนหลายล้านคนกำลังเผชิญกับความยากจนและความอดอยาก

ภาพไร่ธัญพืชขนาดเล็กที่พร้อมเก็บเกี่ยวในรัฐนีเดอร์ซัคเซ่น เยอรมนี © Lucas Wahl / Greenpeace

รายงานฉบับนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘Food Injustice 2020-22: Unchecked, Unregulated and Unaccountable‘ ซึ่งระบุถึงความล้มเหลวของระบบอาหารจากการออกแบบนโยบายของภาครัฐต่าง ๆ  ที่อนุญาตให้กลุ่มบริษัทข้ามชาติเข้ามาแสวงหาผลกำไรมหาศาล เพิ่มความมั่งคั่งให้กับตนเองและถ่ายโอนผลกำไรสู่กลุ่มผู้ถือหุ้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว รายงานระบุถึงบริษัท 20 แห่งที่มีการปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นในปีงบประมาณ 2020 และ 2021 ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงเกือบ 53.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ! ซึ่งเป็นจำนวนเงินใกล้เคียงกับตัวเลขในการประชุมเมื่อธันวาคม 2022 ที่องค์การสหประชาชาติ (the United Nations) ประเมินว่างบประมาณที่จะช่วยเหลือชีวิตประชาชนผู้เป็นกลุ่มเปราะบางกว่า 230 ล้านคนทั่วโลกในปี 2023 จะต้องใช้เงินประมาณ 51.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

แต่กลุ่มบริษัทใหญ่เหล่านี้คว้าผลกำไรปริมาณมหาศาลท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดและภัยสงครามได้อย่างไร คำตอบก็คือกลุ่มบริษัทเหล่านี้เป็นเจ้าของตลาดที่แท้จริง พวกเขามีอำนาจและสามารถควบคุมส่วนแบ่งตลาดได้เบ็ดเสร็จ ไม่เพียงแค่ควบคุมห่วงโซ่การผลิตอาหารได้ด้วยตัวเอง แต่ยังสามารถควบคุมข้อมูลในห่วงโซ่การผลิตอาหารได้อีกด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทและกลุ่มผู้ถือหุ้นในบริษัทยิ่งมั่งคั่งมากขึ้น ในทางกลับกันระบบแบบนี้ส่งผลเสียต่อประชาชนทั่วไปแบบเรานั่นเอง การจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบหุ้นปันผลและการซื้อหุ้นคืน ทำให้กลุ่มบริษัทมีเงินจำนวนมหาศาลให้กับผู้ถือหุ้น ขณะเดียวกันก็เพิ่มฐานอำนาจของกลุ่มตัวเองให้เหนือกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นและภาครัฐ

ขอยกตัวอย่างกลุ่มอุตสาหกรรมธัญพืชโดยอ้างอิงจากรายงานของ IPEs จะมีบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมอยู่ 4 บริษัทด้วยกัน ประกอบไปด้วยบริษัท Archer-Daniels Midland, Bunge, Cargill และ Dreyfus (หลายคนมักเรียกชื่อเล่นของกลุ่มบริษัทนี้ว่า ABCD) ซึ่ง “เป็นกลุ่มที่ควบคุมส่วนแบ่งทางการตลาดของตลาดธัญพืชทั่วโลกถึง 70-90% โดยที่ไม่ต้องมีพันธะที่ต้องเปิดเผยว่าพวกเขารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับตลาดโลกหรือแม้กระทั่งการเปิดเผยสต๊อกธัญพืชของตัวเอง” เมื่อขาดความโปร่งใสเช่นนี้ก็หมายถึงพวกเขากำลังถือครองข้อมูลที่สามารถกำหนดกรอบราคาธัญพืชให้เป็นไปตามความต้องการของตัวเองได้ (แม้กระทั่งกองทุน Hedge Funds ก็ไม่สามารถหาข้อมูลจากแหล่งอื่นมาได้นอกเหนือจากต้องขอข้อมูลจากกลุ่มบริษัทเหล่านี้) รายงานของเราพบว่าจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ทำให้ตัวเลขที่แท้จริงของปริมาณธัญพืชในสต๊อกคลุมเครือ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะฟองสบู่เพื่อเก็งกำไร

ภาพเกลือกองสูงราวกับพีระมิดในเกาะแคริบเบียน โบแนเรอ © Marten van Dijl / Greenpeace 

แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณการแก้ปัญหาจากภาครัฐทั่วโลกหรือผู้กำหนดนโยบายก็ตาม แต่หากเราต้องการการเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกที่ปราศจากประชาชนที่อดอยาก (อย่างไรก็ตามสถานการณ์การขาดแคลนอาหารเริ่มต้นขึ้นแล้ว) สิ่งที่เราจะเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่จะส่งผลกระทบต่อระบบอาหารโลกตอนนี้ได้มากที่สุดก็คือการเรียกร้องอธิปไตยทางอาหาร หรือการเรียกร้องเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงอาหารได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม

หลายปีที่ผ่านมา กลุ่มขับเคลื่อนที่ต่อสู้เพื่ออธิปไตยทางอาหาร พยายามกระจายอำนาจคืนสู่ผู้ผลิตอาหารรายย่อย ทั้งพยายามเปลี่ยนแปลงให้ห่วงโซ่การผลิตอาหารมีวงจรที่สั้นลงและทำให้ห่วงโซ่นี้แข็งแกร่งมากขึ้น แก้ไขความเสียหายที่เกิดจากการทำเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรมที่ไม่ยั่งยืน เพื่อปกป้องชุมชน สิ่งแวดล้อม และสิทธิ์ในการเข้าถึงอาหารของพวกเราทุกคน ความคิดแบบนี้ไม่ได้เป็นแค่แนวคิดแบบโลกสวย แต่การขับเคลื่อนที่มีเป้าประสงค์คืนสิทธิในการเข้าถึงอาหารให้ทุกคนแบบนี้กำลังเกิดขึ้นราวกับดอกไม้ผลิไปทั่วทุกแห่ง ตั้งแต่ปาปัวนิวกินีไปจนถึงบราซิล เม็กซิโก และในอีกหลายประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้มาตรการที่ควรจะออกโดยภาครัฐ เช่น รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (universal basic income) อาจช่วยในการต่อกรกับความยากจนและช่วยกระจายความมั่งคั่ง เช่น ความพยายามเก็บภาษีจากบริษัทที่ทำรายได้มหาศาลในช่วงสถานการณ์วิกฤตที่ผ่านมา และการเก็บภาษีลาภลอยจากภาคส่วนต่าง ๆ  และการเก็บภาษีจากการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นที่ร่ำรวย เป็นตัวอย่างจากหลาย ๆ วิธีที่เป็นก้าวแรกที่ภาครัฐจะต้องแก้ปัญหาวิกฤตอาหารที่เกิดขึ้น

ดังเช่นประเด็นหลักในการประชุมของสหประชาชาติล่าสุดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ประเด็นเรื่องอาหารกลายเป็นประเด็นสำคัญที่เชื่อมโยงทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะการกระจายอำนาจจากกลุ่มบริษัทอาหารรายใหญ่คืนสู่เกษตรกรผู้ทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศรายย่อยถือเป็นการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและเป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเรายังต้องจับตาเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น 

เมื่อเรามองเรื่องระบบอาหารในระดับมหภาค จะเห็นได้ว่าภาครัฐจะได้รับประโยชน์จากการควบคุมระบบการขนส่ง การผลิตอาหาร และสามารถร่วมกันตัดสินใจกับรัฐระหว่างประเทศได้รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งยังมีประโยชน์ต่อประชาชนอีกด้วย

อาหารคือปัจจัยพื้นฐานที่มนุษย์ต้องการเพื่อดำรงชีวิตและอาหารควรจะมีพร้อมสำหรับประชาชนทุกคน ไม่ใช่สินค้าเพื่อให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช้แสวงหาผลประโยชน์


เดวี มาตินส์ นักรณรงค์เชิงกลยุทธ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ กรีนพีซ สากล

บทความนี้แปลจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ