ปัจจุบันวิกฤตสภาพภูมิอากาศกระทบกับชีวิตของเราในหลากหลายด้าน แม้กระทั่งเครื่องดื่มที่ใครหลายคนชื่นชอบและอาจจะต้องดื่มทุกเช้าของวันก็คือ กาแฟ ประเทศอินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผลิตเมล็ดกาแฟได้มากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตามเพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศนำไปสู่สภาพอากาศแปรปรวนจนเพิ่มปริมาณฝนและทำให้เกิดน้ำท่วมในประเทศ ซึ่งกระทบต่อการผลิตกาแฟรวมทั้งกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้ผลิตรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปลูกกาแฟกว่า 90%

และการต่อสู้เพื่อให้เราผ่านความท้าทายนี้ไปได้ กลุ่มเกษตรกรผู้หญิงที่ปลูกกาแฟอย่างแบรนด์ Lady Farmer Coffee กำลังใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ในการปลูกกาแฟ โดยพวกเธอใช้เดินเครื่องอบเมล็ดกาแฟ และทำให้สามารถรักษาคุณภาพและรสชาติของกาแฟอินโดนีเซียได้ ในขณะเดียวกันก็ยังสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรจากฟาร์มอื่น ๆ มาร่วมทำธรุกิจอีกด้วย การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในธุรกิจแบบนี้จะช่วยให้เกษตรกรสามารถปรับตัวกับความท้าทายที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกับสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในธุรกิจของตัวเองอีกด้วย

ฟาริดา ดวี เพื่อนๆต่างเรียกเธอว่า วีวี เธอและเพื่อนผู้หญิงอีกสองคนรวมกลุ่มตั้งแต่ปี 2016 และก่อตั้งกลุ่มผู้ผลิตกาแฟแบรนด์ Lady Farmer Coffee ในการังโกบา ภูมิภาคชวาตอนกลาง อินโดนีเซีย © Nouddy Korua / Greenpeace

ฟาริดา หรือวีวี ผู้ก่อตั้งกลุ่มผู้ผลิตกาแฟในแบรนด์ Lady Farmer Coffee กล่าวว่า “การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับเรา เพราะที่นี่การใช้พลังงานหมุนเวียนยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ซึ่งการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ และวิธีการอบเมล็ดกาแฟของเรานั้นได้ทำให้ผู้คนเห็นว่าผู้ประกอบการหญิงก็สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ได้”

วีวีและเพื่อนผู้หญิงทั้ง 2 คนเริ่มธุรกิจปลูกกาแฟในปี 2016 ที่เมืองการังโกบา ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะชวาตอนกลางของอินโดนีเซีย วิสัยทัศน์ของวีวีคือต้องการผลิตกาแฟคุณภาพสูงที่สามารถแข่งขันกับกาแฟยี่ห้ออื่นได้ วีวีบอกว่า “แบรนด์ Lady Farmer เกิดขึ้นเพราะเราต้องการสร้างพลังและผลักดันให้ผู้หญิงในพื้นที่นี้เป็นเกษตรกร” ปัจจุบันแบรนด์เมล็ดกาแฟ Lady Farmer Coffee มีต้นกาแฟสายพันธุ์ Sigarar Utang กว่า 273 ต้น ทั้งหมดถูกดูแลโดยเกษตรกรผู้หญิงตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่การปลูกไปจนถึงหลังการเก็บเกี่ยว การคั่วเมล็ดและการแพ็คเพื่อส่งขาย

นอกจากความท้าทายในการดำเนินธุรกิจด้านการเกษตรแล้ว แบรนด์ยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เพราะต้นกาแฟและการผลิตเมล็ดกาแฟมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก็มีข้อมูลเปิดเผยว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นในชวา  1,472 มิลลิเมตรต่อปี ในขณะที่ต้นกาแฟสามารถป้องกันดินถล่มได้ในพื้นที่ที่เกิดฝนตกหนัก อย่างไรก็ตาม ฝนก็ส่งผลเสียกับต้นไม้และต้นกาแฟได้

“ต้นกาแฟต้องการน้ำและอากาศเพราะเป็นแร่ธาตุที่ทำให้เติบโต แต่ถ้าหากมีน้ำมากเกินไปก็จะทำลายต้นไม้ได้” วีวีเล่า “หยดน้ำฝนจะกระทบตัวดอกไม้ ซึ่งมีเกสรดอกไม้และจะกระทบต่อเมล็ด ทำให้ความหวานในเมล็ดหายไป”

ฝนยังส่งผลกระทบต่อกระบวนการอบเมล็ดหรืออีกนัยหนึ่งคือกระทบต่อคุณภาพของเมล็ด นอกจากนี้หากขาดแสงอาทิตย์และความร้อนอาจทำให้รสชาติของเมล็ดกาแฟเปลี่ยนไปหรืออาจทำให้เมล็ดขึ้นราได้ ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนหน้านี้ราคาค่าไฟฟ้าของอินโดนีเซียสูงขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการขนาดเล็กอย่างแบรนด์ Lady Farmer Coffee เนื่องจากธุรกิจเชิงพาณิชย์ไม่ได้รับการสนับสนุนค่าไฟฟ้าจากรัฐ

แบรนด์ Lady Farmer Coffee จึงเลือกเปลี่ยนไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าสำหรับกระบวนการอบเมล็ด การติดตั้งแผงโซลาร์ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนที่รวมกลุ่มในชื่อ Diversity Movement ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กรีนพีซ อินโดนีเซียในการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนด้วย และทำให้เกษตรกรปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเพื่อต่อกรวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

และจากรายงานที่จัดทำโดย Soriano and Aguirre ระบุว่าการติดตั้งเครื่องอบกาฟด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในกระบวนการผลิตกาแฟซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด สามารถลดเวลาในการทำให้เมล็ดกาแฟแห้งได้ถึง 40% และสามารถลดต้นทุนได้มากถึง 35% ด้วยผลการศึกษาที่ออกมานี้ทำให้การใช้เครื่องอบเมล็ดกาแฟพลังงานแสงอาทิตย์ของแบรนด์ Lady Farmer Coffee สามารถคงคุณภาพของกาแฟและยังเพิ่มกำไรให้กับแบรนด์ แม้ว่าเราจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่สภาพอากาศแปรปรวนคาดเดาได้ยากขึ้น

สำหรับแบรนด์ Lady Farmer Coffee พลังงานหมุนเวียนได้พิสูจน์แล้วว่ามีความหมายต่อทั้งการสร้างเศรษฐกิจและยังเป็นส่วนสร้างพลังให้กับกลุ่มผู้หญิงเพื่อเป็นผู้ประกอบการในเกาะชวา “นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกของแบรนด์เราและเรายินดีที่จะเรียนรู้จากคนอื่น ๆ ด้วย” วีวีกล่าว “เราต้องขอขอบคุณการสนับสนุนที่ผ่านมาจากทุกคน”


อดิลา อิสฟานดิอารี นักรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงาน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – อินโดนีเซีย

บความนี้ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ common-power.org