45 ปี หลังจากที่กรีนพีซทำการรณรงค์และผ่านเรื่องราวนับไม่ถ้วน สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นหลักของความเป็น “กรีนพีซ” ตลอดมา ก็คือผู้คน ที่เป็นแรงขับเคลื่อนความเป็นตัวเราและเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างสรรค์โลกที่น่าอยู่และสงบสันติตามที่เราปรารถนา

กรีนพีซถือกำเนิดขึ้นจากกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ที่เมืองท่าแวนคูเวอร์ บนชายฝั่งแปซิฟิก ประเทศแคนาดา พวกเขาอาสาที่จะสละเวลา เรี่ยวแรง ความคิดสร้างสรรค์ และยังแสดงความกล้าที่จะทำอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวของพวกเขา คนกลุ่มนี้ได้ร่วมกันประท้วงการทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกา ห่างออกไปทางชายฝั่งอาลาสก้า

หลังจากรวบรวมเงินทุนเพื่อซื้อเรือชื่อ Phyllis Cormack กลุ่มนักเคลื่อนไหวกลุ่มเล็กๆใช้ชื่อว่า “กรีนพีซ” และได้ออกเรือเดินทางไป แต่โชคไม่ดีนักที่พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่กองเรือยามฝั่งของสหรัฐอเมริกาสกัดไว้ ลูกเรือทั้งหมดจึงต้องหันหลังกลับบ้าน

แม้ว่าจะดูเหมือนเรื่องราวธรรมดา แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นหลายเท่า ความพยายามและความมุ่งมั่นของบุคคลกลุ่มเล็กๆกลุ่มนี้ ได้สร้างความตระหนักแก่ผู้คนในวงกว้าง และการคัดค้านการทดลองนิวเคลียร์ก็ขยายตัวขึ้น

เรื่องราวนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนเพียงกลุ่มเล็กๆสามารถรวมผู้คนในสังคมเข้าด้วยกัน เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกันแม้ว่าพวกเขาอาจไม่คาดคิดว่าจะเป็นไปได้  ความร่วมมือกันเช่นนี้บ่งบอกถึงจุดร่วมของแต่ละคนซึ่งในที่นี้คือ ความห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันของเรา

ตั้งแต่วันนั้นในปี 2514 กรีนพีซทั่วโลกได้ประสบทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวในการรณรงค์หลายต่อหลายครั้ง ในวันครบรอบครั้งที่ 45 นี้ เราจึงมาเฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จและบทเรียนทั้งหมดที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
เราขอขอบคุณทุกๆคนที่ได้มีส่วนร่วมมาตั้งแต่เริ่มแรก คนที่ได้ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตทำงานอย่างหนักเพื่อโลกของเรา
ถ้าหากไม่มีนักเคลื่อนไหว ทั้งในสังคมปัจจุบันและสังคมออนไลน์ ลูกเรือ นักรณรงค์ อาสาสมัคร นักวิทยาศาสตร์ นักกฎหมาย นักล็อบบี้ทางการเมือง และนักวิจัย กรีนพีซคงเป็นเพียงแค่คำหนึ่งคำ สิ่งที่ประกอบรวมกันเป็นกรีนพีซ คือผู้คนที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดเดียวกัน ซึ่งรวมถึงผู้สนับสนุน ผู้บริจาค และเครือข่าย


กรีนพีซคืออาสาสมัครกว่า 36,000 คนทั่วโลก ที่ได้ใช้ทักษะ พลัง และเวลาของพวกเขาเพื่อร่วมกลุ่มกันในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ทั้งหมดนี้คือกรีนพีซ

เรายกย่องกลุ่มคนเหล่านี้ที่ร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้แก่สิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจุบัน เรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาทางสิ่งแวดล้อมต่างๆมากมายที่คุกคามโลกและสิ่งมีชีวิตบนโลกที่เป็นบ้านของเราแห่งนี้ ความหวังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นระเบียบวาระโลกที่ใหญ่ที่สุดในช่วงชีวิตของพวกเรา ข้อตกลงที่ปารีส คือก้าวที่สำคัญที่จะรวบรวมและขับเคลื่อนพลังของชุมชนนานาประเทศ เพื่อจำกัดให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่เพิ่มมากไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส (เทียบกับระดับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม) และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเต็มร้อย ที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับทุกคน กรีนพีซมุ่งทำงานเพื่อให้โลกของเราลด ละ เลิกเศรษฐกิจที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่การสร้างเศรษฐกิจที่มีความเป็นธรรมบนรากฐานของระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดซึ่งนำผลประโยชน์มาสู่ผู้คนในชุมชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เราจะต้องลดทอนอำนาจของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล

ภาวะโลกร้อนยังทำให้มหาสมุทรสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาล ผลคือ ทะเลกำลังกลายเป็นกรดและเริ่มส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในทะเล กรีนพีซต้องการเห็น เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลมีมากขึ้น การทำประมงผิดกฎหมายมีน้อยลง และขณะนี้กำลังทำงานร่วมมือกับองค์กรต่างๆที่เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องทะเลของเราจากขยะพลาสติก

การทำงานร่วมกับชุมชนและกลุ่มต่างๆเพื่อรักษาระบบนิเวศป่าฝนเขตร้อนและผืนป่าดั้งเดิม เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก การทำงานรณรงค์เป็นทั้งการปกป้องความหลายหลากทางชีวภาพของผืนป่าและการปกป้องสภาพภูมิอากาศ เพราะป่าไม้มีบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลของระบบสิ่งแวดล้อมโลก

กรีนพีซทำงานรณรงค์เพื่ออาหารที่ดีต่อโลกและผู้คน รวมถึงสนับสนุนระบบเกษตรกรรมที่ช่วยรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเรากำลังทำงานเพื่อมุ่งไปสู่อนาคตปลอดสารพิษ ซึ่งไม่มีการผลิต การใช้และการปล่อยสารเคมีอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม

วันนี้ เราเดินหน้าต่อสู้คัดค้านพลังงานนิวเคลียร์อย่างไม่ลดละ และถึงแม้ว่ามีการลดลงของการทดลองนิวเคลียร์เต็มรูปแบบ อันเนื่องจากการต่อต้านของผู้คน อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายประเทศยังคงทำการพัฒนาและมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง เราต้องการสนธิสัญญาสหประชาชาติเพื่อห้ามอาวุธนิวเคลียร์เหล่านี้

สุขภาวะของโลกขึ้นอยู่กับสุขภาวะของทั้งหมดที่รวมเข้าด้วยกัน ประเด็นที่เชื่อมโยงเหล่านี้มีความซับซ้อน และบางครั้ง ทางออกของปัญหาดูเหมือนจะไกลเกินเอื้อม วันนี้ เช่นเดียวกับเมื่อ 45 ปีที่แล้วในแวนคูเวอร์ ผู้คนเรียกร้องปัญหาสิ่งแวดล้อมและลงมือทำเพื่อหาทางออก

มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์เคยกล่าวว่า “ความก้าวหน้าของมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นเองหรือหลีกเลี่ยงได้ ทุกๆก้าวที่นำไปสู่เป้าหมายความเป็นธรรมจำต้องมีการเสียสละ การเผชิญกับความทุกข์ การต่อสู้ดิ้นรน การทุ่มเทอย่างไม่หยุดหย่อน และความตระหนักอันแรงกล้าของบุคคลที่มุ่งมั่นอุทิศตน”

ณ วันนี้ มีความเร่งด่วนมากขึ้นในการปกป้องรักษาชุมชนและโลกของเรา พลังมวลชนเป็นสิ่งจำเป็นมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะผู้คนที่ร่วมปฏิบัติการเผชิญหน้าอย่างสันติ การเป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ การเปิดโปงอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม การวิจัยเชิงสืบสวนสอบสวนและการจุดประเด็นทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำเสนอทางออกของปัญหา

มีผู้คนมากขึ้นที่เชื่อและปรารถนาถึงความฝันอันยิ่งใหญ่เพื่อสร้างอนาคตที่น่าอยู่ และมีสันติให้เกิดขึ้นจริง
“โลกที่เราฝันถึงนั้นไม่เพียงแต่เป็นไปได้ เธอกำลังจะมาถึง ในวันเงียบสงบวันหนึ่ง ฉันได้ยินเสียงลมหายใจของเธอ” – อรุณธาติ รอย (Arundhati Roy)
โนโอกาสครบรอบ 45 ปี ของกรีนพีซ
บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน The Huffington Post
คอลัมน์ Green: Forty-five years of people power

และคอลัมน์ World: Forty-five years of people power