ขณะหลายคนกำลังป่วยด้วยฝุ่น PM2.5 ที่หนักหน่วงในเดือนมีนาคมและอาจอยากรู้ว่าเราต้องแบกรับภาระทางสุขภาพนี้ไปอีกนานแค่ไหน? หรือจะเกิดอะไรขึ้นในเดือนนี้และเดือนต่อ ๆ ไป กรีนพีซ ประเทศไทยขอชวนอ่านรายงานคุณภาพอากาศโลก หรือรายงาน IQAir [1]  ประจำปี 2565 ที่เพิ่งเปิดตัว เพื่อเตรียมตัวเตรียมใจรับมือสถานการณ์ปีนี้หากยังคงซ้ำรอยปีที่แล้ว สำรวจปัจจัยที่ทำให้อากาศดีและแย่ และกำหนดอนาคตทางสุขภาพของพวกเราร่วมกัน

มีนาคม-เมษายน เดือนที่ฝุ่น PM2.5 หนักที่สุด

จากรายงานของ IQAir ปี 2565 เดือนมีนาคมคือเดือนที่ค่าฝุ่น PM2.5 ในไทยพุ่งสูงมากที่สุดในรอบปี รองลงมาคือเดือนเมษายน จังหวัดที่มีความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยต่อปี มากที่สุดของไทย คือ สระบุรี รองลงมาคือ หนองคาย น่าน ลำปาง และขอนแก่น ตามลำดับ โดยดัชนีคุณภาพอากาศ ของทั้ง 5 จังหวัด ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน มีแค่ 4 ระดับ เท่านั้นคือ ระดับที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยหรือร่างกายอ่อนแอ (สีส้ม) ระดับที่ส่งผลกระทบต่อทุกคน ระดับเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างมาก และระดับอันตราย (สีแดงเลือดหมู) และยังนับเป็นช่วงที่ประชาชนในภาคเหนือของไทยมีความเสี่ยงต่อผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศรุนแรง

สภาพการจราจรที่ติดขัดบริเวณถนนรัชดา-สุทธิสารในวันที่กรุงเทพมหานครมีฝุ่นละอองคล้ายหมอกควันปกคลุมในหลายพื้นที่ ในวันนี้กรมควบคุมมลพิษได้รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลว่าบริเวณพื้นที่ริมถนน 20 พื้นที่ มีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจวัดได้ที่ 56-103 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และพื้นที่ทั่วไป 14 พื้นที่ อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจวัดได้ที่ 55-96 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมการแจ้ง และสวมใส่หน้ากากอนามัยหากมีความจำ © Chanklang Kanthongl / Greenpeace

ฝุ่น PM2.5 เยอะ ทั้งปีมีอากาศดีแค่ 3 เดือน

สำหรับช่วงที่อากาศดีที่สุดสำหรับคนไทยในปี 2565 รายงาน IQAir ระบุว่าคือช่วงเดือน มิถุนายน – สิงหาคม ซึ่งคุณภาพอากาศในช่วงนี้ได้รับอิทธิพลจากฤดูฝนในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม บวกกับความชื้นสูงและพายุอันเนื่องมาจากปรากฎการณ์ลานีญาในช่วงเดือนสิงหาคม ส่งผลให้ไทยมีคุณภาพอากาศโดยรวมดีขึ้นเมื่อเทียบปี 2564 ด้วย แต่เราไม่อาจหวังพึ่งปัจจัยนี้ไปได้ตลอด และจำเป็นต้องเรียกร้องรัฐให้แก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างในระยะยาว

ไม่เห็นไม่ใช่ไม่มี หลายจังหวัดฝุ่นPM2.5 เยอะ แต่ยังไม่มีเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ

จากรายงาน IQAir ในปี 2565 เราจะพบว่ามีบางจังหวัดติดอันดับจังหวัดที่มีค่าความเข้มข้นPM2.5สูง แต่จังหวัดใกล้เคียงกลับไม่ปรากฎค่าที่สูงตาม เช่นในภาคอีสานที่ขอนแก่นติดอันดับจังหวัดที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงมาหลายปี แต่จังหวัดใกล้เคียงกลับไม่ปรากฎสถิติติดอันดับที่สูงตามไปด้วย นั่นเพราะยังมีอีกหลายจังหวัดที่ยังไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษหรือแม้แต่เครื่องวัดแบบเซ็นเซอร์ โดยเฉพาะจังหวัดในภาคอีสาน เช่น ศรีสะเกษ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ฯลฯ 

ฝุ่น PM2.5 คุณภาพอากาศไทย แย่ติดอันดับ 5 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงาน IQAir จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลคุณภาพอากาศ PM2.5 จาก 7,323 เมือง ใน 131 ประเทศ และภูมิภาค โดยรวบรวมข้อมูลมาจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศภาคพื้นดินกว่า 30,000 แห่งทั่วโลก และใช้เกณฑ์ค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นค่าพื้นฐานในการนำเสนอข้อมูลคุณภาพอากาศ จากรายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2565 ของ IQAir ระบุว่าคุณภาพอากาศของไทยแย่ติดอันดับ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่อันดับที่ 57 จาก 131 ประเทศ และทุกภูมิภาคทั่วโลก 

ข้อค้นพบหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทย

  • ในปี 2565 พบว่า 7 จาก 9 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 ลดลง มีเพียง สปป.ลาวและเวียดนามเท่านั้นที่มีค่าความเข้มข้น PM2.5 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564
  • อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีค่าความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ยสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 30.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รองลงมาคือ สปป. ลาว 27.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเวียดนาม 27.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • กัมพูชาเป็นประเทศที่มีค่าความเข้มข้น PM 2.5 น้อยสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีค่าเฉลี่ย อยู่ที่ 8.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรลดลงจากปี 2564 ร้อยละ 58 
  • มีเพียง 8 เมืองจากทั้งหมด 296 เมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่ผ่านหลักเกณฑ์ค่าแนะนำคุณภาพอากาศ PM2.5 ฉบับปรับปรุงล่าสุดปี 2564 ของ WHO
  • ไทยและอินโดนีเซียมีจำนวนเมือง/ อำเภอ ที่มีมลพิษมากที่สุดจากทั้งหมด 15 อันดับของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่ไทยมี 7 อำเภอที่มีมลพิษสูงคือ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี, อ.เมืองน่าน จ.น่าน, อ.ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ, คลองตาคต จ.ราชบุรี, ท่าวาสุกรี จ.พระนครศรีอยุธยา, ดอนหัน จ.ขอนแก่น , ยางซ้าย จ.สุโขทัย และอินโดนีเซียมี 5 เมืองคือ ปาซาร์เคมิส, ชีเลงเซีย, จาการ์ตา, เบกาซี, สุราบายาตามลำดับ
  • ค่าความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ยของไทยปี 2565 อยู่ที่ 18.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงกว่าปี 2564 ร้อยละ 10.4
  • กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีค่าความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยรายปี สูงเป็นอันดับที่ 5  ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับที่ 52 ของโลก มีค่าความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ย 18 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, Friend Zone, เมล์เดย์, Climate Strike Thailand และภาคประชาชน ร่วมเดินรณรงค์ไปยังศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เพื่อยื่นแถลงการณ์ “พอกันที ขออากาศดีคืนมา” รวมถึงข้อเสนอแนะ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือจัดการกับปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจังและเร่งด่วน © Wason Wanichakorn / Greenpeace

สิ่งที่ไทยยังไม่ได้ทำเพื่อสู้กับฝุ่น PM2.5

อัลลิยา เหมือนอบ นักรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศจากกรีนพีซ ประเทศไทยกล่าวถึงสิ่งที่รัฐควรเริ่มทำตั้งแต่วันนี้เพื่อต่อกรวิกฤตมลพิษทางอากาศว่า “ยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยฝุ่น PM2.5และปรอท จากแหล่งกำเนิดหลักและการเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) ที่จะเป็นเครื่องมือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบและป้องกันสุขภาพจาก PM2.5 และมลพิษอื่นๆ ได้  PRTR จะช่วยให้รัฐบาลสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อกำหนดนโยบายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กำหนดแนวทางการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ PM2.5  ตลอดจนติดตามตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย การวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน ลดใช้สารเคมีเป็นพิษในกระบวนการผลิตและการลดการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด เพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง”

ฝุ่นภาคเหนือและการไม่จัดการอย่างจริงจังและจริงใจของรัฐ

จากข้อมูลในรายงานของกรีนพีซ ประเทศไทย พบว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือตอนบนของไทย และการขยายการลงทุนของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยเพื่อผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คือสาเหตุหนึ่งของมลพิษข้ามพรมแดนที่มีความเชื่อมโยงกับวิกฤตฝุ่นควันในภาคเหนือ ทว่าเรื่องนี้ยังไม่เคยถูกจัดการอย่างจริงจังและจริงใจจากรัฐ

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ  กรีนพีซ ประเทศไทยกล่าวถึงสิ่งที่รัฐควรทำตั้งแต่วันนี้ว่า “สิ่งที่ยังขาดหายไปคือกลไกทางกฎหมายและการกำหนดนโยบายที่สามารถเอาผิดอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการก่อฝุ่นพิษPM2.5ข้ามพรมแดนและการทำลายป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ปัญหามลพิษข้ามพรมแดนเป็นภารกิจที่เร่งด่วนที่ภาครัฐจำเป็นต้องแสดงเจตนารมณ์และดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการกำหนดมาตรการและนโยบายเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีภาระรับผิดต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสุขภาพ เพื่อต่อกรกับความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และปกป้องสุขภาพของประชาชน”

ร่วมลงชื่อผลักดันกฎหมาย #ThaiPRTR กฎหมายที่ส่งเสริมสิทธิที่จะได้รู้ (Right To Know) ของประชาชน ซึ่งนับเป็นสิทธิอันเป็นรากฐานสำคัญของการแก้ปัญหา PM 2.5 ทั่วโลก ได้ที่นี่ https://thaiprtr.com/

#RightToCleanAir 

เกี่ยวกับ IQAir 

IQAir เป็นบริษัทเทคโนโลยีคุณภาพอากาศในสวิตเซอร์แลนด์ที่ส่งเสริมให้ บุคคล องค์กร และชุมชน ใช้ข้อมูลปรับปรุงคุณภาพอากาศ การทำงานร่วมกัน และเทคโนโลยีการแก้ปัญหา 

ร่วมผลักดันกฎหมาย #OpenDataมลพิษ #ThaiPRTR ร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณนิเวศ และกรีนพีซได้ที่ https://act.gp/IQAIR-ThaiPRTR

หมายเหตุ

[1] รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2565 ของ IQAir สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://act.gp/airpollution-iqair-2022-report

[2] รายงาน “เติบโตบนความสูญเสีย: ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเกษตรพันธสัญญาในภาคเหนือของไทย

[3] ปี 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO)ได้ปรับปรุงเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศในรอบ 15 ปี ซึ่งกำหนดเกณฑ์ค่าแนะนำ PM2.5 เฉลี่ยรายปีไว้ที่ 5 ไมโครกรัมต่ลูกบาศก์เมตร และค่า PM 2.5 เฉลี่ยรายวันไว้ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร