ปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารกำลังกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นทุกที นอกจากสภาพภูมิอากาศอันไม่แน่นอนซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกโดยตรง การผลิตพืชอาหารอย่างเช่นข้าวก็กำลุงถูกคุกคามโดยพืชอาหารสัตว์อย่างเช่นข้าวโพด ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ 1,400 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา

อย่างไรก็ตามการสูญเสียพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารเป็นเพียงหนึ่งในปัญหามากมายอันเนื่องมาจากการปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมที่กำลังคุกคามสิ่งแวดล้อมและมนุษย์

เกิดอะไรขึ้นกับสิ่งแวดล้อม?

จากอาหารสัตว์สู่โรงงาน
อาจจะจริงที่การปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมให้พื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์น้อยกว่า แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าสัตว์เหล่านี้ยังคงต้องกิน  และการผลิตอาหารสัตว์นั้นจะต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกอย่างมหาศาล ประมาณกันว่า 80% ของถั่วเหลืองที่ผลิตขึ้นทั่วโลกถูกนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ และโดยมากยังเป็นถั่วเหลืองที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นให้ทนต่อยาฆ่าหญ้า

ความต้องการใช้พื้นที่การเกษตรอันไร้ขีดจำกัดคือหายนะต่อพื้นที่ป่าไม้ทั่วโลก พื้นที่อันมหาศาลในป่าอเมซอนซึ่งเป็นป่าที่สำคัญของโลกได้ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกถั่วเหลือง เช่นเดียวกันกับในประเทศไทยที่พื้นที่ป่าอันเขียวขจีในภาคเหนือได้กลายมาเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ดูแห้งแล้งและไร้ซึ่งชีวิต

ป่าฝนในอเมซอนถูกเผาเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองให้กับบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่

แปลงปลูกถั่วเหลืองขนาดยักษ์ในเซอราโด ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความสมบูรณ์ทางนิเวศ

พื้นที่ป่าในภาคเหนือของไทยที่กลายมาเป็นแปลงปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์

การสูญเสียพื้นที่ป่าเป็นตัวการสำคัญในการเร่งให้การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศให้มีความรุนแรงมากขึ้น และมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาน้ำท่วมและปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

การปลูกพืชอาหารสัตว์ยังใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างมาก ในจังหวัดน่านเพียงจังหวัดเดียวซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์พบว่าเกษตรกรใช้สารเคมี 2,400,000 กิโลกรัมต่อปีและพบว่ามีสารเคมีทางการเกษตร หรือ ยาฆ่าหญ้าชนิดต่าง ๆ ปนเปื้อนในเนื้อปลา และน้ำประปา และน้ำดื่ม

หายนะทางสิ่งแวดล้อมไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบนแผ่นดินเท่านั้น ไกลออกไปในท้องทะเลตัวอ่อนของเศรษฐกิจกำลังถูกจับเพื่อมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ทำลายโอกาสในการขยายพันธุ์ส่งผลให้ปริมาณปลาเศรษฐกิจลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการประมงอย่างทำลายล้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งอวนลากยังเป็นตัวการสำคัญในการทำลายระบบนิเวศในท้องทะเล

ในขณะที่การปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมได้สร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อมไม่น้อยไปกว่ากัน การปศุสัตว์สร้างก๊าซเรือนกระจกมากกว่าภาคคมนาคมทั้งหมดซึ่งส่วนมากมาจากการเลี้ยงวัว ประมาณกันว่าในการจะผลิตเนื้อวัวและนมให้เพียงพอต่อการบริโภคต่อปีของมนุษย์หนึ่งคนนั้นจะต้องใช้น้ำมากถึง 403,000 ลิตร หรือเทียบได้กับการอาบน้ำ 6,190 ครั้ง! น้ำเสียจำนวนไม่น้อยจากโรงฆ่าสัตว์ก็ถูกปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติโดยไม่มีการบำบัด

อย่างไรก็ตาม การปศุสัตว์ไม่ได้เพียงแค่สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ด้วย

ผลกระทบทางสุขภาพ

ในปี 2558 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าเนื้อสัตว์แปรรูปและเนื้อแดงอาจเป็นสารก่อมะเร็ง (probably carcinogenic) นี่เองที่ทำให้เราต้องหันมาพิจารณาว่าสิ่งที่เรารับประทานอยู่นั้นมันให้คุณหรือโทษกันแน่
ข้อมูลในปี 2554 พบว่าประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากถึง 8,481 ตัน คิดเป็นน้ำหนักได้มากเท่ากับรถทัวร์สองชั้น 706 คัน!

การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้องและเกินความจำเป็นในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ได้นำไปสู่การเกิดยีนส์ดื้อยาปฏิชีวนะ คาดการณ์ว่าทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาปีละ 700,000 คน และหากไม่เร่งแก้ไขปัญหาคาดว่าในอีก 35 ปีข้างหน้า การเสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาจะสูงถึง 10 ล้านคน ประเทศในแถบเอเชียจะมีคนเสียชีวิตมากที่สุด คือ 4.7 ล้านคน คิดเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงราว 3.5 พันล้านล้านบาท (100 trillion USD)

สำหรับประเทศไทย การศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณปีละ 88,000 ราย โดยเสียชีวิตประมาณปีละ 38,000-45,000 ราย คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท

ในประเทศไทยมีการตรวจพบ สารเร่งเนื้อแดง ในเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นตัวการของโรคมะเร็ง และตรวจพบดินประสิวใน ไส้กรอกกว่า 90% ส่งผลให้ผู้รับประทานมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เวียนหัว จากการได้รับพิษเฉียบพลัน

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศเนเธอร์แลนด์ (Dutch food safety authority หรือ NWMA) ประกาศว่าได้ตรวจพบไข่จำนวนหลายหมื่นฟองที่ปนเปื้อนสารฟิโปรนิล (Fipronil) ซึ่งเป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่ถูกห้ามใช้ในอุตสาหกรรมอาหารในสหภาพยุโรป

แล้วเราจะทำอะไรได้?

ทางออกในเรื่องนี้ง่ายพอ ๆ กับการที่คุณคิดว่ามื้อนี้คุณจะกินอะไรดี คุณสามารถช่วยปกป้องพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหาร สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคุณเองด้วยการรับประทานผักที่มาจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศให้มากขึ้น แวะซื้ออาหารจากตลาดอินทรีย์ที่เกษตรกรมาขายตรงสู่มือท่าน หากคุณจำเป็นจะต้องกินเนื้อสัตว์ขอให้เลือกที่มาจากการเลี้ยงแบบพื้นบ้านไม่ใช่การปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรม

อ่านเพิ่มเติม รายงานการปศุสัตว์เชิงนิเวศ