กว่าจะผ่านช่วงโควิดกันมาได้ ใบหูของหลายคนคงมีร่องรอยที่ทิ้งไว้จากการต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ทุกวัน ปี 2566 นี้ในขณะที่สถานการณ์โควิดดีขึ้นจนคนส่วนใหญ่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติและถอดหน้ากากให้หายใจได้อย่างเต็มปอด พวกเราคนไทยกลับยังต้องสวมหน้ากากยามออกไปข้างนอก เพราะฝุ่น PM2.5 ที่วนกลับมาตามฤดูกาล โดยจังหวัดกรุงเทพมหานครและอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือต่างแข่งกันขึ้นอันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศยอดแย่ระดับโลก 

ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลได้มีการประกาศแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” มาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งผ่านมาแล้วกว่า 4 ปี เรามาดูกันดีกว่าว่าหน่วยงานของรัฐได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง แล้วทำไมเรายังเจอกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ซ้ำซากอยู่อย่างนี้

© Chanklang Kanthong / Greenpeace

ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ปี 2562 หรือแผนฝุ่นแห่งชาติ มีการระบุแผนการทำงานออกเป็น 3 ช่วง คือ 1) ช่วงเร่งด่วน/ช่วงวิกฤต 2) ระยะสั้น (ปี 2562 – 2564) และ 3) ระยะยาว (ปี 2565 – 2567) โดยมีหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบอยู่มากถึง 24 หน่วยงาน (กระทรวง/กรม/สำนักงาน) และมีมาตรฐานการแก้ไขปัญหาใหญ่ ๆ อยู่ 3 มาตรการ คือ 

1) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (พื้นที่ที่มีปัญหา/พื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละออง)
ในช่วงวิกฤต

2) ป้องกัน และลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำาเนิด)

3) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ

ซึ่งในรายละเอียดนั้นมีการระบุชัดถึงสิ่งที่ต้องทำ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ  เมื่อได้ติดตามและรวบรวมข้อมูลที่มีการเปิดเผยอย่างเป็นสาธารณะและการติดต่อสอบถามโดยตรงกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ พบว่ามีการดำเนินการที่เสร็จเรียบร้อยไปประมาณร้อยละ 30 จากแผนทั้งหมดร้อยกว่าข้อ ในขณะที่แผนส่วนใหญ่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงานทั้ง ๆ ที่เหลือเวลาในการดำเนินงานอีกเพียงไม่ถึง 2 ปี 

งานที่ดำเนินการเสร็จไปแล้ว ได้แก่ การศึกษาและจัดทำข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่น การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะเพื่อการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) การเสริมสร้างความพร้อมของระบบสาธารณสุขและการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขด้วยการคัดกรองผู้ป่วยจากฝุ่น PM2.5 และระบบแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบเมื่อสถานการณ์เริ่มเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ฯลฯ แม้จะมีการเชื่อมระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษกับหน่วยงานของรัฐหน่วยอื่นและสถาบันการศึกษาเพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ แต่ยังมีอีกหลายจังหวัดที่ยังไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ หรือแม้แต่เครื่องตรวจวัดแบบเซนเซอร์ โดยเฉพาะจังหวัดในภาคอีสาน เช่น ศรีสะเกษ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ฯลฯ

ในขณะที่การจัดการฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นจากการจราจร และการเผาในพื้นที่เปิด ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อพยายามจะควบคุมแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ให้ได้ด้วยการทดลองหลายมาตรการในพื้นที่ศึกษา ซึ่งก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จ และยังต้องปรับปรุงอยู่ ซึ่งไม่พบการยกระดับโมเดลที่ประสบความสำเร็จมาปรับใช้ในระดับประเทศ ในขณะที่มีการระบุถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะทั้งระบบหลักและระบบรองให้มีประสิทธิภาพ ปลอดมลพิษและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ แต่ความเป็นจริงคือมีการปรับเปลี่ยนระบบขนส่งสาธารณะด้วยการกระจายเส้นทางเดินรถให้แก่เอกชนมากขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อการปรับเพิ่มสัดส่วนของรถเมล์ไฟฟ้า แต่กลับสร้างผลกระทบต่อผู้ใช้งานเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเดินรถที่เปลี่ยนไปและราคาที่เพิ่มสูงขึ้นจนกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน

ฝุ่น PM2.5 จากหมอกควันข้ามพรมแดน ก็มีการจัดการที่ไม่ได้เข้มแข็งพอที่จะช่วยปกป้องสุขภาพของคนไทยได้ แม้จะมีการทำข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนเพื่อกำหนดเป้าหมายในการลดฝุ่น PM2.5 และการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แต่กลับไม่ได้มีมาตรการขั้นเด็ดขาดที่จะกดดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จากรายงาน เติบโตบนความสูญเสีย : ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเกษตรพันธสัญญาในเขตภาคเหนือของไทย พบว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของมลพิษทางอากาศจากการเผา โดยมีข้อค้นพบ คือ พื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนเกิดขึ้นในพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากถึง 1 ใน 3 ตลอดช่วงระยะเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา และภายในช่วงเวลาเพียง 5 ปี พื้นที่ป่าจำนวน 10.6 ล้านไร่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้กลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด ซึ่งรัฐยังละเลยการสร้างกลไกเอาผิดและภาระรับผิดชอบของภาคธุรกิจผู้ได้ผลประโยชน์จากมลพิษข้ามพรมแดนนี้

© Arnaud Vittet / Greenpeace

หนึ่งในแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ที่สำคัญอย่างภาคอุตสาหกรรมกลับแทบไม่มีการดำเนินการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศในรูปแบบ Loading โดยคำนึงถึงความสามารถหรือศักยภาพในการรองรับมลพิษทางอากาศของพื้นที่ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้เพราะประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Register) หรือ PRTR ที่จะช่วยให้เรามีฐานข้อมูลปริมาณสารมลพิษทั้งหมดเพื่อนำมาใช้ในการคำนวณ Emission Inventory หรือศักยภาพในการรองรับมลพิษทางอากาศของพื้นที่ต่างๆ ได้ และแม้กระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการประกาศกฎหมาย PRTR ในระดับกฎกระทรวงออกมา แต่กลับยังขาดรายละเอียดมากมายทั้งวิธีการรายงานและการเปิดเผยข้อมูลจนไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นกฎหมาย PRTR เหมือนที่มีการใช้งานในประเทศอื่น ๆ 

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “จะบอกว่ารัฐบาลไม่สนใจ PM2.5 ก็ทำมาทุกปีอะ บางปีมันก็ลดลง บางปีมันก็เพิ่มขึ้น ก็ต้องไปดูว่าเพิ่มขึ้นจากตรงไหน ก็ต้องไปแก้ตรงจุดนั้น ประชาชนจำนวนมากนี่แหละคือปัญหา เผาอ้อย เผาก่อนปลูกพืชก่อนทำนา อะไรไม่รู้เยอะไปหมด” ในขณะที่ข้อมูลจากสภาลมหายใจภาคเหนือ พบว่าปัญหาจุดความร้อนในภาคเหนือนั้นมาจากการเผาแปลงใหญในที่ป่าของรัฐ เป็นพื้นที่กว่า 3-5 แสนไร่ต่อปี แสดงให้เห็นว่ารัฐเองยังไม่เข้าใจถึงปัญหาที่ซับซ้อนของการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 และผลักภาระทั้งปัญหาและการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไปสู่ประชาชน 

ในวันที่มีผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศพุ่งไปกว่า 1.32 ล้านคน นับตั้งแต่ต้นปี 2566 นี้ เราก็คงได้แต่ใส่หน้ากากอนามัยและเปิดเครื่องกรองฝุ่น PM2.5 เพื่อป้องกันตัวเองตามที่หลายคนมักกล่าว “เริ่มต้นที่ตัวเรา” แต่คำถามคือ เราต้องพึ่งตัวเองแบบนี้ไปนานแค่ไหน เมื่อไหร่ที่รัฐจะมีกฎหมายที่เน้นปกป้องสุขภาพของเราเป็นหลัก แล้วจริงจังกับการแก้ที่การปรับเชิงโครงสร้าง เพื่อเอื้อให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นสักที