‘ใน อ.แม่สาย ไม่มีจุดความร้อนเลย แต่ประชาชนในอำเภอกลับได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 จากการเผาอย่างหนัก ปัญหาฝุ่นใน อ.แม่สาย มักจะมาจากมลพิษที่ข้ามพรมแดนมา จึงหาข้อมูลเพิ่มเติมและทราบข้อมูลเรื่องการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในปี 2565 ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากพม่าสูงถึง 14,312 ล้านบาท และจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับนักวิชาการหลายคนทำให้เราเชื่อว่านี่คือหนึ่งในสาเหตุของมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในแม่สาย’ – นายกเอ (ชัยยนตร์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย)

25 เมษายน ที่ผ่านมา กรีนพีซ ประเทศไทย มีโอกาสพูดคุยในประเด็นฝุ่นพิษในภาคเหนือตอนบนและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใน จ.เชียงราย และหลายจังหวัดในภาคเหนือ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจในงานเสวนา “ฝุ่นพิษแม่สาย” โดยเทศบาลตำบลแม่สาย และร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบรวมทั้งภาคส่วนท้องถิ่น 

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบนของไทย โดยเน้นที่ข้อมูลของจังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุดในทุก ๆ ปี 2 อันดับแรกคือน่านและเชียงราย และนำเสนอข้อมูลมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน โดยในช่วงปี 2558 – 2563 มีพื้นที่ป่า 10.6 ล้านไร่ในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงถูกกทำลายและกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (พื้นที่ราวครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตภาคเหนือของ สปป.ลาว)

นอกจากนี้ยังนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายรัฐที่สนับสนุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งนโยบายสนับสนุนในประเทศที่เป็นระบบเกษตรพันธะสัญญาและมาตรการลดภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหลือ 0% ที่ยิ่งเกื้อหนุนให้เกิดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้น 

ชัยยนตร์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย เสนอข้อเรียกร้องการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยอ้างอิงจาก ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area – AFTA) เป็นความตกลงการให้สิทธิพิเศษในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านการค้า ซึ่งความตกลงดังกล่าวระบุว่าการดำเนินการหากเกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่หรือกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มประเทศสมาชิกจะต้องเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา 

ดังนั้นเมื่อการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุมลพิษข้ามพรมแดนและกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชน รัฐบาลไทยในฐานะหนึ่งในกลุ่มสมาชิกก็ต้องเข้ามาเจรจาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นภาคเหนือในระยะยาว เช่น การสั่งชะลอการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้วศึกษาถึงผลกระทบด้านมลพิษทางอากาศ หาทางออกร่วมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น

ในงานยังเปิดเวทีให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตฝุ่นพิษในภาคเหนืออีกด้วย ทรงศรี คมขำ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กล่าวในฐานะของผู้ประสบภัยฝุ่นพิษ PM2.5 ในจังหวัดเชียงรายว่า หลายเดือนที่เธอและครอบครัวต้องอาศัยอยู่ท่ามกลางมลพิษทางอากาศ คนเชียงรายกลายเป็นผู้ประสบภัยและเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจ ยิ่งคนที่เป็นกลุ่มเปราะบางก็ยิ่งเสี่ยง เวทีนี้ทำให้เราได้รับทราบข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับประเด็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่เคยรู้มาก่อน และหวังว่าเราจะสามารถร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ได้เพื่อเชียงรายจะได้มีอากาศสะอาดให้เราหายใจอีกครั้ง

การจะแก้ปัญหา #ฝุ่นควันภาคเหนือ #มลพิษข้ามพรมแดน โดยโทษเกษตรกรที่เผาพื้นที่เพาะปลูกฝ่ายเดียว แต่กลับไม่เอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ กรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องให้ภาครัฐต้องเอาผิดอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษ PM2.5 และการทำลายป่า นี่คือวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ส่งผลร้ายแรงและถูกเพิกเฉยจากรัฐมายาวนาน ถึงเวลาคืนอากาศสะอาดให้กับประชาชน