สิ่งก่อสร้างที่สูงใหญ่ทุกประเภทต่างเป็นอันตรายต่อสัตว์จำพวกนกทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอาคาร เสาไฟฟ้าแรงสูง สายนำส่งสัญญาณ หรือแม้แต่กังหันลม และแม้ว่าผลกระทบต่อชีวิตของสัตว์เหล่านี้จะเป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่ถ้าหากเทียบกันกับอันตรายจากสิ่งอื่นๆแล้วนั้น ผลกระทบจากกังหันลมนับเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก โดยนกและค้างคาวมักต้องเผชิญกับอันตรายอื่นๆ เช่น แมวบ้าน (ซึ่งคาดว่าเป็นสาเหตุการตายของนก 1.3 ถึง 4 พันล้านตัวในสหรัฐอเมริกา)

งานวิจัยฉบับหนึ่งในสหรัฐอเมริกาในปี 2556 ประเมินว่า เกือบหนึ่งพันล้านชีวิตของนกในสหรัฐอเมริกาต้องสูญเสียไปเพราะสิ่งก่อสร้างประเภทอาคารต่างๆ และ 175 ล้านชีวิตเพราะสายนำส่งสัญญาณ เทียบกับกังหันลมที่สร้างความสูญเสียเพียงราวห้าแสนตัวต่อปีเท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าสัตว์ที่ต้องตายจากบ่อขยะอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซมาก นอกจากนี้ แม้ว่าผลกระทบของพลังงานหมุนเวียนที่มีต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลจะยังไม่แน่ชัดนัก แต่จากงานวิจัยจำนวนมากชี้ว่าปัจจัยเสี่ยงหลักที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลคือเสียงรบกวนจากการก่อสร้าง ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อวาฬ โลมา และอื่นๆ ในขณะที่หากกังหันพลังงานลมแบบนอกชายฝั่งติดตั้งเสร็จสมบูรณ์แล้ว กังหันเหล่านี้จะยังสามารถเป็นปะการังเทียมให้กับสัตว์ทะเลได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณแหล่งอาหารและทรัพยากรที่จะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือตัวอันตรายที่แท้จริง

เราจะมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นอันตรายต่อค้างคาวและนกมากกว่ากังหันลมไปไม่ได้ ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้องค์กรพิทักษ์นกแห่งสหราชอาณาจักรในอังกฤษ (Royal Society for the Protection of Birds; RSPB) สนับสนุนให้มีการติดตั้งกังหันลมในอังกฤษทั้งแบบบนชายฝั่งและนอกชายฝั่งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

สถานที่ตั้ง

ด้วยพัฒนาการของสิ่งก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นพลังงานหมุนเวียนหรือการก่อสร้างใดๆที่เกี่ยวข้องก็ตาม อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆและระบบนิเวศได้ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ในความเป็นจริง ปัญหาไม่ได้อยู่ขนาดของสิ่งก่อสร้างแต่กลับอยู่ที่สถานที่ตั้ง อันนับเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้ฟาร์มกังหันลมเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต โดยที่นาบาร์ราในประเทศสเปนและที่อัลทามอนต์ พาสในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีปัญหาเรื่องการตายของนกจำนวนมาก พบว่าแท้จริงแล้วสาเหตุของการตายเหล่านี้เกิดจากการที่กังหันลมถูกติดตั้งในแหล่งหาอาหารสำคัญของนกล่าเหยื่อ

ปัญหาเหล่านี้สามารถเลี่ยงได้ด้วยการตรวจสอบสถานที่ตั้งที่เหมาะสมที่สุดอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และกลยุทธ์ในการบรรเทาภัย ตัวอย่างเช่น ที่อัลทามอนต์ พาส กังหันพลังงานลมรุ่นเก่ากว่าหลายพันเครื่องถูกแทนที่ด้วยกังหันที่สูงกว่าแต่มีจำนวนน้อยกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงลงได้มาก ส่วนในอีกแห่งหนึ่ง ผลกระทบของกังหันลมที่มีต่อค้างคาวและนกเองก็ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญจากการหยุดปฏิบัติการกังหันลมชั่วคราวในช่วงฤดูอพยพของนก

ทั้งนี้ทั้งนั้น กุญแจสำคัญคือการวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุดและการพัฒนาการประเมินผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) โดยไม่ควรติดตั้งกังหันลมบนพื้นที่เสี่ยงอย่างพื้นที่ลุ่มน้ำและพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ต่างๆ อีกยังทาง EIA ยังต้องมีการพิจารณาผลกระทบที่เพิ่มมากขึ้นจากการติดตั้งพลังงานหมุนเวียน รวมถึงความเหมาะสมของสถานที่ที่จะติดตั้ง เนื่องจากนกและสัตว์ทะเลอาจบังเอิญได้รับผลกระทบจากโครงการพลังงานหมุนเวียนในเส้นทางอพยพและในพื้นที่อยู่อาศัยของพวกมัน

ประเด็นสำคัญ: กังหันลมเป็นอันตรายต่อสัตว์จำพวกนกน้อยกว่าอาคารสูงหรือสายนำส่งสัญญาณอย่างมาก อีกทั้งบ่อขยะจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซยังคร่าชีวิตนกไปมากกว่ากังหันลมในสหรัฐอเมริกา