“ขอโทษทีค่ะ ฉันคือกัปตัน” เฮตตีบอกกับเจ้าหน้าที่ที่กำลังถามหาถึงกัปตันเรือขณะขึ้นมาตรวจความเรียบร้อยของเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ซึ่งเป็นเรือธงของกรีนพีซ ในระหว่างการเดินทางรณรงค์เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี 2561 เจ้าหน้าที่ดูจะตกใจเล็กน้อย แต่เฮตตีรู้สึกเสมอว่าเพศไม่ใช่เรื่องที่ขัดขวางการทำงานด้วยใจรักต่อสิ่งแวดล้อมของเธอ “ไม่มีใครที่ปฏิบัติไม่ดีกับฉันด้วยมาตรฐานที่แตกต่าง ถ้าฉันปฏิบัติกับทุกคนด้วยความเคารพ ทุกคนก็จะตอบรับกลับมาด้วยความเคารพ”

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมนั้นส่งผลถึงทุกคน และบทบาทของการปกป้องสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้เช่นกัน ในวันสตรีสากล (8 มีนาคม ของทุกปี) เราอยากจะชวนผู้หญิง 6 คน มาคุยถึงบทบาทและแนวคิดของเขาในการหันมามอบความรักให้กับสิ่งแวดล้อม และการกระทำของพวกเธอนั้นเป็นการลงมือเพื่อโลกที่ยั่งยืน เป็นธรรม และสงบสุขสำหรับทุกคน

นันทิชา โอเจริญชัย นักกิจกรรม

“ถ้าบ้านเราไฟไหม้จะมีคนในบ้านที่ไม่รู้เรื่องเลย และคนที่รู้เรื่องแต่ไม่ทำอะไร เราเองอาจจะพยายามบอกคนอื่นว่าให้รีบดับไฟ หรือดับไฟเอง บางคนก็จะวิ่งหนีไปก่อนแล้ว แต่เราจะไม่ยอมเป็นคนที่ยืนดูบ้านเราไฟไหม้อยู่เฉยๆ ถ้าเราทำได้เอง เราจะไม่ยอมเป็นคนที่รอคอยให้ผู้อื่นมาดับไฟ”

หลิง – นันทิชา โอเจริญชัย เป็นนิสิตที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้รักการเขียน และรักต้นไม้กับสัตว์ด้วย การเขียนของเธอจึงเป็นงานเกี่ยวกับต้นไม้และสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนมาก เธอผันตัวมาเป็นนักอาสาสมัครที่ลงมือเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมของกรีนพีซ จากที่ก่อนเป็นอาสาสมัครมีความรู้สึกท้อบ้างกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและหาทางแก้ไขปัญหานั้นเพียงลำพัง แต่การได้มาเป็นอาสาสมัครกว่าสองปี เธอบอกว่า “การที่ได้เจอพี่ๆที่ทำงานและอาสาด้านนี้อย่างเต็มที่ ทำให้เรามีกำลังใจ รู้ว่ามีคนที่เขาใส่ใจดูแลบ้านของเราเท่าเรา ถ้าพวกเขาทำได้ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ละ”

สายอาชีพงานเขียนที่เธออยากจะทำนั้น หลิงมองว่า อาจจะไม่ได้ช่วยสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในใจคน ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน “ตั้งแต่เริ่มเขียนก็มีเพื่อนหลายคนที่ไม่เคยใส่ใจเรื่องนี้เลย จนมาอ่านสิ่งที่หลิงเขียน ทำให้เขาตระหนักวิถีชีวิตของเขามากขึ้น สิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่การให้กำลังใจคนที่ต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นการทำให้เกิดคนเหล่านั้นเพิ่มขึ้น และพอได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เพียงพอที่จะทำให้เราสู้ต่อไป”

อะไรล่ะ ที่ทำให้ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ อย่างเธอก้าวเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงโลก “คงเป็นเพราะรักนะคะ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าอะไรเป็นสิ่งแรกที่ทำให้เราหลงรักมัน อาจจะเป็นครูวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรืออาจจะเป็นการเดินป่า เวลาเราเห็นได้เห็นป่า และตกหลุมรักมัน ถ้ามันโดนทำร้าย เราก็อยากปกป้อง”

“ในอนาคต ไม่ว่าโลกเราจะเป็นอย่างไร อย่างน้อยเราจะมีคนที่พยายามดูแลมันเป็นอย่างดี” หลิงกล่าว

 

เฮตตี กีแนน กัปตันเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์

“ยิ่งฉันได้เดินทางไปกับเรือโลกรอบมากเท่าไร ไม่ว่าจะตั้งแต่ประเทศกรีนแลนด์ถึงบราซิล หรือจากสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ถึงอินเดีย ฉันก็ยิ่งได้เห็นว่าเราสร้างผลกระทบต่อโลกของเรามากแค่ไหน และฉันก็ยิ่งรู้สึกว่าจำเป็นจะต้องเดินหน้าทำงานกับกรีนพีซต่อไป เพื่อสิ่งแวดล้อมของเรา”

เฮตตี กีแนน คือ กัปตันของเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ และเป็นหนึ่งในกัปตันหญิงเพียงไม่กี่คนของโลก  เมื่อปี 2559 เธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นกัปตันของเรือกรีนพีซเมื่อวันสตรีสากลนี้เช่นกันตั้งแต่อายุ 15 เฮตตีค้นพบว่าเธอหลงรักทะเล แม้ว่าจะเติบโตทางใต้ของประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งอยู่ห่างไกลจากน่านน้ำ อีกทั้งยังไม่มีสมาชิกในครอบครัวหรือชุมชนคนใดที่เป็นนักเดินเรือ หลังที่เธอเดินเรือมา 12 ปี เฮตตีก็ตัดสินใจที่จะเปลี่ยน และทำในสิ่งที่มีความหมายกว่านั้น และปี 2542 เฮตตีได้ร่วมเดินเรือกับกรีนพีซครั้งแรกในตำแหน่งผู้ช่วยต้นเรือ ในโครงการ Toxic Free Asia Tour และได้ร่วมงานรณรงค์เรื่อยมา

“ในโครงการ Turn the Tide ร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อมกับเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เมื่อปี 2553 เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ มาเป็นอีกหนึ่งแรงช่วยประเทศไทยในการผลักดันเรื่องพลังงานหมุนเวียน ยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ประจวบคีรีขันธ์ เราฝังแคปซูลกาลเวลาเพื่อเป็นสิ่งระลึกถึงการขับเคลื่อนของมวลชนเพื่อสิ่งแวดล้อม แคปซูลนี้ถูกฝังไว้ใกล้กับอนุสาวรีย์เจริญ วัดอักษร นักกิจกรรมผู้อุทิศชีวิตเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน สิ่งที่ฉันประทับใจมากที่สุดคือการขับเคลื่อนของชุมชนที่เข้มแข็งมาก ซึ่งคุณจะรับรู้ได้ถึงพลังหากได้ไปสัมผัสที่นั่น สำหรับฉันแล้วการสนับสนุนและยืนหยัดร่วมกับชุมชน เป็นอีกพลังช่วยเปล่งเสียงบอกต่อเรื่องราวการต่อสู้ของชุมชน โดยที่ให้น้ำหนักกับชุมชนและประเด็นที่พวกเขาต่อสู้ เพราะพวกเขานี่แหละคือพลังที่แท้จริง นี่คือวิธีการทำงานของกรีนพีซที่ดีที่สุด”

เฮตตีไม่เคยมองว่าการเป็นผู้หญิงเป็นอุปสรรคอย่างไรในการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมของเธอ และเธอได้ให้คำแนะนำกับผู้หญิงทุกคนที่กำลังเลือกทางของตนในการปกป้องสิ่งแวดล้อมไว้ว่า

“จงทำทุกอย่างตามเสียงของหัวใจ การจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายไม่ใช่เรื่องสำคัญ เราทุกคนต่างมีทักษะ และฉันไม่เห็นว่าเพศจะทำให้ต่างกันอย่างไร อาจจะทำให้คนมองอย่างสงสัยบ้าง แต่ฉันรู้สึกว่าทุกคนให้การยอมรับ”

 

ภัทรวรรณ จริยางกูร นักกิจกรรมกรีนพีซ

“เราชอบเรียนรู้และท้าทายตัวเอง อะไรก็ตามที่ทำให้เราเก่งขึ้น พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น มันไม่น่ากลัวแน่นอน  โดยเฉพาะการปีนที่เหมือนช่วยฝึกฝนเราทั้งด้านความแข็งแรงของร่างกายและการคิดให้เป็นระบบมากขึ้นค่ะ”

เต้เป็นอาสาสมัครมาราว 10 ปี ตั้งแต่ช่วงเรียนจบ ด้วยความที่ชอบงานกิจกรรมตั้งแต่เป็นนักเรียน เมื่อได้ทำความรู้จักกับกรีนพีซจึงสนใจงานอาสาสมัครด้วย เธอได้ก้าวมาเป็นอาสาสมัครและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่ชอบในสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนด้วยมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นกองขยะเกลื่อนข้างถังขยะที่ว่างเปล่า แหล่งน้ำเน่าเหม็น บ้านเมืองที่ไม่สวยงาม และพฤติกรรมไร้ระเบียบวินัยของคน “เมื่อก่อนเราก็ทำตัวเป็นเด็กโอตาคุหนีโลก แต่พอเห็นนักกิจกรรมที่ใช้ความพยายามเพื่อเปลี่ยนแปลงให้โลกดีขึ้นเลยอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยค่ะ” เต้เล่าถึงแรงบันดาลใจ “อยากให้เขาจดจำเราในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่มีความสามารถ หลังจากที่ได้มาเป็นอาสา ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ความคิดเห็นเราเป็นที่รับฟังก็ยิ่งเติมเต็มในตัวตน ทำให้รู้สึกอิ่มเอิบว่าเรามีคุณค่า ภูมิใจในตัวเองที่ได้ใช้ความรู้และทักษะช่วยเยียวยาโลกได้บ้างค่ะ”

ปัจจุบันนี้เต้คือหนึ่งในเทรนเนอร์นักปีนที่มีประสบการณ์มากของกรีนพีซประเทศไทย และเธอได้ร่วมกิจกรรมมาแล้วนับไม่ถ้วน ทั้งบนเชือก บนมหาสมุทร และบนพื้นดิน เพื่อร่วมเรียกร้องให้หยุดการก่ออาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม

“เราไม่กล้าพูดนะว่าอยากจะ inspire คนอื่น เพราะเราไม่ได้พิเศษขนาดนั้น แต่ถ้าหากการกระทำของเราทำให้เด็กๆ รุ่นใหม่ หรือแม้แต่คนรุ่นเดียวกันมองเห็นโอกาสในการหาประสบการณ์ที่สร้างคุณค่าให้ตัวเอง ได้เห็นโลกความเป็นจริง ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ไม่ใช่แค่ตอนที่เกิดวิกฤต แล้วเริ่มลงมือแก้ไข ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภคของเรา ไม่เลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา ก็ถือว่าบรรลุปณิธานเราแล้ว”

 

มาเรีย มาติเนส รามี รองกัปตันเรือเรนโบว์ วอรร์ริเออร์

สาวน้อยร่างบางคนนี้ ใครจะคิดว่าเป็นถึงรองกัปตัน มาเรียเล่าให้เราฟังว่า แม่ของเธอรักทะเลมาก และเธอเองก็อาศัยอยู่ในเมืองของสเปนที่ใกล้กับทะเล เริ่มเดินเรือตั้งแต่เล็ก “ฉันรักทะเลเพราะเรามีหลายอย่างที่เหมือนกัน ฉันชอบที่จะอยู่เงียบ ๆ อยู่ตามลำพัง และบางครั้งก็บ้าบอบ้างตามสภาพอากาศ จากนั้นก็กลับมาสงบดังเดิม ทะเลเองก็ไม่ต่างกัน เมื่อฉันตัดสินใจว่าจะทำอาชีพอะไร การที่ฉันเลือกเดินเรือ และร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อมกับกรีนพีซ จึงเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุด” มาเรียกล่าว

สำหรับเธอแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดบนเรือรณรงค์ของกรีนพีซ ก็คือ ผู้คนและอาสาสมัครบนเรือ และทุกคนมีสิ่งที่เหมือนกันคือ ความมุ่นมั่นและเป้าหมายเดียวกัน เพื่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อครั้งที่กรีนพีซบอกกับเธอว่าเธอจะได้เป็นรองกัปตัน เธอดีใจมาก “ฉันไม่ได้รู้สึกกลัวเลย แต่คิดว่าจะต้องมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบเยอะมาก ตอนนั้นฉันยังเด็กมาก ฉันเป็นผู้หญิง เป็นความท้าทายมาก แต่ก็เป็นแค่ช่วงแรกเริ่ม ท้ายที่สุดทุกคนก็ยอมรับในสิ่งที่ฉันทำ”

 

มิรา อุไรกุล อาสาสมัคร

“ไม่ว่าเราจะเป็นใคร อายุเท่าไหร่ เพศอะไร เสียงของเราทุกคนมีพลัง มีความสำคัญทั้งนั้น อย่าให้ใครหรืออะไรมาทำให้เรารู้สึกว่าเราทำไม่ได้ อย่าใช้คำว่า คนอื่นก็ทำกัน หรือ ไม่เห็นมีใครทำเลย เป็นข้ออ้าง เพราะนี่คือชีวิตของเรา เรามีเส้นทางของเรา เราทุกคนเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงได้ แค่เริ่มที่ตัวเราเอง ก็ถือว่าได้เริ่มลงมือแล้ว”

อีกหนึ่งผู้หญิงคนเก่งที่มีความเชื่อมั่นและเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเอง คือ ลูกโซ่ – มิรา อุไรกุล เธอเป็นผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่กังวลในปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการที่เห็นโลกมา 23 ปี และอยากช่วยทำให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้น ในฐานะที่เป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง เธอกล่าวว่า บางครั้งก็เคยกลัวเหมือนกันว่าสิ่งที่เธอคิดและทำจะไปขัดใจใครบ้างไหม และต้องหาวิธีที่เปลี่ยนแปลงอย่างประนีประนอม “แต่ถ้าให้ชั่งน้ำหนักระหว่างความกล้ากับความกลัว เราจะกล้ามากกว่า เพราะคิดว่าถ้ากลัวแล้วสุดท้ายเราก็จะไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย แล้วให้เอาความกลัวตรงนั้นมาเปลี่ยนเป็นความคิดว่า แล้วเราจะใช้วิธีไหนเพื่อให้คนที่คิดเห็นไม่ตรงกับเราเข้าใจสิ่งที่เราต้องการบอกได้ดีที่สุด” ลูกโซ่กล่าว

ลูกโซ่เป็นอีกคนหนึ่งที่หนักแน่นในการลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และลงมือทำก่อนที่การปฏิเสธพลาสติกจะเป็นสิ่งที่คนในสังคมเริ่มยอมรับ เธอเล่าให้ฟังว่า “ก่อนที่เราจะได้เข้ามาทำอาสาสมัคร ก็เคยรู้สึกโดดเดี่ยวนะคะ แบบว่าไม่ค่อยได้เจอคนที่มีแนวคิดตรงกัน เวลาทำอะไรก็จะดูแปลกหน่อยๆ อย่างเอากล่องข้าวมาเองหรือกินน้ำไม่ใช้หลอด แต่พอได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับที่นี่ เราก็รู้ว่าจริงๆแล้วมีคนอีกมากมายที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงโลกไปกับเรา และรับรู้ได้ว่ามีคนพร้อมจะสนับสนุนเราเสมอค่ะ”

สิ่งที่สำคัญคือ อย่าหยุดเชื่อ อย่าหยุดลงมือ เพราะทุกการกระทำเปลี่ยนแปลงโลกได้ ลูกโซ่เสริมว่า “การที่เราพยายามลงมือทำวันนี้ อาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงโลกได้วันพรุ่งนี้เลย แต่สักวันนึงจะต้องส่งผลแน่ค่ะ ทุกสิ่งที่เราทำอยู่เราก็ไม่ได้สูญเปล่า พอเราพูดบ่อย ๆ ทำให้คนอื่นเห็นบ่อย ๆ คนรอบตัวเราก็เริ่มหันมาสนใจ เริ่มอยากเปลี่ยนแปลงโลกไปกับเรา ทุกวันนี้เทียบกับห้าปีก่อน คนก็เริ่มตระหนักถึงปัญหาของโลกเรามากขึ้นนะ เริ่มมีแคมเปญมีกระแสลดถุงพลาสติกมากขึ้นแบบที่ตอนเด็กๆ เราไม่เห็น โซ่เชื่อว่าในอนาคต เราจะไปได้ไกลกว่านี้อีกค่ะ”

 

เฉิน ชุก นิง นักกิจกรรมปีน และอาสาสมัครบนเรือ

ยามที่ทำงานร่วมกันกับเพื่อนนานาชาติ เฉิน ชุก นิง มักให้เพื่อน ๆ เธอเรียกเธอว่า “ฟิชโบน” เพื่อที่จะเรียกได้ง่ายขึ้น เธอเป็นนักกิจกรรมผู้จริงจังกับการเลิกใช้พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งมาหลายปี จริงจังมากจนกระทั่งเป็นหนึ่งในนักปีนที่ร่วมขึ้นไปแขวนป้ายผ้าที่ชิงช้าสวรรค์ Hong Kong Observation Wheel ด้วยข้อความ “Hong Kong. it’s time to stop making plastic waste” (ฮ่องกง ถึงเวลาหยุดสร้างมลพิษพลาสติก)

“ฉันเป็นนักกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน และเป้าหมายของกรีนพีซที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกผ่านการลงมือ เป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจสำหรับฉัน” ฟิชโบนกล่าว

ฟิชโบนได้เปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของตัวเองอย่างสิ้นเชิงมาเป็นเวลากว่าสามปีแล้ว เธอเลิกซื้อน้ำบรรจุขวด ใช้กระติกน้ำของตัวเอง ใช้หลอดที่ล้างใช้ซ้ำได้ ใช้อุปกรณ์การกินที่พกพาไปเอง และแชร์กิจวัตรของฉันลงเฟสบุ๊คเพื่อชักชวนให้คนอื่นทำตาม แม้ในฐานะนักกิจกรรมบางครั้งต้องเผชิญกับความเสี่ยง อย่างไรก็ดี นี่คือความเข้มแข็งและแข็งแกร่งที่ผู้หญิงทุกคนมีได้ จากการสนับสนุนรอบกาย

“ฉันเป็นเด็กผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ครอบครัว เพื่อน ๆ และเพื่อนร่วมงานมักจะเป็นห่วงในความปลอดภัยและสุขภาพเสมอ ทำให้ฉันรู้สึกผิดบางครั้ง แต่มันคือกำลังใจที่ทำให้ฉันเข้มแข็งต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เพราะฉันหวังว่าเราทุกคน คนรุ่นหลัง และทุกสรรพชีวิต จะมีชีวิตที่ดีขึ้นในบ้านหลังนี้”

ยังมีผู้หญิงอีกนับล้านทั่วโลกที่ลุกขึ้นมาเป็นแนวหน้าในการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มแข็ง และลงมือปฏิบัติเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงจากมือของพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ออกมาเป็นผู้นำชุมชนเพื่อรักษาวิถีชีวิตของท้องถิ่น หรือคนที่เปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผู้หญิงอีกรายที่เราจะลืมไปไม่ได้เลย Mother Earth ของเรา ต้องขอขอบคุณและสดุดีให้กับความเข็มแข้งของผู้หญิงทุกคนที่ร่วมกันปกป้องโลกของเราใบนี้ 

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม