Clean Air Action during Raya Celebrations on Earth Day in Malaysia. © Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กางป้ายผ้าหน้าตึกแฝด Petronas Twin Towers สัญลักษณ์ของมาเลเซียในกัวลาลัมเปอร์ เพื่อเรียกร้องอากาศสะอาดในมาเลเซีย © Greenpeace

อาเซียนร่วมใจเผชิญฝุ่นพิษร่วมกัน ปัญหามลพิษข้ามพรมแดนดูจะเป็นสิ่งที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญร่วมกัน มาเลเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประสบฝุ่นพิษข้ามแดนในช่วงเวลาหลายเดือนเป็นประจำทุกปี โดยมีสาเหตุหลักของปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดนมาจากอุตสาหกรรมข้ามแดนซึ่งยังขาดมาตรการทางกฎหมายที่สามารถเอาผิดผู้ก่อมลพิษ แม้ว่าองค์การสหประชาชาติ (UN) จะประกาศให้อากาศสะอาดเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ก็ตาม

เมื่อวันที่ 5-14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กรีนพีซ มาเลเซียได้จัดนิทรรศการ  “Haze: Coming Soon”  ขึ้น โดยในงานประกอบด้วยไทม์ไลน์ช่วงเวลาที่เกิดฝุ่นพิษในประเทศ ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 1991 (พ.ศ.2534) ซึ่งเป็นปีแรกที่มาเลเซียเผชิญปัญหาฝุ่นที่มีสาเหตุมาจากมลพิษข้ามพรมแดนจากเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย บางปีมีระบุถึงความร้ายแรงของค่าฝุ่นที่สูงมากจนกระทั่งต้องปิดโรงเรียนในพื้นที่ นอกจากนี้ในงานยังเล่าถึงสาเหตุหลักของฝุ่นพิษในประเทศและนโยบายที่ขาดหายไปของภาครัฐในการแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน

เกิดอะไรขึ้นที่มาเลเซีย?

มาเลเซียเป็นประเทศที่แทบไม่มีจุดความร้อนจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ แต่กลับมีปัญหามลพิษทางอากาศเป็นประจำทุกปี กระทั่งช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีข้อมูลข่าวรายงานว่ามาเลเซียมีสถิติผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจจากฝุ่นควันพิษสูงในช่วงระยะเพียงเวลาสองสัปดาห์แม้จะไม่พบจุดความร้อนในประเทศ  โดยฝุ่นข้ามแดนในมาเลเซียนั้นมีสาเหตุหลักมาจากการเผาป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือการเผาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและกระดาษ บริษัทที่ไปลงทุนในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและกระดาษนั้นมีความเชื่อมโยงกับบริษัทจากประเทศมาเลเซีย จึงอาจกล่าวได้ว่า การลงทุนข้ามแดนของบริษัทในประเทศมาเลเซียนั้นมีส่วนไม่มากก็น้อยที่ก่อเกิดมลพิษข้ามพรมแดนจากอินโดนีเซียกลับมาถึงมาเลเซียเอง

“แทนที่จะกล่าวโทษประเทศเพื่อนบ้าน อยากจะให้หันมามองว่าเราสามารถแก้ไขอย่างไรได้บ้างในมาเลเซีย”  Heng Kiah Chun นักรณรงค์ กรีนพีซมาเลเซียกล่าว “เราต้องการเรียกร้องให้มีกฎหมายมลพิษข้ามพรมแดนเพื่อเป็นการวางมาตรการตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทของมาเลเซียนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อฝุ่นพิษทั้งในพื้นที่ประกอบกิจการที่ต่างประเทศและในประเทศเอง” 

Heng Kiah Chun นักรณรงค์ กรีนพีซ มาเลเซีย

ในงานนิทรรศการยังมีจัดแสดงงานศิลปะ และภาพยนตร์สั้น “Haze-zilla” (สามารถชมตัวอย่างภาพยนตร์ได้ที่นี่) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เสียดสีถึงปัญหาจากกลุ่มอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่เชื่อมโยงกับการทำลายสิ่งแวดล้อม และปลดปล่อยฝุ่นควันขนาดใหญ่ปกคลุมทั่วเมืองกัวลาลัมเปอร์ ขณะเดียวกันก็มีนักกิจกรรมออกมารวมตัวเรียกร้องความเป็นธรรม 

นิทรรศการ  “Haze: Coming Soon” มุ่งหวังที่จะนำประเด็นเร่งด่วนที่เป็นภัยต่อสุขภาพอย่างปัญหาฝุ่นพิษ สื่อให้ถึงหน้าที่ของภาครัฐในการปกป้องสุขภาพของประชาชน และมาตรการทางกฎหมายที่จะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศได้ในการกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมกับการก่อมลพิษข้ามพรมแดน


#คืนปอดให้ประชาชน

รัฐต้องเอาผิดอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 และการทำลายป่า นี่คือวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ส่งผลอย่างร้ายแรงและถูกเพิกเฉยจากรัฐบาลมายาวนาน ถึงเวลาแล้วที่ต้องคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับประชาชน