จากรายงานคุณภาพอากาศโลก ปี 2565 ของ IQAir  พบว่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 หนักสุดในเดือนมีนาคม-เมษายนซึ่งคือช่วงนี้เอง

มากไปกว่านั้นยังพบข้อมูลที่น่าตกใจว่าประเทศไทยมีอากาศดีเพียง 3 เดือนต่อปีเท่านั้น ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งเป็นฤดูฝน

แม้อากาศสะอาดจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเราทุกคน แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบันอากาศสะอาดกลับกลายเป็นทรัพยากรที่เข้าถึงยากขึ้นเรื่อย ๆ ประชาชนยังคงต้องสูดฝุ่น PM2.5 โดยไม่เห็นวี่แววว่าสถานการณ์จะดีขึ้นแต่อย่างใด

มีฝุ่น PM2.5 ทุกปี แต่ทำไมรัฐยังแก้ปัญหาไม่ได้ หรือเพราะแก้ไม่ตรงจุด?

งานศึกษาวิจัยของกรีนพีซ ประเทศไทยพบว่า 1 ใน 3 ของมลพิษอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งในที่นี้หมายความรวมถึงภาคเหนือตอนบนของไทย ตอนบนของ สปป.ลาว และ รัฐฉานของเมียนมา มีที่มาจากพื้นที่เผาไหม้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปลูก ‘ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’

หากลองมองลึกลงไป จะเห็นว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือตอนบนของไทย และการขยายการลงทุนของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยเพื่อผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงคือหนึ่งในเบื้องหลังปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ ทว่าเรื่องนี้ยังไม่เคยถูกจัดการอย่างจริงจังโดยรัฐ อีกทั้งยังมีนโยบายหลายชุดที่ส่งเสริมการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอุตสาหรรมเนื้อสัตว์มายาวนาน 

นักกิจกรรม กรีนพีซ ประเทศไทย ถือป้ายที่มีข้อความ “อย่าลืม! ปัญหาฝุ่นพิษ” โดยถ่ายภาพคู่กับป้ายโฆษณาเมล็ดข้าวโพด ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย

ดังนั้นการจะแก้ปัญหา #ฝุ่นควันภาคเหนือ #มลพิษข้ามพรมแดน โดยโทษเกษตรกรที่เผาพื้นที่เพาะปลูกฝ่ายเดียว แต่กลับไม่เอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

เมื่อการเมืองและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน การจะแก้ปัญหานี้จึงจำเป็นต้องอาศัยบทบาทของพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่ชี้แนะทิศทางทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในเชิงโครงสร้าง

ในการเลือกตั้ง 2566 นี้ กรีนพีซ ประเทศไทยจึงอยากชวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคนมาร่วม #VoteForClimate เข้าคูหากาสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย

ติดตามงานรณรงค์ #VoteForClimate

อ่านข้อเสนอของกรีนพีซในงานรณรงค์ #VoteForClimate