การกุมรัฐและการยึดกุมกลไกกำกับดูแล

ธนาคารโลกเป็นผู้เริ่มใช้คำว่า กุมรัฐ (state capture) ในช่วงปี 2000 การกุมรัฐเป็นการคอร์รัปชันทางการเมืองอย่างเป็นระบบโดยการที่กลุ่มผลประโยชน์เข้าไปมีอิทธิพลหรืออาจถึงขั้นกำหนดการตัดสินใจของรัฐเพื่อผลประโยชน์ต่อตนเอง ในการเมืองไทยบางทีเราเรียกกันว่า “คอร์รัปชันเชิงนโยบาย” ที่เอกชนเข้าไปกำหนดจังหวะหรือโอกาสสร้างความร่ำรวยมหาศาลนั่นเอง เช่น การออกกฎระเบียบให้ตนทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น ตัดคู่แข่ง ผูกขาดทางการค้า หรือให้รัฐทำโปรเจกต์ที่กลุ่มผลประโยชน์นั้นพร้อมขาย เป็นต้น 

หลายคนมองว่าการกุมรัฐเป็นการคอร์รัปชันในระดับที่อันตรายที่สุด ส่วนการการยึดกุมกลไกกำกับดูแล (regulatory capture) หมายถึงกระบวนการที่กฎระเบียบ ทั้งตัวกฎหมายเองหรือการบังคับใช้จริง ถูกชี้นำซ้ำๆ ให้เบนออกจากประโยชน์สาธารณะไปเข้าทางผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมใต้การกำกับดูแล ด้วยเจตนาและการกระทำของอุตสาหกรรมนั้นเอง การกุมรัฐหรือการยึดกุมกลไกกำกับดูแลมีลักษณะเดียวกัน แค่อาจต่างกันที่ระดับของขนาดและวงการเฉพาะที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลนั้น

ภาวะกุมรัฐซ่อนอยู่ในบิลค่าไฟฟ้าไทยอย่างไร

จุดสำคัญที่อาจชี้ว่าเกิดการยึดกุมกลไกกำกับดูแลแล้ว คือ เกิดการย้ายนโยบายออกจากประโยชน์สาธารณะ ไปยังกลุ่มผลประโยชน์ โดยการกระทำและเจตนาของกลุ่มผลประโยชน์นั้น 

หากเราพิจารณาบิลค่าไฟ เราจะพบว่าโครงสร้างต้นทุนค่าไฟฟ้าคิดคำนวณมาจาก 4 ส่วนหลัก คือ ค่าระบบไฟ(ค่าไฟฟ้าฐาน) + ค่าหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ + ภาษีมูลค่าเพิ่ม + ค่า Ft ที่มาจากค่าเชื้อเพลิง ค่าความพร้อมจ่าย และค่าใช้จ่ายอื่นที่อยู่นอกเหนือความควบคุม 

สิ่งที่น่าสนใจอยู่ในค่า Ft คือทั้งค่าความพร้อมจ่ายและค่าเชื้อเพลิงที่เป็นต้นทุนอันดับหนึ่ง สำหรับด้านค่าเชื้อเพลิงนโยบายประเทศไทยกำหนดให้นำเข้าLNG มาใช้ผลิตไฟฟ้า ทั้งที่มันแพงมาก แต่ก๊าซในอ่าวไทยที่เราผลิตเองได้กลับขายราคาถูกกว่าให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี แล้วพอนำเข้า LNG มาแพงก็มาเก็บเงินเพิ่มกับประชาชนผ่านค่า Ft

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนมากมายชนิดที่ทุกคนที่เดินตากแดดในประเทศนี้รับรู้ได้ แต่พอจะผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เอง กลับมีอุปสรรคขัดขวางมากมาย เช่น ต้องมีทั้งวิศวกรไฟฟ้า วิศวกรโยธา ระบบป้องกันไฟฟ้าย้อนกลับ ติดตั้งมิเตอร์ 2 ตัว ฯลฯ มีกระบวนการขอใบอนุญาตยาวนาน เรียกร้องผู้รับรองแบบค่อนข้างเยอะ ในแคลิฟอร์เนียนั้นกำหนดว่าการไฟฟ้าต้องอนุญาตให้มีการติดโซลาร์รูฟท็อปผ่านแอ็พพลิเคชั่นภายใน 3 วันเท่านั้น

ในด้านค่าความพร้อมจ่ายที่นับเป็นต้นทุนสูงสุดอันดับสอง เราจะพบว่าประเทศไทยมีการสร้างโรงไฟฟ้าและสำรองไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น จากปกติต้องสำรองไฟเพียงไม่เกินร้อยละ 15 ของการใช้ไฟฟ้าสูงสุด แต่ตอนนี้ทะลุขีดเกินร้อยละ 50 ไปแล้ว  และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศที่ควรจะปรับปรุงใหม่ ก็ไม่ออกมาอีกเลยตั้งแต่ปี 2561 ในระหว่างนี้ก็มีการเร่งสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลใหม่เข้าระบบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แถมรัฐยังทำสัญญารับประกันกำไรให้ผู้สร้างโรงไฟฟ้าแบบที่ไม่ใช้ก็ต้องจ่ายเงิน (take or pay) ตามอายุสัญญาราว25-30ปี ที่ผ่านมาแม้มีหลายโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องเพราะผลิตไปก็ล้นเกินความจำเป็นในระบบแต่ก็ยังได้เงินจากสัญญาค่าความพร้อมจ่าย 

แม้ไทยจะมีสถานการณ์ไฟฟ้าสำรองล้นเกินแต่รัฐก็ยังเดินหน้าอนุมัติการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนลุ่มน้ำโขงในลาวต่อไป สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณว่าเรากำลังตกอยู่ในภาวะกุมรัฐใช่หรือไม่ ?

แล้วประโยชน์สาธารณะคืออะไร?

ผลการตัดสินใจข้างต้นทั้งหมดจะไปรวมอยู่ที่ไหนไม่ได้นอกจากในค่า Ft ของเรานั่นเอง ซึ่งมีผลทำให้ ประชาชนเจอค่าไฟแพงขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อจะผลิตไฟฟ้าเองจากพลังงานหมุนเวียนก็เจออุปสรรคมากมาย รัฐบังคับให้ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่มีทางเลือก ต้องจ่ายค่าไฟแพงๆ จากพลังงานฟอสซิลที่สร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อไป 

แม้แต่ภาคอุตสาหกรรมยังมองว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปคงไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ในยุคหน้า จนสภาอุตสาหกรรมคิดแผนเสนอพลังงานชาติเอง แต่ยังไม่เห็นการขยับอะไรที่ชัดเจนจากภาครัฐ แผนพลังงานชาติยังคงไม่ออกมา ในขณะที่เจ้าของบริษัทพลังงานฟอสซิลที่เกี่ยวข้องได้ขึ้นแท่นเป็นเศรษฐีที่รวยที่สุดในไทยไปอีกคนหนึ่งแล้ว

“ประเทศที่ค่าไฟไม่แฟร์และบรรษัทพลังงานรวยทั้งที่ค่าไฟเป็นสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานที่ไม่มีความแตกต่างในหมู่สินค้าด้วยกัน  ไม่ใช่สินค้าที่มีการเพิ่มมูลค่าที่แตกต่างเพื่อแข่งขันแบบประเทศไทยเป็นเรื่องผิดปกติ มีกี่ประเทศที่เป็นแบบเรา?” หลายคนตั้งคำถามนี้ไว้ในเวทีสาธารณะ ทางออกอยู่ตรงไหน? ค่าไฟไทยในยุคของแพง ค่าแรงถูก วันที่ 20 ม.ค. 2566 

ทางออกคืออะไร? จะแก้อาการค่าไฟแพงและไม่เป็นธรรมได้ยังไง? เราทำอะไรได้บ้าง?

ฤดูร้อนปีนี้ค่า  Ft หรือค่าไฟฟ้าผันแปรในประเทศไทยได้พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี จึงเกิดเป็นข้อสงสัยที่ว่า รัฐและกลไกกำกับดูแลยังเป็นอิสระและทำเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนอยู่รึเปล่า? หรือได้ถูกใครยึดกุมไปแล้ว?

ในเวทีสาธารณะ ทางออกอยู่ตรงไหน? ค่าไฟไทยในยุคของแพง ค่าแรงถูก รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอทางออกว่า รัฐควรจะหยุดอนุมัติโครงการก่อสร้าง/ซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลใหม่ทุกกรณี, ชะลอการก่อสร้าง/การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ลงนามไปแล้ว, เจรจาเอกชนลดค่าความพร้อมจ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าที่ไม่เดินเครื่องเลยมาเป็นเวลานาน, รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่ำกว่า LNG อย่างเต็มที่, และเปิดเสรีและสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแบบหักลบกลบหน่วย net-metering ในระดับครัวเรือนและ SME 

Mae Moh Coal Mine in Thailand. © Luke Duggleby / Greenpeace
The Mae Moh coal mine in the mountain of Lampang province is owned and operated by Electricity Generating Authority of Thailand (EGAT) in Mae Moh district, Lampang province, North of Thailand. The mine supplies 40,000 tonnes of lignite a day to the Mae Moh coal power plant. © Luke Duggleby / Greenpeace

ในเวทีสาธารณะเดียวกัน สฤณีเล่าต่อว่าภาครัฐมักอ้างว่าสัญญาไฟฟ้าเซ็นไปแล้วแก้ไม่ได้ แต่จริงๆ สัญญาคือการตกลงของสองฝ่ายที่เจรจาได้เสมอ และเคยเกิดกรณีเจรจาสัญญาใหม่ระหว่างรัฐ-เอกชนใหม่หลายกรณี เช่น กรณีการแก้สัญญาและการเยียวยาผู้ให้ขายสินค้าปลอดภาษีในสนามบินช่วงโควิดหรืออื่นๆ ข้ออ้างดังกล่าวจึงเป็น “คำตอบมักง่าย” 

ในฐานะประชาชนคนธรรมดา สิ่งที่เราอาจทำได้สำหรับเรื่องนี้คือ

  1. ติดโซลาร์เซลล์ที่บ้าน  เทคโนโลยีปัจจุบันมีความพร้อมขึ้นมาก มีราคาที่คุ้มทุนในระยะเวลาประมาณ 5 ปี และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าต่อเนื่องด้วยการดูแลน้อยมากไปได้ถึง 20-25 ปีตามอายุการใช้งานโซลาร์เซลล์ พร้อมลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ลดการพึ่งพาและสนับสนุนระบบไฟฟ้าผูกขาดที่เป็นอยู่ด้วย ด้วยรูปแบบเงื่อนไขการใช้ไฟฟ้าแต่ละบ้าน อาจจะมีบางบ้านที่คุ้มทุนช้ากว่านี้เพราะไม่ได้ใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวันและตามกฎระเบียบปัจจุบันไฟฟ้าส่วนนี้จะต้องถูกทิ้งไป (curtail) แต่ก็เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้และเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่เราสามารถเริ่มด้วยตัวเองได้จริงๆ
ภาพกิจกรรม Workshop การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ของอาสาสมัคร Solar Generation ของกรีนพีซ
  1. เรียกร้อง ร่วมลงชื่อ จับตาดู ให้รัฐหยุดมัดมือชก และเปิดเสรีพลังงาน หยุดสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลและทำสัญญารับประกันผลกำไรของนายทุนด้วยค่าไฟฟ้าของประชาชน และหยุดสกัดกั้นโซลาร์เซลล์ด้วยการนำระบบหักลบกลบหน่วย (net-metering) ที่เปิดให้อาคารที่ผลิตไฟฟ้าสามารถฝากไฟฟ้าที่โซลาร์ผลิตได้ในเวลากลางวันไว้ในระบบ เพื่อนำมาใช้ในเวลาอื่นได้ ซึ่งจะปลดล็อคทำให้บ้านที่เดิมติดโซลาร์ไม่คุ้มค่าสามารถติดโซลาร์ผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองได้ และกลายเป็นทางเลือกของทุกคนแทนที่จะใช้ต้องพลังงานรวมศูนย์อย่างไม่มีทางเลือกในปัจจุบัน

ร่วมเรียกร้องมาตรการ Net-metering เพื่อปลดแอกจากการจ่ายค่าไฟไม่เป็นธรรมให้กลุ่มทุนพลังงานฟอสซิลและองคาพยบทั้งหมด