“เรือถึงฝั่งแล้ว”  คำกล่าวของเรน่า ลี (Rene Lee) ประธานการประชุมสนธิสัญญาทะเลหลวงของสหประชาชาติ หลังมีการบรรลุข้อตกลงสนธิสัญญาปกป้องทะเลหลวง อาจเรียกได้ว่าเป็นหมุดสำคัญทางประวัติศาสตร์และก้าวสำคัญในการปกป้องระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่คลุมพื้นที่กว่า 60% ของโลก

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ความทุ่มเทของนักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์ นักกิจกรรม และผู้คนทั่วโลกพยายามผลักดันให้เกิดสนธิสัญญาดังกล่าว บล็อกนี้เราจึงจะพาย้อนดูที่มาของการเจรจาสนธิสัญญา ช่วงเวลาประวัติศาสตร์ และอนาคตของมหาสมุทรโลกหลังได้สนธิสัญญา 

ที่มาสนธิสัญญา 

ข้อตกลงระหว่างประเทศในการปกป้องมหาสมุทรครั้งล่าสุดคือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea) มีขึ้นตั้งแต่ปี 2525 หรือประมาณ 40 ปีที่แล้ว 

ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นใบเบิกทางการควบคุมการทำกิจกรรมในมหาสมุทรของมนุษย์  ซึ่งกินพื้นที่เกินครึ่งของโลก ภายใต้ข้อตกลงนี้ ประเทศต่าง ๆ มีสิทธิ์ที่จะทำประมง แล่นเรือผ่าน หรือทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในเขตทะเลหลวงได้ 

แต่ข้อตกลงระหว่างประเทศดังกล่าวก็ยังมีจุดอ่อน คือยังขาดบทบัญญัติกติกาการใช้ประโยชน์ร่วมกัน มาตราการปกป้องและประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับมหาสมุทร รวมถึงการชดเชยความเสียหายถ้าเกิดเหตุการณ์ใดขึ้น

ข้อตกลงมิได้พูดถึงการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นในมหาสมุทรที่ได้รับการปกป้องมีเพียง 1.18% สิ่งมีชีวิตที่อยู่นอกเขตคุ้มครองนี้จึงเผชิญกับภัยคุกคามรอบด้าน ขณะที่สัตว์หลายชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์

การหาข้อตกลงในการปกป้องทะเลหลวงจึงมีเรื่อยมา กระทั่งในปี 2560 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีการจัดให้มีการประชุมสหประชาชาติคุ้มครองด้านความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลหลวง (IGC) 

มีการกำหนดให้มีประชุมทั้งสิ้น 4 ครั้ง โดยครั้งแรกในเดือนเมษายน 2562 ซึ่งกรีนพีซเสนอแผน 30×30 หรือ แผนการปกป้องมหาสมุทรโลกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2573

การประชุมดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมา กระทั่งมีการระบาดของโควิดทำให้ต้องเลื่อนการประชุมออกไป ก่อนกลับมาประชุมครั้งที่ 4 เต็มรูปแบบในเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้  ทำให้ต้องมีการจัดประชุมครั้งที่ 5 ในเดือนสิงหาคม 2565 

นักกิจกรรมกรีนพีซฉายข้อความเรียกร้องสนธิสัญญาทะเลหลวงลงบนสะพานบรูคลิน ในนิวยอร์ก ระหว่างการประชุมสนธิสัญญาทะเลหลวงของสหประชาชาติครั้งที่ 5 © POW / Greenpeace

การประชุมครั้งที่ 5 หรือ IGC5 ก็ไม่สามารถหาข้อสรุปได้เช่นกัน เหตุผลหลักๆเกิดจากการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการแบ่งปันทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเล (Marine Genetic Resources) ทำให้ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ทันเส้นตาย 

กระทั่งการเจรจาที่รูดม่านปิดไปเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 5 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา มีการบรรลุข้อตกลงสนธิสัญญา นับเป็นก้าวแรกของการปกป้องมหาสมุทรโลก

วินาทีประวัติศาสตร์

ความล้มเหลวในการหาข้อสรุปสนธิสัญญาในการประชุมครั้งที่ 5 ทำให้ต้องมีการประชุมครั้งพิเศษที่เรียกว่า IGC5bis ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ในนิวยอร์ก วันที่ 20 กุมภาพันธ์จนถึงวันที่ 4 มีนาคม 2566

แม้จะมีความคืบหน้าในการเจรจาหลายประเด็นตลอดการประชุมสิบวัน  แต่ในวันที่ 2 มีนาคม สองวันก่อนเส้นตาย การเจรจากลับต้องชะงักในประเด็นการแบ่งปันทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเล

ระหว่างนี้ กรีนพีซ ได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยฉายวิดีโอลงบนอาคารของสถานที่สำคัญในนิวยอร์ก กดดันให้ผู้ร่วมประชุมทั้งหมดเร่งผ่านสนธิสัญญาให้ได้ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้สามารถสร้างเขตคุ้มครองมหาสมุทรได้ทันเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2573 

วิดีโอณิชนันท์ ตัณธนาวิทย์ นักรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ ประเทศไทย ที่เข้าร่วมในการประชุม IGC5 ถูกฉายลงบนตึกในนิวยอร์ก เรียกร้องผู้ร่วมการประชุมสนธิสัญญาทะหลวงเร่งสรุปสนธิสัญญา © Stephanie Keith / Greenpeace


ในการประชุมโค้งสุดท้ายดำเนินต่อเนื่องยาวนานถึง 38 ชั่วโมง นักกิจกรรมจากภาคประชาสังคม รวมถึงณิชนันท์ ตัณธนาวิทย์ นักรณรงค์ทางทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ ประเทศไทย ซึ่งเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม ต้องปักหลักนอนกันภายในตึกสำนักงานใหญ่สหประชาชาติเพื่อรอผล

กระทั่งเวลาประมาณ 10 นาฬิกาตามเวลาประเทศไทย มีรายงานอย่างเป็นทางการว่า มีการบรรลุข้อตกลงสนธิสัญญาทะเลหลวง

จุดสำคัญที่ทำให้สามารถบรรลุข้อตกลงได้ในการประชุมครั้งนี้ เกิดจากการหาทางออกให้ปัญหาการแบ่งปันทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเล การจัดการในการเจรจาวันท้าย ๆ ขณะที่ประเทศหมู่เกาะเล็กๆ รวมไปถึงกลุ่มจี -77  หรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 77 ประเทศ ต่างร่วมผลักดันให้ผ่านสนธิสัญญานี้ 

ณิชนันท์ เล่าถึง 38 ชั่วโมงมาราธอนก่อนจะมีการยืนยันข้อตกลงสนธิสัญญาว่า “ตลอด 38 ชั่วโมงภายในสำนักงานใหญ่สหประชาชาติเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การคาดเดา และความกังวลใจของภาคประชาสังคมที่เข้าไปสังเกตการณ์การเจรจา  แต่เราก็ยังเต็มไปด้วยความหวังและความเชื่อมั่นว่า ในท้ายที่สุดของการประชุมครั้งนี้เราได้สนธิสัญญาทะเลหลวง และเราก็ทำได้ในที่สุด”

นักกิจกรรมภาคประชาสังคมนอนค้างคืนในสำนักงานใหญ่สหประชาชาติเพื่อรอฟังผลประชุมสนธิสัญญาทะเลหลวงในวันสุดท้าย © Nichanan Tanthanawit / Greenpeace

ลอรา เมลเลอร์ นักรณรงค์ทางทะเลและมหาสมุทร หัวหน้าทีมแคมเปญปกป้องมหาสมุทร กรีนพีซ นอร์ดิก กล่าวว่า “นี่ถือเป็นวันประวัติศาสตร์สำหรับการอนุรักษ์ และเป็นสัญญาณว่าการปกป้องสิ่งแวดล้อมอยู่เหนือเส้นแบ่งประเทศ เราขอขอบคุณทุกๆประเทศที่ประนีประนอม วางความเห็นต่างไว้ก่อน และบรรลุข้อตกลงสนธิสัญญาที่จะทำให้เราฟื้นคืนมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์”

อนาคตมหาสมุทรโลก

สนธิสัญญามิได้เป็นหลักประกันว่าเราจะสามารถสร้างเขตคุ้มครอง แต่ถือเป็นใบเบิกทางที่สำคัญอย่างยิ่ง 

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ คือการแก้ไขและแปลเนื้อหาสนธิสัญญาให้เป็นภาษาทางการของสหประชาชาติ ก่อนจะส่งมอบให้ประเทศสมาชิกเพื่อให้สัตยาบันรับรอง และสร้างเขตคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพขนาดใหญ่ในทะเลหลวง

เขตคุ้มครองในทะเลหลวงจะช่วยปกป้องสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศจากภัยคุกคามของมนุษย์ ทั้งจากประมงทำลายล้าง ไปจนถึงโครงการเหมืองทะเลลึกที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังผลักดันให้เกิด

ประเทศทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทยเองจะต้องให้สัตยาบันกับสนธิสัญญาฉบับนี้เพื่อฟื้นคืนมหาสมุทรให้กลับไปอุดมสมบูรณ์ดังเดิม ทั้งหมดนี้เพื่อชีวิตระบบนิเวศที่สำคัญต่อโลกใบนี้ และปกป้องชีวิตผู้คนนับล้านที่พึ่งพิงมหาสมุทร

หากพิจารณาดังนี้แล้ว “เรือ”  ที่เรน่า ลี กล่าว ดูจะยังไม่ถึงจุดสิ้นสุดของการเดินทาง ยังมีงานให้ทำอีกมากเพื่อให้เราสามารถไปถึงเป้าหมายปกป้องมหาสมุทรให้ได้ “อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมด ภายในปี 2573” 

อ้างอิง: 

https://enb.iisd.org/marine-biodiversity-beyond-national-jurisdiction-bbnj-igc5-resumed-summary

https://www.greenpeace.org/international/publication/21604/30×30-a-blueprint-for-ocean-protection/

https://www.bbc.com/news/science-environment-64815782

https://oceans-and-fisheries.ec.europa.eu/ocean/international-ocean-governance/protecting-ocean-time-action_en