หลังจากสถานการณ์ขยะในประเทศไทยเรา ครม. มีมติเห็นชอบนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดี แต่เมื่อเรามองดูประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย เราจะเห็นความก้าวหน้าของเขาในการส่งขยะกลับสู่ประเทศต้นทาง อันเป็นการแสดงออกถึงการปฎิเสธไม่ให้ประเทศตนเองเป็นที่ทิ้งขยะของประเทศต้นทางและต่อต้านวัฒนธรรมการส่งขยะไปทิ้งยังประเทศอื่น 

ปัว เล เปง นักเคมีที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดจากมลพิษพลาสติก © Low Choon Chyuan

ปัว เล เปง เป็นนักเคลื่อนไหวเรื่องปัญหาขยะพลาสติกในมาเลเซีย เธอทำงานรณรงค์ต่อต้านประเด็นนำเข้าขยะมาอย่างยาวนาน ปัวเริ่มต้นสนใจประเด็นนี้จากโรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติกที่ตั้งอยู่ในชุมชนของเธอและมันส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชน สุขภาพ มลภาวะทางอากาศ และสิ่งแวดล้อม ปัวจึงลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดของตนเอง ณ เมืองเจนจารอม รัฐเซลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย

“Recycling is greenwashing” การรีไซเคิลคือการฟอกเขียว

ปัว เล เปง (สองจากซ้าย) และเพื่อน ๆ นักกิจกรรมเดินสำรวจบ่อขยะพลาสติก

การรีไซเคิลไม่ใช่ทางออกของความยั่งยืน กระบวนการรีไซเคิลก่อให้เกิดมลพิษ เช่น โรงงานรีไซเคิลเศษกระดาษที่ต้องใช้พลังงานและกระบวนการให้ความร้อนสูง เช่น ในมาเลเซีย โรงงานรีไซเคิลกระดาษได้รับการอนุญาตให้ติดตั้งเตาเผาขยะ โรงไฟฟ้าก๊าซและโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างร้ายแรง เช่น มีน้ำเสียจำนวนมาก และเกิดมลพิษในแม่น้ำ Langat ในมาเลเซีย

ในกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก จะต้องมีการใช้น้ำและสารเคมี ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ และในกระบวนการหลอมละลายจะสร้างมลพิษทางอากาศตามชนิดของพลาสติกและอุณหภูมิที่ใช้ โรงงานต่างๆ จึงตั้งใจทำกระบวนการหลอมละลายในตอนกลางคืนเพื่อไม่ให้คนในชุมชนทราบว่า มลพิษเหล่านี้มาจากที่ไหน และในเวลากลางคืนก็ไม่มีมาตรการควบคุมใดๆ จากฝ่ายที่รับผิดชอบด้วย

Malaysia's Broken Global Recycling System. © Nandakumar S. Haridas / Greenpeace
กรีนพีซ มาเลเซีย สืบสวนถึงระบบการรีไซเคิลที่ม่ได้ประสิทธิภาพจนส่งผลกระทบต่อชุมชนในมาเลเซีย โดยสิ่งที่พบคือ พบหลุมขยะพลาสติกแห่งใหม่ที่เป็นขยะนำเข้ามาจาก 19 ประเทศ (ส่วนใหญ่มาจากประเทศพัฒนาแล้ว) การสืบสวนครั้งนี้พบกิจกรรมที่ละเมิดต่อกฎหมายซึ่งทำให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เป็นอันตรายต่อประชาชนชัดเจน © Nandakumar S. Haridas / Greenpeace

มลพิษทางน้ำและอากาศไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในกระบวนการรีไซเคิล ประเทศที่พัฒนาแล้วมีระบบและนโยบายที่ก้าวหน้ากว่าในด้านข้อกำหนดและการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม แล้วทำไมพวกเขาจึงเชื่อว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีระบบการตรวจสอบและคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมที่อ่อนแอ อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนามหรือไทยควรเป็นแหล่งรีไซเคิลขยะของตัวเอง

ครอบครัว สุขภาพ และชีวิตที่หายไป

แน่นอนว่าการต่อสู้ของปัวนั้นมีความเสี่ยง ปัวจึงไม่บอกครอบครัวของตัวเองในสิ่งที่เธอต่อสู้มากนัก แต่มีเพียงน้องสาวของเธอเท่านั้นที่ทราบและเคียงบ่าเคียงไหล่กับปัวเพื่อตรวจสอบประเด็นต่างๆ แม้ว่าในบางครั้งน้องสาวของปัวต้องการจะหยุด เพราะถูกข่มขู่จากโรงงาน แต่ปัวยังยืนยันเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไป 

“การนำเข้าขยะจากประเทศซีกโลกเหนือถือเป็นความพังพินาศของประเทศซีกโลกใต้ บ้านของเราไม่ใช่หลุมฝังกลบของคุณ เมื่อมลพิษพลาสติกเริ่มรุนแรงและจริงจังมากขึ้น ฉันได้รับข้อมูลนี้จาก Institute for Health Metrics and Evaluation (IHME) ที่บอกว่าอัตราการเกิดมะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2556 ปริมาณขยะพลาสติกนำเข้าก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2556 ในหมู่บ้านของฉัน เราสังเกตเห็นการเสียชีวิตจากระบบทางเดินหายใจและอัตราการเกิดมะเร็งเพิ่มขึ้นด้วย”

“ในขณะที่อัตราการเป็นมะเร็งสูงขึ้น แต่กลับปราศจากการดูแลด้านสาธารณะสุขจากรัฐ เราต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลด้วยตัวเราเอง เพื่อนของฉันเคยพูดกับฉันว่า เธอรู้ไหม การเป็นนักรณรงค์ของเธอทำให้เธอเสียทุกอย่าง ชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว และสุขภาพ แต่ฉันยังคงเดินหน้าต่อ เพราะฉันไม่อยากให้สิ่งที่เกิดขึ้นในจีน มาเกิดขึ้นในมาเลเซีย”

ความทุ่มเทของปัวได้รับการยอมรับในเวทีนานาชาติ ในปี 2561 เธอเดินทางไปนิวซีแลนด์กับกรีนพีซเพื่อพบกับ Eugenie Sage รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของนิวซีแลนด์ และเรียกร้องให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาการนำเข้าขยะพลาสติก

“การไปเยือนนิวซีแลนด์ของฉันในเดือนธันวาคม ปี 2561 ทำให้นิวซีแลนด์ตระหนักว่าประเทศของตนส่งออกขยะและสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในมาเลเซีย กรีนพีซ นิวซีแลนด์ เป็นผู้นำการรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลห้ามส่งออกขยะไปยังประเทศอื่น ๆ และห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ฉันคิดว่า พวกเขาจำเป็นต้องได้เห็นผลกระทบที่แท้จริงจากขยะพลาสติกของเขา ขยะพลาสติกของนิวซีแลนด์กำลังทำร้ายคนมาเลเซีย ฉันอยากให้เขาเห็นว่ามันร้ายแรงแค่ไหน”

ปีที่แล้ว Lydia Chai ทนายความที่อาศัยในนิวซีแลนด์ เรียกร้องให้รัฐบาลนิวซีแลนด์ยุติการส่งออกขยะไปต่างประเทศด้วย

หลังจากการรณรงค์ของเราในมาเลเซีย ได้ทำให้ “ขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้” ลดลง แต่รัฐบาลมาเลเซียยังคงอนุญาตให้นำเข้าขยะพลาสติกภายใต้รหัส HS 3915 (พลาสติกที่เป็นเศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นพลาสติก) เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะห้ามใช้ HS 3915 อย่างเต็มที่ในอนาคตอันใกล้นี้

 Plastic Waste in the Port Klang Area, Malaysia. © Greenpeace
บรรจุภัณฑ์พลาสติกถูกพบกองรวมกันอยู่ใกล้กับ Port Klang มาเลเซีย © Greenpeace

ถ้าในอนาคตไม่มีเราแล้ว คุณคิดว่า สิ่งแวดล้อมจะเป็นยังไง

ในตอนนี้ พวกเรายังขาดประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนโยบาย เรายังต้องทำงานมากขึ้นเพื่อเปิดเผยมลพิษ และรัฐบาลท้องถิ่นก็จำเป็นต้องจัดทำคู่มือสุขภาพเพื่อนำเสนอต่อประชาชน

ปัวก่อตั้งองค์กรชื่อว่า Persatuan Tindakan Alam Kuala Langat หรือ Kuala Langat Environmental Action Association ทำงานด้านการศึกษามากขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องอันตรายจากโรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน และสนับสนุนให้เกิดการลุกขึ้นต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิของตนเอง การต่อสู้ของเรายังอีกยาวไกลแต่เราไม่ท้อ เราจะต่อสู้มากขึ้น ประชาชนจะต้องตระหนักถึงความอันตรายของขยะพลาสติกและเกิดแรงบันดาลใจส่งเสียงเรียกร้องและลงมือทำ

“ถ้าวันหนึ่งฉันไม่อยู่แล้ว ฉันอยากจะเป็นต้นแบบให้ใครหลายคนที่เห็นฉันต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อ เพราะขยะเป็นความรับผิดชอบของทุกคนและมันไม่ควรมีการฟอกเขียว ฉันอยากส่งไม้ต่อให้คนรุ่นต่อไป ยิ่งมีมลพิษมากขึ้นก็ยิ่งก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ฉันจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่ฉันยังมีแรงทำได้   

ฉันเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ ในมาเลเซีย เช่น SAM, MNS และกรีนพีซ เพื่อเน้นย้ำถึงผลกระทบของขยะนำเข้าในมาเลเซียให้กับฝ่ายที่รับผิดชอบ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปลุกนักการเมืองและรัฐบาลมาเลเซียให้หันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ปีที่แล้วและปีนี้ มาเลเซียประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก แต่ไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมจากรัฐบาลต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลย

ปัว เล เปง และเพื่อนนักกิจกรรม สำรวจหลุ่มขยะพลาสติกและมีโอกาสพบและพูดคุยกับคนในชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับหลุ่มขยะพลาสติก

อีกหนึ่งความท้าทายในมาเลเซีย คือ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากการสนับสนุนทางการเงินและปัญหาด้านความปลอดภัยส่วนบุคคล”

ประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมในชุมชนมีความสำคัญไหมสำหรับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

“บางทีฉันก็สับสนนะ เพราะบางประเทศที่พร่ำพูดถึงประชาธิปไตยกลับล้มเหลวในการจัดการขยะของตนเอง เช่น อเมริกา หลายประเทศแทบจะไม่มีระบบจัดการกับขยะของตนเองเลย ประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสิทธิที่จะปฏิเสธขยะเหล่านั้น ฉันคิดว่า เสียงและพลังมวลชนสามารถส่งถึงรัฐบาลให้แบนการนำเข้าขยะได้ ในตอนนี้ การตระหนักรู้อาจจะยังน้อยอยู่ แต่ฉันเชื่อว่ามันจะเยอะขึ้นในอนาคตแน่นอน เราควรทำงานร่วมกันเพื่อออกนโยบายไม่รับขยะจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศพัฒนาแล้วมักชอบพูดถึงความยั่งยืน ในขณะที่พวกเขาเองก็ทำไม่ได้ มันบ้ามากเลย