ในเดือนเมษายนของทุกปี ทั้งโลกจะเฉลิมฉลองวันคุ้มครองโลก (Earth Day) บริษัทต่าง ๆ มักจะอาศัยจังหวะนี้โปรโมทแคมเปญด้านความยั่งยืน แต่ปีนี้มีความพิเศษที่ทำให้บริษัทต่าง ๆ ให้ความสนใจ คือ ธีมของปีนี้ที่พูดถึงการลงทุนเพื่อโลกของเรา ทำให้เกิดคำถามว่าบริษัทต่าง ๆ จะตีโจทย์เรื่องความยั่งยืนออกมาเป็นแบบไหนและจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร

© Victor Cebemos / Greenpeace

โลกกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต

โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตอันยิ่งใหญ่สามสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกัน นั่นคือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและมลพิษต่าง ๆ ที่กำลังคุกคามการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ การพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเปรียบเสมือนการเผาทำลายโลกอย่างแท้จริง นักวิทยาศาสตร์ต่างออกมาเตือนว่าเราต้องยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะสร้างก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายชั้นบรรยากาศของโลก

โลกที่เต็มไปด้วยพลาสติก

ในปัจจุบัน เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยว่าพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดมลพิษและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ พลาสติกเป็นผลผลิตพลอยได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิลและนั่นอนุมานได้เลยว่าตั้งแต่กระบวนการผลิตพลาสติกไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายของการใช้งานนั้นพลาสติกเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ตอนนี้มีพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งประมาณ 7 พันล้านตันกระจายตัวอยู่บนโลกใบเดียวกันกับที่เราทุกคนอาศัยอยู่ บริษัทต่างตระหนักรู้ดีว่าตนเป็นหนึ่งในต้นตอของมลพิษพลาสติกแต่ยังแก้ปัญหานี้ไม่มากพอ ทั้งยังผลักภาระทั้งหมดไปให้กับผู้บริโภคที่ต้องเป็นคนจัดการขยะพลาสติกทั้งหมด พลาสติกไม่เคยหายไป มีแต่จะกลายเป็นวิกฤตที่ไม่มีใครแก้ไข และสร้างความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม

© Greenpeace

ถือว่าเป็นเรื่องราวที่ดีเมื่อวันคุ้มครองโลกในปีนี้มุ่งเป้าไปที่บริษัทและผู้ก่อมลพิษพลาสติกซึ่งมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ธีม“การลงทุนเพื่อโลกของเรา” ควรเป็นแรงผลักดันให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนเพื่อให้เกิดการชะลอตัวในเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งลดของเสียและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ตามแถลงการณ์ของ Earthday.org ระบุว่า “ทุกคนต้องมีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน” แต่สำหรับผู้คนหลายพันล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติก โดยเฉพาะประชากรในซีกโลกใต้รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางเลือก รัฐบาลควรควบคุมอุตสาหกรรมการผลิตมากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างการผลักภาระมาให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติก

สนับสนุนสนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastics Treaty)

ทั้งหมดที่กล่าวมาก่อนหน้าเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราต้องการให้มีการสนับสนุนสนธิสัญญาพลาสติกโลก สนธิสัญญาพลาสติกโลกฉบับนี้จะไม่เพียงออกข้อบังคับให้มีการลดการผลิตพลาสติกและวิธีการกำจัดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ยังผลักดันให้รัฐและอุตสาหกรรมหาทางออกที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ความหมายที่แท้จริงของสนธิสัญญาพลาสติกโลกคือเกิดการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่รูปแบบธุรกิจการเติมและนำกลับมาใช้ซ้ำ (refill and reuse business) ซึงยั่งยืนมากกว่าระบบที่พึ่งพาพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

© Johanna Hanno / Greenpeace

อย่างไรก็ตาม การที่จะสร้างข้อตกลงที่มีผลทางกฎหมาย  รัฐและอุตสาหกรรมควรตระหนักถึงความปลอดภัยและมีความเป็นธรรมต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางอย่างคนงานเก็บขยะ แรงงานในอุตสาหกรรม ธุรกิจขนาดเล็กและคนในชุมชนที่มีรายได้จากการพึ่งพาการเก็บขยะพลาสติก

หัวใจของสนธิสัญญาพลาสติกโลกฉบับนี้ต้องรอบคอบ เท่าเทียมและไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั้นได้รับคำปรึกษาและมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงซึ่งรวมถึงการตัดสินใจต่าง ๆ ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสภาพเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนขนาดเล็ก

สิ่งสำคัญที่สุดของสนธิสัญญาพลาสติกโลกต้องเป็นแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง  ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างการเผาแบบทำลายล้างที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มอัตราเร่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

© Nick Cobbing / Greenpeace

สนธิสัญญาฉบับนี้จะช่วยศึกษาวิธีการแก้ปัญหาเรื่องการนำกลับมาใช้ใหม่และนวัตกรรมต่าง ๆ จากชนพื้นเมืองและประชากรในซีกโลกใต้ นอกจากนี้ควรบังคับให้รัฐและภาคธุรกิจสนับสนุนทางการเงินและสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาระบบใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ เช่นเดียวกันกับการลงทุนในงานวิจัยเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่คงทน ใช้งานได้นาน ไม่พึ่งพาสารพิษ และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้จริง

เริ่มลงมือทำเดี๋ยวนี้!

สำหรับวันคุ้มครองโลกปีนี้ กรีนพีซและเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนอนาคตที่ปลอดพลาสติกนั้นกำลังเรียกร้องให้รัฐบาลและบริษัทแสดงความรับผิดชอบ มีความมุ่งมั่นและความทะเยอะทะยานที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาจะแสดงให้เราเห็นว่าเขาสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังเพื่อยุติปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและมลพิษพลาสติก

© Massimo Guidi / Greenpeace

การยุติการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งเกิดขึ้นได้หากทุกฝ่ายต้องร่วมมือ มีความมุ่งมั่นและตั้งใจแก้ปัญหานี้ แต่ผู้เล่นหลักที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องให้คำมั่น ลงแรงและเวลาเพื่อจัดการกับผลกระทบที่เกิดจากมลพิษพลาสติก เราจำเป็นต้องปกป้องโลกของเราจากมลพิษพลาสติกเพื่ออนาคตของลูกหลานและต้องมั่นใจว่าไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

Marian Ledesma เป็นนักรณรงค์โครงการขยะเป็นศูนย์ ที่กรีนพีซ ฟิลิปปินส์ Marian ยังเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยมลพิษพลาสติก หรือ INC2 ที่จะจัดขึ้นเดือนหน้าที่กรุงปารีส