จากข้อมูลงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมปี 2560 – 2565 โดยสำนักงบประมาณจะพบว่า การจัดสรรงบประมาณมีการขึ้นลงอย่างไม่คงที่ โดยจะเห็นว่างบสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นทีละน้อยตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปี 2564 แต่ในปี 2565 งบประมาณด้านนี้กลับถูกจัดสรรลดลง

สิ่งที่น่าสนใจคือแม้ว่างบประมาณการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมจะลดลง แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศกลับไม่ได้ลดตาม สวนทางกับสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นมลพิษรูปแบบต่าง ๆ ในประเทศ การละเมิดสิทธิชุมชนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและประเด็นระดับโลกอย่างวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ในความจริงแล้วงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมนี้นอกจากจะนำไปพัฒนาแก้ปัญหาเชิงรับ เช่น ใช้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ การแปรสภาพ และการกำจัด การจัดการสิ่งปฏิกูล และน้ำโสโครกในท่อระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย การจัดการและการก่อสร้างระบบท่อ ระบายน้ำ รางน้ำ ยังจะต้องใช้ในการแก้ปัญหาแบบเชิงรุกอีกด้วย เช่น การป้องกันสิ่งแวดล้อมทางอากาศและภูมิอากาศ การป้องกันพื้นดินและน้ำ บริเวณผิวดิน การลดมลภาวะทางเสียง การป้องกันกัมมันตภาพรังสี การก่อสร้างเขื่อนหรือรั้วกั้นเสียง มาตรการลดมลภาวะทางน้ำ การรักษาระบบนิเวศและภูมิทัศน์ ตลอดจนการวิจัยและการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมลดลง สวนทางกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น

1.ปริมาณขยะพลาสติก จากการรวบรวมปริมาณการเกิดขยะมูลฝอยย้อนหลัง จะเห็นได้ชัดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี และจากการสำรวจประเภทขยะมูลฝอยโดยกรมควบคุมมลพิษในรายงานสถานการณ์สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2563 ก็พบว่าขยะมูลฝอยมีสัดส่วนของขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastics) เพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงกับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19

แม้ว่าปริมาณขยะมูลฝอยในปี 2563 โดยรวมจะลดลง แต่กรมควบคุมมลพิษระบุว่ามาตรการกำหนดให้ปฏิบัติงาน Work From Home ทำให้ปริมาณพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single-Use plastic) เพิ่มขึ้น (มีปริมาณขยะพลาสติกเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ประมาณ 63,000 ตัน/วัน ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 15 ซึ่งมากกว่าขยะประเภทอื่น ๆ) โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีการใช้บริการสั่งซื้อสินค้าและอาหารผ่านระบบออนไลน์  

ขยะพลาสติกคือปัญหามลพิษ (Plastic Pollution) ที่ส่งผลกระทบต่อเราและชุมชน ซึ่งกรีนพีซเชื่อว่าเราต้องเน้นการแก้ปัญหาตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์พลาสติกตั้งแต่การผลิตไปจนถึงเมื่อพลาสติกหมดอายุการใช้งาน กรีนพีซ ประเทศไทยจึงเสนอหลักการ “การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต” (EPR) ว่าจะต้องเป็นหลักการสำคัญที่มีผลบังคับใช้ทางกฏหมายในการจัดการและป้องกันมลพิษพลาสติกของประเทศไทย


2.ปัญหาฝุ่นควันในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงวิกฤตมลพิษอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในภาคเหนือมีมานานกว่า 15 ปีแล้ว ทำให้หลายจังหวัดมีคุณภาพอากาศยํ่าแย่สูงเกินมาตรฐาน โดยสาเหตุหลักมาจากการเผาในที่โล่งในพื้นที่ป่าของรัฐ พื้นที่เกษตรของประชาชน รวมทั้งฝุ่นควันจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน บวกกับสภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งภูเขาและป่าผลัดใบ รวมถึงลักษณะอุตุนิยมวิทยาและเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่อาจทำให้เกิดความแห้งแล้งมากขึ้น ทั้งนี้ภาคเหนือยังมีความซับซ้อนของปัญหาจากภูมิสังคม มีกลุ่มชาติพันธุ์และผู้อาศัยในป่าและบนที่สูง ปัญหาสิทธิทํากินในเขตป่า ปัญหาลักษณะพืชเกษตรที่ทำกินในป่า

พื้นที่ 8 จังหวัดในภาค เหนือตอนบนของไทย มีการปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น จาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ (เพิ่มขึ้น กว่า 4 เท่า)

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบหลักเพื่อเลี้ยงสัตว์เชิงอุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าต้นน้ำ ซึ่งภาพที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์เมื่อกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็คือภูเขาหัวโล้นของภาคเหนือตอนบน

วิกฤตมลพิษ PM2.5 ยังคงเป็นความท้าทายของการจัดการมลพิษทางอากาศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เชื่อมโยงกับการปลูกข้าวโพดเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งโดยมากเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มักเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าและมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ทั้งในช่วงเตรียมพื้นที่เพาะปลูกและหลังการเก็บเกี่ยว


3.ปัญหาด้านมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ นอกจากมลพิษทางอากาศในภาคเหนือแล้ว ไทยยังต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และอีกหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นผลมาจากการคมนาคมและโรงงานอุตสาหกรรม การตื่นตัวกับการแก้วิกฤตฝุ่น PM2.5 ให้ตรงจุดผ่านการออกแบบนโยบายที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นโอกาสที่จะช่วยให้คุณภาพอากาศของประเทศไทยดีขึ้น

ในประเทศไทย ประมาณร้อยละ 100 ของประชากรทั้งหมดในประเทศได้รับฝุ่น PM2.5 มากกว่า 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก เด็กทารกและผู้สูงอายุมีแนวโน้มอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยรายปีสูงเกินกว่าค่าแนะนำด้านคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกถึง 5 เท่า

ประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดที่มีฝุ่นPM 2.5 เข้มข้นอย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจังหวัดในภาคเหนือนั้นมีอากาศดีหายใจแค่ประมาณ 2 เดือนครึ่งจากทั้งปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน 


4. ไทยยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อตัดสินใจออกแบบการพัฒนาที่เหมาะกับพื้นที่ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมร่วมน้อยเกินไป ยกตัวอย่าง การคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ใน อ.จะนะ จ.สงขลา เนื่องจากชุมชนเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวสามารถพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในแนวทางอื่น ๆ นอกจากการตั้งนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีชุมชนชายฝั่งอีกหลายแห่งได้รับผลกระทบจากการออกนโยบายแบบรวมศูนย์อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในการออกแบบนโยบายปกป้องทะเลและมหาสมุทร ผู้ออกแบบหรือพรรคการเมืองควรจะต้องให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนและการกระจายอำนาจสู่ประชาชนในการกำหนดอนาคตตนเอง บนข้อมูลด้านทรัพยากรและหลากหลายทางชีวภาพของทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งศักยภาพของชุมชนด้วย


5. ประเทศไทยและความเสี่ยงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศ 10 อันดับต้นที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในโลกจากผลกระทบของ วิกฤตสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ทั้งจากอุณหภูมิเฉลี่ยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นในฤดูน้ำหลากและน้อยลง ในฤดูแล้ง ภัยพิบัติทั้งอุทกภัย ภัยแล้งยาวนาน และพายุที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น สร้างความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจหลัก เช่น การเกษตร การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาเมือง การย้ายถิ่นฐานของประชากร การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการแพร่กระจายของโรค เป็นต้น

ข้อมูลจากรายงาน Global Climate Risk Index 2021 ที่เผยแพร่โดยสำนักงานประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA)) ระบุถึงดัชนีความเสี่ยงของประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ช่วงปี 2000 – 2019 ซึ่งประเทศ 9 อันดับที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

การรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศให้ได้ผลในเชิงรุกนั้น ไทยจำเป็นจะต้องมีนโยบายที่มีประสิทธิภาพและมีหลักปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม เปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เพื่อให้คนไทยเข้าถึงพลังงานได้อย่างเสมอภาค มีราคาที่เป็นธรรม และเพื่อให้ไทยร่วมบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีสที่โลกจะคงอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้สูงเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

กรีนพีซ ประเทศไทย ทำงานรณรงค์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

ผลักดันให้ไทยลด ละ เลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ชะลอการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ ป้องกันเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์

เพิ่มเติม

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเยอะขนาดนี้ แต่งบประมาณที่ได้รับช่างน้อยนิด

เมื่อดูสถิติด้านสิ่งแวดล้อมกันแล้ว เราจึงลองนำงบประมาณด้านอื่นของประเทศไทยมาเปรียบเทียบกันดูดีกว่า เห็นสีเขียวจิ๋ว ๆ ด้านล่างนั่นหรือเปล่า?

สีเขียวคืองบประมาณรายจ่ายในหมวดการสิ่งแวดล้อมย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 2560 ส่วนสีแดงคืองบการป้องกันประเทศ สีเหลืองคืองบการสาธารณสุข สีม่วงคืองบการศึกษา ซึ่งเห็นได้ชัดตัวเลขของงบการสิ่งแวดล้อมต่างกับงบอื่นอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว โดยในปี 2565 ยังลดลงอีกและคิดเป็นประมาณเพียงร้อยละ 0.3 ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด 

#VoteForClimate #เข้าคูหากาสิ่งแวดล้อม

ในการเลือกตั้ง 2566 นี้ ไม่ว่านโยบายสิ่งแวดล้อมจะเป็นจุดขายของพรรคการเมืองต่างๆ หรือไม่อย่างไร แต่หากปราศจากการรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี(right to a healthy environment) ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนแล้ว นโยบายสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นก็ถูกใช้เป็นกลไกในการฟอกเขียว สร้างความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติไม่มีที่สิ้นสุด

กรีนพีซ ประเทศไทย ในฐานะเป็นองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมได้ทำงานติดตามการพัฒนาวิสัยทัศน์และออกแบบนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่นำมาใช้ ในการหาเสียงเลือกตั้งที่จะมีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายสิ่งแวดล้อมซึ่งรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชาชนทุกคนในประเทศ

เพราะเสียงโหวตของคุณจะเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้าง สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของทุกคน

ตามติดแคมเปญ #VoteForClimate

สิ่งแวดล้อมกับคุณภาพชีวิตของเราเชื่อมโยงกัน การเลือกตั้ง 2566 กรีนพีซ ประเทศไทย อยากชวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคนมาร่วม #VoteForClimate เข้าคูหากาสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย

เกี่ยวกับแคมเปญ