ข่าวน่ายินดีและเป็นอีกหนึ่งก้าวแรกที่สำคัญของความคืบหน้าของการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกับความมั่นคงในที่ดินทำกินและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้สำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ป่า เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้มอบหนังสืออนุญาตตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และการอนุมัติโครงการตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ให้กับประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการประกาศอย่างเป็นทางการว่า สามารถอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะนำมาซึ่งอาชีพที่มั่นคง การผลิตที่ยั่งยืน รวมถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม หากชุมชนผู้อยู่กับป่ามีสิทธิอย่างแท้จริงในถิ่นฐานของตน

© Visarut Sankham / Greenpeace

กรณีตัวอย่างที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอำเภอที่มีพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของเชียงใหม่ และมักถูกกล่าวอ้างว่าเป็นอำเภอที่เชื่อมโยงกับการเผาและเป็นต้นเหตุของการก่อมลพิษเสมอมา ซึ่งที่จริงนั้นก่อนที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะเข้ามาประชากรส่วนใหญ่ของแม่แจ่มเป็นชนพื้นเมืองกะเหรี่ยง ม้ง ลั๊ว ที่เน้นการปลูกพืชที่หลากหลายและไร่หมุนเวียนเพื่อบริโภคในครัวเรือนและประกอบอาชีพ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้กล่าวไว้ว่า “พื้นที่ชุมชนและชนพื้นเมืองที่ถูกกดทับด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมจนกระทั่งไร้สิทธิและที่ทำกิน มักกลายเป็นพื้นที่ที่พบการขยายตัวของการทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงกว่าพื้นที่อื่น นโยบายที่ส่งเสริมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของรัฐนั้นยิ่งมาซ้ำเติมให้ผู้คนมีทางเลือกในการดำรงชีวิตตามวิถีน้อยลง และหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้น หนี้สินและความยากจนมาพร้อมกับการถูกประทับตราว่าเป็นผู้เผาทำลายป่าสร้างฝุ่นควัน โดยไม่ถามถึงนโยบายรัฐที่ส่งเสริม แต่บริษัทอุตสาหกรรมที่ได้ผลประโยชน์กลับรอดพ้นจากการเป็นจำเลยสังคม ไม่จำเป็นต้องมีภาระรับผิดใด ๆ ส่งผลให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น” 

© Visarut Sankham / Greenpeace

ความสำเร็จที่น่ายินดีในครั้งนี้จะต้องขยายต่อไปยังเขตพื้นที่อื่นๆ เพื่อคืนสิทธิพื้นฐานในการดำรงชีวิตให้กับชุมชนและชนพื้นเมืองในเขตพื้นที่ป่าที่อาศัยอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ กรีนพีซ ประเทศไทย มีข้อเสนอต่อพรรคการเมือง ผู้กำหนดนโยบาย และรัฐบาลไทย ต่อประเด็นสิทธิชุมชนของคนกับป่า ดังนี้

  • ผ่าน (ร่าง) พรบ.คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิวิถีชีวิตชนพื้นเมืองชาติพันธุ์เพื่อรับรองสิทธิในการดํารงชีวิตและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้อย่างยั่งยืน
  • ผลักดันนโยบายแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่ดินทำกินอยู่อาศัยในเขตป่า และรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการป่าที่ครอบคลุมการอนุรักษ์ ฟื้นฟูดูแลและการใช้ประโยชน์ จะนำมาซึ่งการผลิตที่มั่นคง ยั่งยืน และลดวิกฤตมลพิษทางอากาศ
© Visarut Sankham / Greenpeace

สิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและอนุรักษ์นั้น จะสามารถแก้ปัญหาความไม่มั่นคงกรณีที่อยู่อาศัยและทำกินซึ่งเชื่อมโยงอย่างมีนัยยะกับนโยบายการสนับสนุนพืชเกษตรที่ไม่ยั่งยืน สิทธิของคนที่อยู่อาศัยพึ่งพิงและดูแลรักษาผืนป่าอย่างเช่นชุมชนและชนพื้นเมืองจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศในการปกป้องผืนป่าและต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศต่อไป