เปิดวิสัยทัศน์พรรคการเมือง 12 พรรค ส่องนโยบายสิทธิมนุษยชนผ่านเวทีภาคประชาชนที่จัดโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคม เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ณ ลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร โดยในเวทีนี้มีภาคประชาชนเข้าร่วมหลากหลาย รวมทั้ง กรีนพีซ ประเทศไทย ที่ได้ฝากกระทู้คำถามถึงทั้ง 12 พรรคการเมือง บนเวทีแสดงวิสัยทัศน์อีกด้วย

เวทีนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะชูประเด็น “สิ่งแวดล้อมดี เมื่อการเมืองเป็นธรรม” และนำเสนอให้ผู้เข้าร่วมฟังได้เห็นว่า สิทธิที่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี คือสิทธิมนุษยชน ซึ่งก่อนหน้านี้ กรีนพีซก็ได้เปิดตัวงานรณรงค์ #VoteForClimate #เข้าคูหากาสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งแวดล้อมกับคุณภาพชีวิตของเราเชื่อมโยงกัน (ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศ มลพิษพลาสติก หรือความเสี่ยงของประเทศต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ) 

ดังนั้น การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ในเชิงโครงสร้างจำเป็นต้องอาศัยบทบาทของพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่ในการชี้แนะทิศทางทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมผ่านอุดมการณ์หรือแนวนโยบาย ของพรรค และเมื่อพรรคการเมืองได้จัดตั้งรัฐบาล อุดมการณ์และแนวนโยบายดังกล่าวก็จะกลายเป็นทิศทางของประเทศ

ส่งคำถามถึงพรรคการเมือง นโยบายสิ่งแวดล้อมที่จะปกป้องสิทธิประชาชนมากขึ้น

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมขึ้นเวทีเสวนาในช่วงแรกของงาน เวที ‘วาระสิทธิมนุษยชน ถึงเวลาพรรคการเมืองฟังเสียงประชาชน’ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (The UN General Assembly : UNGA) ลงมติเรียกร้องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเสนอคำแนะนำให้แต่ละรัฐปฏิบัติตามพันธะสัญญาต่าง ๆ ที่แต่ละประเทศไปลงนามเอาไว้ในการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยก็เคยลงนามว่าจะร่วมต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศด้วย 

จากการตรวจสอบและพูดคุยกับพรรคการเมืองหลายพรรคพบว่าก็มีนโยบายสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่กรีนพีซ อยากเห็นมากกว่าแนวนโยบายที่เป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่แยกขาดออกจากสิทธิมนุษยชน คือการผนวกสิทธิมนุษยชนในด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เรารณรงค์ให้ไทยมี กฎหมายการรายงานและเปิดเผยการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) คือกฎหมายที่บังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมประเทศไทยในจังหวัดต่างๆ ‘เปิดข้อมูล’ หรือ Open data มลพิษที่ปล่อยสู่ดิน น้ำ หรืออากาศ ใจความง่ายๆ คือเพื่อให้ประชาชนรู้ว่ามีมลพิษอะไรบ้างที่ถูกปล่อยออกมาที่อาจส่งผลต่อสุขภาพเรา อย่างกรณีเหตุระเบิดโรงงานหมิงตี้ หรือกรณีวัตถุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่สุดท้ายแล้วชุมชน กลุ่มผู้เปราะบางคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์หายนะเหล่านี้

พร้อมชูประเด็นสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมที่ควรต้องปรับแก้ไขให้ดีขึ้น ดังนี้

  • การรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย – เช่น สิทธิในการอาศัยอยู่ในอากาศที่สะอาด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ หรือสิทธิที่จะได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดมลพิษต่าง ๆ เช่นสารพิษ หรือมลพิษจากขยะพลาสติก เป็นต้น
  • การรับรองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของนักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม – นักปกป้องสิทธิ์เหล่านี้คือกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงเพราะเป็นกลุ่มบุคคลหน้าด่านของการต่อกรกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและเป็นคนที่ปกป้องทรัพยากรเพื่อประชาชนคนอื่น ๆ 
  • สิทธิในการดำรงชีวิต – เพราะประชาชนหลายส่วนไม่ว่าจะเป็นชุมชน กลุ่มเด็กและผู้หญิง กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่มเปราะบาง ได้รับผลกระทบจากวิกฤตความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ 

ประเด็นเหล่านี้คือสิ่งที่เราอยากเห็นจากพรรคการเมืองผนวกเข้าไปในนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม มากกว่าการกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมที่แยกขาดออกจากชีวิตประชาชนและสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ยังได้ฝากคำถามต่อพรรคการเมืองที่มาแสดงวิสัยทัศน์ในงาน ดังนี้

  • พรรคการเมืองต่าง ๆ มีนโยบายที่จะปกป้องนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนที่ออกมาขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือเสรีภาพที่จะได้พูดความจริงต่ออำนาจ อย่างไร 
  • พรรคการเมืองมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการชดเชยต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดกับประชาชนอย่างเป็นธรรมอย่างไร ทั้งการชดเชยที่เกิดขึ้นจากผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 
  • พรรคการเมืองมีนโยบายอย่างไรที่จะป้องกันกลุ่มทุนในการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากร ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน

ส่องคำตอบพรรคการเมือง

พรรคเพื่อไทย โดย จาตุรนต์ ฉายแสง นำเสนอนโยบายของพรรคในประเด็นสิ่งแวดล้อม โดยกล่าวว่าแม้ว่าไทยจะร่วมลงนามเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลากหลายด้าน แต่ยังไม่สามารถจัดการปัญหาได้จริง โดยเฉพาะประเด็นสิทธิชุมชนคนอยู่ร่วมกับป่า โดยให้ความเห็นว่ากฎหมายไทยปัจจุบันยังกำหนดให้พื้นที่ป่าเป็นทรัพยากรของรัฐและอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนเป็นเพียงผู้เข้าไปอยู่อาศัย(ซึ่งรัฐไม่อยากให้อยู่) ประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของป่า จึงทำให้สิทธิของกลุ่มคนชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่ามาเนิ่นนานถูกลิดรอน ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี 

ดังนั้น หากพรรคได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาซึ่งต้องเปลี่ยนแนวคิดเป็น คนคือเจ้าของป่าและอยู่ร่วมกับป่าได้ และจะต้องได้รับประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของป่า รวมทั้งจะผลักดัน ระบบ ‘คาร์บอน เครดิต’ 


พรรคก้าวไกล โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ ตอบคำถามและนำเสนอนโยบายของพรรคในประเด็นสิ่งแวดล้อมว่าหากพรรคได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลจะปรับปรุงเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยเน้นที่การแก้กฎหมายในรัฐธรรมนูญ เป็นหัวข้อต่าง ๆ  ดังนี้

  • กฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก 
  • การแก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุม – การชุมนุมโดยสันติเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนแม้ว่าจะไม่แจ้งล่วงหน้าก็สามารถชุมนุมโดยสันติได้ 
  • กฎหมายคุ้มครองสิทธิ์ในการบวนการยุติธรรม – เพื่อป้องกันการฟ้องคดีเพื่อปิดปาก (Strategic lawsuits against public participation : SLAPP suits) ซึ่งนักรณรงค์และนักกิจกรรมปกป้องสิทธิมักจะถูกฟ้องคดีเพื่อปิดปากบ่อยครั้ง
  • แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่ม 2 สิทธิที่ขาดหายไปในรัฐธรรมนูญปี 60 คือประเด็นสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิของการมีส่วนร่วมลงความเห็นของชุมชนต่อโครงการอุตสาหกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน 
  • กฎหมายเอาผิดผู้ก่อมลพิษ – ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศ (ออกกฎหมายฝุ่นข้ามพรมแดน) ก๊าซเรือนกระจก (ออกกฎหมายกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ) ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบต่อมลพิษที่ตนเองก่อขึ้น

พรรคไทยสร้างไทย โดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหนึ่งเดียวของเวที นำเสนอประเด็นสิทธิในการนำเสนอข่าวสาร โดยชี้ให้ห็นถึงปัญหาจากความพยายามควบคุมสื่อผ่านกฎหมายของรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งนิยามคำว่าสื่อกว้างมากและทำให้เสี่ยงต่อการเกิดกรณีความพยายามปิดปากประชาชน ซึ่งหากพรรคของตนได้รับเลือกเป็นรัฐบาลจะแก้ไขตัวร่างกฎหมายนี้ ให้สิทธิเสรีภาพกับสื่อ influencers และบุคคลที่มีความคิดเห็นต่าง ๆ สามารถแสดงความเห็นได้เต็มที่


พรรคประชาธิปัตย์ โดย รัชดา ธนาดิเรก นำเสนอวิสัยทัศน์ด้านสิทธิสิ่งแวดล้อมของพรรคได้แก่

  • ปกป้องสิทธิของนักกิจกรรม นักรณรงค์ในประเด็นต่าง ๆ หากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล จะดำเนินการแก้ไขผ่านการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.การป้องกันการฟ้องปิดปาก
  • สนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ยกตัวอย่างเช่นการกำหนดพื้นที่ของโรงงานอุตสาหกรรม ไซต์ก่อสร้าง และมีมาตรการจูงใจให้เกษตรกรลดการเผา เช่นปลูกพืชอื่น ๆ แทนข้าว,ข้าวโพด

พรรคเสรีรวมไทย โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร ให้ความเห็นว่าหากพรรคตนไปรับเลือกตั้งเป็นรัฐบาล จะทำให้ประชาชนได้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอากาศสะอาด เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับ และกล่าวถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษในภาคเหนือและอีกหลายจังหวัด ซึ่งมองว่าเป็นปัญหา 2 ระดับ คือปัญหาในประเทศ และปัญหาระหว่างประเทศ และเสนอนโยบายดังนี้

  • ฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นปัญหาภายในประเทศ จึงควรมีการออกกฎหมายควบคุมโรงงานให้เข้มงวดมากขึ้น
  • ฝุ่นพิษที่เป็นมลพิษข้ามพรมแดนเป็นปัญหาระหว่างประเทศ ควรมีการเจรจาหรือร่วมทำสัญญาประชาคมเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นรวมทั้งพัฒนาให้แต่ละประเทศมีอากาศสะอาดร่วมกัน
  • การนำระบบคาร์บอนเครดิตมาใช้แบบบังคับ มิใช่การใช้คาร์บอนเครดิตแบบสมัครใจ โรงงานใด อุตสาหกรรมใดที่ปล่อยมลพิษมากจะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนมากกว่าโรงงานหรืออุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษน้อยกว่า

พรรคสามัญชน โดย กรกนก คำตา กล่าวว่าในนโยบายด้านป่าไม้และที่ดิน พรรคสามัญชนจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม 14,000 คดี เพราะในปัจจุบันมีประชาชน ชาวไร่ชาวนาที่ทำไร่ทำสวนทับซ้อนกับพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นอุทยานจาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ถูกรัฐจับกุมดำเนินคดี และยังมีผู้เสียชีวิตในระหว่างการคุมขังของรัฐอีกด้วย ดังนั้นเป้าหมายของพรรคคือการคืนสิทธิ์ให้กับประชาชนได้ทำกินบนพื้นที่ของตนเองที่เคยอยู่อาศัยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ


ไม่ว่านโยบายสิ่งแวดล้อมจะเป็นจุดขายของพรรคการเมืองต่างๆ หรือไม่ หากปราศจากการรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชน นโยบายเหล่านั้นก็ถูกใช้สร้างความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติไม่มีที่สิ้นสุด นี่คือเหตุผลว่าทำไมต้อง #VoteForClimateJustice

การเลือกตั้ง 2566 นี้ กรีนพีซ ประเทศไทย อยากชวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคนมาร่วม #เข้าคูหากาสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย

หากคุณสนใจติดตามข่าวสารงานรณรงค์ #VoteForClimate เข้าคูหากาสิ่งแวดล้อม ของกรีนพีซ สามารถสมัครรับจดหมายข่าวได้ที่ลิงก์ด้านล่าง

ตามติดแคมเปญ #VoteForClimate

สิ่งแวดล้อมกับคุณภาพชีวิตของเราเชื่อมโยงกัน การเลือกตั้ง 2566 กรีนพีซ ประเทศไทย อยากชวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคนมาร่วม #VoteForClimate เข้าคูหากาสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย

เกี่ยวกับแคมเปญ