ท่ามกลางความประหวั่นพรั่นพรึงของมนุษย์โลกในเรื่องภัยธรรมชาติอันเกิดจากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น ในอนาคต พลังงานแสงอาทิตย์จึงอาจจะไม่ได้มีสภาพเป็น “พลังงานทางเลือก” อย่างที่เป็น แต่อาจจะกลายเป็น “พลังงานทางหลัก” ที่จะเข้ามาแทนที่ถ่านหินและฟอสซิล และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนได้ หากเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้พลังงานสะอาดได้มากขึ้น นั่นหมายความว่า เราสามารถอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ไว้ให้ลูกหลานเราได้มากขึ้นด้วย ซึ่งมันอยู่ที่ตัวเราว่า เราจะลงมือทำหรือไม่!

กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอ่างลำพอกและโบราณสถาน อาสาสมัครชุมชน ร่วมเรียนรู้และติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป

สุรินทร์ในเดือนตุลาคมร้อนกว่าที่คิดไว้มาก แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับภารกิจการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาที่ศูนย์กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอ่างลำพอกและโบราณสถาน ตำบลยาง อำเภอศีขรภูมิ ซึ่งมีหัวเรี่ยวหัวแรงในการติดตั้งเป็นน้องๆ เยาวชนทีมงานช่างขอข้าว โรงเรียนศรีแสงธรรม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ หรือ พระพลังแดด เป็นผู้ให้คำปรึกษาเรื่องการติดตั้ง การใช้งาน และการดูแลรักษา กับเด็กๆ จากกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอ่างลำพอกและโบราณสถาน ซึ่งก็คือผู้ที่จะดูแลศูนย์ฯ แห่งนี้ คอยเป็นลูกมือ ช่วยหยิบจับอุปกรณ์ติดตั้งอย่างใกล้ชิด และเรียนรู้วิธีการดูแลรักษาจากผู้มีประสบการณ์อย่างตั้งอกตั้งใจ

พระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม และผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานี พระผู้ได้ชื่อว่าเป็นพระพลังแดด (The Solar Monk)

ระบบที่ติดตั้งในครั้งนี้ คือ ระบบอินเวอร์เตอร์ไฮบริด 5 กิโลวัตต์ เป็นระบบที่ใช้แผ่น 300 วัตต์. จำนวน 6 แผ่น โดยมี แบตเตอรี่ 100 แอมป์ 8 ลูกต่อเป็นระบบ 48 โวลท์ จัดเก็บพลังงานไฟฟ้าได้ 9,600 วัตต์ ซึ่งระบบนี้ รับประกันเลยว่า ไฟฟ้าจะไม่มีวันดับ เพราะแม้ว่าไฟจากโซลาร์เซลล์ จะหมดไป แต่ก็ยังสามารถดึงไฟจากการไฟฟ้ามาเข้าอินเวอร์เตอร์ไฮบริดนี้ได้ ซึ่งเป็นระบบที่พระครูวิมลปัญญาคุณคิดค้นขึ้น เพื่อต้องการให้ใช้งานในบ้านและชุมชนได้

คุณพักตร์วิไล สหุนาฬุ ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอ่างลำพอกและโบราณสถาน เล่าถึงแรงบันดาลใจในการนำพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาในชุมชนอ่างลำพอก “พี่ต้องการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งผ่านเด็ก เพราะเขาคือเราในอนาคต เขาต้องมาแทนที่เรา วันหนึ่งเราก็ต้องตาย ดังนั้น การปลูกฝังให้เด็กรู้จักรักษาสิ่งแวดล้อม เห็นประโยชน์ของพลังงานสะอาด หรือการมีจิตสาธารณะ ปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม มันเป็นต้นธารของการสร้างสังคมที่ดีและยั่งยืน”

คุณพักตร์วิไล สหุนาฬุ ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอ่างลำพอกและโบราณสถาน ตำบลยาง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

ภารกิจหลักๆ ของศูนย์กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอ่างลำพอกและโบราณสถาน คือการเป็นแหล่งศึกษา สืบค้น ค้นคว้าหาข้อมูลของคนในชุมชน มีโครงการหลักๆ อยู่ 4 โครงการ คือ โครงการกระปุกแตกแยกขยะ, โครงการการจัดการสิ่งแวดล้อมอ่างลำพอก, โครงการเยาวชนศีขรภูมิ (Sikhoraphum Youth) และโครงการการเป็นศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นของชุมชน

แต่เดิมศูนย์ฯ จะมีการใช้ไฟฟ้าตามระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่เนื่องจากศูนย์ฯ เป็นเสมือนศูนย์กลางของชุมชนในการทำกิจกรรมต่างๆ ทุกครั้งที่มีงานสำคัญ คนในชุมชนจะมารวมตัวกันที่นี่ก่อนวันงาน 1-2 วันเสมอ นับจากนี้ไปหลังจากมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป คนที่มารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ก็จะได้เรียนรู้ถึงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์โดยตรง รวมทั้งการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตเอง การดูแลรักษา เป็นการเรียนรู้โดยตรงจากการใช้ในชีวิตประจำวัน และเป็นการใช้จากคนธรรมดา ซึ่งก็คือ เพื่อนบ้านที่รู้จักมักคุ้นกันดีนั่นเอง อีกทั้ง ยังกระตุ้นให้เยาวชนที่ได้เรียนรู้การติดตั้งและดูแลรักษาระบบมาแล้ว ได้แสดงความสามารถในการเป็นผู้นำอธิบายระบบนี้ให้คนอื่นๆ ได้เข้าใจ และนำไปสู่การร่วมกันทำกิจกรรมที่ศูนย์นี้มากขึ้น สร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ร่วมคิดร่วมทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อันจะกลายเป็นผลึกพลังสำคัญของชุมชนในการร่วมผลักดันนโยบายของประเทศต่อไป

ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป

ทีมงานช่างขอข้าว โรงเรียนศรีแสงธรรม เจ้าหน้าที่กรีนพีซ ร่วมติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป

ศูนย์กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอ่างลำพอกและโบราณสถาน ถือเป็นต้นแบบของการเรียนรู้เรื่องพลังงานสะอาดของชุมชน ที่นี่จะมีการจัดสัมมนาเรื่องพลังงานหมุนเวียน ปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้าน และสนับสนุนให้มีการนำ “รถเข็นไฟฟ้าชุดนอนนา” อีกสิ่งประดิษฐ์ของพระครูวิมลปัญญาคุณ โดยเป็นรถเข็นพร้อมแผงโซลาร์เซลล์ สามารถเข็นไปในพื้นที่ห่างไกลไม่มีไฟฟ้า ใช้ช่วยสูบน้ำเข้าแปลงนาได้อย่างง่าย มาใช้ในภาคการเกษตร เพราะที่จังหวัดสุรินทร์ มีการทำนากันเยอะ ชาวบ้านก็จะเห็นว่า พลังงานแสงอาทิตย์สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง มีราคาถูก และคุ้มค่าต่อการลงทุน

ในส่วนของการดูแลรักษา เด็กๆ จะต้องทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์ โดยการเอาเศษใบไม้ออก และเช็ดฝุ่นด้วยการใช้ฟองน้ำชุบน้ำยาทำความสะอาดกระจกเช็ด ระวังอย่าถูแรงๆ เพราะจะเกิดรอยได้ แล้วล้างตามด้วยน้ำสะอาด และเช็ดให้แห้งสนิท ควรหมั่นทำความสะอาดประมาณ 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ การที่มีฝุ่นเกาะแผงจำนวนมาก จะไปลดทอนแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบและผลิตไฟฟ้าได้น้อยลงเกือบ 20 เปอร์เซนต์เลยทีเดียว อีกทั้งยังต้องศึกษาและติดตามถึงการผลิตไฟฟ้าจากระบบเป็นะยะๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเพื่อประกอบการอธิบายให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการอ่านค่าการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ปริมาณการใช้ไฟฟ้า ณ ช่วงเวลานั้นๆ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดได้ รวมทั้งสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ผลิตได้เองและการใช้ไฟฟ้าจากระบบของกฟผ. อีกด้วย

น้องเต้ นายชัชวาลย์ มั่นยืน หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอ่างลำพอกและโบราณสถาน กล่าวว่า “หลังจากที่ศูนย์ได้มีการติดตั้งการใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์บนหลังคาแล้ว ผมก็จะไปเล่าให้เพื่อนๆ และคุณครูที่โรงเรียนฟัง เผื่อทางโรงเรียนจะมาดูและเรียนรู้การใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ผมคิดว่าถ้าโรงเรียนสนใจอาจจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าในโรงเรียนลงได้และเพื่อนๆ จะได้เรียนรู้พลังงานแสงอาทิตย์ที่อยู่ใกล้บ้านได้จริงๆ ”

ความมุ่งมั่นของคนในชุมชน ซึ่งต้องการสร้างชุมชนเข้มแข็งที่พึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน เริ่มต้นจากการนำพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดมาใช้ในชุมชน และความมุ่งมั่นของพระครูวิมลปัญญาคุณ “พระพลังแดด” พระนักพัฒนาโรงเรียนพลังงานทดแทนต้นแบบในการพยายามพัฒนาระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมสามารถใช้ได้โดยปราศจากข้อจำกัดต่างๆ ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นถึง พลังของมนุษย์ที่สามารถก้าวข้ามระบบระเบียบภาครัฐและทลายทุกข้อจำกัดด้วยการเริ่มลงมือทำ เพื่อสร้างสังคมที่พวกเขาอยากเห็นได้

พิชา รักรอด

About the author

พิชา รักรอด
ทำงานด้านรณรงค์ให้คนลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และเธอเองก็ลดใช้ไปพร้อมๆ กันด้วย เธอชอบเดินป่า เพราะมันทำให้เธอได้ท้าทายความสามารถของตัวเองและมองเห็นความสวยงามของธรรมชาติ เธอชอบกินชอคโกแลตที่มาจากการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน และชอบร้องคาราโอเกะมากอีกด้วย

Comments

Leave your reply

Discussion

ดีมากค่ะ

Reply

อยากให้มีในประเทศไทยครบทุกจังหวัดค่ะ

Reply

ดิฉันเป็นอาจารย์จากนิด้า (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) ที่กำลังทำโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งมหาวิทยาลัย (U2T) ของกระทรวง อว. ซึ่งเป็นโครงการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับตำบล ในพื้นที่ 2 ตำบล คือ ต.มะขามเฒ่า และต.หนองขุ่น อำเภวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ในการยกระดับการพัฒนานั้น คือการทำโครงการสนับสนุนความต้องการของพื้นที่ และหนึ่งในความต้องการของพื้นที่ โดยเฉพาะที่ระบุโดยชุมชย คือ ความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาช่วยในการพัฒนา เมื่อได้อ่านแนวทางการช่วยเหลือชุมชนของกรีนพีชในการติดตั้งและสอน/ฝึกอบรมการดูแลรักษาโซล่าเซลล์แล้ว ประทับใจและอยากเรียนถามถึงความเป็นไปได้ในความร่วมมือให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินโครงการโซล่าเซลล์ในพื้นที่ดังกล่าวในจังหวัดชัยนาทค่ะ ขอบคุณค่ะ