นักกิจกรรมกรีนพีซ ประเทศไทย ชูป้ายที่มีข้อความ “อย่าลืมปัญหาฝุ่นพิษ” ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย
นักกิจกรรมกรีนพีซ ประเทศไทย ชูป้ายที่มีข้อความ “อย่าลืมปัญหาฝุ่นพิษ” ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งสาเหตุหนึ่งเกิดจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือตอนบนของไทยและการขยายการลงทุนของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยเพื่อผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

หลังจากช่วงต้นปี 2566 ที่หลายจังหวัดภาคเหนือตอนบนได้รับผลกระทบจากวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 ด้วยค่าคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ต่อเนืองหลายเดือน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษอย่างรุนแรง โดยข้อมูลจากเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยกรมควบคุมมลพิษที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย  จังหวัดเชียงราย พบว่ามีช่วงเวลาที่ค่าเฉลี่ยฝุ่นพิษรายวันสูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรถึงราว 3 เดือน และมีค่าเฉลี่ยรายงานสูงระดับอันตรายมากกว่า 350-550 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรถึงราว 3 สัปดาห์ (ตามเกณฑ์ AQI ของสหรัฐอเมริกา) ซึ่งสูงว่าคุณภาพอากาศตามมาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM 2.5 ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถึง 14 เท่า

ข้อมูล: กรมควบคุมมลพิษ และ AQICN.org

อย่างไรก็ตามแม้ว่าประชาชนต้องเผชิญกับค่าฝุ่นสูงในระดับวิกฤตติดต่อกันหลายเดือน ต้องทนใช้ชีวิตอยู่ในท่ามกลางความเสี่ยงด้านสุขภาพ แต่ก็ยังไม่มีการประกาศเขตภัยพิบัติจากภาครัฐเพื่อรับมือกับวิกฤตนี้ 

เราอยากชวนสำรวจการทำงานของหน่วยงานท้องถิ่นที่น่าสนใจใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย นำโดย ชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย จ.เชียงราย หรือ นายกเอ ที่ได้พูดคุยประเด็นฝุ่นพิษข้ามพรมแดนจากอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมาร์และสปป.ลาว) กับกรีนพีซ ประเทศไทย ในงาน “เจียงฮาย วันพูก” ที่เปิดเวทีให้ผู้สมัคร ส.ส.เขตในจังหวัดเชียงรายมานำเสนอนโยบายในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา 

ชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย จ.เชียงราย

และเราได้มีโอกาสพูดคุยกับนายกฯ เกี่ยวกับการทำงานของเทศบาลตำบลแม่สายในการรับมือกับฝุ่นพิษ ปัญหาอุปสรรคที่พบ และข้อเรียกร้องของนายกเทศมนตรีในฐานะตัวแทนของประชาชนที่อาศัยอยู่ใน อ.แม่สาย ซึ่งนายกเอ ชวนนักรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมนิเวศของกรีนพีซ รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ มาร่วมแบ่งปันแลกเปลี่ยนในประเด็นเรื่องข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เชื่อมโยงกับฝุ่นพิษข้ามพรมแดนในภาคเหนือตอนบน ในงานเสวนา ‘ฝุ่นพิษแม่สาย’ อีกด้วย

ประเด็นเรื่องฝุ่นพิษใน อ.แม่สายเริ่มเป็นที่พูดถึงมานานแค่ไหนแล้ว ในปีนี้แม้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนแต่ก็ยังมีอุปสรรคหลายด้าน หลาย ๆ เสียงวิพากษ์ถึงการเพิกเฉยจากภาครัฐ มุมมองของนายกเอมีความเห็นยังไงเกี่ยวกับการจัดการและรับมือกับวิกฤตครั้งนี้

ย้อนกลับไปเมื่อราว 4-5 ปีที่แล้ว เรารับรู้ว่าเกิดปัญหาฝุ่นพิษขึ้น ซึ่งตอนนั้นค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) สูงเกิน 600 ในวันนั้นเรายังมีแค่เครื่องวัดคุณภาพอากาศแบบพกพาและยังไม่มีสถานีตรวจวัดมากเท่าในปัจจุบันนี้ แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เรารับรู้ว่า อ.แม่สาย กำลังประสบปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศเกินมาตรฐาน ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ (2566) ถือว่าวิกฤตมากเพราะมีปัจจัยร่วมหลายอย่างเช่น เป็นปีที่ไทยเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ปริมาณฝนตกน้อยลงและกว่าจะตกก็ใช้เวลานานกว่าทุก ๆ ปี (เช่นปีที่แล้วประเทศไทยน้ำเยอะ ฝนตกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ทำให้ปัญหาฝุ่นพิษไม่วิกฤต)

งานเสวนา ‘ฝุ่นพิษแม่สาย’ โดยเทศบาลตำบลแม่สาย
ภาครัฐท้องถิ่นในจังหวัดเชียงราย ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ที่สนใจประเด็นฝุ่นพิษภาคเหนือ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ เข้าร่วมงานเสวนา ‘ฝุ่นพิษแม่สาย’ โดยเทศบาลตำบลแม่สาย ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางแก้ไขปัญหา

เพราะสถานการณ์ที่ทำให้ประชาชนต้องได้รับความเสี่ยงในด้านสุขภาพเช่นนี้ ประชาชนชาวแม่สายจึงรวมตัวกันจัดกิจกรรม #saveแม่สาย เพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศให้พื้นที่ของเราเป็นเขตภัยพิบัติ เพื่อที่จะให้ท้องถิ่นสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นได้ทันท่วงที แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่สามารถประกาศเขตภัยพิบัติได้เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ต่อมาก็มีนักข่าวสัมภาษณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ว่าจะจัดการกับวิกฤตฝุ่นนี้อย่างไร สามารถประกาศเป็นเขตภัยพิบัติได้หรือไม่ ซึ่ง มท.1 กล่าวว่าไม่สามารถประกาศให้เชียงรายเป็นเขตภัยพิบัติได้เพราะยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแบบกรณีภัยหนาว

เรามองว่านี่คือความบกพร่องของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่ไม่เคยออกมากำหนดมาตรการการรับมือกับวิกฤตมลพิษทางอากาศ เช่น การออกกำหนดอย่างชัดเจนว่าเมื่อค่าดัชนีคุณภาพอากาศสูงเกินมาตรฐานที่ 100 จะต้องรับมือและมีมาตรการอย่างไร เมื่อเกิน 200 จะต้องทำอย่างไร หรือค่าดัชนีคุณภาพอากาศสูงถึง 800 และมีผลต่อสุขภาพอย่างที่ประชาชนชาวแม่สายเผชิญจะต้องทำอย่างไร ซึ่งการไม่กำหนดมาตรการรับมือชัดเจนและการติดตามสถานการณ์เพื่อออกกฎเกณฑ์ให้ทันกับโลกปัจจุบันเป็นสาเหตุที่ทำให้ มท.1 ไม่สามารถประกาศให้เชียงรายเป็นเขตภัยพิบัติได้ นี่เป็นปัญหาที่สะสมเรื้อรังมานานและเรามองว่าจำเป็นจะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ป้ายโฆษณาเมล็ดข้าวโพดมักจะถูกแขวนไว้บนต้นไม้ ซึ่งเป็นภาพคุ้นตาในภาคเหนือของประเทศไทย

เราไม่อยากให้ปัญหานี้กลายเป็นเรื่องทุเลาเบาบางด้วยฝนตามฤดูกาล แต่เราต้องมีมาตรการรับมือและแก้ไขอย่างจริงจัง เช่น การอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยง แจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นพิษ กำหนดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน หรือแม้กระทั่งต้องออกมาตรการให้ตัวผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้ามามีบทบาทรับผิดชอบต่อมลพิษที่ตนเองได้มีส่วนสร้างขึ้นและร่วมแก้ไขปัญหานี้กับภาครัฐ

ทำไมนายกเอจึงสนใจเรื่องข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หนึ่งในสาเหตุของฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในอ.แม่สาย จ.เชียงราย และภาคเหนือตอนบนของไทย

ตั้งแต่เราได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษ เราก็มาค้นหาข้อมูลว่าทำไม แล้วก็เจอว่าใน อ.แม่สาย ไม่มีจุดความร้อนเลย แต่ประชาชนในอำเภอกลับได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 จากการเผาอย่างหนัก ปัญหาฝุ่นใน อ.แม่สาย มักจะมาจากมลพิษทางอากาศที่ข้ามพรมแดนมา จึงหาข้อมูลเพิ่มเติมและทราบข้อมูลเรื่องการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในปี 2565 ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากพม่าสูงถึง 14,312 ล้านบาท ซึ่งเรามองว่าการนำเข้ามูลค่าที่สูงขนาดนี้ (เพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมอาหาร) เป็นไปได้ว่าอาจเกินความต้องการบริโภคของคนในประเทศ แต่เป็นการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อส่งออกเป็นรายได้ ที่ผ่านมา บางภาคส่วนจะอ้างว่าหากเราคัดค้านการนำเข้าแบบนี้จะทำให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดจะเดือดร้อน อ้าว..แล้วเราที่ต้องเจอฝุ่นพิษทุก ๆ ปีแบบนี้เราไม่เดือดร้อนเลยหรือ? อย่าลืมว่าตอนนี้แม่สายและคนในภาคเหนือกำลังเจอกับปัญหาทางด้านสุขภาพอยู่ คนส่วนน้อยได้ผลประโยชน์ คนส่วนมากได้รับผลกระทบ 

ชัยยนตร์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย จ.เชียงราย ในงานเสวนา “ฝุ่นพิษแม่สาย”
ชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย จ.เชียงราย และเจ้าภาพในการจัดงานเสวนา ‘ฝุ่นพิษแม่สาย’ ซึ่งสนใจข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศในภาคเหนือ ฝุ่นพิษข้ามพรมแดนและการขยายพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล

และจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับนักวิชาการหลายคนทำให้เราเชื่อว่า นอกจากการจัดการไฟป่า (ที่ไม่มีประสิทธิภาพพอ) และ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คืออีกหนึ่งในสาเหตุของมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในแม่สาย 

“ข้อมูลที่เราศึกษามาทำให้เราเชื่อว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นหนึ่งในสาเหตุของมลพิษทางอากาศใน อ.แม่สาย แต่หากใครที่เชื่อว่ามันไม่ได้เป็นหนึ่งในสาเหตุและมีข้อมูล ก็อยากให้เอาข้อมูลมาพูดคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นซีพีดังที่กล่าวไว้ในแถลงการณ์หรือผู้ประกอบการแบรนด์ไหนก็ตาม เอาข้อมูลมากางคุยกับผมได้เลยเพราะถ้ายังเงียบกันอยู่แบบนี้มันไม่มีประโยชน์ คนภาคเหนือจะตราหน้าว่าเป็นเพราะบริษัทคุณที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ เพราะฉะนั้นหากมีข้อมูลเพิ่มเติมก็มาคุยกันครับ”

ภาพและวิดีโอ: รถขนเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังเก็บเกี่ยวที่นายกอบต.พบเห็นเกือบทุกวันตลอดช่วงเดือนฝุ่นควัน

ในฐานะที่นายกทำงานกับประชาชนใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย อยากเสนอเรียกร้องในการแก้ไขปัญหานี้แบบระยะยาวอย่างไร

ที่ผ่านมาเรามองเห็นว่าระบบราชการแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้เลย ทุกครั้งเราต้องพูดคุยกับภาคเอกชน ผู้ประกอบการทั้งหลายไปช่วยแก้ปัญหาให้เรา สำหรับข้อเรียกร้องที่อยากเสนอเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษแม่สายในระยะยาวให้ทันต่อสถานการณ์ตอนนี้ เราอยากเรียกร้องให้มีการหยุดหรือชะลอการนำเข้าก่อน เพื่อให้อุตสาหกรรมไปแก้ไขปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศและการขยายพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก่อน นอกจากนี้แล้ว รัฐเองก็ต้องไปแก้ปัญหาเรื่องกฎหมายหรือมาตรการที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ เช่น มาตรการของ กก.วล. ที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขที่อาจต้องใช้ระยะเวลานาน

“ผมเสนอข้อเรียกร้องการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้างอิงจาก ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area – AFTA) ซึ่งเป็นความตกลงการให้สิทธิพิเศษในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านการค้า ความตกลงนี้ระบุว่าการดำเนินการหากเกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่หรือกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มประเทศสมาชิกจะต้องเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา 

ดังนั้นเมื่อการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุมลพิษข้ามพรมแดนและกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชน รัฐบาลไทยในฐานะหนึ่งในกลุ่มสมาชิกก็ต้องเข้ามาเจรจาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นภาคเหนือในระยะยาว เช่น การสั่งชะลอการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แล้วศึกษาถึงผลกระทบด้านมลพิษทางอากาศ หาทางออกร่วมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ”

แม้ว่าขณะนี้ สถานการณ์ฝุ่นพิษในภาคเหนือ โดยเฉพาะในอ.แม่สาย จ.เชียงรายและอีกหลายพื้นที่จะลดความรุนแรงลงแล้ว แต่เราอยากย้ำเตือนว่าวิกฤตนี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่แต่เป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่มีใครสนใจอยากแก้ไขเพราะเมื่อฝนตามฤดูกาลเกิดขึ้น ฝุ่นพิษก็จะค่อย ๆ จางลงไป อย่างไรก็ตามฝุ่นพิษเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นอีกทุกปี และประชาชนในภาคเหนือก็จะต้องเจอกับความเสี่ยงด้านสุขภาพไปอีกทุกปี เราจะอยู่กันแบบนี้จริง ๆ หรือ?

“ผมอยากฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำงานต่อจากนี้ ในช่วงเวลาหาเสียงที่คุณรับปากการแก้ปัญหาอะไรกับประชาชนไว้ก็จะต้องทำให้ได้ตามสัญญาด้วย เพราะปัจจุบันนี้เราสามารถติดตามย้อนหลังได้ว่าแต่ละพรรคมีนโยบายอะไรบ้าง เป็นนักการเมืองอย่างมีคุณภาพและเอาคนที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสม อย่าให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปจดจำคุณในฐานะรัฐบาลที่พูดอย่าง ทำอีกอย่าง”

นักกิจกรรมกรีนพีซ ประเทศไทย ชูป้ายที่มีข้อความ “อย่าลืมปัญหาฝุ่นพิษ” ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งสาเหตุหนึ่งเกิดจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือตอนบนของไทยและการขยายการลงทุนของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยเพื่อผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐต้องเอาผิดอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษ PM2.5 และการทำลายป่า นี่คือวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ส่งผลร้ายแรงและถูกเพิกเฉยจากรัฐมายาวนาน ถึงเวลาคืนอากาศสะอาดให้กับประชาชน

#คืนปอดให้ประชาชน

รัฐต้องเอาผิดอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 และการทำลายป่า นี่คือวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ส่งผลอย่างร้ายแรงและถูกเพิกเฉยจากรัฐบาลมายาวนาน ถึงเวลาแล้วที่ต้องคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับประชาชน