“การกินในแต่ละมื้อของเราสร้างรอยเท้าคาร์บอนมากแค่ไหน?” นั่นคงไม่ใช่คำถามที่เรามักนึกถึงก่อนที่เราจะซื้อหรือสั่งอาหารกิน บางครั้งคำถามที่สำคัญกว่าคือ “วันนี้เราจะกินอะไรดี” แต่ในบางครั้งสังคมที่มีโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เราอาจจะไม่มีทางเลือกมากเท่าไหร่ ดังนั้นบทบาทของคนกินและผู้บริโภคจึงสำคัญเท่ากันในการสร้างระบบอาหารที่เป็นธรรมและลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้ได้มากที่สุดในยุคภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันนี้การผลิตในระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรมมีส่วนในการก่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ อันเป็นผลมาจากการเปิดหน้าดิน ทำลายผืนป่า การใช้ปุ๋ย และการเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อผลิตเนื้อสัตว์ โดยสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นอยู่ที่ราวร้อยละ 31 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด และเทียบเท่ากับภาคส่วนคมนาคม

© Roengchai kongmuang / Greenpeace

ภาคเหนือตอบนของไทยเป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นระยะเวลาเกือบสองทศวรรษ ทั้งมลพิษข้ามพรมแดนที่คุกคามสุขภาพ และป่าไม้ที่สูญเสียไปเพื่อเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งการผลิตเนื้อสัตว์ของไทยนั้นนอกจากเลี้ยงคนในประเทศแล้ว ยังมีสัดส่วนในการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ไปยังตลาดโลกเป็นอันดับที่ 4 ของโลก สถานการณ์เหล่านี้ทำให้ความหมายของการกินและการผลิตของไทยเป็นอย่างไร เราได้ชวน รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล มาพูดคุยถึงอาหาร ที่มากกว่าความอิ่ม แต่หมายถึงคาร์บอนฟุตปรินท์ สัตว์ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ

รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล จากศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังเครื่องตรวจวัดฝุ่น DustBoy ผู้ช่วยสำคัญในการเฝ้าระวังเตือนภัยสุขภาพจากการรายงานค่ามลพิษทางอากาศแบบ real time เพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันสุขภาพในช่วงฝุ่นควันได้ ขณะนี้มีการติดตั้งเครื่อง DustBoy อย่างแพร่หลายทั่วประเทศ ช่วยให้พื้นที่ต่าง ๆ มีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลในพื้นที่ที่ตนอยู่มากขึ้น แต่นอกเหนือจากด้านการทำงานเพื่อพัฒนาเครื่อง DustBoy แล้ว อาจารย์เศรษฐ์ยังเป็นอีกคนหนึ่งที่หันมาลดการบริโภคเนื้อสัตว์หลังจากที่รับรู้ข้อมูลด้านต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มากขึ้น

คาร์บอนฟุตปรินท์ในการผลิตและการกินของเรา กับสาเหตุอาจารย์ที่หันมาลดการบริโภคเนื้อสัตว์ 

ส่วนตัวทำวิจัยในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องของการวิจัยเพื่อการจัดการพลังงาน             และเศรษฐนิเวศ จะเป็นเรื่องของ LCA-Life Cylcle Assessment คือการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ที่มาจากอุตสาหกรรม ว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง และได้ทำเรื่องของคาร์บอนฟุตปรินท์ คือการประเมินก๊าซเรือนกระจกที่มาจากผลิตภัณฑ์ โดยวิเคราะห์ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน คือตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้ ไปจนถึงการทิ้ง และดูปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดที่ขั้นตอนใด และเราจะสามารถลดด้วยวิธีใดได้บ้าง เป็นการเปรียบเทียบผลิตภันฑ์

การเป็นผู้ตรวจสอบคาร์บอนฟุตปรินท์แบ่งเป็นสองบทบาท บทบาทแรกคือการเป็นที่ปรึกษาของอุตสาหกรรม หรือ SME ที่มีผลิตภัณฑ์ไหนอยากได้ ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เขาก็จะมาหาเราให้ช่วยประเมินและวิเคราะห์ ส่วนอีกบทบาทของผมคือ ผู้ประเมินปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในโรงงานอุตสาหกรรม คือมีคนอื่นตรวจสอบค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และผมตรวจสอบอีกทีว่าคำนวณตัวเลขถูกต้องมั้ย และจะต้องนำส่งไปที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อรับรองและออกฉลากให้ผลิตภัณฑ์นี้มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นที่รองรับ และให้ผู้บริโภครับทราบว่าผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นปล่อยค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ออกมาจำนวนเท่าใด ซึ่งปัจจุบัน อบก.ก็ผลักดันประเด็นนี้มาก ก็เป็นงานวิจัยทีทำให้เราเปิดโลกขึ้นมา ไม่ว่าจะบทบาทของการเป็นที่ปรึกษาหรือบทบาทของการเป็นผู้ทดสอบ ทำให้เราเข้าไปสัมผัสกับอุตสาหกรรมเยอะครับ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ 

ผมได้มีโอกาสเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ และได้ตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งทำให้ได้เห็นกระบวนการในการแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นไก่ หมู หรือวัว ว่าเกิดกระบวนการอย่างไรบ้าง ในขั้นตอนการเลี้ยงสัตว์ก็ไปดูเรื่องของอาหารที่จะนำมาเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ เราอาจจะเคยได้ยินว่าวัวกินหญ้า หมูกับไก่ก็มีอาหารอยู่แล้ว แต่จริงๆแล้วอาหารของสัตว์เหล่านี้มีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก คือมีทั้งอาหารหยาบ อาหารละเอียด วิตามิน ฮอร์โมน และเรื่องของหญ้าหรือข้าวโพด ก็มีหลากหลายพันธุ์ผสมมาเพื่อจะเป็นอาหาร ให้สัตว์เหล่านี้เจริญเติบโตได้เร็วและแข็งแรง จึงแปรรูปมาเป็นเนื้อสัตว์ให้เราบริโภคได้ ทีนี้ตอนเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการเหล่านี้ ก็รู้สึกว่า มีบางอย่างที่เราเอาเปรียบอีกหนึ่งห่วงโซ่ของสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ ทำไมเราต้องไปเบียดเบียนเขา ตอนนั้นกลับมาเราก็งดกินเนื้อไปอาทิตย์นึง ก็ทำได้ประมาณนั้น แล้วพอเรามาทำวิจัยเรื่องของมลพิษทางอากาศ PM2.5 ก็ยิ่งทำให้เห็นชัดเลยว่าส่วนหนึ่งของต้นตอปัญหา มันก็คือการผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์ เยอะมากๆ 

© Roengchai kongmuang / Greenpeace

เห็นปัญหาอะไรบ้างจากการปลูกพืชอาหารสัตว์อย่างเช่นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

เรื่องของการจัดการพื้นที่เกษตรที่ไม่ถูกต้อง อย่างเช่น การปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งในพื้นที่ที่ยิ่งมีการจัดการที่ไม่ค่อยดีและปลูกเป็นปริมาณมาก โดยเฉพาะการปลูกบนเขาบนดอย  เพื่อให้ลดต้นทุนในการถางที่ ก็ต้องเผาอยู่แล้ว  แม้ว่าตอนนี้จะมีลักษณะการเปลี่ยนพื้นที่จากไทยย้ายไปปลูกที่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่นั่นเรายังเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการปลูกที่นั้นอยู่ดี เพราะฉะนั้น เราก็ยังหลีกเลี่ยงวงจรของวงจรอุตสาหกรรมเกษตรเกี่ยวกับการเผาไม่ได้ ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของการทำให้เกิด PM2.5 การที่ไทยเราบอกว่าจะเป็น “ครัวของโลก” ทำให้เราต้องผลิตและส่งออกเนื้อสัตว์เป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงทำให้เราใช้ทรัพยากรค่อนข้างเยอะ ทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่า และความเสื่อมโทรมของที่ดินเยอะตามมา

การประเมินคาร์บอนในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทำอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น การกินอาหารของวัว ถ้าเป็นหญ้า วัวก็จะกินอยู่ 6 สายพันธุ์ เช่น หญ้าเมเปีย หญ้าลูซี่ ฯลฯ  เป็นพันธุ์ต่างประเทศที่เขาเลี้ยงอยู่ ดังนั้นจึงต้องการพื้นที่ในการปลูกหญ้า แสดงว่าต้องเสียพื้นที่ของป่าสมบูรณ์ไปเพื่อมาปลูกหญ้าเหล่านี้ให้วัวกินและอยู่อาศัย รวมไปถึงข้าวโพดเลี้ยงวัวด้วย ซึ่งถ้าเราเอามาเฉลี่ยพื้นที่ที่เสียไปให้กับอุตสาหกรรมการทำปศุสัตว์กับสิ่งที่ได้มาเป็นเนื้อสัตว์เพื่อบริโภคกัน อาจจะไม่คุ้มก็ได้ เนื่องจากมันทำลายระบบนิเวศ ป่า อากาศบริสุทธิ์ ทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันขนส่ง และยังมีเรื่องของฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะ สารเคมีที่ต้องใช้ ในกระบวนการแปรรูปก็ต้องใช้น้ำปริมาณมากกลายเป็นน้ำเสีย เมื่อปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมก็กลายเป็นน้ำเน่าไป การที่เราบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อเอาโปรตีน ก็ยังมีทางเลือกอื่นอีกมาก อย่างถั่ว เป็นต้น 

อันนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงสวัสดิภาพของสัตว์ในคอกว่าดูแลยังไง กระบวนการเชือดเป็นอย่างไร มันจะทรมานขนาดไหน มนุษย์มักจะมองว่าสัตว์พวกนี้ไม่มีความคิด จริง ๆ แล้ววัวก็เหมือนหมาเลยครับ คิดได้ จำเจ้าของได้ เล่นได้ รู้สึกได้มีความเศร้า เจ็บปวดได้ อย่างลูกวัวบางตัวก็ถูกพรากแม่ไป แม่วัวถูกเชือด ลูกวัวตรอมใจตายก็มี  ดังนั้นเราไม่มีทางรู้แน่นอนเลยครับ ว่าเนื้อสัตว์ที่เรากินมันมีที่มาอย่างไร พอเรามาเห็นกระบวนการแบบนี้ผมก็ว่ามันสยองอยู่ครับ

ทำไมถึงเริ่มต้นลงมือด้วยการ “เริ่มที่ตัวเอง”

ผมได้เจอเรื่องราวที่ทำให้เปิดโลกนอกจากเราไปเก็บข้อมูลมาแล้ว เช่น การได้ดูสารคดี อย่าง Cowspiracy และ Seaspiracy มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า เออ นักรณรงค์ที่เขาลงมือทำอะไรสักอย่าง ก็ต้องเริ่มจากคนตัวเล็ก ๆ แล้วจึงขยายเป็นพลังประชาชน ก็เลยคิดว่า ในขณะที่เราเป็นอาจารย์ เป็นคนบรรยายเรื่องเกี่ยวกับงานวิจัย คาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือว่าเรื่องของเซนเซอร์ฝุ่น เราต้องเริ่มทำอะไรสักอย่างก่อน เราก็เลยเริ่มเลิกบริโภคเนื้อสัตว์ และมีกระแสอาหาร Plant Based มาพอดี ผมก็ได้มีโอกาสดูเรื่อง The Game Changer ทำให้ผมได้มีมุมมองจากในเรื่องที่การทาน Plant Based ก็สามารถมีสุขภาพที่ดีได้ ผมก็หักดิบเลยครับ ไม่ทานเนื้อสัตว์ที่เป็นของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะไก่ เป็ด หมู วัว แต่ถ้าอยู่กับครอบครัวก็มีทานกุ้งบ้างครับ  ปลานี่นาน ๆ ที เพราะเราทานบ่อย ๆ เดี๋ยวจะอยากกลับไปบริโภคเนื้อสัตว์ได้ ตอนนี้ก็ทำได้มาประมาณ 2 ปีแล้วครับ รู้สึกว่าเราไม่ได้ขาดสารอาหารอะไร เราก็ได้รับโปรตีนจากเต้าหู้ เทมเป้บ้าง กินวิตามินเสริมบ้าง และผมโชคดีที่อยู่เชียงใหม่ เพราะเป็นเมืองที่ดีต่อคนไม่บริโภคเนื้อสัตว์ครับ คือมีหลายร้านที่เป็นทางเลือกเยอะ ไม่ว่าจะเป็น เจ วีแกน Plant Based และมีระบบการจัดส่งที่ดีครับ สามารถส่งได้ถึงหน้าบ้านเลย ไม่ได้ยากต่อการใช้ชีวิตประจำวันเลย 

ผมก็พูดให้คนในบ้านฟังบ่อยๆ คนที่บ้านก็เริ่มลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง ภรรยาผมก็ไม่ทานเนื้อสัตว์มื้อเย็น แต่มื้อกลางวันก็มีทานอยู่บ้างครับ จากคนเคยที่เป็น meat lover ทำให้ผมได้เห็นที่มาที่ไป ความไม่ค่อยโอเคของกระบวนการอุตสาหกรรมแปรรูปที่เอาเปรียบวงจรชีวิตสัตว์ และมีบางกระบวนการที่ไม่สะอาด และบางทีก็อาจมีเรื่องของการฉีดสารฮอร์โมน อาจทำให้เราป่วยเร็วตายไวหรือเปล่าก็ไม่รู้ครับ เพราะการปลูกพืชก็มีการใส่ปุ๋ยใส่ยาฆ่าแมลง สารเคมีอะไรยังไงบ้าง และกระบวนการแปรรูปก็มีสารเคมีอะไรอีกเยอะแยะมากมายที่เราไม่รู้ โรงเลี้ยงสัตว์ก็มีทั้งป่วย-ไม่ป่วยก็เลี้ยงรวมกัน บางทีก็มีพิการ เราไม่รู้หรอกว่าเนื้อสัตว์ที่เรากินอยู่นั้น เป็นเนื้อสัตว์ที่ผ่านอะไรมาบ้าง ตั้งแต่กระบวนการเลี้ยง กว่าหมูน้อยจะโตขึ้นมาถูกโดสยาไปกี่ครั้งเราก็ไม่รู้ กว่าจะเข้าไปโรงแปรรูป น้องถูกฆ่ายังไงเราก็ไม่รู้ การแปรรูปสะอาดหรือเปล่าก็ไม่รู้ มีขั้นตอนที่เราไม่รู้เยอะมาก เราจะเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงเพื่ออะไร เรามักถูกบอกต่อ ๆ กันมาว่าการกินเนื้อทำให้ร่างกายแข็งแรง อย่างในเชียงใหม่ก็มีการกินหมูกระทะกันเยอะมาก ผมก็เคยมีเพื่อนที่ชอบกินหมูกระทะ แต่ว่าสุดท้ายแล้วก็เป็นมะเร็งกระเพาะเลยครับ

© Roengchai kongmuang / Greenpeace

บางคนบอกว่าการปลูกพืชปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูงพอ ๆ กับการทำปศุสัตว์ อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร

เป็นไปได้หากเป็นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เคยมีบทความที่บอกเรื่องข้าวอินทรีย์ปล่อยคาร์บอนสูงกว่าข้าวเคมี แต่เขาไม่ได้พูดถึงว่าทำไมข้าวอินทรีย์ถึงเยอะกว่า แต่ว่าการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นนท์เราต้องเอาข้อมูลเชิงคุณภาพมาเปลี่ยนเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ ซึ่งเป็นตัวเลขทางวิศวกรรมศาสตร์มากๆ เราต้องมาลิสต์ดูว่ากระบวนการปลูกว่า material input คืออะไร พลังงานคืออะไร  สารเคมีคืออะไร สารอื่นคืออะไร  ต่อมาก็กระบวนการแปรรูป ขนส่งในการขาย ไปจนถึงการทิ้ง มาแปรเป็นเชิงตัวเลขหมด

นั่นหมายถึงว่า หากมีข้อมูลบางอย่างในกระบวนการผลิตอาหารตกหล่นไป หรือบอกไม่หมด อาจจะทำให้ตัวเลขค่าคาร์บอนเปลี่ยนแปลง และไม่ตรงตามความเป็นจริงได้ 

ข้าวอินทรีย์ที่ปล่อยคาร์บอนเยอะแปลงนั้น อาจจะข้อมูลจากพื้นที่เดียว แต่ไม่ได้หมายถึงข้าวอินทรีย์ทุกที่ในประเทศไทย กล่าวคือ ตัวแปรแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่จึงไม่สามารถบ่งชี้ได้แน่ชัดว่าข้าวอินทรีย์จะปล่อยค่าคาร์บอนสูงกว่าข้าวเคมีทั้งหมดอย่างเหมารวม หรือผักที่ปลูกแบบ Verticle Farming มีไฟมีโรงเรือน ค่าคาร์บอนอาจจะเยอะก็ได้ แต่ผักที่ปลูกหลังบ้านที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยใส่ยาอะไรอาจจะปล่อยคาร์บอนออกมาน้อย 

ถ้าหากเราตั้งตัวแปรทั้งหมดให้เท่ากัน ยังไงเนื้อสัตว์ก็จะปล่อยคาร์บอนมากกว่า?

ยังไงผักก็ใช้พลังงานน้อยกว่าเนื้อสัตว์อยู่แล้วครับ เพราะผักวงจรสั้น แต่กว่าหมูน้อยจะโต จะแปรรูป มีกระบวนการและใช้ทรัพยากรมากกว่าปลูกผักแน่นอน ซึ่งการพูดข้อมูลที่ไม่ครบของอุตสาหกรรมนั้นอาจจะเชื่อมโยงกับการฟอกเขียว

ในต่างประเทศจะมีองค์กรที่คอยจับตาการฟอกเขียวคอยบอกว่าโฆษณาสินค้าไหนกล่าวเกินจริง คนจะได้ไม่เชื่อถือสินค้านั้น ญี่ปุ่นเองก็มีหนังสือ Don’t Buy This Product ที่ว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้ไม่ดีอย่างไรบ้าง แต่ของไทยถ้าทำแบบนี้ เราถูกฟ้อง เหมือนเราบอกว่ามินิมาร์ทนายทุนเจ้านี้ทำผลิตภัณฑ์เลียนแบบบริษัท SME เล็ก ๆ อะไรแบบนี้ โดนฟ้องแน่นอน ก็เป็นความชอกช้ำของประเทศเราครับ

© Roengchai kongmuang / Greenpeace

ภาครัฐควรออกนโยบายอะไรไหม

เรื่องแรกที่รัฐควรทำคือ กฎหมายการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)  เพื่อเปิดเผยข้อมูลของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ว่าเกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในมิติไหนอย่างไรบ้าง นายทุนรายใหญ่อาจจะบอกว่าไม่ได้ใช้ข้าวโพดบนดอย บางทีอาจมีประเด็นที่แอบซ่อนอยู่ นอกจากเกษตรพันธสัญญาที่แปลงนี้ยังมีที่อื่นอีกหรือเปล่า นายทุนรายใหญ่อาจจะบอกว่าปลูกพืชแบบลดสารเคมีแล้ว แต่เบื้องลึกเบื้องหลังแล้วอาจจะใช้สารเคมีก็เป็นได้  เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลส่งเสริมและผลักดันประเด็น Traceability ผู้บริโภคก็จะสามารถตรวจสอบที่มาของเนื้อสัตว์ได้ 

ประเด็นที่สองคือ ต้องให้ข้อมูลเยอะขึ้น อย่างข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนยังเข้าไม่ถึง ออกนโยบายที่เป็นการสนับสนุนเรื่องนี้มากขึ้น สิ่งนี้ภาครัฐก็ยังดูห่างไกลไปนิดนึง ผมเคยคุยกับคนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตร รู้สึกว่ายังขาดไปคือ กระทรวงอาหาร เรามีกระทรวงเกษตรที่เพาะปลูกเก่งมาก เรามีกระทรวงอุตสาหกรรมที่ผลิตเก่งมาก แต่เราขาดคนตรงกลางดูที่มาของวัตถุดิบว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมั้ย ขั้นตอนการผลิตควรจะเป็นอย่างไร จะได้ผลักดันไปสู่เรื่องของการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนได้ 

นอกจากนี้ในส่วนของการเริ่มต้นที่ตัวเอง ผมคิดว่าถ้าเราไม่เริ่มทำอะไรเลย สุดท้ายแล้วเราทุกคนก็ยังเป็นตัวการในเรื่องของการทำให้เกิดมลพิษสิ่งแวดล้อมอยู่ดี ในฐานะอาจารย์ ผมพยายามกระจายองค์ความรู้และไปต่อยอดที่อีกเจเนอเรชั่นหนึ่ง เคยลองให้การบ้านเด็กลองกิน Plant Based ขอแค่วันละมื้อก็ยังดี เป็นระยะเวลา 1 เดือน เด็กก็เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง ขับถ่ายดีขึ้น มีภูมิสูงขึ้น ลบล้างแนวคิดที่เด็กที่ปลูกฝังว่าโปรตีน ต้องมาจากเนื้อสัตว์นะ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอต้องกินเครื่องในสัตว์นะ นี่คือองค์ความรู้ชุดเก่าที่ถูกสอนมา แต่ความรู้และวิทยาการใหม่ๆปัจจุบันมันเปลี่ยนไปมาก เราควรจะต้องกินอาหารให้สอดคล้องกับ DNA ของเผ่าพันธุ์เราหรือเปล่า ไม่ใช่ใส่เสื้อให้ตรงสีวัน เราควรจะเลือกกินเพื่อให้ตัวเราเองสุขภาพดี แข็งแรง อายุยืนยาว อยากให้มีสังคมให้รู้เรื่องราวเหล่านี้มากขึ้น อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็น Social movement จริงๆ ถ้าในอนาคตคนเข้าใจ และเลือกกินอาหารได้  ผมว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ครับ 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานรณรงค์เปลี่ยนแปลงระบบอาหารได้ที่ https://www.greenpeace.org/thailand/tag/food-system/