เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง “กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป” เพื่อยกระดับความอันตรายและการควบคุมฝุ่น PM2.5 ให้มีความเข้มงวดขึ้นตามค่าแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยค่ามาตรฐานในบรรยากาศเฉลี่ยรายปีที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรนั้นมีการบังคับใช้ตั้งแต่ 9 กรกฎาคม 2565 ในขณะที่ค่ามาตรฐานเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรได้เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา

หลายคนคงมีคำถามว่าการยกระดับค่ามาตรฐานนี้จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ได้อย่างไร 

การปรับค่ามาตรฐานฝุ่นพิษ PM2.5 ในบรรยากาศนั้น เป็นเพียงการปรับเป้าหมายให้มีความท้าทายมากยิ่งขึ้นแต่ไม่ได้มีบทลงโทษทางกฎหมายใดๆ อย่างไรก็ตาม การขยับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ให้เข้มงวดขึ้นครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นเป้าหมายที่จะยกระดับนโยบายและแผนการดำเนินงานของภาครัฐให้ต้องเข้มข้นมากขึ้นเพื่อกำหนดให้ปริมาณการปล่อยฝุ่นพิษ PM2.5 ต้องต่ำกว่าค่ามาตรฐานตัวใหม่นี้ นอกจากนี้ยังเป็นการยกระดับการเตือนภัยด้านสุขภาพของประชาชนให้เป็นไปตามหลักวิชาการ ดังจะเห็นได้จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของกรมควบคุมพิษ เรื่อง ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย (Air Quality Index) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566

อ่านเพิ่มเติม ความเห็นของกรีนพีซ ประเทศไทย กรณี(ร่าง)ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยฉบับใหม่

แผนฝุ่นแห่งชาติ ความคืบหน้าที่ขยับแค่คืบ

เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วที่รัฐบาลได้มีการประกาศใช้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งเป็นการยกระดับปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นปัญหาระดับชาติ และมีหน่วยงานรับผิดชอบที่ถูกระบุในแผนนี้กว่า 24 หน่วยงาน (กระทรวง/กรม/สำนักงาน) โดยคาดการณ์ว่ามีการดำเนินการที่เสร็จเรียบร้อยไปประมาณร้อยละ 30 จากแผนทั้งหมดร้อยกว่าข้อ ซึ่งแผนส่วนใหญ่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน  และแผนงานที่ดำเนินการเสร็จไปแล้ว ได้แก่ การศึกษาและจัดทำข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่น การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะเพื่อการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) การเสริมสร้างความพร้อมของระบบสาธารณสุขและการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขด้วยการคัดกรองผู้ป่วยจากฝุ่นพิษ PM2.5 และระบบแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบเมื่อสถานการณ์เริ่มเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ฯลฯ แม้จะมีการเชื่อมระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษกับหน่วยงานของรัฐหน่วยอื่นและสถาบันการศึกษาเพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ แต่ยังมีอีกหลายจังหวัดที่ยังไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ หรือแม้แต่เครื่องตรวจวัดแบบเซนเซอร์ โดยเฉพาะจังหวัดในภาคอีสาน เช่น ศรีสะเกษ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ฯลฯ

ข้อเสนอภาคประชาชน

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 นั้นเป็นเรื่องสำคัญที่หลายภาคส่วนให้ความสนใจและล้วนอาสากันเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาใหญ่และสลับซับซ้อนนี้โดยเฉพาะจากภาคประชาชน เช่น 

  • สภาลมหายใจภาคเหนือ อันประกอบด้วยเครือข่ายเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน เพื่อผลักดันการแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าพื้นที่รอยต่อจังหวัดและพื้นที่ไหม้ซ้ำซากในภาคเหนือตอนบน และการใช้ค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ NTAQHI หรือ ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพชาวเหนือ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์อันตรายต่อสุขภาพที่รุนแรงกว่าพื้นที่อื่น 
  • สถาบันการศึกษาที่ร่วมกับทำงานวิจัยเพื่อสนับสนุนข้อมูลที่ยังขาดหายให้กับหน่วยงานของรัฐ ภาพเอกชน และประชาชนในการทำงานนี้ รวมไปถึงการผลิตอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบ low cost sensor ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีจุดตรวจวัดทั้งหมดมากกว่า 1,400 เครื่อง ซึ่งมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • เครือข่ายอากาศสะอาด ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคประชาชนและนักวิชาการจากหลากหลายสาขาวิชาชีพที่ต้องการผลักดัน พ.ร.บ. กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. … ซึ่งถือเป็นกฎหมายอากาศสะอาดที่เสนอโดยประชาชน ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านกระบวนการรวบรวมรายชื่อจากประชาชนชาวไทยได้กว่า 26,000 คน และกำลังรอที่จะเสนอเข้าสู่สภาฯ เพื่อพิจารณาการอนุมัติผ่าน ร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยยังสามารถเข้าไปร่วมลงชื่อสนับสนุนเพิ่มเติมได้ที่ https://thailandcan.org/participate-proposal-draft-act
  • การรวมกลุ่มอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า และกลุ่มปั่นจักรยาน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการทำข้อเสนอและแผนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานที่เร่งด่วนและรัดกุมมากยิ่งขึ้นให้แก่หน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็น ข้อเสนอเพื่อยกระดับการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันภาคเหนือ ที่เสนอโดยสภาลมหายใจภาคเหนือที่ถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือพร้อมเสนอแนวทางการแก้ไขที่ควรเป็นแก่หน่วยงานภาครัฐเพื่อปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพและแก้ไขอย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น และ สมุดปกเขียว อากาศสะอาด ที่เสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาดที่ลงรายละเอียดมาตรการแจกแจงตามแหล่งกำเนิดและหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ สามารถหยิบยกเอาไปใช้งานได้ในทันที

รวมทั้งมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ และกรีนพีซ ประเทศไทย ก็ได้เสนอกฎหมายการรายงานและเปิดเผยการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) ที่จะบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลมลพิษ ประชาชนจะรู้ที่มาของแหล่งมลพิษที่มีส่วนก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ทำให้ภาครัฐกำกับควบคุมโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรม และออกนโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ตรงจุดมากขึ้น 

ในสถานการณ์ที่ฝุ่น PM2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของคนไทยอย่างใหญ่หลวง รัฐบาลต้องมีการปรับปรุงแผนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อให้สอดรับสถานการณ์ปัจจุบัน