แล้วเวลาก็ผ่านอีก 1 ปี หลายสิ่งหลายอย่างได้เกิดขึ้นที่ทำให้ทุกคนตั้งตารอการเริ่มต้นใหม่ในปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ เราต่างก็รอคอยปีใหม่เพื่อการเริ่มต้นใหม่ที่เต็มไปด้วยความหวังท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ปีนี้เราจึงนำเสนอแนวคิดใหม่เพื่อให้ทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่เราทุกคนทำได้ไม่เพียงแค่การลดขยะเพียงอย่างเดียว ช่วงปีที่ผ่านมาหลายคนหันมาใช้ชีวิต zero waste หรือ ของเสียเหลือศูนย์ โดยปฏิเสธพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งทุกแบบแล้วแทนที่ด้วยการใช้สิ่งของที่ยั่งยืน เช่นการเอากล่องติดตัวไปซื้อข้าว การใช้ถุงผ้าไปจ่ายตลาด พกขวกน้ำพกพา หรือ แชมพูแบบก้อน เพื่อลดมลพิษพลาสติก แต่วิธีนี้ก็ได้สร้างความตึงเครียดให้กับหลายๆคนที่บางครั้งอาจสร้างขยะ ไม่ว่าจะเพราะลืมภาชนะหรือสถานการณ์ไม่อำนวยก็ตาม

ปีนี้เราเลยจะมาแนะนำแนวทางการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนรูปแบบใหม่ที่เราจะเรียกกันว่า low impact living หรือ การใช้ชีวิตที่สร้างผลกระทบตำ่ แนวคิดหลักๆของการใช้ชีวิตแบบนี้มีข้อเดียว ก็คือการช่วยเท่าที่คุณสามารถช่วยได้ด้วยเงื่อนไขที่คุณสร้างเองและตกลงกับตัวเอง low impact living จึงเป็นแนวทางการใช้ชีวิตที่ไม่ว่าใครก็สามารถที่จะเริ่มและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้

การใช้ชีวิตที่สร้างผลกระทบตำ่ (low impact living) ต่างกันการใช้ชีวิตแบบ ของเสียเหลือศูนย์ (zero waste living) อย่างไร?

Zero Waste Living มีแนวคิดที่เน้นให้ลดการไม่สร้างขยะ ซึ่งในที่นี้หมายถึงการไม่สร้างขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ แต่การใช้ชีวิตแบบนี้เน้นเพียงการไม่สร้างขยะที่จับต้องได้และมองข้ามภาวะแวดล้อมของหลายๆคนที่ไม่อาจดำเนินชีวิตในแบบที่ zero waste กำหนดไว้  ไม่ว่าจะเป็นเพราะปัญหาการเงิน สถานภาพ หรือ ความพิการทางร่างกายก็ตามที่ไม่อำนวย

คำว่า zero waste หรือ ของเสียเหลือศูนย์ เป็นกรอบและหลักการ ในทางปฏิบัติ เราอาจต้องคำนึงถึง “ห่วงโซ่อุปทาน” ของการอุปโภคบริโภค  ตัวอย่างเช่น เมื่อเรานำกล่องไปซื้อข้าว 1 จาน แต่เนื้อสัตว์ ผัก และ ข้าว ที่อยู่ในกล่องนั้นขนส่งมาจากที่ไกลออกไป และเนื้อสัตว์นั้นก็มาจากการทำปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมที่ไม่เพียงแต่สร้างมลพิษให้กับโลกเรามากกว่ารถ เรือ เครื่องบิน อีกทั้งยังเป็นการทำธุรกิจอย่างไม่ยั่งยืนอีกด้วย

ในปีที่จะมาถึงนี้ เราจึงขอแนะนำแนวคิดใหม่ในการใช้ชีวิตที่เรียกว่า low impact living ซึ่งยังคงใช้แนวคิดเดิมที่สนับสนุนให้ทุกคนพยายามสร้างขยะให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ ในขณะเดียวกัน ให้เราหันมาสังเกตถึงสิ่งของที่เราซื้อและร้านค้าหรือวิสาหกิจชุมชนที่เราสนับสนุน

การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนไม่เพียงแต่เน้นการลดขยะที่จับต้องได้ แต่รวมไปถึงร้านค้าหรือกลุ่มเกษตรกรที่เราเลือกที่จะสนับสนุนมากกว่าบริษัทใหญ่ๆที่สร้างมลพิษและทำลายธรรมชาติ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเราทุกคนช่วยเท่าที่ช่วยได้ มันไม่ใช่เพียงการลดขยะให้เป็นศูนย์ แต่คือการช่วยในแบบของคุณ การหยุดซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย การสนันสนุนการผลิตในระดับท้องถิ่น และการลดขยะในแบบฉบับของคุณด้วยเงื่อนไขของคุณ นี่ถึงจะเป็นการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนที่แท้จริง

กรีนพีซถือโอกาสนี้เชิญชวนทุกคนให้บอกเลิกพลาสติกใช้แล้วทิ้ง รวมถึงการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน สุดท้ายแล้ว ความตั้งใจและพยายามของทุกคนจะไม่สูญเปล่าเพราะเมื่อเราทุกคนร่วมมือกัน เราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่อย่างแน่นอน

แนวปฏิบัติ 7 ประการของการใช้ชีวิตที่มีผลกระทบต่ำ ดีต่อใจและดีต่อโลก

1. พกถุงผ้า – การใช้ถุงผ้าแทนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งเป็นขั้นตอนพื้นฐานของการลดขยะ นอกจากถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้ง เราก็ควรที่จะลดขยะทุกชนิดที่ใช้งานตำ่แต่ถูกทิ้งในจำนวนมาก เช่น สำลีแผ่น หรือแม้แต่ พลาสติกห่ออาหาร สิ่งสำคัญที่สุดคือการใช้สิ่งของที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์

2. พกขวดน้ำและหลอดติดตัว – อีก 1 เคล็ดลับการใช้ชีวิตแนวอีโคที่ทุกคนก็เคยได้ยินมาก่อน แต่สิ่งที่เรายังเห็นกันอยู่บ่อยครั้งคือการเอาขวดไปซื้อน้ำ แต่ยังคงใช้หลอดพลาสติก สำหรับคนที่ชอบใช้หลอด ตอนนี้ก็มีร้านค้ามากมายที่ขายหลอดเหล็กที่พกพาได้เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องหันไปใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งที่สะดวกแต่ผลกระทบมากมาย

3. สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน และร้านค้าที่มีระบบที่ยั่งยืน – นับเป็นความโชคดีของบ้านเราที่มีตลาดดีๆ มากมายเต็มเมือง เราสามารถซื้อกับข้าวโดยหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกได้ เพียงแค่ปฏิเสธถุงพลาสติกและใช้ถุงผ้า หรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำ นอกจากนั้นเรายังสนับสนุนการทำมาหากินของพ่อค้าแม่ค้ากันอีกด้วย อีกทั้งกรุงเทพฯก็ได้เริ่มมีร้านค้าขายปลีกที่ไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ยั่งยืนที่เราสามารถพกขวดแก้วหรือภาชนะมาเองแล้วมาเติมสินค้า เช่น ข้าว ถั่ว แชมพู หรือแม้แต่ น้ำมัน ตามจำนวนที่เราต้องการ

4. ซื้อเสื้อผ้ามือสอง – เราอยู่ในยุคที่แฟชั่นเสื้อผ้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แปลว่าขยะแฟชั่นก็ถูกสร้างอย่างรวดเร็วตามไปด้วย ทางเลือกเพื่อลงมือช่วยกันลดขยะแฟชั่นคือการซื้อหรือส่งต่อเสื้อผ้ามือสอง วิธีนี้ไม่เพียงเป็นแค่การรียูสเสื้อผ้าให้มันถูกใช้ต่อ แต่ยังเป็นวิธีประยัดเงินที่ดีอีกด้วย!

5. หันมากินอาหารพืชและผักเป็นหลัก – ผลวิจัยมากมายได้ค้นพบว่าการที่เราเน้นทานพืชผักจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรค เช่น มะเร็งบางชนิด โรคหัวใจขาดเลือด และอีกมากมาย อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดมลพิษจากการเลี้ยงอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่ไม่เพียงเบียดเบียนสัตว์แล้ว แต่ยังเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจก

6. ใช้ไฟฟ้าอย่างมีสติ – ทุกครั้งที่เราเปิดไฟ เปิดน้ำ หรือเปิดแอร์ เราล้วนต่างใช้พลังงาน ซึ่งมาจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งกำเนิดหลักของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ การใช้ไฟฟ้าอย่างมีสติและปิดเมื่อไม่จำเป็น จะไม่เพียงแค่ช่วยลดมลพิษแต่เป็นการประหยัดเงินอีกด้วย

7. ใช้ชีวิตให้เรียบง่าย – ทุกคนคงคุ้นเคยกับหลักการใช้ชีวิตอย่าง ‘พอเพียง’ กันอยู่แล้ว แต่การอยู่อย่างพอเพียงไม่เพียงแต่ปลูกฝังการเข้าใจว่าแท้จริงแล้วเราต้องการสินค้ามากมายที่เรา ‘อยาก’ ได้กันมากขนาดนั้นหรือเปล่า แต่เป็นการสอนให้เราต้องรู้จักพอ และคิด ว่าสิ่งที่เราอยากได้นั้นมันจะทำให้เรา ‘สุข’ จริงหรือเปล่า การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายจะช่วยให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างสงบและมีสติ ทำให้เราได้มีเวลาเพื่อสิ่งที่สำคัญจริงๆในชีวิต เช่น ครอบครัว คนที่เรารัก สุขภาพ และ แม้แต่งานอดิเรกที่จะเพิ่มความสุขให้เราอย่างแท้จริง ปีใหม่นี้เรามาเริ่มใหม่ด้วยแนวคิดใหม่เพื่อเพิ่มความหมายให้กับการใช้ชีวิตของเรากันเถอะ

Saranporn Rarunron อาสาสมัครกรีนพีซ