เรื่องราวของไข่ครึ่งซีกที่ต้องแบ่งกันกินในบ้านของข้าวปุ้นจากเนื้อหาของแบบเรียนภาษาไทยชั้นป.5 นอกจากรัฐจะทำให้ความจนเป็นความโรแมนติกแล้ว อีกมุมมองหนึ่ง หากมองเรื่องความยากจนและการขาดแคลนอาหารในกรณีนี้สามารถสะท้อนถึงปัญหาการผูกขาดของการผลิตอาหารภายใต้ระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรม ที่รัฐยังไม่เคยลงมือแก้ปัญหาแต่กลับยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำนี้ และเพราะเหตุใดที่ครอบครัวหนึ่งที่หนังสือเรียนยกขึ้นมาเป็นตัวแทนครอบครัวที่ยากจนของประเทศจึงไม่สามารถมีไข่กินมากกว่าคนละครึ่งซีก ทำไมประเทศที่อ้างว่าครัวไทยจะเป็นครัวของโลกกลับมีครอบครัวที่มีอาหารไม่เพียงพอต่อการยังชีพในแต่ละวัน 

© Emma Stoner / Greenpeace

อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่ใช้ทรัพยากรในประเทศมหาศาลได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐอย่างเต็มที่ในการเติบโตและขยายอิทธิพลในการครอบงำระบบอาหารของประเทศ อุตสาหกรรมอาหารของประเทศไม่ใช่ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอกับการเลี้ยงคนในประเทศ แต่สามารถส่งออกไปทั่วโลกจนกระทั่งติดอันดับต้นของโลกในการส่งออกอาหารประเภทหมูและไก่ หรือแม้แต่การจัดอันดับมหาเศรษฐีจำนวน 2,640 คนทั่วโลกโดยนิตยสาร Forbes ในปี 2023 มีหนึ่งในสามของคนไทยที่ติดอันดับเป็นเจ้าของบริษัทอุสาหกรรมเกษตรและอาหารที่ใหญ่ที่สุดในไทย ครอบครองทรัพย์สินมูลค่า 508 พันล้านบาท 

ความเหลื่อมล้ำที่หนังสือเรียนพลาดที่จะสะท้อนอาจไม่ใช่แค่เพียงฐานะชนชั้นที่ต่างกันของข้าวปุ้นและใยบัวผ่านทางมื้ออาหาร แต่นี่ใช่ความผิดพลาดเชิงโครงสร้างอันเกิดจากนโยบายรัฐที่ส่งเสริมทุนผูกขาดหรือไม่ที่ทำให้ไข่แพงจนกระทั่งมีราคาสูงเกินที่ครอบครัวหนึ่งจะมีพอเลี้ยงดูคนในบ้าน แล้วไทยจะเป็นครัวของโลกได้อย่างไร ในเมื่อคนในประเทศยังไม่สามารถเลี้ยงได้

ไข่ไก่ไทยส่งออกกว่า 282 ล้านฟอง แต่ข้าวปุ้นได้กินแค่ครึ่งฟอง

ในปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถผลิตไข่ไก่เพื่อส่งออกได้จำนวน 282 ล้านฟอง มูลค่า 1,238 ล้านบาท โดยมี 2 ตลาดหลักสำคัญ คือ ฮ่องกงและสิงคโปร์  ซึ่งเติบโตจากการผลิตไข่ไก่เพื่อส่งออกในปี 2546 ที่ผลิตเพื่อส่งออกเพียง 40 ล้านฟอง นอกจากนี้ในปี 2566 ไทยยังได้เปิดตลาดการส่งออกไข่ไก่ไปยังไต้หวันเพิ่ม ประเดิมการส่งออกรอบแรก 5-8 ล้านฟอง เมื่อเดือนมีนาคม โดยที่นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุเพิ่มว่า ยอดการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเจรจาเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ โดยคาดว่าจะมีการเปิดตลาดของไข่สดอีกหลายประเทศ และการขยายการส่งออกเช่นนี้เพื่อที่ “ประเทศไทยสามารถรักษาระดับการผลิตและการบริโภคให้ใกล้เคียงภาวะสมดุล” (สำนักข่าว PPTV

อีกด้านหนึ่งสำนักข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า การส่งออกไข่ไก่ของไทยพุ่ง 197% ในปี 2566 แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ การส่งออกไข่ไก่ไปไต้หวัน 5-8 ล้านฟอง ทำให้ราคาในประเทศพุ่งทันที เช่น มีการประกาศปรับราคาไข่หน้าฟาร์มให้สูงขึ้นสองรอบในสัปดาห์เดียวรวมแล้ว 40 สตางค์ต่อฟอง จากราคา 3.20 บาท ต่อฟอง เป็น 3.60 บาท และทำให้ราคาปลีกไข่ไก่เบอร์สามขยับขึ้นแผงละ 11-12 บาท การครอบงำและผูกขาดทางการตลาดจากการผลิตรวมศูนย์เพื่อการส่งออกทำให้กลไกการกำหนดราคาอาหารนั้นเป็นไปตามทุนใหญ่ โดยที่ผู้บริโภคคือผู้ที่ต้องรับผลจากราคาที่สูงขึ้น ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะมีครอบครัวอย่างข้าวปุ้นอีกจำนวนมากที่ไม่มีแม้แต่ไข่เต็มฟองให้กิน ในขณะที่ไทยกำลังอิ่มเอมจากการส่งออกและผลกำไรที่ได้มา

ไข่ไก่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการผลิตและครอบงำของอุตสาหกรรมอาหารที่ไทยเน้นการผลิตเพื่อผลกำไรทางเศรษฐกิจไม่ใช่เพื่อปากท้องของประชาชน  ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับการก่อมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนที่ภาคเหนือตอนบนของไทยและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจากการนโยบายส่งเสริมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยเพื่อเป็นวัดถุดิบอาหารสัตว์สำหรับปศุสัตว์เพื่อการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อไก่และเนื้อหมู อีกหนึ่งกรณีที่ชัดเจนคืออัตราการผลิตเนื้อไก่ (ไก่เนื้อเป็นคนละสายพันธุ์กับไก่ไข่ แต่ไก่ไข่เมื่อพ้นอายุที่ผลิตไข่ได้ปริมาณสูงสุด คือ 1 ปี จะถูกฆ่าเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อไก่เช่นกัน) ของประเทศไทยนั้นมีอัตราการผลิตที่สูงกว่าการบริโภคในประเทศตลอดมา ดังที่งานวิจัยกรุงศรีได้นำข้อมูลสถิติจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรมาสรุปให้เห็นภาพชัดเจนตามกราฟด้านล่างนี้

ภาพและข้อมูล: วิจัยกรุงศรี

ผลลัพธ์ของไข่ครึ่งซีกนั้นไม่ใช่ความสุขใจในครอบครัว แต่คือความทุกข์จากการที่รัฐทิ้งคนที่ขาดแคลนอาหารไว้ด้านหลัง และมุ่งเน้นการผลิตโดยใช้ฐานทรัพยากรในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ที่ดิน คุณภาพอากาศ สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของคนไทย เพื่อต่อยอดให้กับการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารไทยไปสู่ครัวโลก 

ความภาคภูมิใจของรัฐบาลไทยอยู่ตรงไหน หากครัวไทยไปสู่ครัวโลกสำเร็จได้ แต่อีกหลายปากท้องแบบข้าวปุ้นมีกินแค่ข้าวเปล่า น้ำปลา และไข่ครึ่งฟอง