เชื่อว่าหลายคนคงมีข้อสงสัยมากมายในข่าวซีเซียม-137 สูญหาย วันนี้เราจึงมัดรวมคำตอบของคำถามที่คุณน่าจะอยากรู้มาให้เข้าใจง่ายๆ กันไม่ว่าจะเป็นซีเซียม-137 คืออะไร ซีเซียม-137 มาจากไหน ซีเซียม-137 อันตรายไหม?

ซีเซียม-137 คืออะไร?

ซีเซียม-137 เป็นสารกัมมันตรังสีอันตรายประเภทที่ 3 ตามการจำแนกของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency) 

มีลักษณะทางกายภาพมีลักษณะเป็นของแข็ง คล้ายผงเกลือ สามารถฟุ้งกระจายได้เมื่อแตกออกจากแคปซูลที่ห่อหุ้มไว และมีครึ่งชีวิต 30 ปี

© สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

ซีเซียม-137 มีครึ่งชีวิต 30 ปี หมายความว่าอย่างไร? 

หมายถึงระยะเวลาที่กัมมันตรังสีใช้ในการสลายตัวจนเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณตั้งต้น ยกตัวอย่างเช่น ซีเซียม-137 จำนวน 100 กรัม มีครึ่งชีวิต 30 ปี หมายความว่า อีก 30 ปีนับจากนี้ ซีเซียม-137 จะเหลือจากการสลาย ร้อยละ 50 จนเหลือ 50 กรัม และอีก 60 ปีนับจากนี้ กัมมันตรังสีจะเหลือจากการสลาย ร้อยละ 25 จนเหลือ 25 กรัม ดังนั้นซีเซียม-137 ต้องใช้เวลาอีกนับร้อยปีจึงจะสลายเหลือศูนย์หรือจนสูญเสียสภาพ และระหว่างช่วงเวลาการสลายผลกระทบจากการปนเปื้อนอาจจะเกิดขึ้นต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

โดยปริมาณของวัสดุกัมตรังสีซีเซียม-137 ที่เป็นข่าวนี้มีค่าเริ่มต้นที่ 80 มิลลิคูรี (80mCi) วัดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 ปัจจุบันเหลือปริมาณอยู่ที่ 41.14 มิลลิคูรี โดยประมาณ (ข้อมูลจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ)

ซีเซียม-137 ใช้ทำอะไร?

ซีเซียม-137 ถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นอุปกรณ์วัดระดับ (Level gauge) ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น เครื่องวัดความชื้น เครื่องวัดความหนาแน่น เครื่องวัดระดับการไหลของเหลวในท่อ เครื่องวัดความหนา และเครื่องตรวจสอบชั้นบาดาล ส่วนทางการแพทย์ ใช้เป็นต้นกำเนิดของรังสีแกมมาเพื่อฉายแสงรักษามะเร็ง 

ในกรณีโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ใช้ซีเซียม-137 เป็นเครื่องมือวัดระดับของขี้เถ้าในไซโลของโรงไฟฟ้า

ซีเซียม-137 มีอันตรายไหม?

การได้รับปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาจากซีเซียม-137 เป็น ระยะเวลาสั้น ๆ จะไม่ส่ง ผลให้เกิดอันตรายที่เห็นผลชัดเจนในทันทีแต่อย่างใด แต่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยง ที่สูงขึ้นในการเกิดโรคมะเร็งได้ 

ในกรณีหากได้รับปริมาณรังสีต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น ผิวหนังแสบร้อนและมีผื่นแดงคล้าย น้ำ ร้อนลวกหรือโดนไฟไหม้ หรืออาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้

ถ้าหากได้รับ ปริมาณรังสีที่สูงมากพอ เมื่อซีเซียม-137 เข้าไปในร่างกายจะเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่ออ่อน (soft tissue) ของอวัยวะต่าง ๆ และแผ่รังสีให้แก่อวัยวะเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งของอวัยวะที่ซีเซียม-137 นั้นเข้าไปสะสมอยู่

© สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

หน่วยต่าง ๆ มีความหมายอย่างไร และค่ากัมมันตรังสีที่จะเกิดความเสี่ยงคือเท่าไหร่?

ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง (µSv/hr) คือ ปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาจากวัตถุกัมมันตรังสี เนื่องจากรังสีมีหลายชนิด และแต่ละชนิดส่งผลต่อร่างกายมนุษย์แตกต่างกัน รังสีหลัก ๆ ได้แก่ รังสีแอลฟา รังสีบีตา และรังสีแกมมา การวัดรังสีในหน่วยซีเวิร์ตเป็นหน่วยที่วัด ปริมาณรังสียังผล (effective radiation dose) มากกว่าการวัดขนาดของปริมาณรังสี หมายความว่ารังสีแต่ละซีเวิร์ต “ยังผลทางชีวภาพเท่ากัน” โดยประมวณผลรังสีทุกชนิดแล้วยุบรวมกันเป็นตัวเลขเดียว

ตัวอย่างการได้รับรังสีทางการแพทย์ เช่น ปริมาณรังสีที่ได้รับจากการเอกซเรย์เต้านม (mammogram) ตกประมาณ 0.1 มิลลิซีเวิร์ตต่อครั้ง หากเป็นการซีทีสแกนทรวงอกประมาณ 11 มิลลิซีเวิร์ตต่อครั้ง การตรวจรักษาทางการแพทย์บางอย่างผู้ป่วยอาจได้รับรังสีสูงถึง 17 มิลลิซีเวิร์ตต่อครั้ง และสูงถึง 100 มิลลิซีเวิร์ตต่อครั้ง สำหรับการทำซีทีสแกนทั่วร่างกาย

โดยมีการประเมินปริมาณรับรังสีประมาณ 100 มิลลิซีเวิร์ตแต่ละครั้ง จะทำให้บุคคลนั้นเริ่มมีโอกาสเสี่ยงเกิดมะเร็งได้ ในขณะที่รังสีธรรมชาติที่เราได้รับนั้นมีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 2 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี หรือ 0.23 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง

กรณีที่มีการหลอม ซีเซียม-137 ทำให้เกิด/ฝุ่นแดงปนเปื้อนซีเซียมนั้น กระบวนการหลอมจะมีการปล่อยสารออกมาหรือไม่?

ซีเซียมนั่นมีจุดเดือดที่ต่ำกว่าโลหะชนิดอื่นอย่างเหล็ก ทำให้ในกระบวนการหลอม ซีเซียมจะระเหยเป็นไอและอาจไปเกาะติดอยู่กับอนุภาคของฝุ่น

โรงงานรีไซเคิลโลหะนั้นตามมาตรฐานจะมีการติดตั้งอุปกรณ์กรองฝุ่น ซึ่งมีประสิทธิภาพดักจับฝุ่นละอองได้ 90-95% ของฝุ่นละอองทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 5-10% จะถูกปล่อยสู่ ทำให้คาดการณ์ว่าซีเซียมส่วนใหญ่จะปะปนอยู่กับฝุ่นที่ถูกกรอง และอาจมีบางส่วนหลุดรอดจากระบบและปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมในรัศมีประมาณ 5-10 กิโลเมตรตามทิศทางลมรอบโรงงาน

และจากการแถลงข่าว มีการพบซีเซียมจำนวนมากในถุงบิ๊กแบ๊คที่บรรจุฝุ่นจากระบบกรองดังกล่าว

© Tara Buakamsri / Greenpeace

ฝุ่นแดงปนเปื้อนดังกล่าวสามารถแพร่กระจายได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่ได้อยู่ในจังหวัดปราจีนบุรีควรกังวลมากน้อยแค่ไหน?

ข้อมูลจากการแถลงข่าว (20 มี.ค. 66) จากผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ยังไม่พบว่ามีการปนเปื้อนไปยังสิ่งแวดล้อมโดยรอบในรัศมี 5 กิโลเมตรจากโรงงาน ยังไม่พบผู้ป่วยที่ได้รับสารกัมมันตภาพรังสีซีเซียม-137 และยังไม่พบฝุ่นเหล็กปนเปื้อนซีเซียม-137 ในฝุ่นเหล็กที่ถูกส่งไปรีไซเคิลที่จังหวัดอื่น แต่ยังต้องมีการติดตามตรวจสอบในสิ่งแวดล้อมระยะ 5-10 กิโลเมตรรอบโรงงาน และติดตามตรวจสอบสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานในโรงงานและประชาชนโดยรอบในรัศมี 5-10 กิโลเมตรเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าซีเซ๊ยม-137 จะหลุดรอดออกจากระบบของโรงงานและปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหาร

ซีเซียม-137 มีโอกาสที่จะปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ และอาหารหรือไม่?

หากมีการหลุดรอดออกมาจากระบบ ก็อาจจะมีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้

เคยมีเหตุการณ์ซีเซียม-137 กระจายฟุ้งไหม?

ในระดับโลกเคยมีเหตุการณ์ซีเซียม-137 ฟุ้งกระจายที่ใหญ่ที่สุดคือในเหตุการณ์ระเบิดปรมาณูสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 และเหตุการณ์โศกนาฎกรรมการระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลโดยพบว่า ซีเซียม-137 แผ่กว้างไปไกลถึงประเทศสวีเดนซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 1,000 กิโลเมตร 

นักวิทยาศาสตร์ของสหภาพยุโรปคาดการณ์ว่า เหตุการณ์เชอร์โนบิล มีผู้ได้รับผลกระทบจากการระเบิดโดยตรงมากกว่า 600,000 คน และอาจมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจากการสัมผัสกัมมันตรังสีอาจสูงถึง 4,000 คน (Finn, Peter (2005-09-06). “Chernobyl’s Harm Was Far Less Than Predicted, U.N. Report Says”) 

เคยเกิดเหตุการณ์คล้ายกันนี้ในไทยไหม?

ประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์การสูญหายของวัสดุกัมมันตภาพรังสีที่คล้ายกันเมื่อประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2543 กรณี #โคบอลต์60 เกิดขึ้นจากการที่ผู้ประกอบกิจการจัดเก็บโดยไม่ถูกต้อง ไม่มีการควบคุมดูแล ทำให้เกิดการนำวัตถุส่วนหัวของเครื่องโคบอลต์-60 ซึ่งเป็นเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ที่เสื่อมสภาพ   ไปทิ้งไว้ในบริเวณลานจอดรถเก่ารกร้าง จนมีคนเก็บของเก่ามาเจอ และนำไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่า ด้วยความไม่รู้จึงได้ทำการแยกชิ้นส่วนโลหะ ทำให้กัมมันตภาพรังสีแพร่กระจาย จนมีผู้ป่วยรุนแรง 10 ราย ในจำนวนนี้มี 3 รายทำงานในร้านรับซื้อของเก่า และชาวบ้านในรัศมี 50-100 เมตร รวม 1,614 คน ต้องเฝ้าระวังและตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน และใช้เวลายาวนานกว่า 15 ปีเพื่อดำเนินคดีกับบริษัทที่ลักลอบทิ้งวัตถุโคบอลต์-60 นั้น

© สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

สเตปถัดไปรัฐบาลควรแก้ปัญหานี้อย่างไร?

  • สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตรวจสอบการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในสถานที่ที่มีเบาะแสว่าอาจได้รับซีเซียม-137 เพื่อประเมินความเสี่ยงและมีมาตรการในการแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
  • รัฐต้องสนับสนุนมาตรการป้องกันและเยียวยาความเสียหาย เช่น การประกาศพื้นที่เสี่ยงภัย กำหนดรัศมีพื้นที่ที่ต้องมีการตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และต้องให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงได้รับการตรวจสุขภาพโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
  • รัฐต้องจัดทำข้อมูลสื่อสารความเสี่ยงเพื่อความเข้าใจและการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ผลักภาระให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องรับผิดชอบเอง
  • หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจึงต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เปิดเผยความจริงต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส 
  • เมื่อมีการตรวจสอบและพบว่ามีการกระทำความผิด หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดหรือละเมิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด และดำเนินการให้เกิดการรับผิดชอบต่อความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น โดยใช้งบประมาณของรัฐซึ่งคือภาษีของประชาชน
  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจำเป็นต้องตรวจสอบให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าแท่งซีเซียม-137 ที่หายไป คือชิ้นเดียวกันกับที่ถูกหลอมในโรงงานรีไซเคิลหรือไม่ และต้องเร่งตรวจสอบวัสดุกัมมันตรังสีโดยเฉพาะประเภทที่สร้ามความอันตราย ว่าอยู่ครบทุกชิ้นหรือไม่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป

อ่านแถลงการณ์ขององค์กรสิ่งแวลด้อมต่อกรณี #ซีเซียม137 หาย ได้ที่

https://act.gp/statement-radiation-Prachinburi